แนวทางการศึกษาวิชาฮะดีษจำแนกไว้เป็นสองหมวดใหญ่ๆ ดังนี้คือ
1 อิลมุนริวายะห์ رواية หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวที่มาจากนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ไม่ว่าจะเป็นคำพูด,การกระทำ,การยอมรับ จริยธรรม รวมถึงคุณลักษณะของท่าน และยังได้รวมถึงคำพูด,การกระทำของศอฮาบะห์ และตาบีอีนด้วย นักวิชาการที่รากฐานวิชาฮะดีษในหมวดนี้คือ ท่านอิหม่ามมูฮัมหมัด บุตรของมุสลิม บุตรของ ซิฮาบุสซะฮ์รีย์ เสียชวิตในปีที่ 124 ฮิจเราะห์ศักราช
2 อิลมุนดิรอยะห์ دراية หมายถึงการศึกษาเกี่ยวกับผู้รายงาน ,สายรายงาน และเนื้อหา (ตัวบท) ของฮะดีษ และการจำแนกฮะดีษออกเป็นประเภทต่างๆ นักวิชาการที่วางรากฐานวิชาฮะดีษในหมวดนี้คือ ท่านอบูมูฮัมหมัด อัลฮุเซน บุตรของ อับดุลเราะห์มาน อัลรอมาฮุรมุซีย์ (1) เสียชีวิตในปีที่ 360 ฮิจเราะห์ศักราช
และเนื่องจากอิลมุนดิรอยะห์เป็นกระบวนการศึกษาในรายละเอียดขั้นตอนการรายงาน, สภาพการรายงาน,ประวัติผู้รายงาน, คำรายงาน, สาเหตุและประวัติการเกิดฮะดีษ,รวมถึงศาสตร์อื่นๆที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง ฉะนั้นผู้คนส่วนใหญ่จึงขนานนามศาสตร์นี้ว่า علوم الحديث (อุลูมุลฮะดีษ) หรือ مصطلح الحديث (มุศตอละฮุลฮะดีษ)
โครงสร้างการพิจารณาฮะดีษ
ฮะดีษถูกจำแนกประเภทตามการพิจารณาในแง่มุมต่างๆ ดังนี้
1 พิจารณาถึงแหล่งที่มาตามการอ้างอิง เช่น กุดซีย์ มัรฟัวอ์ เมากูฟ มั๊กตัวอ์
2 พิจารณาถึงจำนวนผู้รายงาน จำแนกเป็น 2 กลุ่มคือ ฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนมาก เรียกว่า มุตะวาติร และฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนน้อยเรียกว่า อาฮาด เช่น มัซฮูร อะซีซ - ฆ่อรีบ
3 พิจารณาถึงสถานภาพของฮะดีษ คือสายรายงาน, ตัวผู้รายงาน,เนื้อหาของฮะดีษ ซึ่งแยกเป็นสองกลุ่มคือ มักบู้ล (ยอมรับ) และ มัรดู๊ด (ปฎิเสธ)
ฮะดีษในกลุ่มมั๊กบูล (ยอมรับ) จำแนกเป็นหมวดย่อยได้แก่ ศอเฮียะห์ (ลิซาติฮี-ลิฆอยริฮี) ฮะซัน (ลิซาติฮี-ลิฆอยริฮี) ส่วนฮะดีษในกลุ่มมัรดู๊ด (ปฏิเสธ) จำแนกเป็นหมวดย่อยได้แก่ ฏออีฟ (คือฮะดีษที่มีข้อบกพร่องซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 ชนิด) และฮะดีษเมาดั๊วอ์ (ฮะดีษเก๊)
...................................................................................................................................................................
(1) คำว่า รอมาฮุรมุซีย์ เป็นชื่อเมือง มาจากภาษาเปอร์เซียประกอบด้วยสองคำคือ รอม และฮุรมุซ ฉะนั้นคำว่า รอมาฮุรมุซีย์ จึงหมายถึง นักวิชาการฮะดีษจากเมืองรอม-ฮุรมุซ ซึ่งในที่นี้หมายถึง ท่านอบูมูฮัมหมัด อัลฮุเซน บุตรของ อับดุลรอเราะห์มาน เช่นเดียวกับคำว่า บุคคอรี ซึ่งมาจากชื่อเมืองคือ บุคอร ฉะนั้นคำว่า บุคคอรี จึงหมายถึงนักวิชาการฮะดีษจากเมืองบุคอร นั่นเอง
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.