เอาหรือไม่เอาชะรีอะห์


ใครเป็นมุสลิมใครเป็นกาเฟร


สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์ มีผลกระทบกับมุสลิมในเมืองไทยจนกระทั่งนำไปสู่การแยกฝ่ายคือ ฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุรซีย์ และฝ่ายคัดค้าน โดยมีผู้รู้เมืองไทยบางคนเป็นแกนนำ ซึ่งบางคนก็เชียร์แบบสุดโต่ง และบางคนก็สงวนท่าที และบางคนก็อ้างความชอบธรรม ด้วยการนำเอา อัลกุรอานและฮะดีษ มาค้ำยันทัศนะและอุดมการณ์ของตนเอง

หากเป็นเหตุผลทางการเมืองที่มีอุดมการณ์และทัศนะต่างกัน ผมขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ ขอให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละคน แต่การนำเอาอัลกุรอานและฮะดีษมาอ้างเป็นหลักฐาน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่อุดมการณ์ของตนเองแบบผิดๆ เป็นสิ่งที่ผมจะต้องชี้แจง เพื่อ

1.ปกป้องคำสอนอันบริสุทธิ์ของศาสนาจากการบิดเบือน
2. ตักเตือนผู้เอาอารมณ์นำหน้าหลักการ
3. ป้องกันไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของการบิดเบือน

ชะรีอะห์ คือ บัญญัติของศาสนา ที่มุสลิมทุกหมู่เหล่าไม่สามารถปฏิเสธได้ และหากมุสลิมคนใดปฏิเสธเรื่องหนึ่งเรื่องใดจากคำสอนของศาสนาก็ตาม ถือว่าเขา ตกมุรตัด สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ก่อให้เกิดคำฮิตติดปากว่า เอาหรือไม่เอาชะรีอะห์ และกลายเป็นประเด็นชูโรงเพื่อจำแนกคนออกเป็นสองฝ่าย ตามที่กล่าวอ้างกันว่า ฝ่ายเอาชะรีอะห์ คือฝ่ายสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมุรซีย์ ส่วนฝ่ายที่ไม่เอาชะรีอะห์ คือสนับสนุนซีซีย์ ผู้ครองอำนาจในอียิปต์ปัจจุบัน
การจำแนกคนออกเป็นสองฝ่ายตามคำกล่าวอ้างข้างต้นนี้ แพร่กระจายตามสื่อสาธารณะ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั่วไปในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน ก็มีผู้รู้เมืองไทยบางคน หยิบยกหลักฐานจากอัลกุรอานมาสร้างความชอบธรรมในการจำแนกนี้ว่า

أَفَتُؤْمِنُوْنَ بِبَعْضِ الْكِتاَبِ وَتَكْفُرُوْنَ بِبَعْضٍ

“หรือว่าพวกเจ้าจะศรัทธาต่อคัมภีร์เพียงบางส่วนและปฏิเสธอีกบางส่วนกระนั้นหรือ” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 85


กล่าวคือ ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี เป็นฝ่ายที่ไม่เอาชะรีอะห์ เป็นผู้ที่ยอมรับข้อบัญญัติของศาสนาเพียงบางส่วนและปฏิเสธคำสอนของศาสนาอีกบางส่วน อย่างนี้เท่ากับตัดสินพวกเขาว่า สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม เพราะอายะห์นี้จำแนกระหว่าง การศรัทธากับการปฏิเสธ

ที่มาของอายะห์นี้คือ พระองค์อัลลอฮ์ทรงแฉและประณามพฤติกรรมของชาวยิวที่พวกเขาสู้รบกันเอง และก็ไถ่ตัวเชลยศึกซึ่งกันและกันเอง จากการร่วมเป็นพันธมิตรร่วมรบกับ เอาวซ์ และ คอซร๊อจญ์ ซึ่งเนื้อหาโดยสมบูรณ์ของอายะห์นี้มีดังนี้

ثُمَّ أنْتُمْ هَؤُلاَءِ تَقْتُلُوْنَ أنْفُسَكُمْ وَتُخْرِجُوْنَ فَرِيْقاً مِنْكُمْ مِنْ دِيَارِهِمْ تَظَاهَرُوْنَ عَلَيْهِمْ بِالإثْمِ وَالْعُدْوَانِ وَإنْ يَأْتُوْكُمْ أُسَارَى تُفَادُوْهُمْ وَهُوَ مُحَرَّمٌ عَلَيْكُمْ إخْرَاجُهُمْ أَفَتُوْمِنُوْنَ بِبَعْضِ الْكِتَابِ وَتَكْفُرُوْنَ بِبَعْضٍ فَمَا جَزَاءُ مَنْ يَفْعَلُ ذَلِكَ مِنْكُمْ إلاَّ خِرْيٌ فِي الْحَيَاةِ الدُنْيَا وَيَوْمَ الْقِيَامَةِ يُرَدُّوْنَ إلَى أَشَدِّ الْعَذَابِ وَمَا اللهُ بِغَافِلٍ عَمَّا تَعْمَلُوْنَ

“แต่แล้วพวกเจ้านั่นแหละได้สังหารตัวของพวกเจ้าเอง และขับไล่กลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเจ้าให้ออกจากบ้านเรือนของพวกเขา โดยพวกเจ้าร่วมมือกันในการเอาชนะพวกเขา ด้วยการกระทำที่เป็นบาปและการเป็นศัตรูกัน และหากพวกเขามายังพวกเจ้าในสภาพถูกจับเป็นเชลย พวกเจ้าก็ไถ่ตัวพวกเขา ทั้งๆที่การขับไล่พวกเขานั้นเป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเจ้า หรือว่าพวกเจ้าจะศรัทธาต่อคัมภีร์เพียงบางส่วนและปฏิเสธอีกบางส่วนกระนั้น หรือ ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดตอบแทนแก่ผู้กระทำเช่นนั้นในหมู่พวกเจ้า นอกจากความอัปยศแก่ชีวิตในดุนยานี้ และในวันกิยามะห์นั้น พวกเขาจะถูกนำกลับไปสู่การลงโทษที่หนักหน่วง และอัลลอฮ์นั้นไม่ได้เผลอเรอในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำ”

อิบนุ ญะรีร และ อิบนุ กะษีร ได้แจ้งมูลเหตุของการประทานอายะห์นี้ โดยอ้างคำรายงานจาก “มูฮัมหมัด บิน อิสฮาก บิน ยะซาร กล่าวว่า มูฮัมหมัด บิน อบี มูฮัมหมัด เล่าให้ฉันฟังจาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ หรือ อิกริมะห์ จาก อิบนิ อับบาส ในถ้อยคำที่ว่า (แต่แล้วพวกเจ้านั่นแหละได้สังหารตัวของพวกเจ้าเอง) เขากล่าวว่า อัลลอฮ์ได้ทรงเตือนถึงการกระทำของพวกเขาว่า พระองค์ได้ทรงห้ามพวกเขาหลั่งเลือดกันเองไว้คัมภีร์อัตเตารอต และกำหนดให้พวกเขาถ่ายตัวเชลยในหมู่พวกเขา แต่ปรากฏว่าพวกเขาแยกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งคือ บนีกอยนุกออ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ คอซรอจญ์ และอีกฝ่ายหนึ่งคือ บนีนะดีร และบนีกุรอยเซาะห์ เป็นพันธมิตรกับ เอาวซ์ และเมื่อ เอาวซ์ กับ คอซรอจญ์ ทำสงครามกัน บนีกอยนุกออ์ ก็ออกร่วมสงครามกับ คอซรอจญ์ ส่วน บนีนะดีร และ บนีกุรอยเซาะห์ ก็ออกร่วมสงครามกับ เอาวซ์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็เผชิญหน้ากันจากการให้การสนับสนุนพันธมิตรของตน จนกระทั่งพวกเขาต้องหลั่งเลือดกันเอง ในขณะที่พวกเขาก็ยึดถืออัตเตารอตและรู้ถึงข้อบัญญัติใช้และห้ามที่มีต่อพวกเขา
ส่วน เอาวซ์ และ คอซรอจญ์ นั้นคือกลุ่มคนที่ตั้งภาคี โดยสักการะเจว็ด ไม่เชื่อเรื่องนรกและสวรรค์, การ ฟื้นคืนชีพและวันกิยามะห์ และไม่รู้ข้อบัญญัติเกี่ยวฮะล้าลและฮารอม
และเมื่อสงครามยุติลง พวกเขาก็ไถ่ตัวเชลยศึกของพวกเขา เพื่อปฏิบัติตามข้อบัญญัติที่มีอยู่ในคัมภีร์อัต เตารอต ซึ่งเป็นการยึดถือเพียงบางส่วน
ฉะนั้น บนีกอยนุกออ์ จึงไถ่ตัวเชลยของตนเองจาก เอาวซ์ และ บนีนะดีร กับ บะนีกุรอยเซาะห์ ก็ไถ่ตัว เชลยของตนเองจากในการครอบครองของ คอซรอจญ์ นำไปสู่การหลั่งเลือดของพวกเขา โดยที่ต่างฝ่ายต่างถูกสังหารจากการให้การสนับสนุนกลุ่มชนที่ตั้งภาคี ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์จึงได้กล่าวเตือนพวกเขาจากเหตุดังกล่าวว่า (หรือว่าพวกเจ้าจะศรัทธาต่อคัมภีร์เพียงบางส่วนและปฏิเสธอีกบางส่วนกระนั้นหรือ) คือการไถ่ตัวตามข้อบัญญัติในคัมภีร์อัตเตารอต แต่ในขณะที่พวกเขาก็สังหารกันเอง ทั้งๆที่ข้อบัญญัติในอัตเตารอตห้ามมิให้กระทำเช่นนั้น และไม่อนุญาตให้ขับไล่พวกเขาออกจากบ้านเรือน และไม่ให้การสนับสนุนผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ และสักการะต่อเจว็ดนอกเหนือจากอัลลอฮ์ โดยมุ่งหวังผลประโยชน์ทางดุนยา
ในกรณีดังกล่าวนี้ คือการกระทำของพวกเขาร่วมกับ เอาวซ์ และ คอซรอจญ์ ตามที่ได้มีรายงานมาถึงฉัน เรื่องนี้จึงได้ถูกประทานลงมา” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 397 และ ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 173-174

ความจริงแล้ว ข้อความโดยสมบูรณ์อายะห์นี้ และเหตุที่มาของการประทานอายะห์นี้ น่าจะนำไปอ้างเป็นหลักฐานเปรียบเทียบเรื่องมุสลิมสู้รบกับมุสลิมด้วยกันเองทั้งๆที่มีบัญญัติห้าม ดั่งที่พวกยิวสู้รบกันเอง และถ่ายตัวเชลยศึกของกันและกันตามที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวประณามไว้ในอายะห์นี้ แต่ไฉนเลย อายะห์นี้ถึงถูกนำไปเป็นหลักฐานเรื่อง เอาชะรีอะห์หรือไม่เอาชะรีอะห์ แล้วจำแนกผู้คนออกเป็นสองฝ่ายคือ มุสลิมและกาเฟร อีกทั้งได้นำเอาอัลกุรอ่านจากซูเราะห์ อัตเตาบะห์มาระบุการจำแนกนี้ว่า

وَلاَ تُصَلِّ عَلَى أَحَدٍ مِنْهُمْ مَاتَ أبَداً وَلاَ تَقُمْ عَلَى قَبْرِهِ

"และเจ้าอย่าได้ละหมาดให้คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเขาที่เสียชีวิต และอย่ายืนบนหลุมศพของพวกเขา" ซูเราะห์ อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 84


และข้อความจากฮะดีษที่ท่านอบูบักร์ ตัดสินผู้ปฏิเสธซะกาตว่า ตกมุรตัด สิ้นสภาพการเป็นมุสลิมคือ

وَاللهِ لأُقَاتِلَنَّ مَنْ فَرَّقَ بَيْنَ الصَّلاَةِ وَالزَّكاَةِ

"ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ฉันจะต้องสู้รบกับพวกเขาอย่างแน่นอน ตราบใดที่พวกเขาแยกระหว่างละหมาดกับซะกาต" ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 1312


ซึ่งอัลกุรอานและฮะดีษข้างต้นนี้เป็นการชี้สถานะ เพื่อจำแนกระหว่างมุสลิมกับกาเฟร ดั่งที่ได้ชี้แจงแล้วใน จดหมายเปิดผนึกตามลิงค์นี้ http://www.fareedfendy.com/alikwan1.php

เหล่านี้คือความเลยเถิดทางวิชาการ เป็นการอ้างอิงหลักฐานเพื่อสนองความต้องการตนเองและพลพรรค หรือพูดง่ายๆว่า ของถูกแต่ใช้ผิด ขออัลลอฮ์ทรงให้เราห่างไกลจากการกระทำเช่นนี้ด้วยเถิด

ส่วนคำว่า เอาชะรีอะห์กับไม่เอาชะรีอะห์นี้ กลายเป็นคำฮอตฮิตติดปากของคนบ้านเราในปัจจุบันไปแล้ว ทั้งคนรู้และคนไม่รู้ต่างก็ใช้วาทะนี้ห้ำหั่นกันเอง แต่ขอเตือนผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นผู้รู้ ให้มีความละเอียดรอบคอบในการพิจารณา และรอบคอบในการนำหลักฐานมาอ้างอิง อย่ารีบด่วนเอาคำหรูที่บัญญัติกันขึ้นเองนี้ ตัดสินมุสลิมคนอื่นว่าเป็นกาเฟร มิเช่นนั้นแล้ว จะทำให้มุสลิมทั้งโลกตกเป็นกาเฟรจำนวนไม่น้อยจากความไม่รอบคอบทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นชาวอียิปต์เองที่คัดค้านมุรซีย์ หรือกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่เห็นด้วยกับฝ่ายทหารที่ยึดอำนาจ หรือแม้กระทั่งมุสลิมในเมืองไทยที่ไม่ได้เป็นอิควานหรือเป็นแนวร่วมของอิควาน

ประการแรก ท่านอย่าได้เข้าใจว่ากลุ่มอิควานคือมาตรฐานวัดความถูกต้อง และอย่าได้ผูกขาดความเป็นมุสลิมเฉพาะกลุ่มอิควานและผู้ให้การสนับสุนนเพียงผู้เดียวเท่านั้น
ประการที่สอง ท่านอย่ารีบร้อนพูดว่า คนที่ไม่สนับสนุนมุรซีย์ หรือคนที่ไม่เป็นอิควาน หรือคนไม่เชียร์อิควานเป็นกาเฟร เนื่องจากเขาไม่เอาชะรีอะห์ นะอูซุบิ้ลลาฮ์

แต่ความถูกต้อง อยู่กับรากฐานการยึดอัลกุรอานและฮะดีษบนพื้นฐานความเข้าใจของศอฮาบะห์ ดังนั้นท่านควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่า คำว่า เอาชะรีอะห์ กับ ไม่เอาชะรีอะห์นั้น เป็นอย่างไร
เป็นคำพูดจริงไหม และใครเป็นผู้พูด หรือเป็นคำที่ยัดเยียดให้ฝ่ายตรงข้าม หากเป็นคำพูดจริง จะพิจารณาก่อนไหมว่า คำพูดนี้มีที่มาอย่างไร, มีวัตถุประสงค์เช่นใด และขอบเขตตามข้อบัญญัติของศาสนาเป็นอย่างไร
เช่นท่านได้ยินใครสักคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมไม่ละหมาด” ท่านจะตัดสินว่า เขาเป็นคนไม่เอาชะรีอะห์ ตกมุรตัด สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมหรือไม่ หรือท่านจะพิจารณาก่อนว่า เขาไม่ละหมาดเพราะเหตุใด
1 – เพราะเขาละหมาดแล้ว
2 – เพราะเขาไม่อยู่ในสภาพพร้อม เช่น มีฮะดัษใหญ่
3 – เพราะเขาไม่ต้องการละหมาดตามหลังอิหม่ามที่ทำไม่ถูกต้อง
4 – เพราะเขาละหมาดไม่เป็นเนื่องจากเพิ่งเข้ารับอิสลาม
5 - เพราะเขาได้ละหมาดย่อรวมไปแล้วเนื่องจากเป็นผู้เดินทาง
6 – เพราะเขาขี้เกียจ
7 – เขาปฏิเสธว่าละหมาดไม่ใช่หลักการอิสลาม

คำว่า “ไม่ละหมาด” เนื่องจากมูลเหตุแต่ละข้อข้างต้นนี้ มีฮุก่มที่แตกต่างกันออกไป มีเพียงข้อสุดท้ายเท่านั้นที่ทำให้ตกมุรตัด สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม ส่วนในข้อที่ 6 ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันของนักวิชาการ

ดังนั้นอย่ารีบด่วนตัดสินคำว่า “ไม่ละหมาด” โดยไม่พิจารณาถึงมูลเหตุของคำพูดนี้ และที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างการพิจารณาทางด้านคำพูด ส่วนตัวอย่างพิจารณาทางด้านการกระทำเช่น
ถ้าท่านเห็นหญิงคนหนึ่งปรากฏต่อสาธารณะโดยไม่คลุมฮิญาบ ท่านจะตัดสินว่าเธอไม่เอาชะรีอะห์สิ้นสภาพการเป็นมุสลิมไหม ทั้งๆที่เธอละหมาดแต่เธอไม่คลุมฮิญาบ หรือจะถือว่าเธอเชื่อบางส่วนและปฏิเสธบางส่วนของหลักการศาสนาไหม
หรือผู้ที่กระทำผิดอื่นๆโดยที่เขาไม่เปลี่ยนฮุก่มของศาสนาเช่น
มุสลิมคนหนึ่งดื่มน้ำเมา ท่านจะตัดสินเขาว่า เป็นชาวนรกได้ไหม ทั้งๆที่เขายอมรับว่ากินเหล้าบาป เป็นข้อห้าม แต่เขาก็ยังกินอยู่
หรือมุสลิมอีกคนหนึ่ง ทำซินาและลักขโมย ขณะเดียวกันเขาก็ยังละหมาด ท่านจะกล่าวว่า เขาตกมุรตัดสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมไหม หรือจะกล่าวว่า เขายอมรับบางส่วนและปฏิเสธอีกบางส่วนของหลักการศาสนาไหม
เราจะตัดสินบุคคลเหล่านี้ว่า สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม เพราะไม่เอาชะรีอะห์ หรือเชื่อบางส่วนและปฏิเสธอีกบางส่วนของศาสนาไม่ได้เป็นอันขาด ตราบใดที่เขาไม่ปฏิเสธ และไม่ได้เปลี่ยนฮุก่มศาสนา เนื่องจาก
ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

لاَ يَزْنِي الزَّانِي حِيْنَ يَزْنِي وَهُوَ مُؤْمِنٌ وَلاَ يَشْرَبُ الخَمْرَ حِيْنَ يَشْرَبُهَا وَهُوَ مُؤْمِنٌ وَلاَ يَسْرِقُ السَارِقُ حِيْنَ يَسْرِقُ وَهُوَ مُؤْمِنٌ


“ไม่มีผู้ทำซินาคนใดเป็นมุอ์มิน ในขณะที่เขายังทำซินาอยู่ และไม่มีผู้ดื่มน้ำเมาคนใดเป็นมุอ์มิน ในขณะที่เขายังดื่มมันอยู่ และไม่มีผู้ลักขโมยคนใดเป็นมุอ์มินในขณะที่เขายังลักขโมยอยู่” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 5150

ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อบัญญัติโดยที่เขายังไม่ละเลิกข้อห้ามเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในสถานะมุอ์มิน และการฝ่าฝืนนี้ก็ไม่ทำให้เขาตกมุรตัดสิ้นสภาพการเป็นมุสลิมตราบใดที่เขาไม่ปฏิเสธ แต่เขาถูกเรียกว่า มุสลิม อาศีย์ หมายถึงมุสลิมผู้ฝ่าฝืนบัญญัติ

อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น คนที่ทำผิดโดยเปลี่ยนฮุก่มของศาสนา เช่นเขากินดอกเบี้ยหรือจ่ายดอกเบี้ย แล้วเขาก็พูดว่า ดอกเบี้ยฮะล้าล เป็นที่อนุมัติ ทั้งๆที่ฮุก่มของมัน ฮะรอม เป็นที่ต้องห้าม
และอีกคนหนึ่งยอมรับว่า ดอกเบี้ยฮะรอม แต่เขาเลี่ยงข้อบัญญัติโดยเปลี่ยนคำพูดใหม่ ไม่เรียกดอกเบี้ย แต่เรียกค่าบริการและ ฯลฯ ท่านจะตัดสินว่าสองคนนี้เป็นอย่างไร

ฉะนั้นขออย่าเพิ่งรีบร้อนหยิบเอาคำว่า เอาชะรีอะห์ กับ ไม่เอาชะรีอะห์ เพื่อจำแนกคนให้เป็นมุสลิมและกาเฟร

ส่วนผู้ทีประกาศว่า เอาชะรีอะห์ ก็คงต้องพิจารณากันให้รอบคอบเช่นกันว่า จริงไหม หรือใช้เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรม ขณะที่นักวิชาการหัวหอกของกลุ่มอิควานคือ เชคยูซุบ กะรอฏอวีย์ ก็รณรงค์เรียกหาเสรีภาพ เรียกร้องประชาธิปไตยสู่อียิปต์โดยประกาศว่า “เราต้องการประชาธิปไตย และเราจะต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย” หรือว่าชะรีอะห์ที่พวกเขาเรียกร้องและถวิลหาคือ ประชาธิปไตย ยังไงกัน
นอกนี้แล้ว หัวหอกของอิควานท่านนี้ยังได้ฟัตวาอีกว่า อนุญาตให้ซื้อสิทธิ์ขายเสียงได้ และออกคำฟัตวาที่ผิดเพี้ยนจากคำสอนของศาสนาอีกหลายเรื่อง เช่นเดียวกันกับที่ มุรซีย์ อดีตประธานาธิบดีสายอิควาน ก็ขานรับแนวคิดนี้และประกาศเช่นกันว่า รัฐธรรมนูญของอียิปต์คือชะรีอะห์ที่มีผลบังคับใช้มาก่อนหน้านี้ 23 ปีแล้ว
นอกจากนี้แล้ว อดีตประธานาธิบดีสายอิควานยังกล่าวอีกว่า การคลุมฮิญาบไม่ใช่บัญญัติศาสนา แต่คือเสรีภาพของประชาชน และการตัดมือขโมยก็ไม่ใช่บัญญัติ เป็นเพียงความเข้าใจทางด้านฟิกฮ์
หรือชะรีอะห์ที่พวกเขาเรียกร้องกันนี้คือ ประชาธิปไตย หรือเป็นชะรีอะห์ประยุกต์ตามสูตรของอิควานที่ผิดเพี้ยนไปจากคำสอนของศาสนา
และในช่วงการปกครองของอดีตประธานาธิบดีมุรซีย์ ได้เคยเสนอกู้เงินจาก ไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ซึ่งมีทั้งค่าธรรมเนียมการกู้ และมีดอกเบี้ย แต่ผู้รู้ในบ้านเราบางท่านที่สนับสนุนได้เลี่ยงบาลีว่า ไม่ใช่ดอกเบี้ยแต่เป็นค่าบริการ

ชะรีอะห์ที่พวกเขาเรียกร้อง และที่พวกเขาปฏิเสธกันมีหน้าตาเป็นอย่างนี้หรือ

คำว่า ชะรีอะห์ ที่พวกเขาเรียกร้องและที่พวกเขาปฏิเสธมันคือ ชะรีอะห์ ที่เป็นบทบัญญัติศาสนาหรือ

แล้วคนบ้านเราละ เอาการเรียกร้อง ชะรีอะห์ เยี่ยงนี้มาแบ่งพวกกันหรือ

หยุดคิดสักนิดเถิด ถ้าเราไม่เข้าใจเป้าหมายที่เขาต่อสู้กัน ก็อย่าวิ่งตามกระแสด้วยการหยิบคำว่า เอาชะรีอะห์ กับ ไม่เอาชะรีอะห์ มาตัดสินพี่น้องร่วมศาสนาว่า เป็นผู้ปฏิเสธอิสลามอีกเลย