ชี้แจงคำวิจารณ์ของ al-azhary กรณีคำตอบเรื่องเมาลิดของ อ.ฟาริด

นานมาแล้ว ที่พี่น้องสมาชิกเวปมรดกได้ปริ้นข้อความจากกระดานเสวนานักศึกษาอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ เรื่อง “วิจารณ์คำตอบเรื่องเมาลิดของ อ.ฟาริด” มาให้ผมอ่าน แต่ด้วยความที่ไม่มีเวลา จึงเก็บเอาไว้โดยคิดว่าจะเอาติดตัวไปอ่านในช่วงว่างขณะเดินทางออกต่างจังหวัด แล้วในที่สุดก็ลืมสนิท
จนกระทั่งวันนี้ได้อ่านเมล์ และลิงค์ที่พี่น้องส่งมาให้อีกรอบ จึงนึกขึ้นได้ว่า ลืมอ่านและลืมชี้แจงคำวิจารณ์ที่พี่น้องส่งมาให้ก่อนหน้านี้

ผู้ใช้นามว่า “นูรุ้ลอิสลาม” ได้โพ้สคำตอบของผมเรื่อง เมาลิด ในกระดานเสวนานักศึกษาอะฮ์ลิสซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์ แล้วนำคำวิจารณ์ของผู้ที่ใช้นามว่า al-azhary ที่คัดค้านมาแสดง

ที่จริงแล้วผมก็ไม่เคยรู้จักผู้ใช้นามแฝงทั้งสองท่านนี้มาก่อน แต่ถ้าทั้งสองท่านนี้เป็นผู้ใฝ่รู้และบริสุทธิ์ใจต่อศาสนาของอัลลอฮ์ ก็ขอพระองค์ทรงเปิดใจของทั้งสองให้ประจักษ์ในสัจธรรมที่พระองค์ได้ทรงส่งรอซูลมา
ความบริสุทธิ์ใจคือเรื่องของหัวใจที่มนุษย์อย่างเราไม่อาจทราบได้ แต่เราสามารถที่จะทราบจากตัวอักษรที่โพ้สไว้คือ
วิชาการที่นำเสนอนั้นเพื่อปกป้องซุนนะห์ของท่านนบี หรือ เพื่อเฉไฉซุนนะห์ของท่านนบีให้เป็นอื่นจากเป้าหมายและความเข้าใจของเหล่าศอฮาบะห์ เรื่องนี้ผู้อ่านที่บริสุทธิ์ใจย่อมทราบได้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน

ผมอ่านคำวิจารณ์ของผู้ใช้นามว่า al-azhary แล้วก็นึกขำอยู่ในใจ เพราะคำวิจารณ์ทางวิชาการนั้น ควรจะอยู่ในรูปของการใช้วิชาการโต้แย้งหรือหักล้าง มากกว่าการตีรวนแบบเด็กๆ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีใครบอกว่า คุณทำไม่ถูกต้อง เขาก็จะตอบว่า คุณก็ไม่ถูกต้องเหมือนกัน คือถ้าผิดก็ผิดด้วยกัน กรณีนี้เช่นคำวิจารณ์ของ al-azhary ที่ว่า

อ้างอิงจาก อ.ฟาริด
ดังนั้นผู้ที่นิยมกระทำจึงต้องหาหลักฐานอ้างอิงโดยทางอ้อม

ตอบ
ความจริงที่อ้างว่าเมาลิดเป็นบิดอะฮ์ที่ลุ่มหลง ก็ใช้หลักฐานอ้างอิงโดยทางอ้อมเช่นเดียว และเป็นหลักฐานที่อ่อน

อย่างนี้แหละที่ผมบอกว่าเป็นการตีรวนแบบเด็กๆ คือถ้ากล่าวว่า ใช้หลักฐานทางอ้อม เขาก็ตอบว่า คุณก็ใช้หลักฐานอ้อมเช่นเดียวกัน แทนที่ผู้วิจารณ์จะแสดงหลักฐานโต้แย้งว่า เรื่องเมาลิดมิได้ใช้หลักฐานทางอ้อม แต่มีหลักฐานที่ระบุตรงๆ จากอัลกุรอานหรือจากอัลฮะดีษ แล้วก็นำเสนอตัวบทหลักฐานหักล้าง แต่ผู้วิจารณ์กลับไม่แสดงหลักฐานใดๆ หักล้างคำตอบของผมแม้แต่บทเดียว

นอกจากนั้นแล้ว การตีรวนด้วยการกล่าวว่า (ความจริงที่อ้างว่าเมาลิดเป็นบิดอะฮ์ที่ลุ่มหลง ก็ใช้หลักฐานอ้างอิงโดยทางอ้อมเช่นเดียว และเป็นหลักฐานที่อ่อน) ข้อความนี้ คือการยกเมฆของผู้วิจารณ์เอง เพราะในคำตอบของผมเรื่องนี้ ไม่ได้แสดงหลักฐานจากอัลกุรอาน,ฮะดีษศอเฮียะห์,ฮะดีษฏออีฟ หรือฮะดีษเมาดัวอ์บทใดๆ เพื่อยืนยันตามข้อความที่ผู้วิจารณ์ได้ยกเมฆเลย

หากย้อนกลับไปดูคำตอบของผมก็จะพบข้อความว่า “แต่ ณ.ที่นี้ผมขอชี้แจงอีกมุมหนึ่งที่อาจทำให้ท่านได้เห็นข้อเท็จจริงได้ไม่ยาก คือ หลักฐานโดยตรงที่ใช้หรือสนับสนุนให้ทำเมาลิดนั้นไม่มีสักบทเดียว ขอยืนยันว่า หลักฐานโดยตรงไม่มีสักบทเดียว ดังนั้นผู้ที่นิยมกระทำจึงต้องหาหลักฐานอ้างอิงโดยทางอ้อม นั่นคือการนำตัวบทในเรื่องอื่นมาเปรียบเทียบ หรือตีความเอา เช่น หลักฐานเรื่องการถือศีลอดซุนนะห์วันจันทร์ ซึ่งผู้ที่นิยมกระทำเมาลิดได้นำเรื่องนี้ไปชี้ประเด็นว่า ท่านนบีให้ความสำคัญต่อวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเกิดของท่าน แต่การนำเรื่องเมาลิดไปเปรียบเทียบกับเรื่องถือศีลอดนั้นเป็นเรื่องที่ไกลจากความเป็นจริง”

จะเห็นได้ว่า คำวิจารณ์ของ al-azhary คือคนละเรื่องกับที่ผมกล่าวไว้ ถึงแม้ว่าผมจะเอ่ยถึงเรื่องการถือศีลอดซุนนะห์วันจันทร์ และไม่ได้แสดงหลักฐานประกอบก็ตาม เนื่องจากการถือศีลอดซุนนะห์วันจันทร์นี้ เป็นเรื่องที่มุสลิมทุกหมู่เหล่าเข้าใจตรงกันอยู่แล้ว และผมเพียงจะชี้ประเด็นให้ผู้อ่านได้เห็นว่า หลักฐานทางอ้อมของที่ผู้นิยมกระทำเมาลิดคือการลากเอาเรื่อง การถือศีลอดซุนนะห์วันจันทร์ไปเปรียบกับเรื่องเมาลิด หรือผู้วิจารณ์จะเข้าใจว่า หลักฐานเรื่อง ซุนนะห์ถือศีลอดวันจันทร์เป็นหลักฐานอ่อน คงมิใช่เช่นนั้นกระมัง
หรือข้อความที่ว่า “เมาลิดกำเนิดในอียิปต์สมัยราชวงศ์ฟาติมีย โดยฝีมือของเหล่าชีอะห์” คำพูดนี้หรือเปล่าที่ผู้วิจารณ์กล่าวว่า เป็นหลักฐานทางอ้อมและเป็นหลักฐานที่อ่อน
หากผู้ที่ร่ำเรียนและอ่านตำราทางศาสนาให้เข้าใจ เขาจะทราบว่า หลักฐานทางศาสนานั้น คือ อัลกุรอาน และฮะดีษหรือซุนนะห์ของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และหรือซุนนะห์ของบรรดาคอลีฟะห์ที่ท่านนบีให้การรับรอง ส่วนเรื่องการกิยาสนั้นคือวิธีการ ซึ่งบางคนเรียกว่า การอนุมาน หรือการเปรียบเทียบ
หรือหากผู้วิจารณ์จะไม่ยอมรับในคำกล่าวที่ว่า “เมาลิดกำเนิดในอียิปต์สมัยราชวงศ์ฟาติมียะห์ โดยฝีมือของเหล่าชีอะห์” ก็ไม่ถือเป็นการปฏิเสธหลักฐานทางศาสนาแต่อย่างใด

แต่ข้อความของผมที่ว่า “ซึ่งเราได้พบว่าชาวนะศอรอเขาจัดเมาลิด เฉลิมฉลองวันประสูตให้กับพระเยซูคริสต์ ในวันคริสมาส ทุกวันที่ 25 ธันวาคม ของทุกปี” ข้อความนี้คงไม่ต้องหอบหลักฐานมาแสดง เพราะเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และผู้วิจารณ์ก็ไม่ได้ชี้แจงข้อความนี้เลย

ความจริงแล้ว น่าจะมีใครสักคนหนึ่ง ที่จะให้คำตอบแก่ประชาชนว่า ระหว่างเมาลิดนบีอีซา กับ เมาลิดนะบีมูฮัมหมัด เมาลิดอันไหนกำเนิดมาก่อน และใครก๊อปของใครมา

ดังนั้นข้อความของผมในคำตอบที่ว่า (หลักฐานโดยตรงที่ใช้หรือสนับสนุนให้ทำเมาลิดนั้นไม่มีสักบทเดียว ขอยืนยันว่า หลักฐานโดยตรงไม่มีสักบทเดียว ดังนั้นผู้ที่นิยมกระทำจึงต้องหาหลักฐานอ้างอิงโดยทางอ้อม นั่นคือการนำตัวบทในเรื่องอื่นมาเปรียบเทียบ หรือตีความเอา) คำพูดของผมนี้ al-azhary ไม่ได้แสดงหลักฐานโต้แย้ง นอกจากการตีรวนตามที่กล่าวมาข้างต้น

อ.ฟาริดกล่าวว่า
2 - ซุนนะห์ถือศีลอดวันจันทร์นั้นเป็นซุนนะห์รายสัปดาห์ (มีซุนนะห์ทุกวันจันทร์) แต่เราทำเมาลิดรายปีไม่ได้ทำทุกวันจันทร์
3 – หรือหากท่านทำเมาลิดทุกวันจันทร์จริงก็เป็นการเปรียบเทียบที่ไกลจากตัวบท เหลือเกินเพราะวันจันทร์มีซุนนะห์ให้บวช ไม่ใช่ซุนนะห์ให้ทำเมาลิด บวชกับเมาลิดเป็นการเปรียบเทียบคนละเรื่อง
4 – ตัวบทหลักฐานเรื่องซุนนะห์ถือศีลอดวันจันทร์นี้เป็นคำสอนของท่านนบี ผ่านคนในยุคแรกมาแล้ว เช่นเหล่าศอฮาบะห์และตาบีอีนและตาบีอิตตาบีอีน แต่บุคคลเหล่านี้เขาไม่ได้เข้าใจเช่นเรา

ตอบ
“ท่าน อิบนุ อัลหาจญ์ได้ตอบว่า "ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มพูนการกระทำบรรดาอิบาดะฮ์และความดีงามในเดือนร่อบิอุลเอาวัล เพื่อชุโกรกตัญญูรู้คุณต่ออัลเลาะฮ์ ในสิ่งที่พระองค์ทรงให้เรามีความดีเลิศจากบรรดาเนี๊ยะมัตอันยิ่งใหญ่นี้ และถึงหากแม้นว่าท่านนบี(ซ.ล.) ไม่ได้ทำการเพิ่มอะมัลอิบาดะฮ์มากไปกว่าเดือนอื่นๆก็ตาม โดยที่สิ่งดังกล่าวนั้น ไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจาก เป็นความเมตตาเอ็นดูของท่านนบี(ซ.ล.)ที่มีต่อประชาชาติของท่าน เนื่องจากท่านนบี(ซ.ล.)ได้ละทิ้งอะมัลหนึ่งนั้น เพราะเกรงว่าจะถูกกำหนดฟัรดูแก่ประชาชาติของท่าน นั่นก็เพราะเป็นความเมตตาเอ็นดูของท่านนบี(ซ.ล.) แต่ท่านนบี(ซ.ล.) ได้บ่งชี้ ถึงความประเสริฐของเดือนร่อบิอุลเอาวัลที่ยิ่งใหญ่นี้ ด้วยคำตอบกับผู้ที่ถามถึงการถือศีลอดในวันจันทร์ ว่า ( ذلك يوم ولدت فيه ) "ดังกล่าว(เพราะ)เป็นวันที่ฉันเกิด" เพราะฉะนั้น การในวันจันทร์นี้ ย่อมผนวจถึงการให้เดือนอันมีเกียรติที่ท่านนบีประสูติด้วย...เป็นที่ทราบดี ว่า บรรดาสถานที่และกาลเวลานั้นไม่ใช่มีเกียรติด้วยตัวของมันเอง แต่ที่ความมีเกียรติได้เกิดขึ้นแก่มันนั้นด้วยเหตุมีบรรดาความหมายนัยยะที่ เฉพาะอยู่ ดังนั้น พวกท่านทั้งหลาย โปรดพิจารณาความพิเศษที่อัลเลาะฮ์ทรงเฉพาะไว้ในเดือนร่อบิอุลเอาวัลและวัน จันทรเถิด ท่านไม่เห็นดอกหรือว่า การถือศีลอดในวันจันทร์นั้นเป็นความประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ อันเนื่องจากท่านนบีได้ประสูติ ดังนั้น เมื่อเราได้ยอมรับตามนี้ ก็เป็นการสมควรที่จะนำเดือนรอบิอุลเอาวัลที่มีเกียรตินี้ เข้าไปอยู่ในการให้เกียรติ ให้ความสำคัญ อย่างเหมาะสมเพื่อที่จะเจริญรอยตามท่านนบี(ซ.ล.) ที่ได้เจาะจงช่วงเวลาต่างๆ ที่ประเสิรฐ ด้วยการเพิ่มการกระทำความดีงามและทำให้มากๆกับคุณงามความดีในช่วงเวลาที่ ประเสริฐนั้น " ท่านอิมามอัศสะยูฏีย์ได้ถ่ายทอดคำพูดของท่านอิบน อัลหาจญ์ จากหนังสือ อัลมัดค๊อล ไว้ในหนังสือ อัลหาวีย์ อัลฟะตะวา เล่ม 1 หน้าที่ 227
และท่านอิบนุอัลหาจญ์ได้กล่าวไว้ใน บทย่อยหนึ่งว่า "หากมีคนกล่าวว่า แท้จริงท่านร่อซุลเลาะฮ์(ซ.ล.)ได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในบรรดาช่วงเวลาที่ ประเสริฐ ซึ่งท่านนบีได้ปฏิบัติจากสิ่งที่ทราบกันดีและท่านนบีก็ไม่ได้ปฏิบัติเคร่ง ครัดในเดือนนี้(ร่อบิอุลเอาวัล) เหมือนกับเดือนอื่นๆ ตอบ สิ่งกล่าวนั้น เพราะเป็นที่ทราบดีจากปกติวิสัยอันมีเกียรติของท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ท่านนั้นต้องการจะให้มีความสะดวกแก่ประชาชาติของท่าน โดยเฉพาะสิ่งที่ท่านนบีเจาะจงเป็นพิเศษเอาไว้ ท่านไม่เห็นดอกรู้หรือว่า ท่านนบี(ซ.ล.) ทรงทำให้มะดีนะฮ์เป็นเขตหวงห้ามเหมือนกับท่านนบีอิบรอฮีมได้ทำให้มักกะฮ์ เป็นเขตหวงห้าม โดยพร้อมกับสิ่งดังกล่าวนั้น คือ ไม่อนุญาตให้ทำการล่าสัตว์ ตัดต้นไม้ เพื่อให้ความสะดวกและเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติของท่าน......(แล้วท่านอิบนุ อัลหาจญ์กล่าวว่า)

فعلى هذا فتعظيم هذا الشهر الشريف إنما يكون بزيادة الأعمال الزاكيات فيه والصدقات إلى غير ذلك من القربات ، فمن عجز عن ذلك فأقل أحواله أن يجتنب ما يحرم عليه ويكره له لهذا الشهر الشريف

"เมื่อ เราได้ดำเนินตามนี้ ดังนั้น การให้เกียรติเดือน(ร่อบิอุลเอาวัล)ที่มีเกียรตินี้ คือการเพิ่มพูนบรรดาอะมัลที่ดีงาม และบรรดาการบริจากทานทั้ง และอื่นๆ อีกจากบรรดาความดีที่สร้งความใกล้ชิด(ต่ออัลเลาะฮ์) ดังนั้น หากผู้ใดที่ไม่สามารถกระทำสิ่งดังกล่าว ก็ให้เขาทำให้น้อยกับบรรดาสภาวะการกระทำต่างๆ ของให้ เขาพ้นจากสิ่งที่ถูกห้ามหรือสิ่งที่น่ารังเกียจ เพื่อให้เกียรติแก่เดือน(ร่อบิอุลเอาวัล)ที่มีเกียรตินี้" หนังสือ อัลหาวีย์ ลิลฟาตาวา ของท่านอิมามอัศศะยูฏีย์ ในเล่ม 1 หน้าที่ 227 - 228 วัลลอฮุอะลัม”


ไม่ทราบว่าผู้วิจารณ์ที่ใช้นามว่า al-azhary ไม่เข้าใจข้อความของผมหรือต้องการเลี่ยงประเด็น เพราะผมตั้งข้อสังเกตทางวิชาการเกี่ยวกับการนำเอาเรื่อง ซุนนะห์การถือศีลอดวันจันทร์ไปกิยาส (เปรียบเทียบ) กับการการทำเมาลิดว่า มันคนละเรื่อง,คนละประเด็นกัน แต่แทนที่ผู้วิจารณ์จะแย้งหรือคัดค้าน โดยนำเสนอการกิยาส เรื่องนี้ตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการว่ามีความถูกต้องไม่ได้ผิดพลาดอย่างที่ผมกล่าว แต่ก็ไม่มีคำชี้แจงทางวิชาการในประเด็นนี้แต่อย่างใด

นอกจากการที่ผู้วิจารณ์ ได้ไปนำทัศนะของนักวิชาการบางท่านมาแสดง เพื่อสื่อให้เห็นถึงความมีเกียรติของเดือนรอบีอุ้ลเอาวัล

ในทัศนะของนักวิชาการบางท่านที่นำมาแสดงนี้ มีเรื่องแปลกอยู่ประการหนึ่งคือ การถือศีลอดซุนนะห์วันจันทร์นั้น มีอยู่ทุกสัปดาห์และทุกเดือนตลอดทั้งปี แต่ไม่ทราบว่า เพราะเหตุใดจึงนำเรื่องนี้มาขีดกรอบให้เหลือแต่ความสำคัญเฉพาะวันจันทร์ของเดือนรอบีอุ้ลเอาวัล เท่านั้น

เราต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า บรรดานักวิชาการมีทัศนะแตกต่างกันในเรื่องนี้ มีทั้งเห็นด้วยและคัดค้าน ดังนั้นการนำเสนอทัศนะของนักวิชาการดังที่ผู้วิจารณ์ได้นำมาแสดง ก็เป็นเพียงการแสดงทัศนะด้านหนึ่งเท่านั้น และหากกล่าวว่าทัศนะของนักวิชาซีกที่เห็นด้วยเป็นหลักฐานศาสนา แล้วทัศนะของนักวิชาการอีกซีกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย มิใช่หลักฐานทางศาสนาหรืออย่างไร แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็มิใช่หลักฐานศาสนาทั้งสิ้น หรือว่าวันนี้เราจะยึดอุลามาอ์เฉพาะที่ชื่นชอบโดยปราศจากหลักฐาน

แต่ที่เราจะกล่าวต่อไปนี้คือหลักฐาน (มิใช่ทัศนะ) เพื่อประกอบการพิจารณาสักบทหนึ่งคือ ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إن الله فرض فرائض فلا تضيعواها وحد جدودا فلا تعتدوها وحرم أشياء فلا تنتهكوها وسكت عن أشياء رحمة لكم عير نسيان فلا تبحثوا عنها


“แท้จริงอัลลอฮ์ได้กำหนดข้อบัญญัติใดๆไว้ พวกเจ้าก็อย่าละเลย และพระองค์กำหนดขอบเขตใดๆไว้ พวกเจ้าก็อย่าละเมิด และพระองค์ทรงห้ามสิงใดไว้ พวกเจ้าก็ฝ่าฝืนมัน และสิ่งที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้คือความเมตตาที่มีต่อพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าก็อย่าไปค้นหามัน” ฮะดีษบทนี้รายงานโดย อัดดารุ กุฏนีย์ และท่านอื่นๆ ซึ่งบรรดานักฮะดีษให้สถานะว่า ฮะดีษฮะซัน

คำพูดของท่านนบีข้างต้นนี้มันตรงกันข้ามกับทัศนะของนักวิชาการที่ al-azhary ได้นำเสนอ เราจะเอาทัศนะมาหักล้างคำของท่านนบีกระนั้นหรือ

ข้อความในฮะดีษที่ว่า (และสิ่งที่พระองค์ไม่ได้บัญญัติไว้คือความเมตตาที่มีต่อพวกเจ้า ดังนั้นพวกเจ้าก็อย่าไปค้นหามัน) ในประเด็นนี้รวมถึงเรื่องการ “กิยาส” ด้วย เพราะมิได้หมายความว่า ใครจะนำเรื่องใดมาเปรียบเทียบกับเรื่องใดก็ได้ตามความต้องการของแต่ละคน แต่ ญุมฮุรอุลามาอ์ (ปวงปราชญ์โดยส่วนใหญ่) ก็อนุญาตให้ กิยาสได้เมื่อมีเหตุของความจำเป็น โดยจะต้องพิจารณา ถึง อิลละห์, ชุรูฏ และกฏเกณฑ์อื่นๆของการกิยาสอย่างรอบคอบ

เราจะไม่ถามถึงหลักเกณฑ์ของการกิยาส เพราะที่กล่าวไว้ในการตอบคำถามนั้นก็ยังไม่รับคำชี้แจง แต่เราแค่จะถามสั้นๆ ณ.ที่นี้ว่า มีมูลเหตุของความจำเป็นอันใด ที่ต้องเอาเรื่อง ซุนนะห์การถือศีลอดวันจันทร์ไปกิยาสกับการทำเมาลิด

กะว่าจะชี้แจงคำวิจารณ์ในประเด็นอื่นๆต่อ แต่เมื่อเหลือบไปเห็นข้อความของ al-azhary ที่กล่าวว่า

“ความจริงแล้วผู้คัดค้าน เมาลิดทึกทักเอาเองและไม่มีความเข้าใจ แท้จริง "การรวมตัว"(จัดงาน) กันเพื่อทำเมาลิดรำลึกถึงท่านนบี (ซ.ล.)ที่ทรงเกียตรินั้น มันไม่ใช่อื่นใดเลย นอกจากแต่ว่ามันเป็นเรื่อง มุบาหฺ مباح อาดัตธรรมดาทั่วไป العادة เท่านั้นเอง และมันก็ไม่ใช่เรื่องของอิบาดะฮ์ العبادات แต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ไม่หวังดีเกี่ยวกับ "การรวมตัว" ทำเมาลิดรำลึกถึงท่านนบี(ซ.ล.)นั้น ก็อย่าไปแอบอ้างว่า มันเป็นอิบาดะฮ์ العبادة และไปสร้างความเข้าใจผิดกับผู้อื่นว่า มันเป็นอิบาดะฮ์ที่ท่านนบี(ซ.ล.)ไม่เคยทำ และทำการหุกุ่มพี่น้องมุสลิมมีนว่าทำบิดอะฮ์ลุ่มหลง เราหวังว่าท่านผู้อ่านคงแบ่งแยกได้ระหว่าง อาดะฮ์ العادة และ อิบาดะฮ์ العبادة นะครับ”

เมื่อได้อ่านข้อความของ al-azhary ที่ปรากฏข้างต้นนี้แล้ว เราคิดว่าเสียเวลาชี้แจงเรื่องนี้มามากพอสมควร เพราะได้เห็นก่อนหน้านี้ว่า เขาพยามอ้างอิงหลักฐานหว่านล้อมจากคำฟัตวาของนักวิชาการบางท่านอย่างยืดยาว แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็กล่าวเองว่า การจัดเมาลิดไม่ใช่อิบาดะห์

ทำให้เรานึกถึงภาพของคนหนึ่งที่เอาเชือกผูกขื่อไว้ แล้วปลายเชือกอีกด้านหนึ่งเอาผูกคอตัวเอง ไม่มีใครกระตุกเชือกเส้นนั้นเลยนอกจากตัวเขาเอง

เมื่อยอมรับว่าเมาลิดเป็น “อาดะห์” (ประเพณีนิยม) ไม่ใช่ “อิบาดะห์” ถ้าเช่นนั้นก็อย่าเอาเรื่องศาสนา เช่น ซิกรุ้ลลอฮ์, การศอลาวาต และอื่นๆ ไปประยุกต์ ประกอบรวมเป็นพิธีกรรม และก็อย่าไปเอาหลักฐานศาสนาในเรื่องอื่นมาลากโยงให้บรรดาผู้คนเข้าใจผิด

เมื่อยอมรับว่า เมาลิดอยู่ในฮุก่ม มุบาฮ์ ฉะนั้นจะทำหรือไม่ทำมีค่าเท่ากัน คือไม่มีผลบุญจากการกระทำและไม่มีบาปจากการละทิ้งแต่อย่างใด ถ้าเช่นนั้นแล้วจะทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองทำไม

เมื่อยอมรับว่าเมาลิดเป็น “อาดะห์” หมายถึงประเพณีนิยม ถ้าเช่นนั้นลองเปิดตำราอุศูลุ้ลฟิกฮ์ ทบทวนอีกครั้ง แล้วสอบประวัติของเรื่องนี้หน่อยซิว่า มันเป็นประเพณีนิยมของศาสนาคริสต์เขาหรือเปล่า เพราะเขาก็จัดเมาลิดให้กับพระเยซูคริสต์เหมือนกัน

ขออัลลอฮ์ทรงเพิ่มพูนความรู้และทางนำแก่ผู้มีหัวใจบริสุทธิ์ทุกท่าน