เราได้ทราบมาก่อนแล้วว่าศาสนาอิสลามนั้นเป็นศาสนาของพระองต์อัลลอฮ์ โดยพระองค์ได้ทรงแต่งตั้งศาสนทูตของพระองค์มาประกาศอิสลามทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าบางช่วงจะเว้นว่างจากรอซูลและคำสอนของศาสนทูตเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะอิสลามในยุคสุดท้ายที่พระองค์ทรงประทานให้แก่มนุษยชาติโดยผ่านท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แม้ว่าตัวท่านจะจากไปแล้วแต่คำสอนของท่านยังคงอยู่
อัลอิสลามที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้ประกาศต่อมวลชนเป็นประการแรกก็คือ การศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์ จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 13 ปีในการประกาศอิสลามที่นครมักกะห์นั้น ท่านมุ่งเน้นเรืองการศรัทธาก่อนเป็นประการแรก โดยท่านมิได้สอนแค่เพียงว่าพระเจ้ามีองต์เดียว แต่ท่านสอนว่า พระองค์อัลลอฮ์เป็นพระเจ้าแต่เพียงองค์เดียว และในช่วงระยะเวลาอีก 10 ปีหลังจากที่ท่านได้อพยพสู่นครมะดีนะห์ ท่านก็ไม่ได้หยุดสอนในเรื่องการศรัทธา แต่ยังคงสอนเรื่องนี้และหลักปฏิบัติและอื่นๆ ควบรวมไปด้วย
ตลอดระยะเวลา 23 ปีในการประกาศอิสลามของท่านนบีมูฮัมหมัดนั้น ท่านได้สอนอิสลามไว้โดยไม่มีตกหล่น คำสอนของท่านครอบคลุมทั้งหมด ท่านสอนแม้กระทั่งวิธีการชำระปัสวะและอุจจาระ แล้วไฉนเลยเรื่องหลักๆ เช่นการศรัทธาที่เป็นหลัก (รุก่นอีหม่าน) หรือการปฏิบัติที่เป็นหลัก (รุก่นอิสลาม) ท่านนบีจะละเลยมิได้สอนไว้เช่นนั้นหรือ
ข้อแตกต่างในด้านโครงสร้างของศาสนาระหว่างซุนนะห์กับชีอะฮ์
1. โครงสร้างการศรัทธา (รุก่นอีหม่าน)
หลักการศรัทธาของซุนนะห์
|
หลักการศรัทธาของชีอะฮ์
|
1 - ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ |
1 - เตาฮีด |
2 - ศรัทธาต่อบรรดามะลาอิกะห์ |
2 - อาดิ้ล |
3 - ศรัทธาต่อบรรดาคัมภีร์ |
3 - นุบูวะห์ |
4 - ศรัทธาต่อบรรดารอซูล |
4 - อิมามะห์ |
5 - ศรัทธาต่อการกำหนดสภาวการณ์ |
5 - กิยามะห์ หรือ มะอาด |
6 - ศรัทธาต่อวันอาคิเราะห์ |
- |
ที่มาหลัการศรัทธาของชีอะฮ์ จากบทสรุปการสัมนาวิชาการ หน้าที่ 25 หัวข้อ "พื้นฐานการศรัทธาของชีอะฮ์อิมามียะฮ์" โดยฝ่ายสื่อและสิ่งพิมพ์ สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม (สถาบันชีอะฮ์ในประเทศไทย
2. โครงสร้างหหลักปฏิบัติ (รุ่ก่นอิสลาม)
หลักปฏิบัติของซุนนะห์
|
หลักปฏิบัติของชีอะฮ์
|
1 – การปฏิญาณตน |
1 – ละหมาด (3 เวลา) |
2 – ละหมาดวันละ 5 เวลา |
2 - ถือศีลอด |
3 - ถือศีลอด |
3 - ซะกาต |
4 - ซะกาต |
4 - ฮัจญ์ |
5 - ฮัจญ์ |
5 – วิลายะห์ |
อนึ่ง หลักปฏิบัติของชีอะฮ์นี้ ฝ่ายสื่อและสิ่งพิมพ์ สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม (สถาบันชีอะฮ์ในประเทศไทย) ได้ระบุไว้ในบทสรุปการสัมนาวิชาการว่ามี 10 ประการที่เพิ่มเติมจากนี้คือ คุมซ์,อัลอัมรุบิลมะอ์รูฟ,อัลนะญุอะนิ้ลมุงกัร,ตะวัลลา,ตะบัรรอ
ความแตกต่างระหว่างซุนนะห์กับชีอะห์นั้นไม่ใช่เป็นความแตกต่างในด้านการปฏิบัติเรื่องปลีกย่อยบางประการตามที่มีการกล่าวอ้างกันเท่านั้น แต่เป็นความแตกต่างตั้งแต่ฐานรากของความศรัทธาและหลักปฏิบัติเลยทีเดียว และความแตกต่างที่ว่านี้ไม่ใช่แค่เพียงจำนวนที่ต่างกันแต่รายระเอียดของเนื้อหาก็แตกต่างกันด้วย
สิ่งที่เราต้องคำนึงเป็นประการแรกก็คือ ศาสนาอิสลามไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของผู้ใดเป็นการเฉพาะ ที่ใครคิดจะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หรือแก้ไขตัดทอนได้ตามใจชอบ แต่ศาสนาอิสลามมีที่มาจากพระองค์อัลลอฮ์โดยให้ท่านรอซูล ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมเป็นผู้ประกาศ ฉะนั้นเราจึงต้องตรวจสอบโครงสร้างทั้งสองนี้เป็นประการสำคัญว่า มีโครงสร้างที่แตกต่างจากคำสอนของพระองค์อัลลลอฮ์และคำสอนที่ท่านรอซูลได้ประกาศหรือไม่ และหากได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีที่มาจากคำสอนก็ย่อมจะเป็นศาสนาอิสลามไม่ได้
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า
اِنَّ الذِيْنَ فَرَّقُوا دِيْنَهُمْ وَكاَنُوا شِيَعًا لَسْتَ مِنْهُمْ فِى شَئٍّ
“แท้จริงบรรดาผู้ที่แยกศาสนาของพวกเขาออกไป แล้วกลายเป็นกลุ่ม เจ้า (มูฮัมหมัด) ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกเขาแต่ประการใด” ซูเราะห์อัลอันอาม อายะห์ที่ 159
เราจะเห็นได้ว่าโครงสร้างของศาสนาทั้งสองด้านนั้นมีความแตกต่างกัน แต่โครงสร้างไหนเล่าที่มีที่มาจากคำสอนของท่านนบี และโครงสร้างไหนเล่าที่กล่าวอ้างว่าเป็นศาสนาอิสลาม แต่ท่านนบีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เราไปติดตามดูจากอัลกุรอานและฮะดีษโดยเริ่มต้นจากการศรัทธาก่อนเป็นอันดับแรกดังนี้
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า
آمَنَ الرَّسُوْلُ بِمَا أُنْزِلَ اِلَيْهِ مِن رَّبِّهِ وَالمُؤْمِنُوْنَ كُلٌّ آمَنَ بِاللهِ وَمَلائِكَتِهِ وَكُتُبِهِ وَرُسُلِهِ
“รอซูลนั้นศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมายังท่านและมุอ์มินก็ศรัทธาเช่นนั้นด้วย ทุกคนต่างศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์,บรรดามะลาอิกะห์, บรรดาคัมภีร์ และบรรดารอซูลของพระองค์” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 285
เพียงอัลกุรอานอายะห์เดียวนี้ก็คงทำให้ท่านได้ทราบว่า การศรัทธาของผู้ใดที่ออกนอกกรอบจากคำสอนของอัลกุรอาน ในขณะที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ยืนยันจากอายะห์ข้างต้นว่า นี่คือการศรัทธาของท่านรอซูลและบรรดามุอ์มินทุกคน แต่เราก็ไม่พบร่องรอยหรือวี่แววการศรัทธาของชีอะฮ์จากอายะห์นี้เลย ฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า พื้นฐานการศรัทธาของชีอะห์ไม่เหมือนการศรัทธาของท่านรอซูล และไม่เหมือนการศรัธาของมุสลิมทั้งโลก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
และเมื่อได้พิจารณาถึงหลักปฏิบัติก็จะพบว่าแตกต่างไปจากคำสอนของท่านรอซูลอีกด้วยคือ
قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلىَ اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ بُنِيَ الاِسْلاَمُ عَلي خَمْسٍ شَهَادَةِ أنْ لاَ اِلَهَ اِلاَّ اللهُ وَأنَّ مُحَمَّداً
رَسُوْلُ اللهِ وَاِقَامِ الصَلاَةِ وَايْتَاءِ الزَكاةِ وَالحَجِّ وَصَوْمِ رَمَضَانَ
“ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า อิสลามตั้งอยู่บนรากฐานห้าประการคือ การปฏิญานว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลัลลอฮ์ และ มุฮัมม่าดุรรอซูลุ้ลลอฮ์, การดำรงละหมาด,การจ่ายซะกาต,การทำฮัจญ์ และการถือศีลอดเดือนรอมฏอน” บันทึกโดยอิหม่ามบุคคอรี ฮะดีษเลขที่ 7
แม้ว่าในอัลกุรอานและฮีษของท่านนบีจะสอนเรื่องการศรัทธาและการปฏิบัติไว้หลายประการด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ใดจะหยิบเอาเรื่องใดในคำสอนมาเป็นโครงสร้างหลักของศาสนาโดยพละการ เพราะมิเช่นนั้นแล้วต่างคนต่างก็จะนึกคิดกันไปเอง และอย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า หากเรื่องวิธีการชำระปัสสาวะและอุจจาระท่านนบีก็ยังสอนไว้ แล้วเรื่องสำคัญเช่นท่านนบีจะปล่อยให้ไขว่คว้ากันเองโดยท่านมิได้สอนเช่นนั้นหรือ ถึงแม้ว่าจะมีอัลกุรอานอีกหลายอายะห์และฮะดีษของท่านรอซูลอีกหลายบทที่บอกถึงเรื่องนี้ไว้ แต่ที่นำมาแสดงนี้ก็เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นว่า อะไรจริงและอะไรคือสิ่งอุปโลกน์ และเราจะปิดท้ายกันด้วยฮะดีษบทต่อไปนี้
بَيْنَمَا نَحْنُ عِنْدَ رَسُوْلِ اللهِ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ ذَاتَ يَوْمٍ اِذْ طَلَعَ عَليْنَا رَجُلٌ شَدِيْدُ بَيَاضِ الثِيَابِ
شَدِيْدُ سَوَادِ الشَعَرِ لاَ يُرَى عَليْهِ أثْرُ السَفَرِ وَلاَ يَعْرِفُهُ مِنَّا أَحَدٌ حَتَّى جَلَسَ اِلَي الَنِبيِ صَلىَ اللهُ
عَلْيهِ وَسَلَّمَ فَأسْنَدَ رُكْبَتَيْهِ اِلَي رُكْبَتِهِ وَوَضَعَ كَفَّيْهِ عَلي فَخِذَيْهِ وَقَالَ يَا مُحَمَّد أَخْبِرْنِي عَنِ الاِسْلاَمِ
فَقَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلىَ اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ الاِسْلاَمُ أنْ تَشْهَدَ أنْ لاَ اِلَهَ اِلاَّ اللهُ وَأنَّ مُحَمَّدا رَسُوْلُ اللهِ
وَتُقِيْمَ الصَلاةَ وَتُؤْ تِيَ الزَكَاةَ وَتصُوْمَ رَمَضَانَ وَتَحُجَّ الَبْيتَ اِنِ اسْتَطَعْتَ اِليْهِ سَبِيْلا قَالَ صَدَقْتَ
قَالَ فَعَجِبْنَا لَهُ يَسْألُهُ وَيُصَدِّقُهُ قَالَ فَأخْبِرْنِي عَنِ الايْمَانِ قَالَ أنْ تُؤْمِنَ بِاللهِ وَمَلائِكَتِهِ وَكُتُبِهِ
وَرُسُلِهِ وَاليَوْمِ الآخِرِ وَتُؤْمِنَ بِالقَدْرِ خَيْرِهِ وَشَرِّهِ قَالَ صَدَقْتَ قَالَ فَأخْبِرْنِي عَنِ الاِحْسَانِ
قَالَ أنْ تَعْبُدَ اللهَ كَأنَّكَ تَرَاهُ فَاِنْ لَمْ تَكُنْ تَرَاهُ فَاِنَّهُ يَرَاكَ
“ขณะที่พวกเราอยู่กับท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมในวันหนึ่ง ทันใดนั้นก็มีชายผู้หนึ่งปรากฏต่อหน้าพวกเรา เขามีเสื้อผ้าที่ขาสะอาด,มีผมดำขลิบ, ร่องรอยของการเดินทางไม่ปรากฏให้พวกเราเห็นเลย และไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเรารู้จักเขา จนกระทั่งเขาได้มานั่งอยู่ต่อหน้าท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม โดยเอาเข่าของเขาเกยกับเข่าของท่านนบี แล้วเอามือของเขาวางที่หน้าตักของท่าน และกล่าวว่า โอ้มูฮัมหมัด โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอิสลาม ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้ตอบว่า อัลอิสลามคือการที่ท่านจะต้องปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การสักการะนอกจากพระองค์อัลลอฮ์ และ มูฮัมหมัดคือศาสนทูตของพระองค์ และการที่ท่านจะต้องดำรงละหมาด,บริจาคซะกาต, ถือศีลอดเดือนรอมฏอน และทำฮัจญ์หากมีความสามารถ เขากล่าวว่า ท่านพูดถูกแล้ว พวกเราแปลกใจเหลือเกิดนที่เขาถามและก็ยืนยันในคำตอบเอง เขาถามต่อไปว่า โปรดบอกฉันถึงเรื่องอีหม่าน ท่านตอบว่า คือการที่ท่านจะต้องศรัทธาต่ออัลลอฮ์,มะลาอิกะห์ของพระองค์,บรรดาคัมภีร์ของพระองค์,บรรดาศาสนทูตของพระองค์, ศรัทธาต่อวันอาคิเราะห์และการที่ท่านต้องศรัทธาต่อการกำหนดทั้งความดีความชั่วของพระองค์ เขากล่าวว่า ท่านพูดถูกต้องแล้ว และถามต่อไปว่า โปรดบอกฉันถึงเอียะห์ซาน ท่านตอบว่า คือการที่ท่านจะต้องสักการะต่อพระองค์ประหนึ่งว่าท่านได้เห้นพระองค์ ถึงแม้ว่าท่านไม่ได้เห็นพระองค์ก็ตามแต่พระองค์ทรงเห็นท่าน” บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 9
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.