การเมืองเรื่องของใคร
เมื่อเอ่ยถึงการเมือง หลายคนเบือนหน้าหนี้แล้วร้องยี้ ไม่อยากได้ยินได้ฟังหรือข้องแวะอะไรทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่เคยสัมผัสจากการเมืองนั้นมันเลวร้ายจนกระทั่งกล่าวกันว่า “การเมืองเรื่องผลประโยชน์” และ “การเมืองเรื่องตัณหา” หรือ “การเมืองคือการช่วงชิงอำนาจ” และอีกสารพัดคำพูดตามแต่ประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยสัมผัส
คำพูดเหล่านี้มิได้สะท้อนให้เห็นความรู้ของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ แต่สะท้อนให้เห็นถึงนักการเมืองที่พวกเขาสัมผัส ซึ่งแต่ละคนต่างก็อ้างว่า ขันอาสาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แต่เมื่อพวกเขาได้รับเลือกตั้งแล้ว พวกเขากลับกลายเป็นเสมือนเจ้านายของประชาชน พวกเขาไม่เคยใยดีต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ประหนึ่งว่า ประชาชาชนได้มอบฉันทานุมัติให้พวกเขาไปทำอะไรก็ได้ การที่พวกเขายกขึ้นมาในนามประชาชนนั้นมันมีค่าแก่ตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง แต่ประชาชนก็ต้องจำใจไปเลือกพวกเขา เพราะเป็นหน้าที่พลเมืองของบ้านนี้เมืองนี้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ในระยะหลังๆ ผู้คนมักจะมีการพูดกันว่า “นักการเมืองคนไหนก็เลว แต่เลือกที่เลวน้อยหน่อย” และ “นักการเมืองคนไหนก็โกงกิน แต่เลือกคนโกงที่ทำประโยชน์ให้ประชาชน” และบางคนก็ว่า “ไปเลือกตั้งแต่งดออกเสียง” ดูเหมือนว่าคนยุคนี้จะสมยอมกับการเป็นนักการเมืองแบบไทยๆ เสียแล้ว หรือว่า ประชาชนโดนมัดมือชกกันแน่
เมื่อย้อนดูการเมืองการปกครองในบ้านเรา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 7 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เมื่อปี 2475 มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จนกระทั่งถึงเดียวนี้รวมระยะเวลา 80 กว่าปีแล้ว การเมืองของไทยก็ยังล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด มีการปฏิรูป มีการปฏิวัติ รัฐประหารมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง มีการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายต่อหลายฉบับ แล้วเราก็ยังได้ประชาธิปไตยไม่เต็มใบสักที
ความแตกต่างของระบอบการปกครอง
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช คือ กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจ และทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์ในการปกครอง ไม่มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้
ระบอบประชาธิปไตย คือ อำนาจเป็นของปวงชน โดยผ่านตัวแทนของประชาชน และ มีรัฐธรรมนูญบังคับใช้
ปัจจุบัน ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บังคับใช้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ 18 ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2549 – 2550 โดยผ่านประชามติ คือประชาชนเห็นชอบที่จะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และให้ถือเป็นที่สิ้นสุด แม้กระทั่งกฎหมายใดก็ตามที่ขัดกับรัฐธรรมนูญให้ถือกฎหมายนั้นเป็นโมฆะ
ขอยกตัวอย่างรัฐธรรมสักมาตราหนึ่งก่อนที่จะได้คุยกันต่อไปดังนี้
หมวดที่ 4 มาตราที่ 70 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐ ธรรมนูญนี้
และประชาชนทุกคนต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และต้องเป็นผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย
คนโดยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้และไม่เข้าใจระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ อย่าว่าคนระดับรากหญ้าเลย แม้กระทั่งชนชั้นกลางและชนชั้นนำ ก็ยังเข้าใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยกันไปคนละทางสองทาง บางคนเข้าใจเพียงแค่ ประชาธิปไตยต้องไปเลือกตั้ง แค่นั้นจริงๆ และถ้าพูดถึงความเข้าใจต่อรัฐธรรมนูญ ยิ่งเป็นเรื่องไกลตัวเหลือเกินสำหรับพวกเขา และผู้ที่แสวงหาช่องโหว่ของกฎหมายก็พยายามอ้างบางมาตราของรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพลพรรค ดังนั้นจึงต้องอาศัยการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
ในระยะหลังๆนี้ ผมมักจะถูกถามเสมอว่า
มุสลิมจะเป็นนักการเมืองได้ไหม
มุสลิมตั้งพรรคการเมืองได้ไหม
แปลกใจว่า ทำไมคำถามเหล่านี้ต้องมากระหน่ำในช่วงนี้ด้วย ทั้งๆที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีมุสลิมเล่นการเมือง,อยู่ในแวดวงการเมือง และตั้งพรรคการเมืองมาก่อนแล้ว
หรือจากกระแสโปรโมทตามสื่อต่างๆ จึงทำให้เรื่องนี้อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป
คำตอบก็คือ มุสลิมไม่ใช่มีเฉพาะในประเทศไทย แต่ยังมีในประเทศอื่นๆทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศที่ถูกเรียกว่าประเทศมุสลิม ก็ยังมีพรรคการเมือง และมีมุสลิมเป็นนักการเมือง เช่น มาเลเซีย, อินโดนิเซีย หรือประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง เป็นต้น
แล้วมุสลิมในประเทศไทยล่ะ?
มุสลิมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเชื้อชาติใด สัญชาติใดก็ตาม จะเป็นอะไรก็ได้ จะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ ที่ไม่ขัดกับหลักคำสอนของศาสนา และไม่ทำให้เสียจุดยืนของการเป็นมุสลิม แต่เฉพาะมุสลิมในประเทศไทยถูกขีดกรอบไว้ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ คือ จะตั้งพรรคการเมือง หรือจะเป็นนักการเมืองก็ต้องเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิเช่นนั้นแล้ว อาจโดนข้อหาเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร หรือข้อหาคอมมิวนิสต์ หรือการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ดั่งเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2519
ฉะนั้นหากเป็นการกระทำโดยส่วนตัวก็เชิญเถิด เป็นสิทธิ์และเสรีภาพของทุกคนเหมือนดังที่ผ่านมา มีทั้งมุสลิมตั้งพรรคการเมือง และมุสลิมเป็นนักการเมือง แต่การที่จะดึงมุสลิมทุกหมู่เหล่าเข้าสู่วังวนนี้ โดยอ้างว่ากระทำการในนามมุสลิม เมื่อเกิดความเสียหายแล้ว ก็คงไม่ใช่เป็นความเสื่อมเสียรายบุคคลเท่านั้น แต่เป็นความเสื่อมเสียของมุสลิมทั้งมวลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ยิ่งถ้าดึงเอาอิสลามเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งจะเกิดความเสียหายเป็นทวีคูณ
อย่าได้เข้าใจว่าเราปฏิเสธการเมือง หรือแยกการเมืองออกจากศาสนาดังที่กล่าวหาหรือใส่ไคล้กัน
ขอให้ทราบว่า เรายอมรับทุกคำสอนของศาสนา และเรายอมรับการเมืองแบบอิสลาม แต่เราไม่ยอมรับที่จะเอาการเมืองนอกกรอบอิสลามมาแฝงเร้นให้เป็นอิสลาม
หรือจะเอาอิสลามไปซุกไว้ใต้ระบอบการเมืองอื่น
ดังนั้น หากจะเล่นการเมืองหรือตั้งพรรคการเมือง ก็ขอให้กระทำในนามบุคคลและคณะ อย่าได้กระทำในนามมุสลิมและอิสลามเลย
ย้อนดูความเป็นไปของโลกเมื่ออดีต ในยุคเผชิญหน้ากันระหว่างสองขั้วอำนาจ คือขั้วประชาธิปไตย ที่มีพี่ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเป็นหัวหอก และขั้วคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียต เป็นแกนนำ ซึ่งช่วงนั้นเรียกกันว่าเป็นยุคสงครามเย็น ประเทศเล็กประเทศน้อยต่างก็ซบปีกของแต่ละขั้ว ขณะที่ไทยเราถึงแม้จะยืนอยู่ในขั้วประชาธิปไตย แต่ก็เชื่อมสัมพันธไมตรีกับขั้วคอมมิวนิสต์โดยมีจีนเป็นแกนกลาง ซึ่งไทยเราถนัดแทงกั๊กเหมือนดั่งเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองนั่นแหละ
เมื่อขั้วคอมมิวนิสต์อ่อนกำลังลง ขั้วประชาธิปไตยก็สยายปีก แผ่บารมีไปทั่วหล้า ทำให้กระแสประชาธิปไตยดังกระหึ่ม ไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งหลายประเทศปกครองโดยสังคมนิยมกึ่งเผด็จการ เมื่อสหรัฐอเมริกาโดยนาย จอรช์ บุช ผู้ลูกบุกยึดอิรัค ก็ประกาศว่า จะทำให้อิรัคเป็นต้นแบบของประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง ประหนึ่งคำประกาศว่า อาหรับต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าใครหือก็ดูอิรัค และซัดดาม ฮุเซน เป็นตัวอย่าง
สอดคล้องกับเสียงขานรับของผู้รู้ (บางคน) ในปัจจุบัน และความต้องการของประชาชนในประเทศนั้น ที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการ ได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราต้องการประชาธิปไตย และเสียงนี้ดังมาถึงประเทศไทย ทำให้นักวิชาการศาสนาบางคนในบ้านนี้เมืองนี้ถึงกับกล่าวว่า อิสลามก็คือประชาธิปไตย
หากจะถามว่า อิสลามมิใช่ประชาธิปไตยหรือ ?
คำตอบก็คือ ขอให้เราดูแหล่งที่มาและเนื้อหาของทั้งสองเพื่อจะได้รับความกระจ่างมากยิ่งขึ้น
อิสลามเป็นศาสนาที่มาจากอัลลอฮ์ มิได้เกิดจากความคิดความอ่านของผู้ใด หรือแม้กระทั่งท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ก็มิได้ออกความคิดเห็นในข้อบัญญัติศาสนา
แต่ประชาธิปไตย มีที่มาจากประสบการณ์ความคิดอ่านของมนุษย์ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติ
และเมื่อดูในเนื้อหาแล้วท่านจะทราบว่า
ประชาธิปไตยก็คือระบอบการปกครอง
แต่อิสลาม มิใช่แค่ระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ความเชื่อ,การปฏิบัติ,สังคม,เศรษฐกิจ,การเมือง,การปกครอง และฯลฯ ซึ่งคำสอนของอิสลามครอบคลุมแม้กระทั่งคำสอนเรื่องการชำระปัสสาวะ,อุจจาระ อย่างนี้เป็นต้น
ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานนี้ อาจจะมีผู้รู้บางคนเผลอไปว่า “อิสลามก็คือประชาธิปไตย” ซึ่งคำพูดนี้ผิดมหันต์ ดังฮะดีษมัชฮูร ซึ่งเป็นคำรายงานที่ศอเฮียะห์จาก ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบาส กล่าวว่า
الإسْلاَمُ يَعْلُو وَلاَ يُعْلَى
“อิสลามนั้นสูงส่งและไม่มีอะไรสูงกว่า”
หมายเหตุ คำรายงานของฮะดีษบทนี้ที่อ้างว่าเป็นคำพูดของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซซัลลัม นั้น นักฮะดีษบางท่านวิจารณ์ตัวผู้รายงานว่า “ฏออีฟ” แต่เชคอัลบานีกล่าวว่า คำรายงานอ้างถึงท่านนบีเป็นฮะดีษฮะซัน ส่วนคำรายงานอ้างถึง อิบนิ อับบาส เป็น ฮะดีษศอเฮียะห์ (ดู อิรวาอุ้ลฆ่อลิ้ล เล่มที่ 5 หน้าที่ 106 ลำดับที่ 1268)
หรือหากจะมีบางท่านกล่าวว่า “ส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยสอดคล้องกับอิสลาม” คำพูดนี้ใกล้เคียง พอฟังได้ พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
وَأمْرُهُمْ شُوْرَى بَيْنَهُمْ
“และกิจการของพวกเขาได้ปรึกษากันในระหว่างพวกเขา” ซูเราะห์อัสชูรอ อายะห์ที่ 23
มีบางท่านกล่าวว่าอายะห์นี้คือรากฐานของประชาธิปไตยในอิสลาม ขอชี้แจงว่า อายะห์นี้พูดถึงการซูรอ หมายถึงการปรึกษาหารือกันในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับบัญญัติศาสนา และหากจะนำไปเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งหรือระบบสภาและรัฐสภา ก็ต่างกัน กล่าวคือ
ระบบการเลือกตั้งนั้น บุคคลหรือพรรคการเมืองเสนอตัวแทนของแต่ละพรรคให้ประชาชนคัดเลือก เมื่อได้ตัวแทนของประชาชนเข้าสภาก็ทำหน้าที่เลือกประธานสภา และสภาเลือกนายกรัฐมนตรี ขั้นตอนทั้งหมดนี้ใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ และผู้ได้เสียงข้างมากมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล ส่วนเสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้นจึงมีกระบวนการให้ได้มาซึ่งเสียงข้างมากเพื่อกุมอำนาจรัฐ จะได้มาถูกหรือผิดกติกาอย่างไรก็มี คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต เป็นผู้ควบคุม จะทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่ จับได้ไม่ได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อิสลามมิได้วัดถูกหรือผิดด้วยเสียงข้างมาก หรือที่ว่ากันว่า พวกมากลากไป
พระองค์อัลลอฮ์ กล่าวว่า
وَإنْ تُطِعْ أكْثَرَ مَنْ فِي الأرْضِ يُضِلُّوْكَ عَنْ سَبِيْلِ اللهِ إنْ يَتَّبِعُوْنَ إلاَّ الظَّنَّ وَإنْ هُمْ إلاَّ يَخْرُصُوْنَ
“และหากเจ้าเชื่อฟังคนหมู่มากบนหน้าแผ่นดิน พวกเขาก็จะทำให้เจ้าหลงจากทางของอัลลอฮ์ พวกเขาไม่ได้ตามอื่นใดหรอกนอกจากการคิดเอาเอง และพวกเขาก็ไม่ได้ตั้งมั่นบนสิ่งใดนอกจากคาดคะเน” ซูเราะห์อัลอันอาม อายะห์ที่ 116
อิสลามไม่ยินยอมให้ใช้เสียงข้างมากวางกฏเกณฑ์ศาสนา หรือยกเลิกข้อบัญญัติศาสนา หรือในเรื่องอื่นๆที่ใช้เสียงข้างมากแล้วค้านกับบัญญัติศาสนาก็ถือว่า เสียงข้างมากนั้นเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งดั่งที่เป็นอยู่นี้คือ การเลือกจากข้างล่างขึ้นบน แต่ระบบชูรอ คือการคัดเลือกจากข้างบนลงข้างล่าง ตัวอย่างเช่น
หลังจากคอลีฟะห์อุสมานเสียชีวิต บรรดาผู้คนก็แห่แหนไปหาท่านอาลี อิบนิ อบีฏอลิบ แล้วยกให้ท่านเป็นคอลีฟะห์ แต่ท่านอาลีปฏิเสธดังคำรายงานต่อไปนี้
لما قتل عثمان جاء كلهم يهرعون الى علي أصحاب محمد صلى الله عليه وسلم وغيرهم كلهم يقولون أمير الؤمنين علي حتى دخلوا على داره فقالوا نبايعك فمد يدك فأنت أحق بها فقال ليس ذلك اليكم انما ذلك الى أهل البدرفمن رضي أهل البدرفهو خليفة
“เมื่ออุสมานถูกสังหาร บรรดาผู้คนทั้งจากซอฮาบะห์ของท่านนบี และเหล่าตาบีอีนต่างก็กรูกันไปหาท่านอาลีโดยกล่าวว่า อะมีรรุ้ลมุอ์มีนีนคือท่านอาลี จนกระทั่งมาถึงบ้านของท่าน พวกเขาได้บอกแก่ท่านว่า พวกเราจะให้สัตยาบันต่อท่าน จงยื่นมือของท่านมาเถิด ท่านเป็นผู้เหมาะสมที่สุดแล้ว ท่านอาลีตอบว่า มันไม่ใช่อย่างที่พวกท่านกล่าวกันหรอก หากแต่ขึ้นอยู่กับชาวบะดัร (ศอฮาบะห์รุ่นแรกที่ร่วมรบในสมรภูมิบะดัร) ฉะนั้นผู้ใดที่ชาวบะดัรพอใจเขาก็คือคอลีฟะห์” อะษะดุลฆอยะห์ ฟีมะริฟะติสศอฮาบะห์ โดยท่านอินุอะษีร เล่มที่ 4 หน้าที่ 31
สาสน์จากอาลีถึงมุอาวิยะห์
اِنَّهُ بَايَعَنِي القَوْمُ الَّذِيْنَ بَايَعُوا أبَا بَكْرٍ وَعُمَرَ وَعُثْمَانَ عَلى مَا بَايَعُوهُمْ عَليْهِ فَلَمْ يَكُنْ لِلشَّاهِدِ أَنْ يَخْتَارَ وَلاَ لِلغَائِبِ أَنْ يَرُدَّ وَاِنَّمَا الشُّوْرَى لِلمُهَاجِرِيْنَ وَالأنْصَارِ فَاِنِ اجْتَمَعُوا عَلى رَجُلٍ وَسَمُّوْهُ اِمَامًا كَانَ ذَلِكَ للهِ رِضًا فَاِنْ خَرَجَ عَنْ أمْرِهِمْ خَارِجٌ بِطَعْنٍ أوْ بِدْعَةٍ رَدُّوْهُ اِلى مَا خَرَجَ مِنْهُ فَاِنْ أبَى قَاتَلُوْهُ عَلى اتِّبَاعِهِ غَيْرَ سَبِيْلِ المُؤْمِنِيْنَ وَوَلاَّهُ اللهُ مَا تَوَلَّى وَلَعَمْرِي يَا مُعَاوِيَةُ لَئِنْ نَظَرْتَ بِعَقْلِكَ دُوْنَ هَوَاكَ لَتَجِدَنَّ أَبْرَأ النَاسِ مِنْ دَمِ عُثْمَانَ وَلَتَعْلَمَنَّ أنِّي فِى عَزْلَةِ عَنْهُ اِلاَّ أنْ تَتَجَنَّى فَتَجَنَّ مَا بَدَالَكَ والسلام كُنْتُ
“อันที่จริงแล้วหมู่ชนที่ได้ให้สัตยาบันต่อฉันก็คือกลุ่ม ชนที่เคยให้สัตยาบันต่อท่านอบูบักร์,ท่านอุมัร, และท่านอุสมาน ดังที่พวกเขาได้เคยให้สัตยาบันมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยที่ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใดจะคัดเลือกหรือคัดค้านไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ใน เหตุการณ์หรือไม่ก็ตาม หากแต่ขึ้นอยู่กับสภาที่ประชุมชาวมุฮาญีรีนและชาวอันศอร หากพวกเขามีฉันทานุมัติให้แก่ผู้ใด ก็จะให้สถานะเขาเป็นผู้นำ วิถีทางเช่นนี้แหละเป็นที่พอพระทัยสำหรับอัลลอฮ์ แต่หากเขาฝืนฉันทานุมัตินั้น ก็เท่ากับเขาออกไปอย่างมุ่งร้ายและอุตริโดยแท้ จึงจำเป็นต้องให้เขากลับมารับฉันทานุมัตินั้น แต่ถ้าเขาปฏิเสธก็จำต้องสังหาร ด้วยการที่เขาดำเนินตามแนวทางอื่นที่ไม่ใช่แนวทางของบรรดาผู้ศรัทธา อัลลอฮ์จึงได้ให้เขาหลงไปในสิ่งที่เขาปรารถนา ฉันขอสาบาน โอ้มุอาวิยะห์เอ๋ย หากท่านพิจารณาด้วยปัญญาของท่านโดยไม่ใช้อารมณ์ละก็ ท่านจะพบว่า ฉันนั้นบริสุทธิ์จากเหตุการณ์หลั่งเลือดอุสมาน และท่านก็จะรู้ว่าฉันไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยนอกจากถูกปรักปรำ แต่ถ้าท่านเชื่อเช่นนั้นก็ตามใจ วัสสลาม”
ข้อความของท่านอาลีข้างต้นนี้ตอบโจทก์ในเรื่องชูรอได้ดีว่า มิใช่การคัดเลือกโดยประชาชนทั่วไป แต่ขึ้นอยู่กับสภาชูรอของมุฮาญิรีนและอันศอร
ฉะนั้น การพูดว่า บางส่วนของประชาธิปไตยคล้ายอิสลาม เป็นคำพูดที่พอฟังได้ แต่การเอาอิสลามไปเปรียบกับประชาธิปไตย หรือเอาประชาธิปไตยไปเปรียบกับอิสลามแล้วบอกว่าเหมือนกัน จึงเป็นการเปรียบที่ไม่ตรงกับร่องกับรอย และเป็นการเปรียบที่ทำให้อิสลามมัวหมอง
สรุปว่า มุสลิมจะเล่นการเมือง หรือตั้งพรรคการเมืองในนามบุคคลและหมู่คณะก็เชิญเถิดเป็นสิทธิ์และเสรีภาพของท่าน แต่อย่าใช้ในนามอิสลามหรือในนามมุสลิมโดยรวม เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นมันใหญ่หลวงนัก
ทำการเมืองเพื่ออิสลาม แต่อย่าเอาอิสลามไปรับใช้การเมือง
สิ่งใดที่เป็นความดีงาม เราขอสนับสนุน
สิ่งใดที่จะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่อิสลามและมุสลิมโดยรวมเราขอคัดค้าน
ฟารีด เฟ็นดี้
วันพุธที่ 2 ตุลาคม 2556