อาลีเป็นอิหม่ามนำละหมาดในสภาพที่เมา ศอเฮียะห์หรือไม่


คำถาม

อัสลามูอาลัยกุมครับ อ.ฟารีด
ผมมีหะดีษบทหนึ่งที่อยากให้ อ.ช่วยตรวจสอบหน่อยว่า อยู่ในสถานะใด สายรายงานเป็นอย่างไร เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เพราะหะดีษบทนี้ ทำให้กลุ่มๆหนึ่งถึงกับยอมรับไม่ได้คับ
ซึ่งเนื้อหาของหะดีษบทนี้ ผมก็ได้มาจากเว็บนี้เช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้ระบุสายรายงาน ว่ามีใครบ้าง ระบุแค่ว่าเป็นบันทึกรายงานของท่านตัรมีซีย์จากลิงค์นี้ครับ

http://www.moradokislam.org/modules.php?name=News&file=article&sid=174


เพื่อนในกลุ่มได้พยายามหา ต้นหะดีษนี้ว่าเป็นยังไง สายรายงานยังไง ก็ตามด้านล่างนี้ครับ

رقم: 3024 الحديث: حدثنا سويد أخبرنا بن المبارك عن سفيان عن الأعمش نحو حديث معاوية بن هشام حدثنا عبد بن حميد حدثنا عبد الرحمن بن سعد عن أبي جعفر الرازي عن عطاء بن السائب عن أبي عبد الرحمن السلمي عن علي بن أبي طالب قال : صنع لنا عبد الرحمن بن عوف طعاما فدعانا وسقانا من الخمر فأخذت الخمر منا وحضرت الصلاة فقدموني فقرأت قل يا أيها الكافرون لا أعبد ما تعبدون ونحن نعبد ما تعبدون قال فأنزل الله تعالى { يا أيها الذين آمنوا لا تقربوا الصلاة وأنتم سكارى حتى تعلموا ما تقولون } قال أبو عيسى هذا حديث حسن صحيح غريب قال الترمذي : حسن صحيح غريب قال الشيخ الألباني : صحيح

นี่คือลิงค์ จากเว็บ al-albany

http://www.alalbany.net/books_view.php?id=40793&search=%D3%DF%C7%D1%EC&book=termdy


ญาซากัลลอฮ์ครับ อ.ฟารีด

…………………………………………………………………………………..

คำตอบ

ขอมะอัฟด้วยที่ล่าช้าในการตอบคำถามนี้ เนื่องจากพี่น้องบางท่านไม่ยอมให้ผมมีเวลาว่าง เพราะนอกจากผมจะตอบคำถามทางรายการวิทยุ และโทรทัศน์แล้ว ยังต้องตอบคำถามนอกรอบทางโทรศัพท์ทั้งวัน (หรือบางครั้งผัวกับเมียทะเลาะกันตอนตีสอง,ตีสามยังโทรมาถาม) จนกระทั่งตอนนี้ได้ยินเสียงโทรศัพท์เกิดอาการผวาแล้ว

ฮะดีษที่ท่านได้สอบถามนี้ อยู่ในสถานะ ศอเฮียะห์ จากการอ้างอิงด้วยสายรายงานอื่น ดังนั้นในทางวิชาการจึงเรียกว่า “ศอเฮียะห์ลิฆ็อยริฮี” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

อบู อีซา (ติรมีซีย์) ได้กล่าววิจารณ์สถานะฮะดีษในตอนท้ายว่า حسن صحيح غربب “ฮะซัน ศอเฮียะห์ ฆ่อรีบ”
ที่จริงแล้วคำว่า ฮะซัน คือสถานนะของฮะดีษประเภทหนึ่ง และคำว่า ศอเฮียะห์ ก็คือสถานะของฮะดีษอีกประเภทหนึ่ง แต่ อิหม่ามติรมีซีย์ ได้นำเอาคำทั้งสองมาแจ้งสถานะของฮะดีษในบทเดียว ซึ่งหมายความว่า ฮะดีษบทนี้อยู่ในสถานะ ศอเฮียะห์ และ ฮะซัน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งบทสรุปของนักวิชาการฮะดีษในกรณีนี้คือ
ฮะดีษบทนี้รายงานมาสองสาย คือสายหนึ่งอยู่ใน สถานะ “ศอเฮียะห์” และอีกสายหนึ่ง อยู่ในสถานะ “ฮะซัน” หรือ สายรายงาน “ศอเฮียะห์” ตัวผู้รายงานอยู่ในระดับ “ฮะซัน” ตามการให้สถานะของอิหม่ามติรมีซีย์
ส่วนคำว่า “ฆ่อรีบ” นั้นหมายถึงมีผู้รายงานในระดับศอฮาบะห์เพียงคนเดียว คือ ท่านอาลี อิบนิ อบีตอลิบ

ขณะเดียวกัน เชคอัลบานี ซึ่งเป็นนักวิชาการฮะดีษร่วมสมัย ได้ตรวจสอบฮะดีษบทนี้แล้วให้สถานะว่า “ศอเฮียะห์” ตามที่ท่านได้ส่งลิงค์มา

ขอชี้แจงเพิ่มเติมในรายละเอียดเพื่อให้ได้รับความเข้าใจมากยิ่งขึ้นดังนี้

1 – สายรายงาน

สายรายงานของฮะดีษบทนี้อยู่ในสภาพ “มุตตะซิล” คือสายรายงาน ไม่ขาดตอน และไม่กระโดดข้าม เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า สายรายงานของฮะดีษบทนี้อยู่ในสถานะ “ศอเฮียะห์”

2 – ผู้รายงาน

ผู้รายงานจากบันทึกของติรมีซีย์ ประกอบด้วย

حدثنا عبد بن حميد حدثنا عبد الرحمان بن سعد عن أبي جعفر الرازي عن عطاء بن السائب عن أبي عبد الرحمان السلمي عن علي بن أبي طالب

“อับดุ อิบนุ ฮุมัยด์ เล่าให้เราฟังว่า อับดุลเราะห์มาน บิน ซะอด์ เล่าให้เราฟัง จาก อบี ญะอ์ฟัร อัรรอซีย์ จาก อะฏออ์ บิน อัสซาอิบ จาก อบี อับดิลเราะห์มาน อัสซุลามีย์ จาก อาลี อิบนิ อบีตอลิบ”


หนึ่งในผู้รายงานสายนี้ที่มีฉายาว่า “อบี ญะอ์ฟัร อัรรอซีย์” มีชื่อจริงว่า “อีซา อิบนุ อบี อีซา มาฮาน” เป็นผู้ที่ถูกวิจารณ์สถานะว่า “ฏออีฟ” ตัวอย่างเช่น
อะห์หมัด อิบนุ ฮัมบัล กล่าวว่า : ไม่มีความแข็งแรงในฮะดีษ และยะห์บา บิน มะอีน กล่าวว่า : บันทึกฮะดีษของเขาแต่ทว่ามีความผิดพลาด อัมร์ บิน อาลี กล่าวว่า : เขามีการรายงานที่อ่อน โดยที่เขาเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สัจจริงแต่ความแม่นยำแย่มาก และอบูซุรอะห์ กล่าวว่า : ผู้อวุโสที่มีความคลุมเครือมาก และอัลนะซาอีย์ กล่าวว่า : ไม่แข็งแรง และอิบนุฮิบบาน กล่าวว่า : เขารายงานลำพังจากผู้มีชื่อเสียงด้วยคำรายงานอุปโลกน์ ฉันไม่ประทับใจการอ้างฮะดีษที่เขารายงานนอกจากคำรายงานของเขาจะสอดคล้องกับผู้รายงานที่มีความน่าเชื่อถือ อัลอัจญลีย์ กล่าวว่า : ไม่แข็งแรง (ตะฮ์ซีบบุ้ลตะฮ์ซีบ 12/57)

แม้ว่าผู้รายงานในสายของติรมีซีย์ จะมีผู้รายงานที่ฏออีฟ แต่ก็มีผู้รายงานในสายอื่นที่ศอเฮียะห์มาสนับสนุน เช่น

حدثنا مسدد حدثنا يحيى عن سفيان حدثنا عطاء بن السائب عن أبي عبد الرحمان السلمي عن علي بي أبي طالب

“มุซัดดัด เล่าให้เราฟังว่า ยะห์ยา เล่าให้เราฟังจาก ซุฟยาน กล่าวว่า อะฏออ์ อิบนุลซออิ๊บ เล่าให้เราฟัง จาก อบี อับดิลเราะห์มาน อัสซุลามีย์ จาก อาลี อิบนิ อบีตอลิบ” (สุนัน อบีดาวูด ฮะดีษเลขที่ 3186)


ด้วยเหตุนี้ ตัวผู้รายงานในสายของ ติรมีซีย์ จึงได้รับการสนับสนุนจากตัวผู้รายงานในสายอื่นที่ศอเฮียะห์ ดังที่แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง
เพราะฉะนั้นฮะดีษของติรมีซีย์ที่ท่านได้สอบถามมานี้จึงอยู่ในสถานะ “ศอเฮียะห์ ลิฆ็อยริฮี” คือ ดีด้วยการสนับสนุนจากรายงานอื่น
ดังนั้นการกล่าวอ้างเป็นหลักฐาน ถึงแม้จะไม่ได้นำเอาจากติรมีซีย์ ก็มีรายงานในบันทึกอื่นๆ ที่ศอเฮียะห์อยู่แล้ว

3 – เนื้อหา

เนื้อหาของฮะดีษบทนี้เป็นไปตามที่ อ.อับดุลลอฮ์ สุไลหมัด ได้เขียนไว้ในบทความ ดังที่ท่านได้ให้ลิงค์มา ส่วนหนึ่งของข้อความคือ

“มีรายงานตามการบันทึกของอิหม่ามอัดติรมิซีย์ว่า ท่านคอลีฟะฮ์อาลีเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งอับดุรเราะหฺมานบุตรเอาฟ์ได้เชิญพวกเราไปกินอาหารที่เขาทำขึ้น พร้อมจัดเลี้ยงสุรา ( น้ำเมา ) แก่พวกเราด้วย หลายคนหลังจากดื่มกินน้ำเมาแล้วก็เกิดอาการเมามาย พูดจากันไม่เป็นภาษา รวมทั้งตัวข้าพเจ้าเองด้วย เมื่อได้เวลาละหมาดทุกคนก็มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำละหมาด ตอนนั้นข้าพเจ้าอ่านบทอัล-กาฟิรูนในละหมาดผิด แทนที่ข้าพเจ้าจะอ่านว่า

قُلْ يَأيُّهَا الكاَفِرُوْنَ لاَ أعْبُدُ مَا تَعْبُدُوْنَ وَلاَ أَنْتُمْ عَابِدُوْنَ مَا أعْبُدُ

“ จงกล่าวเถิดว่า โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะไม่สักการะภักดีต่อสิ่งที่พวกเจ้าสักการะภักดี และพวกเจ้าก็ไม่เป็นผู้สักการะภักดีต่อผู้ที่ข้าพเจ้าสักการะภักดี ... แต่ข้าพเจ้ากับอ่านอย่างผิดๆว่า

قُلْ يَأيُّهَا الكاَفِرُوْنَ أعْبُدُ مَا تَعْبُدُوْنَ وَأنْتُمْ عَابِدُوْنَ مَا أعْبُدُ


“ จงกล่าวเถิดว่า โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะสักการะภักดี ต่อสิ่งที่พวกเจ้าสักการะ ภักดี และ พวกเจ้าก็เป็นผู้สักการะภักดี ต่อผู้ที่ข้าพเจ้าสักการะภักดี ) จึงมีโองการอัล-กุรอานนี้ประทานลงมา ”

ฮะดีษในเรื่องแจ้งเหตุของการประทานอัลกุรอานในอายะห์ที่ว่า

يَأيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا لاَ تَقْرَبُوا الصَّلاَةَ وَأنْتُمْ سُكارَى حَتَّى تَعْلَمُوا مَا تَقُوْلُوْنَ


“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้การละหมาดในขณะที่พวกเจ้ามึนเมา จนกว่าพวกเจ้าจะรู้ถึงสิ่งที่พวกเจ้าพูด” (ซูเราะห์อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 43)

เมื่ออ่านในเนื้อหาแล้ว อาจจะมีบางคน (โดยเฉพาะชีอะห์อิหม่ามสิบสอง) ที่เกิดอาการรับไม่ได้ เนื่องจากเนื้อหาของฮะดีษระบุว่า ท่านอาลี อิบนิ อบีตอลิบ และศอฮาบะห์ท่านอื่นๆ ดื่มเหล้าและอยู่ในอาการมึนเมาขณะละหมาด โดยท่านอาลี เป็นอิหม่ามนำละหมาดเอง

ขอชี้แจงว่า เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ในช่วงต้นของการประกาศอิสลาม ซึ่งยุคนั้นมีการดื่มน้ำเมากันเป็นกิจวัตร ก่อนที่จะมีการประกาศห้ามน้ำเมาโดยเด็ดขาด และเมื่อได้ศึกษาจากประวัติการตราบัญญัติ “ตารีคตัชรีอ์” จะพบว่า คำสั่งห้ามในเรื่องนี้มีมาเป็นขั้นเป็นตอนดังนี้

ระยะแรกยังไม่มีการห้ามเด็ดขาดแต่บอกถึงคุณและโทษ

يَسْألُوْنَكَ عَنِ الخَمْرِ وَالْمَيْسِر قُلْ فِيْهِمَا إثْمٌ كَبِيْرٌ وَمَنَافِعُ للنَّاسِ وَإثْمُهُمَا أكْبَرُ مِنْ نَفْعِهِمَا


“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมาและการพนัน จงกล่าวเถิด ในมันทั้งสองนั้นมีโทษใหญ่หลวงและมีคุณแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นใหญ่กว่าคุณประโยชน์” (ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 219)

ระยะที่สองจำกัดปริมาณและระยะเวลาดื่มกระทั่งระยะสร่างเมา

يَأيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا لاَ تَقْرَبُوا الصَّلاَةَ وَأنْتُمْ سُكارَى حَتَّى تَعْلَمُوا مَا تَقُوْلُوْنَ


“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้การละหมาดในขณะที่พวกเจ้ามึนเมา จนกว่าพวกเจ้าจะรู้ถึงสิ่งที่พวกเจ้าพูด” (ซูเราะห์อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 43)

ระยะที่สาม ห้ามโดยเด็ดขาด

يَأيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا إنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأنْصَابُ وَالأزْلاَمُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَيْطَانِ فَاجْتَنِبُوْهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُوْنَ


“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย อันที่จริงน้ำเมา การพนัน แท่นบูชา และการเสี่ยงทาย คือสิ่งโสโครก เป็นการกระทำของชัยตอน ดังนั้นพวกเจ้าจงออกห่างจากมัน เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 90)

สรุป ฮะดีษที่สอบถามมานี้เป็นฮะดีษ ศอเฮียะห์ (ศอเฮียะห์ลิฆอยริฮิ) เป็นการสาธยายเหตุของการประทานอายะห์ที่เป็นข้อห้ามในระยะที่สอง ก่อนที่จะประกาศห้ามเด็ดขาด

วัลลอฮุอะอ์ลัม