แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง

ภายใต้สโลแกน “อุมมะตันวาฮิดะห์”


ผมถูกถามหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายตามสถาบัน,องค์กร หรือแม้แต่ทางรายการโทรทัศน์ เกี่ยวกับคำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” หรือที่เขาแปลเป็นไทยว่า “ประชาชาติหนึ่งเดียว”

ก่อนจะอธิบายในรายละเอียดขอแจ้งให้ทราบก่อนว่า ถ้อยคำข้างต้นนี้คือสโลแกนของกลุ่มอิควานหรือผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนอิควาน ในการระดมมวลชนที่ต่างความเชื่อและต่างการปฏิบัติเข้าสู่อุดมการณ์ของตนเอง พร้อมกันนี้มักจะมีคำพูดที่ติดตามมาว่า ไม่มีคณะเก่าและคณะใหม่ ไม่มีอิควานไม่มีสะละฟีย์ และไม่มี ฯลฯ

คำหรูเหล่านี้ เป็นการเดินตามรอยชีอะห์ในการดึงคนเข้ารีตลัทธิตนเองด้วยคำว่า ไม่มีซุนนีไม่มีชีอี หรือ ไม่มีซุนนะห์ไม่มีชีอะห์ เช่นเดียวกัน

ทำไมกลุ่มอิควานหรือผู้ฝักใฝ่อิควานในเมืองไทยจึงไม่ยอมเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง บางคนหลบซ่อนอยู่เบื้องหลังภาพของผู้รู้ซุนนะห์และผู้สอนซุนนะห์, บางคนอำพรางตนในคราบของ ดอกเตอร์สายศาสนา และโพสต์ข้อความปลุกระดมมวลสมาชิกอยู่เนื่องๆ แต่สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องและรณรงค์กันอยู่นั้นกลับไม่ใช่ซุนนะห์ และพฤติกรรมอำพรางที่พวกเขาทำอยู่นี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการตะกียะห์ของกลุ่มชีอะห์

ขอเรียกร้องให้ผู้กระทำการเช่นนี้ยุติพฤติกรรมอำพรางและพูดความจริงบนพื้นฐานของศาสนาที่ถูกต้องเถิด อย่าเอาพี่น้องมุสลิมเป็นเหยื่อทางความคิด อย่าจับพวกเขาเป็นตัวประกันด้วยอุดมการณ์ของอิควานอีกเลย ขอให้เปิดเผยตัวตน แนวคิดและอุดมการณ์ของพวกท่านออกมา แล้วให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตัวของพวกเขาเอง

คำว่า أمة واحدة อ่านว่า “อุมมะตันวาฮิดะตัน” หรือ “ประชาชาติหนึ่งเดียว” ตามที่เขาอ้าง เป็นคำที่ถูกระบุอยู่ในอัลกุรอาน 9 ที่ด้วยกันคือ

1.ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 213
2.ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 84
3.ซูเราะห์ยูนุส อายะห์ที่ 19
4.ซูเราะห์ฮูด อายะห์ที่ 118
5.ซูเราะห์อัลนะฮล์ อายะห์ที่ 93
6.ซูเราะห์อัลอัมบิยาอ์ อายะห์ที่ 92
7.ซูเราะห์อัลมุอ์มีนูน อายะห์ที่ 52
8.ซูเราะห์อัชชูรอ อายะห์ที่ 8
9.ซูเราะห์อัสซุครุฟ อายะห์ที่ 33

อัลกุรอานทั้ง 9 อายะห์นี้ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับที่พวกเขานำไปกล่าวอ้างเพื่อการสมานฉันท์เลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นการหยิบคำของอัลกุรอานไปอ้างแล้วนำความคิดของตนเองสวมแทน

การอ้างอิงหลักฐานทางศาสนานั้น เราจะไม่ใช้วิธีการกล่าวอ้างเหมือนดั่งกลุ่มชีอะห์ได้กล่าวว่า มีในอัลกุรอาน เท่านั้น และเราจะไม่ใช้วิธีการหยิบเอาอัลกุรอานมาบางส่วนแล้วเอาความต้องการของเราเข้าไปอธิบายแทน แต่เราต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของอัลกุรอานว่าคืออะไร มิเช่นนั้นแล้วจะเกิดการนำเอาอัลกุรอานไปใช้อย่างผิดพลาด หรือเพื่อสนองความต้องการของตนเอง ตัวอย่างเช่น ข้อความในซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 48 ดังต่อไปนี้

وَلَوْ شَاءَ اللهُ لَجَعَلَكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً

“และหากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ พระองค์ก็ทรงทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน”


อิบนุกะษีร ได้อธิบายข้อความอายะห์นี้ว่า

هذا خطاب لجميع الأمم وإخبارعن قدرته تعالى العظيمة التى لوشاء لجمع الناس كلهم على دين واحد وشريعة واحدة لا ينسخ شيء منها ولكنه تعالى شرع لكل رسول شريعة على حدة ثم نسخها أو بعضها برسالة الآخر الذي بعده حتى نسخ الجميع بما بعث يه عبده ورسوله محمدا صلى الله عليه وسلم الذي ابتعثه إلى أهل الأرض قاطبة وجعله خاتم الأنبياء كلهم ولهذا قال تعالى

“ข้อความนี้บ่งถึงประชาชาติทั้งหมด และเป็นการแจ้งให้ทราบถึงเดชานุภาพของอัลลอฮ์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหากพระองค์ประสงค์ พระองค์ก็จะทรงรวมมนุษย์ทั้งหมดไว้บนศาสนาเดียวกันและบทบัญญัติเดียวกันโดยที่ไม่ต้องยกเลิกข้อบัญญัติใดๆ แต่ทว่าพระองค์ทรงวางบัญญัติให้แต่ละรอซูลที่แตกต่างกันไป แล้วพระองค์ก็ทรงยกเลิกข้อบัญญัตินั้นหรือยกเลิกบางส่วนด้วยสาสน์ของพระองค์ที่ประทานลงมาหลังจากนั้น จนกระทั่งได้ยกเลิกข้อบัญญัติทั้งหมดด้วยสิ่งที่ได้ส่งมากับบ่าวและศาสนทูตของพระองค์คือมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งเขาสู่ชาวโลกทั้งมวล และทรงทำให้เขาเป็นนบีท่านสุดท้าย นี่แหละที่พระองค์ได้ทรงกล่าวว่า”

وَلَوْ شَاءَ اللهُ لَجَعَلَكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلَكِن لِيَبْلُوَكُمْ فِيْمَا آتَاكُمْ

“และหากอัลลอฮ์ประสงค์ พระองค์ก็จะทรงทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน แต่ทว่าเพื่อที่พระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่ทรงประทานมาให้แก่พวกเจ้า”


อย่างนี้คือการอธิบายของนักอรรถธิบายอัลกุรอาน ซึ่งเป้าหมายของคำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” คือการรวมคนทุกศาสนามาอยู่ภายใต้ร่มธงของอิสลามทั้งหมด ทั้งที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงสามารถกระทำได้ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงทำเช่นนั้น พระองค์ยังคนปล่อยให้ผู้คนยึดถือศาสนาตามแต่ละคนต้องการ เพื่อพระองค์จะทรงทดสอบพวกเขาว่าจะน้อมรับบัญชาที่พระองค์ทรงประทานมาหรือไม่
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในซูเราะห์ยูนุส อายะห์ที่ 19 ดังนี้

وَمَا كَانَ النَّاسُ إلاَّ أُمَّةً وَاحِدَة فَاخْتَلَفُوا

“และมนุษย์หาใช่อื่นใด นอกจากพวกเขาเป็นประชาชาติเดียวกัน แล้วพวกเขาก็ขัดแย้งกัน”


อิบนุกะษีร ได้อธิบายอายะห์นี้สืบเนื่องจากข้อความท้ายอายะห์ก่อนนี้ที่ว่า (มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ผู้ทรงสูงส่งในสิ่งที่พวกเขาได้เอามาเป็นภาคี) ดังนี้

ثم أخبر تعالى أن هذا الشرك حادث في الناس كائن بعد أن لم يكن وأن الناس كلهم كانوا على دين واحد وهو الإسلام قال ابن عباس : كان بين آدم ونوح عشرة قرون كلهم على اللإسلام ثم وقع الاختلاف بين الناس وعبدت الأصنام والأنداد والأوثان فبعث الله الرسل بآياته وبيناته وحججه البالغة وبراهينه الدامغة

“หลังจากนั้นพระองค์อัลลอฮ์ทรงบอกให้ทราบว่า การตั้งภาคีเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ทั้งๆที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะมนุษย์ทั้งหมดทุกคนต่างก็อยู่บนศาสนาเดียวกันก็คือ อิสลาม อิบนุอับบาส ได้กล่าวว่า : ช่วงระหว่างนบีอาดัมถึงนบีนัวฮ์นั้นสิบศตวรรษ มนุษย์ทุกคนอยู่บนอิสลาม หลังจากนั้นก็เกิดการขัดแย้งระหว่างผู้คน เกิดการสักการะรูปปั้น, สิ่งเทียบเคียงพระเจ้า และเจว็ดต่างๆ ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์จึงได้ส่งบรรดารอซูลมาพร้อมกับสัญญาณต่างๆของพระองค์, ข้ออ้างอิงที่ชัดเจน และหลักฐานที่มิอาจปฏิเสธได้” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 2 หน้าที่ 541

อิบนุกะษีร ได้ถ่ายทอดข้อความนี้จากตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ ของ อิบนุญะรีร ซึ่งมีข้อความใกล้เคียงกัน เมื่อเราได้อ่านและทำความเข้าใจแล้วกลับพบว่า คำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” คือประชาชาติยุคต้น ตั้งแต่นบีอาดัมจนมาชนยุคของนบีนัวฮ์ ซึ่งพวกเขามั่นคงอยู่บนศาสนาเดียวกันคืออัลอิสลาม และนี่คือจุดเริ่มต้นของการจำแนกระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนอื่นๆ หรือว่าวันนี้เราจะเอาศาสนาอิสลามไปรวมกับศาสนาอื่นๆ เพื่อให้เป็นอุมมะตันวาฮิดะห์ หรือว่าจะเอาศาสนาอื่นมารวมกับศาสนาอิสลาม คงไม่ใช่เช่นนั้นเป็นแน่แท้

ฉะนั้นคำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” จึงมิใช่เป็นการรวมผิดและถูกเข้าไว้ด้วยกัน มิใช่เป็นการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างตามที่บางคนเข้าใจและเรียกร้องอยู่ขณะนี้

ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

وإنَّ هَذِهِ الأُمَّةَ سَتَفْتَرِقُ عَلَى ثَلاَثٍ وَسَبْعِيْنَ مِلَّةً

“แท้จริงประชาชาตินี้จะแตกออกเป็นเจ็ดสิบสามกลุ่ม (ที่มีความเชื่อต่างกัน)” มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 16329


สังคมที่เกิดความขัดแย้งและแตกแยกอยุ่ทุกวันนี้เป็นสัจธรรมตามที่ปรากฏอยู่ เพราะท่านรอซูลได้บอกไว้เนิ่นนานแล้วดังที่แสดงไว้ข้างต้น แต่ปัญหาก็คือ เราจะบริหารความแตกแยกนี้อย่างไร

1.รวมคนหลากหลายความเชื่อและหลากหลายการปฏิบัติเข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ต้องชี้แจงข้อผิดพลาด

2.เรียกร้องผู้คนให้ยึดคำสอนของศาสนาและวิธีการปฏิบัติของศอฮาบะห์เป็นที่ตั้ง

ท่านคิดว่าวิธีไหน เป็นวิธีที่อิสลามได้สอน

การบริหารความขัดแย้งตามวิถีทางของอิสลามนั้น ไม่ใช่การรวมมวลชนเป็นหนึ่งเดียวบนความเชื่อและการปฏิบัติที่แตกต่าง แต่คือการเรียกร้องมวลชนสู่การยึดซุนนะห์ของท่านนบีและซุนนะห์ของบรรดาคอลีฟะห์อย่างจริงจัง ดังคำรายงานต่อไปนี้

عَن العِرْبَاضِ بْنِ سَارِيَةَ قَالَ : وَعَظَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَوْماً بَعْدَ صَلاةِ الغَدَاةِ مَوْعِظَةً بَلِيْغَةً ذَرَفَتْ مِنْهَا العُيُوْنُ وَوَجِلَتْ مِنْهَا القُلُوْبُ فَقَالَ رَجُلٌ إنَّ هذِهِ مَوْعِظَةُ مُوَدِّعٍ فَمَاذاَ تَعْهَدُ إلَيْنَا يَا رَسُوْلَ اللهِ قَالَ : أُوْصِيْكُمْ بِتَقْوَى اللهِ وَالسَمْعِ وَالطَاعَةِ وإنْ عَبْدٌ حَبَشِيٌّ فَإنَّهُ مَنْ يَعِشْ مِنْكُمْ يَرَى اخْتِلاَفاً كَثِيْراَ وَإيَّاكُمْ وَمُحْدَثاَتِ الأُمُوْرِ فَإنَّهَا ضَلاَلَةٌ فَمَنْ أدْرَكَ ذَلِكَ مِنْكُمْ فَعَلَيْهِ بِسُنَّتِي وَسُنَّةِ الخُلَفَاءِ الرَاشِدِيْنَ المَهْدِيِيْنَ عَضُّوا عَلَيْهَا بِالنَوَاجِذِ

“อิรบาฏ บิน ซารียะห์ รายงานว่า : ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ตักเตือนพวกเราในวันหนึ่งหลังจากละหมาดดุฮา ซึ่งเป็นข้อเตือนที่จับใจ ทำให้ดวงตาต้องเอ่อล้นไปด้วยน้ำตา และทำให้หัวใจหวั่นไหว มีชายผู้หนึ่งกล่าวขึ้นว่า นี่คือคำเตือนแห่งการลาจาก โอ้ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ได้โปรดสั่งเสียแก่พวกเราเถิด ท่านกล่าวว่า ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และเชื่อฟัง ภักดี ต่อผู้นำ แม้ว่าเขาจะเคยเป็นบ่าวจากฮะบะชะห์ก็ตาม เพราะแท้จริงแล้ว ผู้ใดในหมู่พวกท่านที่มีชีวิตต่อจากนี้ จะได้เห็นการขัดแย้งอย่างมากมาย และพวกท่านพึงระวังสิ่งที่อุตริขึ้นใหม่ในศาสนา เพราะมันคือความหลงผิด ฉะนั้นผู้ใดในหมู่พวกท่านที่ตระหนักในเรื่องดังกล่าว ก็จะเป็นแก่เขาจะต้องยึดซุนนะห์ของฉัน และซุนนะห์ของบรรดาค่อลีฟะห์ที่ปราชเปรื่องผู้ที่ได้รับทางนำ พวกท่านจงยึดให้มั่นประหนึ่งว่ากัดด้วยฟันกราม”สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 2600

ท่านนบีมิได้ปล่อยให้อุมมะห์ของท่านเคว้งคว้าง ท่ามกลางความขัดแย้งนั้นบรรดาผู้ศรัทธามีทางออกเสมอ

ปัญหาก็คือ ท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ เราจะยึดตามที่ท่านนบีได้แนะนำไว้หรือ จะคิดสูตรหาทางออกกันเอาเอง

คำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” หรือ ประชาชาติหนึ่งเดียวที่รวมผู้คนหลากหลายความเชื่อและหลากหลายการปฏิบัติโดยไม่ชี้ถูกชี้ผิดนี้ มิใช่ทางออกที่ท่านนบีได้เสนอแนะไว้

ไม่มีมูดอ ไม่มีตูวอ ไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ ไม่มีซุนนะห์ ไม่มีบิดอะห์ ไม่มีสะละฟีย์ ไม่มีอิควาน และไม่ ฯลฯ คำหรูเหล่านี้ล้วนเป็นกับดักที่นำไปสู่ความหลงผิด

สังคมดีตามมาตรฐานของอิสลาม คือสังคมที่มีการชี้แนะบอกกล่าวกันในเรื่องดีและตักเตือนห้ามปรามซึ่งกันและกันในเรื่องที่เป็นความผิด ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

كُنْتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ للنَّاسِ تَأْمُرُوْنَ بِالْمَعْرُوْفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ المُنْكَرِ وَتُؤْمِنُوْنَ بِاللهِ


“พวกเจ้า (เหล่าศอฮาบะห์) เป็นประชาชาติที่ดีเลิศ ซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นแก่มนุษยชาติ โดยพวกเจ้ากำชับใช้กันในเรื่องความดีงาม และห้ามปรามกันในสิ่งที่เป็นความผิด และพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮ์” ซูเราะห์อาลาอิมรอน อายะห์ที่ 110


ฟารีด เฟ็นดี้
อังคารที่ 10 กันยายน 2556