วิชาอันตราย



อิลมุนมันติกที่แทรกซึมอยู่ในอิลมุนกะลาม


ปัจจุบันมีการโต้แย้งกันในเรื่องศาสนาอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะแต่ข้อขัดแย้งทางด้านการปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการโต้แย้งและถกเถียงกันในเรื่อง อะกีดะห์หรือการศรัทธาอีกด้วย โดยเฉพาะการศรัทธาต่ออัลลอฮ์และคุณลักษณะของพระองค์ตามที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานและฮะดีษ

การโต้แย้งนั้นหากเป็นการนำเสนอตัวบทหลักฐานทางศาสนาโดยบริสุทธิ์ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย แต่เรากลับพบว่า มีกระบวนการใช้เหตุผลหรือหลักฐานทางปัญญานำหน้าหลักฐานทางศาสนา หรือใช้หลักฐานทางปัญญามาหักล้างหลักฐานทางศาสนา ซึ่งถือเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง ซึ่งกระบวนการทางปัญญาหรือหลักฐานทางปัญญาดังที่กล่าวข้างต้นนี้คือ อิลมุนกะลาม ( علم الكلام ) และ อินมุนมันติก ( علم المنطق )

อิลมุนกะลาม หรือวิพากษ์วิทยาคืออะไร

บรรดานักวิชาการจำนวนไม่น้อยที่พยายามตีแผ่ให้ทราบข้อเท็จจริงของอิลมุนกะลาม หรือวิพากษ์วิทยาว่าคืออะไร ส่วนใหญ่แล้วจะให้คำจำกัดความที่ใกล้เคียงกันเช่น “วิชาที่ตีแผ่ข้อเท็จจริงในด้านอะกีดะห์ หรือหลักความเชื่อในอิสลาม” แต่ที่เป็นบทสรุปชัดเจนและเป็นที่แพร่หลายเห็นจะเป็นมุมมองของ “อัลอีญีย์” ดังนี้

عِلْمٌ يُقْتَدَرُ بِهِ عَلَى إثْبَاتِ العَقَائِدِ الدِيْنِيَّةِ بِإيْرَادِ الْحُجَجِ وَدَفْعِ الشُبَهِ

“วิชาที่ล้อมกรอบการยืนยันความเชื่อทางศาสนาโดยระบุถึงข้ออ้างอิงต่างๆ (หลักฐานและเหตุผล) และการขจัดความคลุมเครือ” อัลมะวากิฟพีอิลมิลกะลาม หน้าที่ 7


หากเราดูคำจำกัดความกันอย่างผิวเผินแล้วก็จะพบว่า วิชานี้มีประโยชน์ไม่น้อยในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักยึดมั่น หากแต่วิธีการได้มาขององค์ความรู้ตามวิชานี้ มิใช่การอ้างอิงด้วยตัวบททางศาสนาเป็นเลิศ แต่คือการใช้เหตุผลยืนยันและหักล้างผู้ที่มีแนวคิดตรงกันข้าม ดังที่อิบนุ คอนดูน ได้กล่าวไว้ว่า

عِلْمٌ يَتَضَمّنُ الحِجَاج عَنِ العَقَائِدِ الإيْمَانِيَّةِ بِالأدِلَّةِ العَقْلِيَّةِ

“วิชาที่ควบรวมข้ออ้างอิงต่างๆเกี่ยวกับหลักเชื่อมั่นของการศรัทธาโดยหลักฐานทางปัญญา” มุก็อดดิมะห์ อิบนิค็อลดูน หน้าที่ 429


เมื่อวิชา อิลมุนกะลาม หรือ วิพากษ์วิทยา ใช้หลักฐานทางปัญญาอ้างอิงเพื่อยืนยันและหักล้างผู้มีแนวคิดตรงกันข้าม ด้วยเหตุนี้จึงต้องอาศัยกระบวนการของวิชามันติก หรือ วิชาตรรกวิทยา เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์หาเหตุผลในการยืนยันและหักล้าง จึงทำให้วิชา มันติก หรือ ตรรกวิทยา แทรกซึมอยู่ในวิชา อิลมุนกะลาม จนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ผู้คนที่ร่ำเรียนวิชาอิลมุนกะลาม ได้เสพวิชามันติก เข้าไปโดยไม่รู้ตัว

อิลมุนมันติก หรือตรรกวิทยาคืออะไร

อิลมุนมันติกคือวิชาที่ว่าด้วยเรื่องการจัดระเบียบความคิด หรือ กฎเกณฑ์การใช้ความคิด โดยวิธีการจำกัดความ และตั้งสมมติฐาน (ประพจน์) เพื่อหาบทสรุป

ตัวอย่างการจำกัดความเช่น มนุษย์คือ สัตว์ที่มีสติปัญญาเดินได้หัวเราะได้ ซึ่งคำจำกัดความเช่นนี้ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ

ตัวอย่างของการตั้งสมมติฐานเพื่อหาบทสรุปเช่น

ประพจน์เสนอ = โลกนี้มีการเปลี่ยนแปลง
ประพจน์สนอง = ทุกการเปลี่ยนแปลงเป็นของใหม่
บทสรุป = โลกนี้เป็นของใหม่

วิชาตรรกนี้เกิดขึ้นก่อนคริสต์ศักราช ด้วยฝีมือของนักปรัชญาชาวกรีกชื่อ อะริสโตเติ้ล ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งตรรกวิทยา และยังมีขุนพลแห่งนักปรัชญาระบือนามอีกหลายท่านเช่น เพลโต้ และ โซเครติส เป็นต้น

ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่สาม นักปรัชญาชาวเปอร์เซียชื่อ อิบนุ ซีนา (แอวิเซนน่า) เกิดในปีที่ 370 ฮิจเราะห์ศักราช ได้ถ่ายทอดวิชานี้สู่โลกอิสลามจนเป็นที่แพร่หลาย จนกระทั่งเขาได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งตรรกของโลกของอิสลามเลยทีเดียว

แต่จากการที่ อิบนุ ซีน่า ได้หมกมุ่นและทุ่มเทให้กับตรรกวิทยานี้จึงทำให้เขามีแนวคิดที่แปลกแยกจากหลักศรัทธาของอิสลาม เช่น เขาปฏิเสธว่าไม่มีการฟื้นคืนชีพ อย่างนี้เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักวิชาการมุสลิมหลายท่านเช่น ท่านฮาฟิซอัสซะฮะบีย์, อิบนุตัยมียะห์ และนักวิชาการท่านอื่นๆ ปฏิเสธสถานะการเป็นมุสลิมของเขา

ความสัมพันธ์ระหว่างอิลมุนกะลาม และอิลมุนมันติก

แม้ว่าวิชาอิลมุนกะลาม หรือ วิพากษ์วิทยา จะเป็นวิชาที่กล่าวเจาะจงเฉพาะเรื่องอะกีดะห์ หรือหลักความเชื่อในอิสลามก็ตาม แต่วิธีการในการหาบทสรุปของความคิดต้องพึ่งพาอาศัยวิชามันติก หรือ ตรรกวิทยา จึงทำให้วิชาทั้งสองนี้ถูกคละเคล้ากันเป็นเนื้อเดียว จนกระทั่งไม่สามารถจำแนกออกจากกันได้ จนกระทั่งบางคนเข้าใจว่า อิลมุนกะลาม ก็คือ อิลมุนมันติก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งสองวิชานี้มีขอบเขตจำกัดที่ต่างกันคือ

อิลมุนกะลาม เป็นวิชาที่ใช้เฉพาะในเรื่องหลักความเชื่อเพียงอย่างเดียว ส่วน อิลมุนมันติก เป็นวิชาที่ใช้ครอบคุลมในทุกด้าน และแม้ว่าวิชาทั้งสองนี้จะมีข้อจำกัดที่ต่างกัน แต่ก็มีวิธีการในการยืนยันและหักล้างทางปัญญาเหมือนกัน

ผลที่ได้รับจากวิชาอิลมุนกะลามและอิลมุนมันติก

ผลที่ได้รับจากวิชาทั้งสองนี้คือ บทสรุปทางปัญญา ที่เกิดจาก “ตะเซาวุร” หมายถึงการมโน แล้วนำไปสู่ “ตัศดี๊ก” หมายถึงการยืนยันซึ่งอาจจะถูกและผิดก็ได้ หรือทฤษฎีของการตั้งสมติฐาน ที่เรียกว่า “ชักล์” ในทางวิชามันติก ซึ่งผลลัพธ์ของมันอาจจะถูกและผิดก็ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ หากการตั้งสมมติฐานถูกต้อง บทสรุปที่ได้รับก็ถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม หากการตั้งสมมติฐานผิดพลาดแน่นอนว่า บทสรุปที่ได้รับย่อมผิดพลาดไปด้วย ตัวอย่างเช่นผลของตรรกวิบัติดังต่อไปนี้

นบีอีซาเป็นคน
คนทุกคนต้องตาย
นบีอีซาต้องตาย

ตรรกวิบัติเช่นนี้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า นบีอีซาตายแล้ว และถือเป็นผลเลิศ แต่ความเชื่อเช่นนี้ค้านกับอะกีดะห์อิสลามียห์

อย่างไรก็ตาม แนวทางของวิชาทั้งสองนี้ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเรื่องการศรัทธาของอิสลามได้ เพราะบางเรื่อง สมองและปัญญาของมนุษย์ไปไม่ถึง เช่นเรื่อง อัลฆอยบ์ คือสิ่งที่พ้นญาณวิสัยที่สมองปัญญา ประสาทสัมผัสและการรับรู้ของมนุษย์ไปไม่ถึงเช่นเรื่อง ชีวิตหลังจากความตาย และเรื่องการฟื้นคืนชีพเป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องเชื่อและยืนยันตามตัวบทหลักฐานทางศาสนาเท่านั้น

หรือเรื่อง มัวอ์ญีซาต ซึ่งเป็นเรื่องเหนือกฎธรรมชาติที่ไม่สามารถตั้งสมมติฐานทางตรรกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการศรัทธาต่ออัลลอฮ์และคุณลักษณะของพระองค์ ที่อิลมุนกะลาม และ อิลมุนมันติก ไม่สามารถเข้าถึง

บทสรุปก็คือ ผลที่ได้รับจากวิชาทั้งสองนี้คือ “อัดดะลีลุ้ลอักลี่ย์” หรือหลักฐานทางปัญญานั้นเอง

หลักฐานทางศาสนาและหลักฐานทางปัญญา

ในศาสนานั้น เราไม่สามารถใช้หลักฐานทางปัญญา หรือ ที่เรียกว่า “ดะลีลุ้ลอั๊กลี่ย์” ( الدليل العقلي ) นำหน้า, โต้แย้งหรือหักล้างหลักฐานทางศาสนาที่เรียกว่า “ดะลีลุ้ลนักลีย์” ( الدليل النقلي ) หมายถึงหลักฐานทางศาสนาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอัลกุรอานและฮะดีษของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งเรื่องนี้เราได้พบว่า ชาวสะลัฟได้แสดงจุดยืนไว้อย่างชัดเจน ดังคำพูดของท่าน อิหม่ามอะห์หมัด รอฮิมะฮุลลอฮ์ ที่กล่าวว่า

لَيْسَ فِي السُنَّةِ قِيَاسٌ وَلاَ يُضْرَبُ لَهَا الأمْثَالُ وَلاَ يُدْرَكُ بِالعُقُوْلِ وَلاَ الأهْوَاءِ إنَّمَا هُوَ الاتّبَاعُ وَتَرْكُ الهَوَى


“ไม่มีการนำสิ่งใดมาเปรียบเทียบในเรื่องซุนนะห์ (ไม่ถือเป็นการกิยาสในสิ่งที่ขัดแย้งกับซุนนะห์ หรือที่มีซุนนะห์ชัดเจนอยู่แล้ว) และไม่มีการนำสิ่งใดมาอุปมาเป็นตัวอย่าง และไม่สามรถล่วงรู้ได้ด้วยสติปัญญา แม้แต่อารมณ์ความรู้สึก แต่มันคือการปฏิบัติตาม และการละทิ้งอารมณ์ความรู้สึกนั้น” อุศูลุลซุนนะห์ หน้าที่ 19

وَقَوْلُ الإمَامِ أَبِي الْمُظَفَّر مَنْصُوْرِ بْنِ مُحَمَّدٍ السَمْعَانِيّ رَحِمَهُ اللهُ : فَمِنَ الدِيْنِ مَعْقُوْلٌ وَغَيْرُ مَعْقُوْلٍ وَالاتّبَاعُ فِي جَمِيْعِهِ وَاجِبٌ


“และคำพูดของอิหม่าม อบีลมุศ็อฟฟัร มันซูร บิน มูฮัมหมัด อัสซัมอานีย์ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ที่ว่า : ส่วนที่เป็นศาสนานั้นมีทั้งที่กินกับปัญญาและไม่กินกับปัญญา และการตามทั้งหมดนั้นเป็นวาญิบ” อัลอินติศอรลิอัศฮาบิ้ลฮะดีษ หน้าที่ 78

การใช้หลักฐานทางปัญญาหักล้างหลักฐานทางศาสนา

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ไม่สามารถใช้หลักฐานทางปัญญานำหน้า,โต้แย้งหรือหักล้างหลักฐานทางศาสนา แต่เราก็พบเห็น อะห์ลุ้ลกะลาม หรือ มุตะกัลลีมีน (นักวิพากษ์นิยม) การกระทำเช่นนี้อยู่เป็นนิจ จนกระทั่งพวกเขาถือเอาหลักฐานทางปัญญาเป็นเลิศ แล้วนำไปสู่การปฏิเสธหลักฐานทางศาสนา ตัวอย่างเช่น การวิพาษ์คุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮ์ดังนี้
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

إنَّ الَّذِيْنَ يُبَايِعُوْنَكَ إنَّمَا يُبَايِعُوْنَ اللهَ يَدُ اللهِ فَوْقَ أيْدِيْهِمْ

“แท้จริงบรรดาผู้ซึ่งให้สัตยาบันต่อเจ้า (มูฮัมหมัด) อันที่จริงแล้วพวกเขาได้ให้สัตยาบันต่ออัลลอฮ์ พระหัตถ์ของอัลลอฮ์อยู่เหนือมือของพวกเขา” ซูเราะห์อัลฟัตฮ์ อายะห์ที่ 10


ชาวสะลัฟยืนยันทั้งข้อความและความหมายของอายะห์นี้ว่า พระองค์ผู้ทรงคุณลักษณะตามที่พระองค์ได้ทรงกล่าวถึงพระองค์เอง พระองค์ทรงมีพระหัตถ์แต่ไม่เหมือนกับสิ่งใดตามที่พระองค์ได้ทรงกล่าวว่า

لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْئٌ وَهُوَ السَّمِيْعُ البَصِيْرُ

“ไม่มีสิ่งใดเหมือนกับพระองค์ และพระองค์นั้นคือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงเห็น” ซูเราะห์อัชชูรอ อายะห์ที่ 11


ขณะที่กลุ่ม มุตะกัลลีมีน หรือ อะห์ลุ้ลกะลาม (นักวิพากษ์นิยม) ปฏิเสธว่า พระองค์อัลลอฮ์ไม่ทรงมีพระหัตถ์ ตามที่พระองค์ได้ทรงกล่าวไว้โดยพวกเขานำความหมายอื่นมาแทนที่
พวกเขาใช้หลักฐานทางศาสนาในการปฏิเสธหรือ
อัลกุรอานอายะห์ใด หรือ ฮะดีษบทใดหรือที่พวกเขานำมาปฏิเสธ
เปล่าเลย... ไม่มีหลักฐานทางศาสนาทั้งอัลกุรอานและฮะดีษที่จะยืนยันความเชื่อของพวกเขา
แล้วเพราะเหตุใดเล่า พวกเขาจึงปฏิเสธว่า พระองค์อัลลอฮ์ไม่ทรงมีพระหัตถ์
เพราะพวกเขาใช้หลักฐานทางปัญญานำหน้า,โต้แย้ง และหักล้างหลักฐานทางศาสนา
แต่หลักฐานทางปัญญาที่พวกเขานำมายืนยันนี้เกิดจากสมติฐานที่ผิดพลาด กล่าวคือ คำว่ามือนี้พวกเขายืนยันว่า มันคือสิ่งถูกสร้าง ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์ต้องไม่มีคุณลักษณะเช่นเดียวกับสิ่งถูกสร้าง
จากสมติฐานที่ผิดพลาดนี้คือ การที่พวกเขาเอาคำว่า มือของสิ่งถูกสร้างไปเปรียบกับพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ จึงนำไปสู่การปฏิเสธว่า พระองค์อัลลอฮ์ไม่ทรงมีพระหัตถ์

จุดยืนของนักวิชาการต่อวิชาอิลมุนกะลามและอิลมุนมันติก

อิหม่ามชาฟีอี ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ์ กล่าวว่า

حُكْمِي فِي أهْلِ الكلاَمِ أنْ يُضْرَبُوا بِالْجَرِيْدِ وَالنِعَالِ وَيُطَافُ بِهِمْ فِي العَشَائِرِ وَالقَبَائِلِ وَيُقَالُ : هَذَا جَرَاءُ مَنْ تَرَكَ الكِتَابَ وَالسُنَّةَ وَأقْبَلَ عَلَى الكلاَمِ


“คำตัดสินของฉันเกี่ยวกับนักวิพากษ์นิยมนั้นคือ ให้หวดด้วยก้านอินผลัม และรองเท้า แล้วจับแห่รอบวงศาคณาญาติและชนเผ่าต่างๆ โดยให้กล่าวว่า นี่คือรางวัลของผู้ละทิ้งอัลกุรอานและซุนนะห์แล้วไปรับเอาวิชากะลาม” ซิยะรุ้ลอะอ์ลามิลนุบะลาอ์ 10/29

وَقَدْ نَقَلَ الحَافِظُ ابْنُ رَجَبٍ رَحِمَهُ اللهُ فِي كِتَابِهِ فَضْلُ عِلْمِ السَلَفِ عَلَى عِلْمِ الخَلَفِ عَنِ الشَافِعِيِّ أنَّهُ قَالَ : " مَا فَسَدَ النَاسُ إلاَّ لما تَرَكُوا لِسَانَ العَرَبِ وَاتَّبَعُوا لِسَانَ أَرِسْطُو "


“ท่านฮาฟิซ อิบนุ รอญับ รอฮิมะฮุ้ลลอฮ์ ได้ถ่ายทอดข้อความไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า ฟัฏลุอิลมินสะลัฟอะลาอิลมินค่อลัฟ โดยอ้างถึงอิหม่ามซาฟีอี กล่าวว่า : ผู้คนไม่ได้รับความเสียหายหรอก นอกจากพวกเขาทิ้งถ้อยคำของอาหรับแล้วไปปฏิบัติตามถ้อยคำของอะริสโตเติ้ล”

จากข้อความข้างต้นนี้ทำให้เราได้ทราบว่า ท่านอิหม่ามซาฟีอี ทราบดีถึงแนวคิดของวิชา อิลมุนกะลาม และ อิลมุนมันติก แต่ท่านก็มิได้เห็นดีเห็นงามกับวิชาทั้งสองนี้ นอกจากนั้นแล้วท่านยังคัดค้านและตอบโต้วิชาทั้งสองนี้ไว้อย่างรุนแรงทีเดียว

แต่น่าแปลก ที่นักวิชาการบ้านเราซึ่งกู่ก้องร้องตะโกนว่า รักอิหม่ามซาฟีอีและตามอิหม่ามซาฟีอี กลับเป็นโต้โผแพร่กระจายแนวคิด อิลมุนกะลาม ที่เคลือบด้วย อิลมุนมันติก กันอย่างแพร่หลาย


ฟารีด เฟ็นดี้
ศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2557