ปัญหาการซื้อทองขายทอง
หลังจากที่ผมตอบปัญหาเรื่องการซื้อทองขายทองทางรายการโทรทัศน์ ก็มีเสียงโทรศัพท์ดังขึ้นไม่ขาดสาย บ้างก็ถามซ้ำเพื่อต้องการให้ยืนยันคำตอบ, บ้างก็ถามถึงวิธีการซื้อขาย, บางคนถามเรื่องการหยิบยืมทองและการชดใช้ระหว่างกัน
บางคนกล่าวว่า คณาจารย์หลายท่านตอบว่าห้ามซื้อทองขายทองไม่ว่าจะซื้อสดหรือซื้อผ่อน แต่ทำไมอาจารย์ฟารีดถึงให้คำตอบที่แตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นว่า ซื้อก็ได้ ขายก็ได้ ซื้อสดก็ได้ ซื้อผ่อนก็ได้ หากซื้อจริงขายจริง และปราศจากดอกเบี้ย
ขอเรียนชี้แจงว่า ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะตอบคำถามนี้เพื่อหักล้างคำตอบของอาจารย์ท่านใด เนื่องจากไม่ทราบคำตอบของคณาจารย์เหล่านั้นมาก่อน แต่หลังจากที่ผมตอบคำถามไปแล้ว ก็มีการซักถามเพิ่มเติมประดังเข้ามาเรื่อยๆ จึงรับปากว่า จะชี้แจงปัญหานี้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อง่ายแก่การอ้างอิงตัวบทหลักฐานและการตรวจสอบ แต่ก็ทิ้งระยะเวลามาเป็นแรมเดือนกว่าจะมีโอกาสเขียนบทความนี้ เนื่องจากมีภารกิจต้องเดินทางไปบรรยายต่างจังหวัดตลอดเวลา
ด้วยเจตนาว่าจะชี้แจงปัญหานี้ให้เกิดความกระจ่าง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของฮะดีษ ดังนั้นหากมีผู้รู้ใดท่านใดทราบว่า การชี้แจงของผมไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ขอความกรุณาได้แจ้งให้ทราบด้วยเพื่อจะได้แก้ไขให้เป็นไปตามบทบัญญัติของศาสนา และขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีงามแก่ผู้ที่บริสุทธิ์ใจทุกท่าน “ญะซากุมุ้ลลอฮ์”
อิสลามอนุมัติเรื่องค้าขายแต่ห้ามเรื่องดอกเบี้ย
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
الَّذِيْنَ يَأْكُلُوْنَ الرِّبَا لاَ يَقُوْمُوْنَ إلاَّ كَمَا يَقُوْمُ الَّذِيْنَ يَتَخَبَّطُهُ الشَّسْطَانُ مِنَ المَسِّ ذَلِكَ بِأنَّهُمْ قَالُوا إنَّمَا الْبَيْعُ مِثْلُ الرِّبَا وَأحَلَّ اللهُ الَبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا فَمَنْ جَاءَ مَوْعِظَةٌ مِن رَّبِّهِ فَانْتَهَى فَلَهُ مَا سَلَفَ وَأمْرُهُ إلَى اللهِ وَمَنْ عَادَ فَأوْلئِكَ أصْحَابُ النَّارِ هُمْ فِيْهَا خَالِدُوْنَ
“บรรดาผู้ที่กินดอกเบี้ย พวกเขาจะไม่สามารถทรงตัวได้ นอกจากจะเป็นดั่งเช่นผู้ที่ชัยตอนเข้าครอบงำ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากพวกเขากล่าวว่า แท้จริงการค้านั้นก็เหมือนการเอาดอกเบี้ย และอัลลอฮ์ทรงอนุมัติเรื่องการค้า แต่ทรงห้ามเรื่องดอกเบี้ย ดังนั้นผู้ใดที่ข้อเตือนจากองค์อภิบาลของเขามาถึงเขา แล้วเขาก็ละเลิก สิ่งที่ผ่านพ้นมาก็เป็นสิทธิ์ของเขา และเรื่องราวของเขามี ณ.ที่อัลลอฮ์ แต่ผู้ใดหวนกลับไปอีก พวกเหล่านี้แหละคือสหายของไฟนรก พวกเขาจะต้องพำนักอยู่ในนั้นนิรันดร” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 275
ข้อความของอายะห์ข้างต้นนี้คือบัญญัติหลัก ที่ชี้ให้เห็นว่า ดอกเบี้ย กับ การค้าขายนั้นแตกต่างกัน และทั้งสองประเภทนี้ก็มีข้อบัญญัติที่แตกต่างกันอีกด้วยคือ รายได้และรายจ่ายที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเป็นที่ต้องห้าม แต่รายได้และรายจ่ายจากการค้าขายเป็นที่อนุมัติ
แม้ว่าอิสลามจะอนุมัติเรื่องค้าขายก็ตาม แต่ก็มีกฎเกณฑ์และกติกาควบคุม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมคู่ค้า และเพื่อให้การค้าขายนั้นปราศจากดอกเบี้ย เช่นสินค้าที่จะซื้อจะขายต้องเป็นของฮะล้าล, วิธีการซื้อและขายก็ต้องฮะล้าลด้วยเช่นเดียวกัน
นิยามการซื้อขายและการใช้ศัพท์
คำว่า ซื้อและขาย หมายถึง การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น ซื้อหรือขายรถยนต์ ก็คือการ ที่ผู้ซื้อเอาธนบัตรตามราคาที่ตกลงไปมอบให้ผู้ขาย และผู้ขายก็ส่งมอบรถยนต์ให้แก่ผู้ซื้อ แต่คำว่าซื้อขายนี้ก็ไม่ได้หมายความเฉพาะเอาธนบัตรไปแลกสิ่งของเท่านั้น แต่รวมถึงวิธีการเอาของไปแลกของ เหมือนกับที่คนรุ่นปู่ย่าตายายของเราได้เคยกระทำมาในอดีต เช่นเอาข้าวแลกน้ำมัน อย่างนี้เป็นต้น หรือหมายถึงการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันไม่ว่าสิ่งที่นำไปแลกเปลี่ยนนั้นจะเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกันก็ตาม ตัวอย่างของการซื้อขายที่อยู่ในความหมายของการแลกเปลี่ยนนี้ เช่น พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า
أُولَئِكَ الَّذِيْنَ اشْتَرَوُا الضَّلاَلَةَ بِالْهُدَى فَمَا رَبِحَتْ تِجَارَتُهُمْ
“พวกเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ที่ซื้อความหลงผิดด้วยทางนำ ฉะนั้นการค้าของพวกเขาจึงไม่มีกำไร” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 16
อีกประการหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน เกี่ยวกับการใช้ภาษา เพื่อป้องกันการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนดังนี้
คำว่า الفِضَّة เป็นภาษาอาหรับที่เรามาแปลความหมายในภาษาไทยว่า “เงิน” นั้นหมายถึงแร่เงิน ที่นำไปทำเป็นของใช้และเครื่องประดับและอื่นๆ ในที่นี้หมายถึงเนื้อเงิน,เม็ดเงินทั้งที่แปรสภาพแล้วและยังมิได้แปรสภาพ แต่มิได้หมายถึง ธนบัตร หรือ สตางค์ ที่ใช้จับจ่ายซื้อของ ซึ่งคนบ้านเราก็เรียกว่า “เงิน” เช่นเดียวกัน
ฉะนั้นในข้อความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้หากต้องการสื่อถึง “เงิน” ที่ใช้จับจ่ายซื้อสินค้าก็จะใช้คำว่า “ธนบัตร” หรือ “สตางค์” แทน เพื่อจะได้ไม่ไขว้เขว
การซื้อทองขายทอง
ฮะดีษที่รายงานเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายทองมีอยู่หลายบท เนื้อหาใกล้เคียงกัน และถูกบันทึกในตำราบันทึกฮะดีษหลายชุด แต่ที่จะนำมากล่าวนี้อ้างอิงในที่นี้ จะคัดจากบันทึก ศอเฮียะห์บุคอรี และมุสลิม เป็นหลัก เนื่องจากบรรดามุสลิมต่างมั่นใจในสถานะฮะดีษที่ระบุอยู่ในบันทึกศอเฮียะห์ทั้งสอง โดยเฉพาะอิหม่ามมุสลิม ได้จัดฮะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทที่ว่าด้วยเรื่อง “ริบาอ์” ซึ่งแปลว่า “ดอกเบี้ย” ตัวอย่างเช่นฮะดีษต่อไปนี้
عَنْ عُبَادَةَ بْنِ الصَّامِتِ قَالَ : قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : الذَّهَبُ بِالذَّهَبِ وَالفِضَّةُ بِالفِضَّةِ وَالبُرُّ بِالبُرِّ وَالشَّعِيْرُ بالشَّعِيْرِ وَالتَّمْرُ بِالتَّمْرِ وَالمِلْحُ بِالْمِلْحِ مِثْلاً بِمِثْلٍ سَوَاءٌ بِسَوَاءٍ يَداً بِيَدٍ فَإِذَا اخْتَلَفَتْ هَذِهِ الأصْنَافُ فَبِيْعُوا كَيْفَ شِئْتُمْ إذَا كاَنَ يَداً بِيَدٍ
“อุบาดะห์ บิน อัสศอมิต รายงานว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : ทองด้วยทอง, เงินด้วยเงิน, ข้าวสาลีด้วยข้าวสาลี, ข้าวฟ่างด้วยข้าวฟ่าง, อินทผลัมด้วยอินทผลัม, เกลือด้วยเกลือ, ชนิดเดียวกัน, เท่ากัน, ส่งมอบกันซึ่งหน้า แต่หากชนิดแตกต่างกัน ก็จงขายตามแต่พวกเจ้าต้องการ หากได้ส่งมอบกันซึ่งหน้า” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2970
มีผู้กล่าวว่า อิสลามห้ามซื้อทองขายทองโดยการอ้างตัวบทหลักฐานจากฮะดีษข้างต้นนี้ ซึ่งทำให้เกิดความงุนงงแก่ผู้ที่เคยอ่านฮะดีษบทนี้ครบข้อความ เนื่องจาก ฮะดีษบทนี้มิได้กล่าวถึงทองเพียงอย่างเดียว แต่ยังกล่าวถึงสินค้าประเภทอื่นอีกหลายชนิด
แต่หากคำพูดที่ว่าอิสลามห้ามซื้อทองขายทองเป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้วละก็ ดังนั้นก็ต้องกล่าวว่าห้ามซื้อข้าวขายข้าว,ห้ามซื้อเกลือขายเกลือ, ห้ามซื้ออินทผลัมและขายอินทผลัมด้วย เพราะท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงประเภทต่างๆเหล่านี้ไว้ในฮะดีษบทเดียวกัน
แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ข้าว,เกลือ,อินทผลัม อนุมัติให้ซื้อขายได้ แล้วเพราะเหตุใดจึงตัดตอนเอาคำว่า ทอง จากฮะดีษนี้เพียงอย่างเดียว ไปถือเป็นบัญญัติห้าม หรือว่ามีตัวบทอื่นที่มาเจาะจงเป็นการเฉพาะว่า “ห้ามซื้อทองขายทอง” ก็ไม่มีเลย เพราะถ้ามีตัวบทเจาะจงเป็นการเฉพาะแล้ว ก็คงไม่มีผู้นำเอาฮะดีษบทนี้ไปกล่าวอ้างเป็นหลักฐานเป็นแน่แท้
ข้อความในฮะดีษข้างต้นนี้ ระบุถึงการซื้อขายด้วยวิธีเอาของแลกของ ซึ่งจำแนกได้เป็นสองประเภทคือ การซื้อขายสินค้าโดยการแลกของชนิดเดียวกัน และการซื้อขายสินค้าโดยการแลกของต่างชนิด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ บรรดานักวิชาการพยามที่จะกำหนดชนิดต่างๆของสินค้า เนื่องจากมีผลต่อการนำมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ดังที่อิหม่ามนะวาวีย์ได้อธิบายความในฮะดีษมุสลิมบทนี้ว่า
قوله صلى الله عليه وسلم ( البر بالبر والشعير بالشعير والتمر بالتمر والملح بالملح مثلا بمثل سواء بسواء يدا بيد ) فإذا اختلفت هذه الأصناف فبيعوا كيف شئتم إذا كان يدا بيد هذا دليل ظاهر في أن البر والشعير صنفان وهو مذهب الشافعي وأبي حنيفة والثوري وفقاء المحدثين وآخرين وقال مالك والليث والأزاعي ومعظم علماء المدينة والشام من المتقدمين أنها صنف واحد وهو محكى عن عمر وسعيد وغيرهما من السلف رضى الله عنهم واتفقوا على أن الدخن صنف والذرة صنف والأرز صنف إلا الليث بن سعد وابن وهب فقالا : هذه الثلاثة صنف واحد
“คำพูดของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า (ข้าวสาลีด้วยข้าวสาลี, ข้าวฟ่างด้วยข้าวฟ่าง อินทผลัมด้วยอินทผลัม, เกลือด้วยเกลือ, ชนิดเดียวกัน, เท่ากัน, ส่งมอบกันซึ่งหน้า แต่หากชนิดแตกต่างกัน ก็จงขายตามแต่พวกเจ้าต้องการ หากได้ส่งมอบกันซึ่งหน้า) นี่คือหลักฐานชัดเจนที่ยืนยันว่า ข้าวสาลีกับข้าวฟ่างนั้นเป็นคนละชนิดกัน ซึ่งเป็นแนวทางของมัซฮับชาฟีอี, อบูฮะนีฟะห์, อัสเซารีย์ และบรรดานักวิชาการด้านฮะดีษ และอื่นๆ
ส่วนมาลิก,อัลลัยซ์, เอาซาอีย์ และส่วนใหญ่ของนักวิชาการมะดีนะห์,ชาม ในยุคก่อนเข้าใจว่ามันคือชนิดเดียวกัน โดยการอ้างอิงจาก อุมัร,สะอี๊ด,และคนอื่นๆ จากบรรพชน ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาต่อพวกเขา ซึ่งพวกเขามีมติว่า ลูกเดือยคือชนิดหนึ่ง, ข้าวโพดเป็นชนิดหนึ่ง และข้าวก็เป็นอีกชนิดหนึ่ง นอกจาก อัลลัยซ์ บิน ซะอด์ และ อิบนุ วะฮ์บิน ทั้งสองเข้าใจว่า ทั้งสามอย่างนี้เป็นชนิดเดียวกัน”
สรุปความได้ว่า ฮะดีษข้างต้นนี้ มิได้เป็นหลักฐานห้ามซื้อทองขายทอง แต่เป็นหลักฐานเรื่อง การซื้อขายด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าชนิดเดียวกัน หรือการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างชนิด และการส่งมอบสินค้าระหว่างกัน
การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าชนิดเดียวกัน
การซื้อหรือการขาย ทองด้วยทอง, เงินด้วยเงิน, อินทผลัมด้วยอินทผลัม เกลือด้วยเกลือดังที่ระบุในฮะดีษที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เป็นที่อนุญาต แม้ว่าสินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยนจะเป็นชนิดเดียวกันก็ตาม แต่จะต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำกัน ไม่ว่าจะเป็นชนิดหรือน้ำหนัก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องส่งมอบสินค้ากันซึ่งหน้า
عَنْ أَبِي سَعِيْدِ الخُدْرِيِّ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ أنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ: لاَ تَبِيْعُوا الذَّهَبَ بِالذَّهَبِ إلاَّ مِثْلاً بِمِثْلٍ وَلاَ تُشِفُّوا بَعْضَهَا عَلَى بَعْضٍ وَلاَ تَبِيْعُوا الوَرِقَ بِالْوَرِقِ إلاَّ مِثْلاً بِمِثْلٍ وَلاَ تُشِفُّوا بَعْضَهَا عَلَى بَعْضٍ وَلاَ تَبِيْعُوا مِنْهَا غَائِباً بِنَاجِزٍ
“อบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ รายงานว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : พวกท่านอย่าได้ขายทองด้วยทอง นอกจากเท่ากัน และอย่าให้มีการขาดเกินต่อกัน และพวกท่านอย่าได้ขายเงินด้วยเงิน นอกจากเท่ากัน และอย่าให้มีการขาดเกินต่อกัน และพวกท่านอย่าได้ขายมันในสภาพที่ไม่รู้ไม่เห็นด้วยความล่าช้าของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 2031
ฮะดีษอีกบทหนึ่ง เป็นคำรายงานจาก อบีสะอี๊ด อัลคุดรีย์ เช่นเดียวกัน มีรายงานต่อท้ายด้วยคำว่า إلاَّ يَداً بِيَدٍ แปลว่า “นอกจากการส่งมอบซึ่งหน้า” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2965
จะเห็นได้ว่า ท่านนบีได้วางเงื่อนไขการแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยการส่งมอบกันซึ่งหน้า เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ, เพื่อความเป็นธรรมของคู่ค้าและเพื่อป้องกันมิให้เกิดดอกเบี้ย ซึ่งการล่าช้าในการส่งมอบสินค้าที่แลกเปลี่ยนระหว่างกันนั้นทำให้เกิดค่าต่างในสินค้าของแต่ละฝ่าย
การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าต่างชนิด
قَالَ أَبُوْبَكَرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : لاَ تَبِيْعُوا الذَّهَبَ بِالذَّهَبِ إلاَّ سَوَاءً بِسَوَاءٍ وَالفِضَّةَ بِالْفِضَّةِ إلاَّ سَوَاءً بِسَوَاءٍ وَبِيْعُوا الذَّهَبَ بِالْفِضَّةِ وَالفِضَّةَ بِالذَّهَبِ كَيْفَ شِئْتُمْ
“อบูบะกะเราะห์ รอดิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : พวกท่านอย่าขายทองด้วยทอง นอกจากเท่ากัน และอย่าขายเงินด้วยเงิน นอกจากเท่ากัน แต่พวกเจ้าจงขายทองด้วยเงิน และขายเงินด้วยทอง ตามแต่พวกเจ้าต้องการ” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 2029
عَنْ أبِي بَكَرَةَ قَالَ : نَهَى رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنِ الفِضَّةِ بِالْفِضَّةِ وَالذَّهَبِ بِالذَّهَبِ إلاَّ سَوَاءً بِسَوَاءٍ وَأَمَرَنَا أنْ نَشْتَرِيَ الْفِضَّةَ بِالذَّهَبِ كَيْفَ شِئْنَا وَنَشْتَرِيَ الذَّهَبَ بِالفِضَّةِ كَيْفَ شِئْنَا قَالَ : فَسَأَلَهُ رَجُلٌ فَقَالَ : يَداً بِيَدٍ ؟ فَقَالَ : هَكَذَا سَمِعْتُ
“อบี บะกะเราะห์ รายงานว่า : ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ห้ามเงินด้วยเงิน และทองด้วยทอง นอกจากเท่ากัน และใช้เราให้ซื้อเงินด้วยทองตามที่เราต้องการ, และซื้อทองด้วยเงินตามที่เราต้องการ เขาเล่าว่า : ชายคนหนึ่งได้ถามเขาโดยกล่าวว่า : ต้องส่งมอบกันซึ่งหน้าใช่ไหม ? เขาตอบว่า อย่างนี้แหละที่ฉันได้ยินมา” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2977
ท่านนบีอนุญาตให้แลกเปลี่ยนเงินด้วยทอง หรือทองด้วยเงินตามความต้องการ เนื่องจากทั้งสองนี้ต่างชนิดกัน ท่านอิหม่ามนะวาวีย์ได้อธิบายความฮะดีษบทนี้ว่า
قوله ( أمرنا أن نشتري الفضة بالذهب كيف شئنا ) يعني سواء ومتفاضلا وشرطه أن يكون حالا و يتقا بضا في المجلس
“คำพูดของเขาที่ว่า ( ท่านได้ใช้เราให้ซื้อเงินด้วยทองตามที่เราต้องการ ) หมายถึงเท่ากัน หรือ เหลื่อมล้ำกันก็ได้ โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องกระทำกันซึ่งหน้าและส่งมอบกันขณะทำการซื้อขาย”
การแลกเปลี่ยนสินค้าต่างชนิดนี้ สามารถที่จะมีส่วนต่างกันได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก หรือปริมาณ เช่น เอาเกลื่อ 3 ถัง แลก ข้าว 1 ถัง หรือเอาข้าว 2 ถัง แลกอินทผลัม 1 ถัง อย่างนี้เป็นต้น แต่มีเงื่อนไขว่า ทั้งเกลือและข้าว และอินทผลัม ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกันนั้น ต้องส่งมอบกันซึ่งหน้า เพื่อป้องกันการปลอมปนของสินค้าของแต่ละฝ่าย
ปัญหาของเรื่องนี้จึงอยู่ตรงที่การพิจารณาสินค้าต่างๆ ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกัน ว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดกัน เพราะมีผลต่อการกำหนดอัตรา ปริมาณและจำนวน
แต่สรุปความได้ว่า ถ้าเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ต้องเท่าเทียมกันและหากเป็นสินค้าต่างชนิด ก็อนุญาตให้มีส่วนต่างได้ แต่ต้องส่งมอบสินค้ากันซึ่งหน้าทั้งสองกรณี
การส่งมอบสินค้าที่นำมาแลกเปลี่ยน
จากที่ได้ทำความเข้าใจในฮะดีษผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าที่เหมือนกัน หรือการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ต่างกัน มีเงื่อนไขตรงกันว่า สินค้าที่จะนำมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันนั้น ต้องทำการส่งมอบกันซึ่งหน้า
عَنْ أبِي الْمِنْهَالِ قَالَ : بَاعَ شَرِيْكٌ لِي وَرِقاً بِنَسِيْئَةٍ إلى الْمَوْسِمِ أوْ إلى الحَجِّ فَجَاءَ إلَىَّ فَأخْبَرَنِي فَقُلْتُ : هَذَا أمْرٌ لاَ يَصْلُحُ قَالَ : قَدْ بِعْتُهُ فِي السُّوْقِ فَلَمْ يُنْكِرْ ذَلِكَ عَلَي أَحَدٌ فَأَتَيْتُ البَرَاءَ بْنَ عَازِبِ فَسَألْتُهُ فَقَالَ قَدِمَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ المَدِيْنَةَ وَنَحْنُ نَبِيْعُ هَذَا الَبْيع فَقَالَ : مَاكَانَ يَداً بِيَدٍ فَلاَ بَأْسَ بِهِ وَمَا كاَنَ نَسِيْئَةً فَهُوَ رِبَا وَأتَيْتُ زَيْدَ بْنَ أرْقَمَ فَإنَّهُ أعْظَمُ تِجَارَةً مِنِّي فَأتَيْتُهُ فَسَألْتُهُ فَقَالَ مِثْلَ ذَلِكَ
“อบี อัลมินฮาล รายงานว่า : ผู้ร่วมหุ้นของฉันได้ขายเงินโดยกำหนดส่งมอบอีกฤดูหนึ่ง หรือฤดูฮัจญ์ หลังจากนั้นเขาได้มาหาฉันแล้วก็เล่าให้ฟัง ฉันกล่าวว่า : เรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เขาตอบว่า ฉันขายมันที่ตลาด ก็ไม่เห็นมีใครสักคนที่คัดค้าน ดังนั้นฉันจึงได้ไปหา บะรออ์ บิน อาซิบ แล้วถามเขาในเรื่องดังกล่าว เขาตอบว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม มาที่นครมะดีนะห์ โดยที่พวกเราค้าขายกันอย่างนี้ ท่านกล่าวว่า : “การส่งมอบกันซึ่งหน้าก็ไม่เป็นไร แต่หากเลื่อนเวลาออกไปมันคือดอกเบี้ย” บะรออ์ กล่าวว่า ท่านจงไปหา เซด บิน อัรกอม เถิดเพราะเขาทำการค้ามากกว่าฉัน ดังนั้นฉันจึงไปหาแล้วถามเขา เขากล่าวเช่นเดียวกัน” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2975
การส่งมอบกันซึ่งหน้าตามที่อิสลามได้กำหนดไว้นี้ เป็นกรอบป้องกันการสับเปลี่ยนสินค้าที่จะนำมาแลก และป้องกันการปลอมปน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล่าช้าในการส่งมอบของที่จะนำมาแลกเปลี่ยนนั้น ทำให้เกิดค่าต่างของสินค้าแต่ละชนิด เนื่องจากราคาสินค้าของแต่ละชนิดจะขึ้นลงไม่เท่ากัน และการล่าช้าในการส่งมอบนั้นทำให้เกิดดอกเบี้ย
ท่านอุมัร อิบนุลค๊อตต๊อบ รายงานว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
الْوَرِقُ بِالذَّهَبِ رِباً إلاَّ هَاءَ وَهَاءَ وَالبُرُّ بِالْبُرِّ رِباً إلاَّ هَاءَ وَهَاءَ وَالشَّعِيْرُ بِالشَّعِيْرِ رِباً إلاَّ هَاءَ وَهَاءَ وَالتَّمْرُ بِالتَّمْرِ رِباً إلاَّ هَاءَ وَهَاءَ
“เงินด้วยทองคือดอกเบี้ย นอกจากส่งมอบกันซึ่งหน้า ข้าวสาลีด้วยข้าวสาลีคือดอกเบี้ย นอกจากส่งมอบกันซึ่งหน้า ข้าวฟ่างด้วยข้าวฟ่างคือดอกเบี้ย นอกจากส่งมอบกันซึ่งหน้า อินทผลัมด้วยอินทผลัมคือดอกเบี้ยนอกจากส่งมอบกันซึ่งหน้า” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2968
عَنْ حَبِيْتٍ أنَّهُ سَمِعَ أبَا المِنْهَالِ يَقُوْلُ : سَأَلْتُ البَرَاءَ بْنَ عَاِزبٍ عَنِ الصَّرْفِ ؟ فَقَالَ : سَلْ زَيْدَ بْنَ أرْقَمَ فَهُوَ أعْلََمُ فَسَألْتُ زَيْداً فَقَالَ : سَلْ البَرَاءَ فَإنَّهُ أعْلَمُ ثُمَّ قَالا : نَهَى رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ بَيْعِ الوَرِقِ بِالذَّهَبِ دَيْناً
“รายงานจาก ฮะบี๊บ ว่า เขาได้ยิน อะบาอัลมินอาล กล่าวว่า : ฉันได้ถาม อัลบะรออ์ บิน อาซิบ เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยน เขากล่าวว่า ไปถามเซด บิน อัรกอมเถิดเพราะเขารู้ดีกว่า ฉันจึงไปถามเซด เขากล่าวว่า ไปถาม บะรออ์ เถิดเพราะเขารู้ดี แล้วเขาทั้งสองก็กล่าวว่า : ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการขายเงินด้วยทองโดยล่าช้าในการส่งมอบ” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2976
ท่านอิหม่ามนะวาวีย์ ได้อธิบายว่า
قوله ( نهى رسول الله صلى الله عليه وسلم عن بيع الورق بالذهب دينا ) يعني مؤجلا أما إذا باعه بعوض في الذمة حال فيجوز كما سبق
“คำพูดที่ว่า (ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการขายเงินด้วยทองโดยล่าช้าในการส่งมอบ) หมายถึง ในสภาพที่เลื่อนล่าออกไป แต่หากการขายของเขาในสภาพที่ยังเป็นคู่ค้ากันอยู่ก็เป็นที่อนุญาตดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น” ศอเฮียะห์มุสลิม ภาคที่ 11 หน้าที่ 14
อบีสะอี๊ด อัลคุ๊ดรีย์ รายงานว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
فَمَنْ زَادَ أوْ اسْتَزَادَ فَقَدْ أرْبَى الآخِذُ وَالمُعْطِي فِيْهِ سَوَاءٌ
“ผู้ใดเพิ่มหรือขอเพิ่ม แน่นอนว่าเขาได้ทำให้มันเป็นดอกเบี้ย ผู้ให้และผู้รับต้องเท่ากัน” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2971
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ قَالَ : قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : التَّمْرُبِالتَّمْرِ وَالْحِنْطَةُ بِالْحِنْطَةِ وَالشَّعِيْرُ بِالشَّعِيْرِ وَالمِلْحُ بِالْمِلْحِ مِثْلاً بِمِثْلٍ يَداً بِيَدٍ فَمَنْ زَادَ أَوِ اسْتَزَادَ فَقَدْ أرْبَى إلاَّ مَا اخْتَلَفَتْ ألْوَانُهُ
“อบี ฮุรอยเราะห์ รายงานว่า : ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : อินทผลัมด้วยอินทผลัม, ข้าวสาลีด้วยข้าวสาลี, ข้าวฟ่างด้วยข้าวฟ่าง, เกลือด้วยเกลือ, ชนิดเดียวกัน, ส่งมอบกันซึ่งหน้า, ผู้ใดเพิ่มหรือขอเพิ่ม แน่นอนว่าเขาได้ทำให้มันเป็นดอกเบี้ย นอกจากของต่างชนิดกัน” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2972
การแลกเปลี่ยนสินค้าต่างชนิดเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง แม้กระทั่งคนบ้านเราในอดีตก็ซื้อขายด้วยวิธีการนี้ เช่นเอามะพร้าวแลกเกลือ หรือเอาข้าวแลกน้ำมัน ซึ่งเรานึกภาพในอดีตได้
แต่การใช้สินค้าชนิดเดียวกันแลกกัน หลายคนอาจมองภาพไม่ออกว่าเป็นเช่นใด จึงขอแสดงตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้
นาย ก. มีทองเส้นละ 1 บาท จำนวน 1 เส้น
นาย ข. มีทองเส้นละ 1 สลึง จำนวน 4 เส้นเท่ากับ นาย ข. มีทอง 1 บาท
ทั้ง นาย ก. และนาย ข. มีทอง 1 บาทเท่ากัน
แต่นาย ก. ต้องการแลกเปลี่ยนทอง 1 บาท 1 เส้นเป็น 4 เส้น เพื่อเอาไปแจกให้แก่ลูกๆ
นาย ก.จึงไปหานาย ข. เพื่อยื่นความจำนงขอแลกเปลี่ยนทองน้ำหนัก 1 บาทเท่ากัน
อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น
นาย ก. มีทองรูปพรรณ 1 บาท จำนวน 1 เส้น
นาย ข มีทองรูปพรรณ 1 บาท จำนวน 1 เส้น
แต่ทั้ง นาย ก. และ นาย ข. ไม่ชอบลวดลายทองที่ตนเองมีอยู่ จึงขอแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
แต่การแลกเปลี่ยนทองกันตามกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นข้างต้นนี้ จะต้องส่งมอบกันซึ่งหน้าเท่านั้น
การซื้อขายด้วยสตางค์หรือธนบัตร
วิธีการซื้อขายในปัจจุบันนี้ จะใช้สตางค์หรือธนบัตร ตามจำนวนมูลค่าของสินค้านั้นๆ ไปแลกเปลี่ยนเอาสินค้าที่ต้องการมา ซึ่งวิธีการเช่นนี้แตกต่างจากหลักฐานที่ได้แสดงไว้ข้างต้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาที่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย ซึ่งแน่นอนว่า ผู้วินิจฉัยย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ทั้งการพิจารณาปัญหาและความเข้าใจในหลักฐาน
บางท่านอาจแย้งว่า ทำไมต้องวินิจฉัยเล่า ก็ยุคของท่านนบีก็มีการใช้เงิน “ดิรฮัม” มิใช่หรือ น่าจะเป็นหลักฐานตรงตัวอยู่แล้ว ขอทำความเข้าใจว่า “ดิรฮัม” ในยุคของท่านนบีคือเนื้อทองและเนื้อเงินจริง ต่างกับเหรียญสตางค์หรือกระดาษธนบัตรที่เราสมมุติค่าขึ้น
นักวิชาการร่วมสมัยบางท่านเห็นว่า สตางค์หรือธนบัตรก็คือทอง ดังนั้นการซื้อขายทองด้วยสตางค์หรือธนบัตรจึงเหมือนกับนำทองไปแลกทอง จึงจำเป็นต้องมีการส่งมอบกันซึ่งหน้าดังหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น มิเช่นนั้นแล้วการซื้อขายก็ไม่เป็นที่อนุญาต
แต่เราไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยว่า สตางค์หรือธนบัตรก็คือทอง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วมันคือ มูลค่าของทองที่สมมติกันขึ้นมาเท่านั้นเอง โดยระบุตัวเลขลงไปตามแต่ต้องการ เช่นธนบัตร ใบละร้อย, ใบละห้าร้อย, ใบละพัน ซึ่งก็คือการดาษที่สมมุติค่าขึ้น แม้ว่าการพิมพ์ธนบัตรในแต่ละครั้งจะอ้างอิงกับทองคงคลังก็ตาม แต่สตางค์และธนบัตรก็มูลค่าสมมติเท่านั้นไม่ใช่ทองจริงๆ
ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านต้องการซื้อทองรูปพรรณน้ำหนัก 1 บาท 1 เส้น ราคา 25,000.- บาท ท่านจะชำระมูลค่านี้ด้วยธนบัตรใบละ 1,000.- จำนวน 25 ใบก็ได้ หรือชำระด้วยธนบัตรใบละ 500 จำนวน 50 ใบก็ได้ หรือชำระด้วยธนบัตรใบละ 100 จำนวน 250 ใบก็ได้ หรือจะคละระหว่างใบละ 1,000 – 500 – 100 หรือจะมีสตางค์เหรียญปนไปด้วยก็ได้ เพราะเป้าหมายคือการชำระให้ครบมูลค่า 25,000.-บาท
ขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ มีผู้ส่งลิงค์บทความของ อาจารย์อิสมาแอล อาลี จากเฟสบุ๊ค มาให้อ่าน ซึ่งเห็นว่าเป็นข้อมูลเผยแพร่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ จึงนำมาประกอบการชี้แจง ณ.ที่นี้ (ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีงามให้แก่ อาจารย์อิสมาแอล อาลี และครอบครัวด้วยเถิด)
“ทองคำรูปพรรณเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่นิยมซื้อขายกันมากในปัจจุบัน ทั้งที่ซื้อขายด้วยเงินสดที่เป็นธนบัตรหรือซื้อ ขายแบบเชื่อหรือแม้แต่ด้วยวิธีผ่อนก็ตามอย่างไรก็ตาม การซื้อขายด้วยวิธีชำระเงินสดนั้นไม่มีปัญหา แต่การซื้อขายแบบเชื่อหรือแบบผ่อนนั้นดูเหมือนจะไม่มีปัญหาเพราะเป็นการซื้อ ขายสิ่งของเหมือนกับการซื้อขายสินค้าทั่วๆไป แต่ในประเด็นนี้นักกฎหมายอิสลามมีความเห็นเป็นสองเป็นทัศนะ ดังนี้
ทัศนะที่หนึ่ง เป็นทัศนะของนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่ทั้งในอดีตและปัจจุบันเห็นว่าการซื้อขายทองคำแบบเชื่อนั้นทำไม่ได้ เพราะเข้าข่ายการแลกเปลี่ยนเงินตราโดยไม่มีการส่งมอบในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการคำนึ่งสถานภาพดังเดิมของทองคำที่ใช้เป็นเงินตราซึ่งเป็นสื่อ กลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าดังนั้นการซื้อ ขายทองคำก็เหมือนกับการแลกเปลี่ยนเงินที่ต่างสกุลกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการส่งมอบในเวลาเดียวกัน ตามที่ท่านนบีศ็อลฯ ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
(فادا اختلفت هده الاجناس فبيعوا كيف شئتم ادا كان يدا بيد. (مسلم
ความว่า“ ถ้าหากชนิดของสิ่งเหล่านี้ต่างกัน พวกท่านก็จงซื้อขายตามความประสงค์ หากมีการส่งมอบในเวลาเดียวกัน” (รายงานโดย มุสลิม)
ทัศนะที่สอง เป็นทัศนะของนักกฎหมายอิสลามกลุ่มหนึ่งในปัจจุบันและอดีตเห็นว่าอนุมัติให้ ทำได้ โดยมีเหตุผลที่ว่าทองคำรูปพรรณนั้นได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นสื่อในการแลก เปลี่ยนเป็นสินค้าอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าแม้จะเป็นสิ่งเดียวกันก็ตามแต่ถ้าหากมีไว้โดยมีวัตถุประสงค์ต่างกันบทบัญญัติ ที่เกี่ยวกับสิ่งนั้นก็จะแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการมีไว้ เช่นปศุสัตว์ที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าต้องจ่ายซะกาตปศุสัตว์แต่หากมีไว้เพื่อ การค้าขายก็ต้องจ่ายซะกาตค้าขาย
อิบนุลก็อยยิมได้อธิบายเหตุผลสนับทัศนะที่เห็นว่าอนุมัติซื้อขายทองคำรูปพรรณด้วยวิธีซื้อขายเชื่อหรือผ่อนว่า"
ان الحلية المباحةصارت بالصنعة المباحة من جنس الثياب والسلع , لا من جنس الاثمان,
ولهدا لم تجب فيها الزكاة , ولا يجري الربا بينها وبينالاثمان, كما لا يجري بين الاثمان وبين سائر السلع وان كانت من غير جنسها, فان هدهالصناعة قد خرجت من مقصود الاثمان, وأعدت للتجارة , فلا محدور في بيعها بجنسها,ولا يدخلها اما أن تقضي واما أن تربيً الا كما تدخل في سائر السلع ادا بيعت بالثمن المؤجل,ولا ريب أن هدا قد يقع فيها , لكن لو سد علي الناس دلك لسد عليهم باب الدين ,وتضرروت بدلك غاية الضرر .
แปลได้ความว่า" สิ่งประดับที่อนุมัติได้เปลี่ยนด้วยการกระทำที่เป็นที่อนุมัติเป็นสินค้าประเภทของเสื้อผ้าและสินค้าอื่นๆไมใช่ประเภท ของสื่อในการแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้จึงไม่วาญิบต้องจ่ายซะกาตและไม่เข้าข่ายกฎของริบาที่ใช้ในการแลก เปลี่ยนระหว่างสิ่งที่เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนเฉกเช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนระหว่างสิ่งที่เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างๆแม้จะต่างชนิดก็ตาม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ด้วยการกระทำของช่างก็ได้พ้นสภาพจากการเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนเพื่อเป็น สินค้า จึงไม่ห้ามที่จะทำการซื้อขายด้วยของที่เป็นชนิดเดียวกันกับมันทั้งไม่เข้า ข่ายหลักที่ว่า "หากท่านไม่ชำระราคาทันทีท่านก็จะทำริบา"เว้นแต่ว่ามันจะครอบคลุมในสินค้า อื่นๆ หากมีการซื้อขายโดยชำระราคาภายหลังซึ่งเรื่องนี้อาจเข้าข่ายประเด็นนี้แต่ หากมีการปิดประตู(การซื้อขายด้วยการชำระราคาภายหลังแล้ว) ก็จะเป็นการประตูหนี้อันจะทำให้เกิดความยุ่งยากอย่างที่สุดแก่ประชาชน"[2]
สรุปแล้ว ทัศนะที่เห็นว่าอนุมัติให้ซื้อขายทองรูปพรรณด้วยวิธีเชื่อ หรือผ่อนชำระได้น่าจะมีเหตุผลหนักแน่นกว่า เพราะปัญหาทั้งหมดจะไม่ออกจากหนึ่งในสองประเด็นต่อไปนี้
ประเด็นแรก เหตุผลในการห้ามแลกเปลี่ยนทองคำและเงินเว้นแต่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในหะดีษนั้นเพราะทั้งสองมีสาเหตุ หรืออิลละฮฺการเป็นสื่อหรือการเป็นเงินตราในการแลกเปลี่ยน แต่ทองรูปพรรณนั้นไม่ใช่สื่อในการแลกเปลี่ยนหรือเงินตราอีกต่อไปจึงไม่มีสา เหตุหรืออิลละฮฺดังกล่าวอยู่ เพราะได้กลายเป็นสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ จึงสามรถซื้อขายผ่อนชำระเหมือนกันกับสินค้าอื่นๆได้
ประเด็นที่สอง สาเหตุที่กำหนดเงื่อนไขในการแลกเปลี่ยนทองคำและเงินนั้นเพราะสาเหตุในตัวของมันเองคือเพราะมันเป็นทองคำและเป็นเงิน แต่ธนบัตรไม่ใช่เงินหรือทองแต่อย่างใดจึงซื้อขายด้วยราคาที่เป็นธนบัตรโดยการผ่อนชำระได้
ตามความเห็นที่แตกต่างกันในการซื้อขายทองรูปพรรณด้วยวิธีผ่อนชำระที่กล่าวมานั้น ตามทัศนะที่เห็นว่ากระทำไม่ได้ก็ไม่อนุมัติให้ซื้อขายทองรูปพรรณด้วยบัตรเครดิตได้ เพราะไม่การชำระราคาในทันทีกว่าจะมีการชำระจริงก็ต้องใช้เวลาหลายวันผิดกับ การชำระด้วยบัตรเดบิตซึงมีการหักเงินจากบัญชีเจ้าของบัตรเข้าบัญชีผู้ขายทันที แต่สำหรับทัศนะที่เห็นว่าอนุมัติให้ซื้อขายทองรูปพรรณด้วยการผ่อนชำระนั้นสามารถชำระราคาทองรูปพรรณด้วยทั้งบัตรเครดิตและบัตรเดบิตได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกทัศนะหนึ่งที่เห็นว่าการซื้อขายทองคำด้วยเงินสดนั้นไม่อนุมัติให้กระทำได้ไม่ว่าจะชำระทันทีหรืชำระภายหลัง เหตุผลก็คือ เงินสดที่เป็นธนบัตินั้นเป็นหลักฐานการเป็นเจ้าหนี้เพราะสถานะดังเดิมของธนบัตรนั้นต้องมีทองคำหรือเงินค้ำอยู่ดัง นั้นแม้จะชำระด้วยเงินสดก็ตาม ก็ไม่ถือว่าชำระราคาทันทีเพราะที่เป็นธนบัตรนั้นเป็นหลักฐานของหนี้ ซึ่งใน ปัจจุบันไม่มีผู้ใดถือว่าเงินสดที่เป็นธนบัตรนั้นเป็นหลักฐานของหนี้อีกแล้วนอกจากนั้นการนำเอาทัศนะนี้มาใช้จะทำให้เกิดความยุ่งยากมหาศาลในสังคม
[1]ดูอัชชันกีฎีย์,มุหัมมัด มศเฎาะฟา دراسة شرعية لأهم العقودالمالية المستحدثة 1/428-431
[2]อิบนุลก็อยยิม,أعلام الموقعين 2:160
……………………………………………………………………………………………………………….......................................................................................................................................
บทสรุปจากที่ท่านได้อ่านมาทั้งหมดนี้คือคำตอบที่เคยตอบออกอากาศทางรายการทีวีว่า ทองนั้นซื้อก็ได้ ขายก็ได้ ซื้อสดก็ได้ ซื้อผ่อนก็ได้ หากซื้อจริงขายจริง และปราศจากดอกเบี้ย
แต่สิ่งที่เราต้องคำนึงถึง ณ.ปัจจุบันนี้ก็คือ การเล่นแร่แปรธาตุจากคำสอนของศาสนา ด้วยการกู้ยืมมีดอกเบี้ยโดยเอาทองบังหน้า ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ขอยืมทองชำระคืนด้วยมูลค่าทองในอดีต
นาย ก. ขอยืมทองจาก นาย ข. จำนวน 1 บาท เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาทองในขณะนั้นมีมูลค่า 5,000.-บาท ต่อมา นาย ก. ได้ใช้หนี้คืนนาย ข. ด้วยเงิน 5,000.-บาท โดยอ้างว่า ณ.วันที่ขอยืมนั้น ทองมีมูลค่าเท่าเงินที่ส่งมอบนี้ ทั้งๆที่ราคาทอง ณ.วันใช้หนี้มีมูลค่า 25,000.-บาท
ถามว่า การกระทำของ นาย ก.ถูกต้องหรือไม่ ?
คำตอบคือ การกระทำของนาย ก.ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตอนขอยืม นาย ก.ได้เอาทองไป แต่ตอนใช้ นาย ก.ได้นำมูลค่าทองในอดีตมาใช้คืน
การกู้ยืมโดยหักดอกเบี้ย ณ.ที่จ่าย
นาย ก. ซื้อทองเงินผ่อนจาก นาย ข. นำหนัก 1 บาท เป็นเงิน 25,000.-บาท กำหนดชำระเป็นรายเดือน เริ่มชำระงวดแรกในเดือนถัดไป
เมื่อ นาย ก. รับทองมาแล้วไม่ชอบใจจึงขายคืน และ นาย ข. ก็รับซื้อคืนเป็นเงิน 23,000.-บาท
กรณีนี้คือการกู้ยืมมีดอกเบี้ย เท่ากับปล่อยกู้ 25,000.-บาท หักดอกเบี้ยล่วงหน้า 2,000.-บาท
การหลบดอกเบี้ยโดยอาศัยการซื้อขายบังหน้า
นาย ก. ต้องการใช้เงิน 20,000.บาท แต่ไม่ต้องการกู้ยืม และไม่ต้องการจ่ายดอกเบี้ย
นาย ก จึงซื้อทองเงินผ่อนจาก นาย ข. น้ำหนัก 1 บาท ในราคา 25,000.- บาท โดยกำหนดจ่ายเดือนละ 2,000.- บาท จนกว่าจะครบ
นาย ก. จ่ายเงินงวดแรกจำนวน 2,000 บาท และรับทองไป
หลังจากนั้น นาย ก. ก็นำทองที่ซื้อผ่อนไปขายที่ร้านทองได้รับเงินมา 24,200.- บาท
กรณีนี้คือการสมรู้ร่วมคิดเพื่อหลีกเลี่ยงข้อบัญญัติของศาสนาในเรื่องดอกเบี้ย