อุมมะตันวาฮิดะห์
เรียน ดร.อิสมาอีล ลุตฟี่ จะปากียา
สิ่งทีแนบมาด้วย บทความและคำบรรยายของท่านตามลิงค์ด้านล่างนี้
http://d1.islamhouse.com/data/th/ih_books/single/th_lismail_ummatan_wahidah.pdf
http://www.youtube.com/watch?v=3m7nElnURz0&feature=share
السلام عليكم ورحمة الله وبركاته
ผมได้ฟังและอ่านข้อความของท่านเรื่อง “ประชาชาติเดียวกัน คือ หลักการของ อะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺ” แปลไทยโดย : อุษมาน อิดรีส, ซุฟอัม อุษมาน ตามที่ท่านได้โพ้สต์ไว้หน้าเฟสบุคของท่านชื่อ Dr.Ismail Lutfi (ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา) และบทความนี้ได้แพร่กระจายต่อสาธารณะ ซึ่งพี่น้องรายหนึ่งส่งลิงค์บทความนี้มาให้ผมอ่านและให้ช่วยชี้แจง
ความจริงแล้ว ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิของท่านเป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไปว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสัจธรรมอิสลาม ขออัลลอฮ์ทรงตอบแทนเจตนาและการกระทำที่ดีงามของท่าน และขอชื่นชมท่านในความอุตสาหวิริยะ ที่ต้องการจะทำให้ประชาชาตินี้เป็นหนึ่งเดียวตามข้อความที่ปรากฏต่อสาธารณะทั้งข้อเขียนและคำบรรยายแล้วนั้น
ขอทบทวนทำความเข้าใจดังนี้
คำว่า “อุมมะห์วาฮิดะห์” หรือที่เรียกกันติดปากว่า ประชาชาติหนึ่งเดียว เป็นถ้อยคำที่ถูกระบุอยู่ในอัลกุรอานตามที่ท่านได้แสดงในบทความว่า
وَمَا كَانَ النَّاسُ إلاَّ أُمَّةً وَاحِدَةً فَاخْتَلَفُوا وَلَوْلاَ كَلِمَةٌ سَبَقَتْ مِن رَّبِّكَ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ فِيْمَا فِيْهِ يَخْتَلِفُوْنَ
ความว่า “และมนุษย์นั้นมิใช่อื่นใด นอกจากเป็นประชาชาติเดียวกัน แล้วพวกเขาก็แตกแยกกัน และหากมิใช่เพราะลิขิตซึ่งได้บันทึกไว้ที่พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าแล้วไซร้ แน่นอนก็คงเกิดการตัดสินแล้วระหว่างพวกเขาในเรื่องที่พวกเขาขัดแย้งกัน” ซูเราะห์ยูนุส อายะห์ที่ 19
อิบนุกะษีร ได้อธิบายอายะห์นี้สืบเนื่องจากข้อความท้ายอายะห์ก่อนนี้ที่ว่า (มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ผู้ทรงสูงส่งในสิ่งที่พวกเขาได้เอามาเป็นภาคี) ดังนี้
ثم أخبر تعالى أن هذا الشرك حادث في الناس كائن بعد أن لم يكن وأن الناس كلهم كانوا على دين واحد وهو الإسلام قال ابن عباس : كان بين آدم ونوح عشرة قرون كلهم على اللإسلام ثم وقع الاختلاف بين الناس وعبدت الأصنام والأنداد والأوثان فبعث الله الرسل بآياته وبيناته وحججه البالغة وبراهينه الدامغة
“หลังจากนั้นพระองค์อัลลอฮ์ทรงบอกให้ทราบว่า การตั้งภาคีเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ทั้งๆที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะมนุษย์ทั้งหมดทุกคนต่างก็อยู่บนศาสนาเดียวกันก็คือ อิสลาม อิบนุอับบาส ได้กล่าวว่า : ช่วงระหว่างนบีอาดัมถึงนบีนัวฮ์นั้นสิบศตวรรษ มนุษย์ทุกคนอยู่บนอิสลาม หลังจากนั้นก็เกิดการขัดแย้งระหว่างผู้คน เกิดการสักการะรูปปั้น, สิ่งเทียบเคียงพระเจ้า และเจว็ดต่างๆ ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์จึงได้ส่งบรรดารอซูลมาพร้อมกับสัญญาณต่างๆของพระองค์, ข้ออ้างอิงที่ชัดเจน และหลักฐานที่มิอาจปฏิเสธได้” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 2 หน้าที่ 541
ฉะนั้นคำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” ณ ที่นี้จึงหมายถึงประชาชาติยุคต้น ตั้งแต่นบีอาดัมเรื่อยมาจนกระทั่งมาชนยุคของนบีนัวฮ์ ซึ่งผู้คนในยุคนี้อยู่บนศาสนาเดียวกันทั้งหมดคือ อัลอิสลาม
และหากเราต้องการจะทำให้ผู้คนบนโลกใบนี้เป็นดั่งประชาชาติยุคต้นคือ ถือศาสนาเดียวกันทั้งหมด ย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงยืนยันในข้อความอายะห์เดียวกันนี้ว่า
وَلَوْلاَ كَلِمَةٌ سَبَقَتْ مِن رَّبِّكَ لَقُضِيَ بَيْنَهُمْ فِيْمَا فِيْهِ يَخْتَلِفُوْنَ
“และหากมิใช่เพราะลิขิตซึ่งได้บันทึกไว้ที่พระผู้อภิบาลของพวกเจ้าแล้วไซร้ แน่นอนก็คงเกิดการตัดสินแล้วระหว่างพวกเขาในเรื่องที่พวกเขาขัดแย้งกัน”
อิบนุกะษีร อธิบายว่า
أي لولا ما تقدم من الله تعالى أنه لا يعذب أحدا إلا بعد قيام الحجة عليه وأنه قد أجل الخلق إلى أجل معدود لقضي بينهم فيما اختلفوا فيه فأسعد المؤمنين وعنت الكافرين
“หมายถึงหากอัลลอฮ์มิได้ทรงบัญญัติไว้ก่อนแล้วว่า พระองค์จะไม่ลงโทษผู้ใดนอกจากจะแสดงหลักฐานแก่เขา และแน่นอนว่าพระองค์ได้ทอดระยะเวลาออกไปให้แก่มนุษย์ตามเวลาที่ถูกกำหนดไว้แล้ว พระองค์ก็จะทรงตัดสินในระหว่างพวกเขา ในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน แล้วก็จะทำให้บรรดาผู้ศรัทธาได้รับความผาสุก และก็จะทำให้เกิดความวิบัติแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา” ตัฟซีรอิบนุกะษีร เล่มที่ 2
นอกจากนั้นแล้ว พระองค์อัลลอฮ์ยังแจ้งว่า พระองค์มิทรงประสงค์ที่จะทำให้พวกเขาเป็นประชาติเดียวกัน, บนศาสนาเดียวกัน ทั้งๆที่พระองค์สามารถกระทำได้ แต่พระองค์ต้องการที่จะทดสอบพวกเขา ดังที่พระองค์ทรงกล่าวว่า
وَلَوْ شَاءَ اللهُ لَجَعَلَكُمْ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلَكِن لِيَبْلُوَكُمْ فِيْمَا آتَاكُمْ
“และหากอัลลอฮ์ประสงค์ พระองค์ก็จะทรงทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติเดียวกัน แต่ทว่าเพื่อที่พระองค์จะทรงทดสอบพวกเจ้าในสิ่งที่ทรงประทานมาให้แก่พวกเจ้า” ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 48
อิบนุกะษีร ได้อธิบายข้อความอายะห์นี้ว่า
هذا خطاب لجميع الأمم وإخبارعن قدرته تعالى العظيمة التى لوشاء لجمع الناس كلهم على دين واحد وشريعة واحدة لا ينسخ شيء منها ولكنه تعالى شرع لكل رسول شريعة على حدة ثم نسخها أو بعضها برسالة الآخر الذي بعده حتى نسخ الجميع بما بعث يه عبده ورسوله محمدا صلى الله عليه وسلم الذي ابتعثه إلى أهل الأرض قاطبة وجعله خاتم الأنبياء كلهم ولهذا قال تعالى
“ข้อความนี้บ่งถึงประชาชาติทั้งหมด และเป็นการแจ้งให้ทราบถึงเดชานุภาพของอัลลอฮ์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหากพระองค์ประสงค์ พระองค์ก็จะทรงรวมมนุษย์ทั้งหมดไว้บนศาสนาเดียวกันและบทบัญญัติเดียวกันโดย ที่ไม่ต้องยกเลิกข้อบัญญัติใดๆ แต่ทว่าพระองค์ทรงวางบัญญัติให้แต่ละรอซูลที่แตกต่างกันไป แล้วพระองค์ก็ทรงยกเลิกข้อบัญญัตินั้นหรือยกเลิกบางส่วนด้วยสาสน์ของพระองค์ ที่ประทานลงมาหลังจากนั้น จนกระทั่งได้ยกเลิกข้อบัญญัติทั้งหมดด้วยสิ่งที่ได้ส่งมากับบ่าวและศาสนทูต ของพระองค์คือมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งเขาสู่ชาวโลกทั้งมวล และทรงทำให้เขาเป็นนบีท่านสุดท้าย” ตัฟซีรอิบนิกะษีร เล่มที่ 2 หน้าที่93
ฉะนั้นการสร้าง “อุมมะตันวาฮิดะห์” ตามนัยยะที่กล่าวข้างต้นนี้ ย่อมไม่เกิดขึ้นและเป็นไปไม่ได้ ด้วยพระองค์อัลลอฮ์ทรงยืนยันว่า พระองค์มิประสงค์กระทำเช่นนั้น แต่หลังจากที่มนุษย์เกิดการขัดแย้งกัน พระองค์อัลลอฮ์ก็ส่งบรรดารอซูลของพระองค์มาเพื่อชี้แนะแก่พวกเขาถึงทางที่ปลอดภัย ดังที่ท่านได้นำอัลกุรอานมาแสดงว่า
كَانَ النَّاسُ أُمَّةً وَاحِدَةً فَبَعَثَ اللهُ النَبِيِيْنَ مُبَشِّرِيْنَ وَمُنْذِرِيْنَ وَأنْزَلَ مَعَهُمُ الْكِتَابَ بِالْحَقِّ لِيَحْكُمَ بَيْنَ النَّاسِ فِيْمَا اخْتَلَفُوا فِيْهِ وَمَا اخْتَلَفَ فِيْهِ إلاَّ الَّذِيْنَ أُوتُوْهُ مِنْ بَعْدِ مَا جَاءَتْهُمُ البَيِّنَاتِ بَغْياً بَيْنَهُمْ فَهَدَى اللهُ الَّذِيْنَ آمَنُوا لِمَا اخْتَلَفُوا فِيْهِ مِنَ الْحَقِ بِإذْنِهِ وَاللهُ يَهْدِي مَنْ يَشَاءُ إلَى صِرَاطٍ مُسْتَقِيْمٍ
ความว่า “มนุษย์นั้นเคยเป็นประชาชาติเดียวกัน แล้วอัลลอฮฺจึงได้ส่งบรรดานบีมา (หลังจากที่เกิดความขัดแย้งขึ้น) ในฐานะผู้แจ้งข่าวดี และผู้ตักเตือน และได้ประทานคัมภีร์ที่เปี่ยมด้วยสัจธรรมมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อตัดสินระหว่างมนุษย์ในสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกัน และไม่มีผู้ใดขัดแย้ง (เกี่ยวกับสัจธรรมของ) คัมภีร์เล่มนั้นนอกจากบรรดาผู้ที่รับคัมภีร์นั้นหลังจากที่บรรดาหลักฐานอันชัดแจ้งได้ปรากฏแก่พวกเขาแล้ว สาเหตุอันเนื่องจากความอิจฉาริษยาในระหว่างพวกเขา แล้วอัลลอฮฺก็ทรงชี้นำบรรดาผู้ศรัทธาสู่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาขัดแย้งกันด้วยอนุมัติของพระองค์ และอัลลอฮฺจะทรงชี้นำแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ไปสู่ทางอันเที่ยงตรงเสมอ” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 213
อิบุกะษีรได้อธิบายคำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” ในอายะห์นี้ไม่ต่างที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือ
قال ابن جرير : حدثنا محمد بشار حدثنا أبو داود أخبرنا همام عن قتادة عن عكرمة عن ابن عباس قال : كان بين نوح وآدم عشرة قرون كلهم علي شريعة من الحق فاختلفوا فبعث الله النبين مبشرين ومنذرين
“อิบนุญะรีร กล่าวว่า มูฮัมหมัด บิน บัชชาร เล่าให้เราฟังว่า อบูดาวู๊ด เล่าให้เราฟังว่า ฮัมมาม บอกกับเราโดยนำมาจาก กอตาดะห์ จาก อิกริมะห์ จาก อิบนิอับบาส กล่าวว่า : ระหว่างยุคของนบีนัวฮ์กับนบีอาดัมนั้นเป็นช่วงระยะเวลาสิบศตวรรษ ทั้งหมดทุกคนอยู่บนบทบัญญัติที่เป็นสัจธรรม แต่พวกเขาก็ขัดแย้งกัน ฉะนั้นพระองค์อัลลอฮ์จึงได้ส่งบรรดานบีมาเป็นผู้ที่แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ที่ตักเตือนถึงข่าวร้าย”
وقال عبد الرزاق : أخبرنا معمر عن قتادة في قوله ( كان الناس أمة واحدة) قال : كانوا على الهدى جميعا ( فاختلفوا فبعث الله النبيين) فكان أول من بعث نوحا وهكذا قال مجاهد كما قال ابن عباس اولا
“และอับดุรรอซาก กล่าวว่า : มุอัมมัร บอกกับเราจาก ก่อตาดะห์ในถ้อยคำที่ว่า (มนุษย์เคยเป็นประชาชาติเดียวกัน) เขากล่าวว่า : มนุษย์เคยอยู่บนทางนำเดียวกันทั้งหมด (แต่พวกเขาขัดแย้งกัน พระองค์อัลลอฮ์จึงได้ส่งบรรดานบีมา) โดยผู้แรกที่พระองค์อัลลอฮ์ส่งมานั้นคือ นบีนัวฮ์ และมุญาฮิดก็กล่าวไว้เช่นเดียวกันนี้ดังที่ อิบนิอับบาส ได้กล่าวไว้แต่แรก” ตัฟซีรอิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 337 - 338
ท่ามกลางความขัดแย้งของบรรดาผู้คน พระองค์อัลลอฮ์มิได้ส่งบรรดารอซูลของพระองค์มาเพื่อการจัดตั้ง “อุมมะห์วาฮิดะห์” หมายถึงการรวมมนุษย์ไว้เป็นหนึ่งเดียวบนหลากหลายความเชื่อและหลากหลายการปฏิบัติ ซึ่งมิมีรอซูลท่านใดกระทำเช่นนั้น แต่บรรดารอซูลของอัลลอฮ์กลับชี้แนะให้ผู้คนแยกถูกแยกผิด ระหว่างฮุดา กับ ฏอลาละห์ ระหว่างทางนำกับความหลงผิด และสาระหลักที่บรรดารอซูลของอัลลอฮ์ได้เรียกร้องคือสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงยืนยันไว้ในอัลกุรอานว่า
وَلَقَدْ بَعَثْنَا فِي كُلِّ أُمَّةٍ رَسُوْلاَ أنِ اعْبُدُوا اللهَ وَاجْتَنِبُوا الطَاغُوْتَ فَمِنْهُم مَنْ هَدَى اللهُ وَمِنْهُم مَنْ حَقَّتْ عَلَيْهِ الضَّلاَلَةُ فَسِيْرُوا فِي الأرْضِ فَانْظُرُوا كَيْفَ كَانَ عَاقِبَةُ المُكَذِّبِيْنَ
“และแน่นอนเราได้ส่งรอซูลมาในทุกๆประชาชาติ (โดยกำชับว่า) พวกท่านจงสักการะต่ออัลลอฮ์และออกห่างจากสิ่งที่ถูกสักการะทั้งมวล แต่ในหมู่พวกเขามีผู้ที่อัลลอฮ์ทรงนำทาง และในหมู่พวกเขามีผู้ที่ความหลงผิดคู่ควรแก่พวกเขา ดังนั้นพวกเจ้าจงท่องไปบนหน้าแผ่นดิน และจงดูว่าบั้นปลายของบรรดาผู้ปฏิเสธเป็นเช่นใด” ซูเราะห์อัลนะฮล์ อายะห์ที่ 36
เมื่อไม่สามารถจะสร้าง “ประชาชาติหนึ่งเดียว” ตามนัยยะข้างต้นนี้แล้ว ถ้าเช่นนั้นคำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” จะหมายถึงอะไร
หากหมายถึงการอยู่รวมกันในสังคมโลกโดยต่างคนต่างถือศาสนาตามความเชื่อของตนก็ย่อมเป็นประชาชาติหนึ่งเดียวคามนัยยะนี้ไม่ได้อีกเช่นกัน เนื่องจากอิสลามได้วางขอบเขตให้ถือปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมดังนี้
1. ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมแต่ไม่กระทำคนเป็นศัตรู พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
لاَ يَنْهَاكُمُ اللهُ عَنِ الَّذِيْنَ لَمْ يُقَاتِلُوْكُمْ فِي الدِيْنِ وَلَمْ يُخْرِجُوْكُمْ مِنْ دِيَارِكُمْ أنْ تَبَرُّوْهُمْ وَتُقْسِطُوا اِلَيْهِمْ إنَّ اللهَ يُحِبُّ المُقْسِطِيْنَ
“อัลลอฮ์มิทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ต่อสู้กับพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและไม่ขับไล่พวกเจ้าออกจากที่อยู่อาศัยของพวกเจ้า ในการที่จะทำดีกับพวกเขาและให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์รักผู้ที่ยุติธรรม” ซูเราะห์อัลมุมตะฮินะห์ อายะห์ที่ 8
แม้อัลลอฮ์จะไม่ห้ามและใช้ให้ยุติธรรมแก่คนต่างศาสนาที่ไม่กระทำตนเป็นศัตรูก็ตาม แต่ในเรื่องศาสนาที่ต่างยึดถือนั้นก็ไม่สามารถที่จะหลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวได้ ตัวอย่างเช่นคำรายงานที่ท่านได้อ้างในบทความ เกี่ยวกับพันธสัญญาที่ท่านนบีได้ทำกับชาวยิวตระกูลเอาฟ์ในนครมะดีนะห์ เพื่อร่วมกันปกป้องนครมะดีนะห์จากการถูกรุกรานของศัตรูว่า
وَإنَّ يَهُوْدَ بَنِي عَوْفٍ أُمَّةٌ مَعَ المُؤْمِنِيْنَ لليَهُوْدِ دِيْنُهُمْ وَللْمُسْلِمِيْنَ دِيْنُهُمْ
“แท้จริงชาวยิวตระกูลเอาฟ์ก็เป็นประชาชาติหนึ่งที่อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธา สำหรับชาวยิวก็ถือศาสนาของพวกเขา และสำหรับบรรดามุสลิมก็ถือศาสนาของพวกเขา”
นี่คือความร่วมมือในด้านการป้องกันอณาจักร ที่มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับการรวมผิดรวมถูกทางบัญญัติศาสนาดังที่ระบุไว้ในคำรายงาน
2. ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิมและทำตนเป็นศัตรู พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า
إنَّمَا يَنْهَاكُمُ اللهُ عَنِ الَّذِيْنَ قَاتَلُوْكُمْ فِي الدِيْنِ وَأخْرَجُوْكُمْ مِنْ دِيَارِكُمْ وَظَاهَرُوا عَلَى إخْرَاجِكُمْ أَن تَوَلَّوْهُمْ وَمِن يَتَوَلَّهُمْ فَأوْلئِكَ هُمُ الظَالِمُوْنَ
“แต่อัลลอฮ์ห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ต่อสู้กับพวกเจ้าในเรื่องศาสนาและขับพวกเจ้าออกจากที่อาศัยของพวกเจ้า อีกทั้งสนับสนุนในการขับพวกเจ้าด้วย ในการที่พวกเจ้าจะเป็นมิตรกับพวกเขา และผู้ใดเป็นมิตรกับพวกเขา พวกเขาเหล่านั้นคือบรรดาผู้อธรรม” ซูเราะห์อัลมุมตะฮินะห์ อายะห์ที่ 9
يَا ايُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا لاَ تَتَّخِذُوا عَدُوِّي وَعَدُوَّكُمْ أوْلِيَاءَ تُلْقُوْنَ إلَيْهِمْ بِالْمَوَدَّةِ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าอย่าได้เอาศัตรูของข้าและศัตรูของพวกเจ้ามาเป็นมิตร โดยหยิบยื่นความรักให้แก่พวกเขา” ซูเราะห์อัลมุมตะฮินะห์ อายะห์ที่ 1
ฉะนั้นหน้าที่ของผู้ศรัทธาจึงต้องแยกมิตรแยกศัตรูให้ชัดเจน เพื่อที่จะไม่เอาศัตรูมาเป็นมิตรหรือเอามิตรมาเป็นศัตรูโดยยึดถือหลักเกณฑ์ทางศาสนาที่อัลลอฮ์และรอซูลได้วางไว้อย่างเคร่งครัด
ถ้าไม่ใช่นัยยะทั้งสองตามที่กล่าวแล้ว อะไรคืออุมมะตันวาฮิดะห์ในประชาชาติอิสลาม
หากคำว่า “อุมมะตันวาฮิดะห์” ที่กำลังกล่าวขานกันอย่างครึกโครมอยู่ขณะนี้ จะถูกขีดกรอบเฉพาะคนที่เป็นมุสลิมเพียงอย่างเดียวก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาดังนี้
ประการที่หนึ่ง หมายถึงการรวมมุสลิมทุกหมู่เหล่าเข้าไว้ด้วยกัน ให้เป็นประชาชาติเดียวกัน แม้พวกเขาจะมีความเชื่อและการปฏิบัติที่ต่างกันก็ตาม เช่นดังที่ท่านกล่าวในคำบรรยายว่า “อิสลามไม่ต้องการชื่ออื่น อิสลามพอแล้ว ไม่ต้องเอาสะละฟีย์ ไม่ต้องเอาอิควาน ไม่ต้องเอาอะไรสักอย่าง ไม่ต้องเอาโกมมุดอ โกมตุวา” ถ้าเป็นดังที่ท่านกล่าวนี้มิเท่ากับเอาถูกและผิดปนกันหรือ และมิใช่เป็นการสมยอมความไม่ถูกต้องหรอกหรือ วัตถุประสงค์ของการสมานฉันท์กับทุกกลุ่มที่มีความเชื่อและแนวทางที่แตกต่างกันนี้เพื่ออะไร
ทั้งๆที่คำสอนของอิสลามนั้นมุ่งหวังที่จะขจัดความเท็จออกจากความจริง
لِيُحِقَّ الحَقَّ وَيُبْطِلَ البَاطِلَ وَلَوْ كَرِهَ المُجْرِمُوْنَ
“เพื่อพระองค์จะทรงทำให้ความจริงได้ประจักษ์เป็นความจริง และให้สิ่งเท็จได้ประจักษ์เป็นสิ่งเท็จ ถึงแม้ว่าบรรดาผู้ฉ้อฉลจะรังเกียจก็ตาม” ซูเราะห์อัลอัมฟาล อายะห์ที่ 8
อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า การรวมถูกและผิดเข้าไว้ด้วยกันโดยมิได้ชี้แจงว่าถูกและผิดอย่างไรนั้น มิใช่วิถีทางที่ท่านนบีและศอฮาบะห์ได้ดำรงอยู่ และมิอาจกล่าวได้ว่า วิธีการเช่นนี้เป็นรากฐานของอะห์ลิสซุนนะห์ ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นพฤติกรรมเฉกเช่นเดียวกับพวกยะฮูดที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงประณามพวกเขาไว้ในอัลกุรอ่าน ตัวอย่างเช่น พระองค์อัลลอฮ์กล่าวว่า
وَلاَ تَلْبِسُوا الحَقَّ بِالبَاطِلِ وَتَكْتُمُوا الحَقَّ وَأنْتُمْ تَعْلَمُوْنَ
“และพวกเจ้าอย่าได้เอาความเท็จปนกับความจริง และปกปิดความจริงไว้ทั้งๆที่พวกเจ้าก็รู้ดี” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 42
อิสลามไม่ยินยอมและไม่สมยอมในการเอาถูกและผิดปนกัน หรือมีส่วนร่วมใดๆกับความไม่ถูกต้อง พระองค์อัลลอฮ์กล่าวว่า
وَلاَ تَرْكَنُوا إلَى الَّذِيْنَ ظَلَمُوا فَتَمَسَّكُمُ النَّارُ
“และพวกเจ้าอย่าได้เห็นชอบกับบรรดาผู้อธรรม ไฟนรกจะสัมผัสพวกท่าน” ซูเราะฮ์ฮูด อายะห์ที่ 113
ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَنْ رَآي مِنْكُمْ مُنْكَراً فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ فَإنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ فَإنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ وَذَلِكَ أضْعَفُ الإيْمَانِ
“ผู้ใดเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็จงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือของเขา หากไม่สามารถก็ด้วยลิ้นของเขา และหากไม่สามารถก็ด้วยใจของเขา ดังกล่าวนี้คืออ่อนสุดของการศรัทธา” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 70
ประการที่สอง หาก “อุมมะตันวาฮิดะห์” หมายถึง การเรียกร้องประชาชาติอิสลามสู่การยึดตามคำสอนของท่านนบีและแนวทางของศอฮาบะห์ ดังที่ท่านได้นำเสนอว่า
بِسْمِ اللهِ الرَحْمنِ الرَّحِيْمِ هَذَا كِتَابٌ مِنْ مُحَمَّدِ النَّبِيِّ الأُمِّيِّ بَيْنَ المُسْلِمِيْنَ وَالمُؤْمِنِيْنَ مِنْ قُرَيْشٍ وَيَثْرِبَ وَمَنْ تَبِعَهُمْ فَلَحِقَ بِهِمْ وَجَاهَدَ مَعَهُمْ أنَّهُمْ أُمَّةٌ وَاحِدَةٌ مِنْ دُوْنِ النَّاسِ... وَإنَّ يَهُوْدَ بَنِي عَوْفٍ أُمَّةٌ مَعَ المُؤْمِنِيْنَ للْيَهُوْدِ دِيْنُهُمْ وَللْمُسْلِمِيْنَ دِيْنُهُمْ... وأنَّ بَيْنَهُمْ النَّصْرَ عَلَى مَنْ حَارَبَ أهْلَ هَذِهِ الصَّحِيْفَةِ وَأنَّ بَيْنَهُمْ النَّصْحَ وَالنَّصِيْحَةَ وَالبِرَّ دُوْنَ الاِثْمِ...
“ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา ผู้ทรงปราณียิ่ง นี่คือหนังสือ (สนธิสัญญา) จากมูหัมมัด นบีผู้ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ (ที่ทำขึ้น) ระหว่างชาวมุสลิมและมุอ์มินจากเผ่ากุเรช กับชาวยัษริบ (มะดีนะฮฺ) และผู้ติดตาม และร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับพวกเขา แท้จริง พวกเขาทั้งหมดเป็นประชาชาติเดียวกัน...และแท้จริงชาวยิวตระกูลเอาฟฺก็เป็นประชาชาติหนึ่งร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธา สำหรับชาวยิวก็ยึดมั่นกับศาสนาของพวกเขา และสำหรับชาวมุสลิมก็ยึดมั่นกับศาสนาของพวกเขา... และระหว่างทั้งสองมีข้อตกลงว่าจะร่วมกันโจมตีบรรดาผู้ที่บุกรุกสมาชิกที่มีอยู่ในสัญญานี้ และในระหว่างพวกเขาต้องมีความบริสุทธ์ใจกัน มีคุณธรรมด้านการช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้การตักเตือน และการคุณประโยชน์ในสิ่งที่ดีงามและไม่ผิดบาป...”
ความจริงแล้ว สาระหลักของข้อความที่ท่านแสดงคือ สนธิสัญญาความร่วมมือกันในการปกป้องนครมดีนะห์จากศัตรูผู้รุกราน แม้ว่าพัธมิตรจะไม่ได้เป็นมุสลิมดังเช่นยะฮูดตระกูลเอาฟ์ ซึ่งพวกเขาไม่ได้อยู่ในฐานะศัตรู แต่ในซีกของบรรดามุสลิมนั้น ท่านได้อธิบายว่า
“มุสลิมทุกคนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมุฮาญีรีน หรืออันศอรฺ ตลอดจนบรรดาผู้ที่ตามพวกเขา และร่วมต่อสู้กับพวกเขาจากกลุ่มที่มาหลังจากพวกเขา ทั้งที่เป็นมุอ์มินหรือมุสลิม ล้วนเป็น “ประชาชาติเดียวกัน” أمة واحدة ยุคแรกถือกำเนิดขึ้นในสมัยของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม และดังที่ว่านี่เองคือหลักการดำเนินชีวิตของประชาชาติมุหัมมัดทุกยุคสมัยในฐานะที่เป็นอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ”
สิ่งที่ท่านได้แสดงและอธิบายนี้คือการยึดแนวทางของสะละฟุสซอและห์มิใช่หรือ พวกเขาคือเหล่าศอฮาบะห์และบรรดาผู้เจริญรอยตามมิใช่หรือ
แต่วิธีการที่ท่านเสนอในคำบรรยายนั้น กลับไม่ใช่แนวทางของศอฮาบะห์ ไม่ใช่แนวทางของสะละฟุสซอและห์ และไม่ใช่รากฐานของอะห์ลิสซุนนะห์วัลญะมาอะห์ ด้วยการที่ท่านกล่าวว่า “อิสลามไม่ต้องการชื่ออื่นแล้ว อิสลามพอแล้ว ไม่ต้องเอาสะฟีย์ ไม่ต้องเอาอิควาน ไม่ต้องเอาอะไรสักอย่าง ไม่ต้องเอาโกมมุดอ โกมตุวอ”
หรือว่าใครจะเชื่ออย่างไรก็ได้จะทำอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องแยกแยะหรือ เหล่านี้คือวิถีทางที่เหล่าศอฮาบะห์ถือปฏิบัติหรือ เปล่าเลย เรากลับเห็นวิถีทางของศออาบะห์และบรรพชนยุคต้นทำการจำแนกระหว่างผิดกับถูกอย่างเข้มงวด โดยไม่ยอมให้ความไม่ถูกต้องบดบังสัจธรรมอันบริสุทธิ์
และถ้อยคำของท่านที่ว่า “อย่าไปโจมตี ระบบโจมตีไม่เอา อย่าโจมตีระหว่างกัน ระบบนี้ใช้ไม่ได้ นำอัลกุรอานนำฮะดีษไปบอก เดี๋ยวเขาจะรู้ตัวว่าถูกโจมตีแล้ว”
ขอเรียนชี้แจงว่า ผมเองไม่เห็นด้วยกับการโจมตีบุคคล แต่การโจมตีบุคคลกับการโจมตีพฤติกรรมความผิดนั้นแตกต่างกัน และการชี้แจงความไม่ถูกต้องก็แตกต่างกันด้วยเช่นเดียวกัน
เราได้เห็นวิธีการของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมหลากรูปแบบในการประกาศอิสลาม มีทั้งนิ่มนวล แข็งกร้าว และหลากหลายวิธีการ ตัวอย่างเช่น ท่านนบีเห็นผู้ที่อาบน้ำละหมาดแล้วล้างส้นเท้าไม่ทั่ว ท่านจึงกล่าวว่า
وَيْلٌ للأعْقَابِ مِنَ النَّارِ
“ความวิบัติจากไฟนรกจงมีแด่บรรดาส้นเท้าที่ไม่โดนน้ำละหมาด” ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 58
เพระฉะนั้นผู้ที่เผยแพร่ต้องพิจารณาว่า ควรใช้ถ้อยคำและวิธีการในรูปแบบใดและกับใคร, เวลาใด และสถานที่ใด แต่ไม่ได้หมายความว่า จะใช้วิธีการบอกถูกอย่างเดียว แต่ไม่ชี้แจงว่าผิดอย่างไร เพราะมันไม่ใช่วิธีการทั้งหมดที่ท่านนบีและเหล่าศอฮาบะห์ได้ถือปฏิบัติ และมิใช่เป้าหมายที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงส่งท่านนบีมา โดยท่านนบีนั้นทำหน้าที่บอกทั้งถูกและเตือนในสิ่งผิด ดังที่พระองค์ได้ทรงกล่าวว่า
وَمَا أرْسَلْنَاكَ إلاَّ مُبَشِّراً وَنَذِيْراً
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นผู้แจ้งข่าวดีและผู้เตือนถึงข่าวร้าย” ซูเราะห์อัลฟุรกอน อายะห์ที่ 56
ส่วนอายะห์อัลกุรอานที่ท่านได้กล่าวอ้างเป็นหลักฐานในกรณีนี้คือ การที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงใช้ให้นบีมูซาและนบีฮารูณไปหาฟิรเอาน์และสั่งว่า
فَقُوْلاَ لَهُ قَوْلاً لَيِّناً لَعَلَّهُ يَتَذَكَّرُأوْ يَخْشَى
“และเจ้าทั้งสองจงกล่าวแก่เขาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน เพื่อว่าเขาได้ระลึกหรือยำเกรง” ซูเราะห์ฏอฮา อายะห์ที่ 44
ข้อความนี้เป็นพื้นฐานของการดะอ์วะห์ คือการเรียกร้องเชิญชวนโดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้เป็นมุสลิมและยังไม่เคยได้ยินสัจธรรมมาก่อน แต่สำหรับบรรดาผู้ที่รู้สัจธรรมแล้วปฏิเสธ เรากลับพบถ้อยคำ เย้ยหยัน เปรียบเทียบ เปรียบเปรย หรือประณามอย่างรุนแรง และมากมายทั้งในอัลกุรอานและฮะดีษ ตัวอย่างเช่น
فَبَشِّرْهُمْ بِعَذَابٍ أَلِيْمٍ
“ดังนั้นเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาถึงการลงโทษอันเจ็บปวด” ซูเราะห์อัลอินชอก๊อก อายะห์ที่ 27
ฉะนั้นการตอบโต้ความไม่ถูกต้อง, การชี้ถูกชี้ผิด ยังคงเป็นมาตรฐานของศาสนาและเป็นแนวทางของอะห์ลิสซุนนะห์ พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
كُنْتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ للنَّاسِ تَأْمُرُوْنَ بِالمَعْرُوْفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ المُنْكَرِ وَتُؤْمِنُوْنَ بِاللهِ
“พวกเจ้า (เหล่าศอฮาบะห์) เป็นประชาชาติที่ดีเลิศ ซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นแก่มนุษยชาติ โดยพวกเจ้ากำชับใช้กันในเรื่องความดีงาม และห้ามปรามกันในสิ่งที่เป็นความผิด และพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮ์” ซูเราะห์อาลาอิมรอน อายะห์ที่ 110
อะไรอยู่เบื้องหลังสโลแกน “อุมมะตันวาฮิดะตัน” หากประชาชาติหนึ่งเดียวที่โปรโมทกันอยู่นี้ คือการเรียกร้องไปสู่แนวทางของศอฮาบะห์และบรรพชนในยุคต้นที่ดำรงอยู่ ก็ขอให้ท่านบอกกับประชาชนว่ามันคือแนวทางสะลัฟและด้วยวิถีทางของชาวสะลัฟ แต่หากเป็นวิธีที่นอกเหนือจากนี้ด้วยการประยุกต์เอาเอง ผมก็ไม่อาจเห็นดีเห็นงามไปกับท่านด้วย และขอเรียกร้องท่านให้หวนกลับมายึดถือหลักการและวิธีการตามที่ท่านนบีได้สอนและเหล่าศอฮาบะห์ได้ยึดถือปฏิบัติ เพราะคือทางรอดปลอดภัย
หากข้อเขียนของผมนี้มีส่วนใดไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของศาสนาขอท่านได้โปรดท้วงติงและชี้แจง ขออัลลอฮ์ทรงนำทางแก่ผู้ยืนหยัดบนทางนำ
ฟารีด เฟ็นดี้
วันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2556