أهل البيت
อีกประเด็นหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างชาวซุนนะฮ์กับชาวชีอะฮ์คือการนับวงศาคณาญาติและบุคคลในครอบครัวของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยอิวะซัลลัม ว่ามีใครกันบ้าง แต่ก่อนที่จะได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจในศัพท์ภาษาที่เกี่ยวข้องสัก 3 คำคือ آلَ แปลว่า วงศ์วาน คำว่า عِتْرَةٌ แปลว่า ญาติใกล้ชิด และคำว่า أهْلُ البَيْتِ แปลว่า ครอบครัว ทั้งสามคำนี้มีความหมายที่ครอบคลุมต่างกัน เช่นครอบครัวของ นายยาซีน ประกอบด้วย พ่อ,แม่,พี่น้อง,เมีย และลูกๆ ส่วนญาติใกล้ชิดของนายยาซีน คือลูกผู้พี่,ลูกผู้น้อง, ลุง,ป้า,น้า,อา ส่วนเครือญาติของนายยาซีน ที่ห่างออกไปคือบุคคลที่เกี่ยวข้องทางสายตระกูลของนายยาซีน อย่างนี้เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่า บุคคลคนหนึ่งมีความเกี่ยวพันธ์ทางเครือญาติกับบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย จนบางคนนับญาติโกโหติกาของตัวเองไม่ครบถ้วนด้วยซ้ำไป หากท่านลองนับญาติของท่านเองก็จะได้ทราบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ได้ไม่ยาก และนี่คือปมปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวซุนนะฮ์กับชาวชีอะฮ์ในการนับบุคคลในครอบครัว และวงศ์ศาคณาญาตของท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮูอลัยฮิวะซัลลัม
ชีอะฮ์กล่าวว่า บุคคลในครอบครัวและเครือญาติของท่านนบีในยุคต้นมีเพียง 4 ท่านเท่านั้น คือ 1. ท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ (ลูกพี่ลูกน้องและเขยของท่านนบี) 2. ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (ลูกสาวของท่านนบีและเป็นภรรยาของท่านอาลี) 3. ท่านฮะซัน (คือลูกของท่านอาลีกับท่านหญิงฟาติมะฮ์ ซึ่งเป็นหลานชายของท่านนบี) 4. ท่านฮุเซน (คือลูกของท่านอาลีกับท่านหญิงฟาติมะฮ์ และเป็นหลานชายอีกคนหนึ่งของท่านนบี)
เป็นที่แปลกใจเหลือเกินว่า ทำไมชาวชีอะฮ์จึงทำให้ครอบครัว,สายสกุลหรือเครือญาติของท่านนบีกุดด้วนถึงเพียงนี้ ทั้งที่ยังมีบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทางเครือญาติกับท่านนบีอีกมากมาย ซึ่งบางคนก็เป็นภรรยาของท่านนบี บางคนเป็นลูกพี่ลูกน้องของท่านนบี และบางคนก็เป็นลูกของท่านนบีด้วยซ้ำไป ทั้งๆที่พวกเขาไม่ได้ล้มหายตายจากไปก่อนที่ท่านนบีจะเสียชีวิต จึงเป็นคำถามว่า เพราะเหตุใดชาวชีอะฮ์จึงได้ตัดพวกเขาเหล่านั้นออกไปจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับท่านนบี
แต่ก่อนที่เราจะไปดูตัวบทหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องทำความเข้าใจในศัพท์ภาษาทั้งสามคำที่กล่าวมาแล้วข้างต้นก่อน เพราะทั้งสามคำนี้ถูกนำมากล่าวทั้งในอัลกุรอานและในฮะดีษที่ใช้อ้างเป็นหลักฐาน ฉะนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจในความหมายของแต่ละคำก่อนโดยสังเขป เพื่อจะได้ไม่เกิดความสับสน
ความหมายของคำว่า آل (อาล่า) คำนี้มีความหมายทางภาษาโดยทั่วไปว่า วงศ์วาน, ครอบครัว, หรือพรรคพวก ก็ได้ขึ้นอยู่กับสำนวนของประโยคและเนื้อเรื่องที่กล่าวถึงดังนี้
หมายถึง วงศ์วาน เช่นคำ ซอวาวาต ที่ท่านนบีได้สอนให้เรากล่าวว่า
اللّهُمَّ صَلِّ عَلىَ مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِ مُحَمَّدٍ
“โอ้พระองค์อัลลอฮ์ได้โปรดให้พรต่อท่านนบีมูฮัมหมัด และวงศ์วานของท่านนบีมูฮัมหมัด ด้วยเถิด”
หมายถึงครอบครัว เช่น เมื่อครั้งที่ท่านญะอ์ฟัรได้เสียชีวิต ท่านนบีได้กล่าวแก่บรรดาศอฮาบะห์ว่า
اِصْنَعُوا لآِلِ جَعْفَرٍ طَعَامًا
“พวกเจ้าทั้งหลายจงทำอาหารให้แก่ครอบครัวของญะอ์ฟัร” สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 919
หมายถึงพรรคพวก หรือพลพรรค เช่นท่านนบีมูซาได้เตือนพวกยะฮูดให้นึกถึงความเมตตาของอัลลอฮ์ที่มีต่อพวกเขาว่า
اِذْ اَنْجَاكُمْ مِنْ آلِ فِرْعَوْنَ
“เมื่อครั้งที่ข้าให้พวกเจ้าปลอดภัยจากพลพรรคของฟิรอูน” ซูเราะห์อิบรอฮีม อายะห์ที่ 6
ความหมายของคำว่า อะฮ์ลุ้ลบัยต์
คำว่า أَهْلُ البَيْتِ เป็นคำสมาสประกอบด้วยสองคำด้วยกันคือ คำว่า أهْلٌ มีความหมายว่า พวก หรือ ชาว ตัวอย่างเช่นคำว่า أهْلُ القُبُوْرِ แปลว่า ชาวสุสาน, أهْلِ الكَهْفِ แปลว่า ชาวถ้ำ และ أهْلُ الوَبَر แปลว่า ชาวชนบท อย่างนี้เป็นต้น
คำว่า بَيْتٌ แปลว่า บ้าน, ห้อง, ที่อยู่อาศัย, หรือสำนักงานก็ได้ แต่คำว่า “บัยตุน” ในที่นี้อยู่ในรูปของคำสมาสประกอบรวมกับคำว่า “อะฮ์ลุล” และถูกเจาะจงด้วยอักษร อลีฟ กับ ลาม อยู่ด้านหน้าคำ จึงไม่ได้หมายความว่า บ้าน ห้อง หรือที่อยู่อาศัยของคนโดยทั่วไป แต่ในที่นี้เจาะจงถึงบ้านของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
และเมื่อนำคำทั้งสองมาประกอบรวมกันเป็น أهْلُ البَيْتِ อ่านเต็มคำว่า อะฮ์ลุ้ลบัยติ แปลว่า บุคคลในครอบครัวของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เครือญาติ และวงศ์วานของท่าน ซึ่งบางครั้งท่านนบีได้กล่าวถึงบุคคลเหล่านี้ด้วยคำว่า عِتْرَةٌ แปลว่า ครอบครัวหรือญาติใกล้ชิด อย่างนี้เป็นต้น
เมื่อคำว่า أهْلُ البَيْتِ ในทางภาษามีความหมายครอบคลุมถึง ครอบครัว,ญาติใกล้ชิด หรือวงศ์วานของท่านนบี ดังนั้นการจะให้ความหมายด้วยถ้อยความใด ก็ต้องพิจารณาจากสำนวนและเนื้อหาของประโยคที่กล่าวถึง หรือพิจารณาจากตัวบทหลักฐานอื่นประกอบด้วย
ใครคือครอบครัวและวงศ์วานของท่านนบี
เมื่อกล่าวถึงครอบครัวหรือวงศ์วานของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เราก็คงจะไม่เอาความรู้สึกนึกคิดของเราเองเป็นตัวกำหนดว่า คือคนนั้นหรือคนนี้ , คนนั้นใช่หรือคนนี้ไม่ใช่ เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเราบางครั้งก็ผสมไปด้วยความรักและความหลง หรือบางครั้งก็ด้วยกับความโกรธแค้นชิงชัง จนทำให้กลายเป็นความเลยเถิดในเรื่องนี้ได้ และหากเราไม่สามารถสลัดอารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ออกไป เวลาที่ได้อ่านตัวบทหลักฐานก็จะทำให้อารมณ์ของเราคอยแย้งและเถียงหลักฐานอยู่ตลอดเวลา เราลองไปพิสูจน์สัจธรรมจากหลักฐานดังต่อไปนี้
عَنْ يَزِيْدِ بْنِ حَيَّانَ قَالَ انْطَلَقْتُ أنَا وَحُصَيْنُ بْنُ سَبْرَةَ وَعُمَرُ بْنُ مُسْلِمٍ اِلى زَيْدِ بْنِ أرْقَمَ فَلَمَّا جَلَسْنَا اِلَيْهِ قَالَ لَهُ حُصَيْنٌ لَقَدْ لَقِيْتَ يَا زَيْدُ خَيْرًا كَثِيْرًا رَأَيْتَ رَسُوْلَ اللهِ صَلى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَسَمِعْتَ حَدِيْثَهُ وَغَزَوْتَ مَعَهُ وَصَليْتَ خَلْفَهُ لَقَدْ لَقِيْتَ يَازَيْدُ خَيْرًا كَثِيْرًا حَدِِّثْنَا يَازَيْدُ مَا سَمِعْتَ مِنْ رَسُوْلِ اللهِ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ قَالَ يَا ابْنَ أخِي وَاللهِ لَقَدْ كَبِرَتْ سِنِّي وَقَدُمَ عَهْدِي وَنَسِيْتُ بَعْضَ الَّذِي كُنْتُ أَعِي مِنْ رَسُوْلِ اللهِ صَلى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَمَا حَدَّثْتُكُمْ فَاقْبَلُوا وَمَا لاَ فَلاَ تُكَلِّفُوْنِيْهِ ثُمَّ قَالَ قَامَ رَسُوْلُ اللهِ صَلى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَوْمًا فِيْنَا خَطِيْبًا بِمَاءٍ يُدْعَى خُمًّا بَيْنَ مَكَّةَ وَالمَدِيْنَةِ فَحَمِدَ اللهَ وَأثْنَى عَلَيْهِ وَوَعَظَ وَذكَّرَ ثُمَّ قَالَ أمَّا بَعْدُ اَلاَ أيُّهَا النَاسُ فَاِنَّمَا أَنَا بَشَرٌ يُوْشِكُ أَنْ يَأتِيَ رَسُوْلُ رَبِّي فَأُجِيْبَ وَأنَا تَارِكٌ فِيْكُمْ ثَقَلَيْنِ أَوَّلُهُمَا كِتَابُ اللهِ فِيْهِ الهُدَى وَالنُّوْرُ فَخُذُوا بِكِتَابِ اللهِ وَاسْتَمْسِكُوا بِهِ فَحَثَّ عَلَى كِتَابِ اللهِ وَرَغَّبَ فِيْهِ ثُمَّ قَالَ وَأهْلُ بَيْتِي أُذَكِّرُكُمُ اللهَ فِي أهْلِ بَيْتِي أُذَكِّرُكُمُ اللهَ فِي أهْلِ بَيْتِي أُذَكِّرُكُمُ اللهَ فِي أهْلِ بَيْتِي فَقَالَ لَهُ حُصَيْنٌ وَمَنْ أهْلُ بَيْتِهِ يَازَيْدُ أَلَيْسَ نِسَاؤُهُ مِنْ أهْلِ بَيْتِهِ قَالَ نِسَاؤُهُ مِنْ أهْلِ بَيْتِهِ وَلَكِنْ أهْلُ بَيْتِهِ مَنْ حُرِمَ الصَدَقَةَ بَعْدَهُ قَالَ وَ مَنْ هُمْ قَالَ هُمْ آلُ عَلِيٍّ وَآلُ عَقِيْلٍ وَآلُ جَعْفَرٍ وَآلُ عَبَّاسٍ قَالَ كُلُّ هَؤُلاءِ حُرِمَ الصَدَقَةَ قَالَ نَعَمْ
“ยะซีด อิบนุฮัยยาน รายงานว่า ฉันกับฮุศอยน์ อิบนุซับเราะห์ และอุมัร อิบนุมุสลิม ได้ไปหาท่านเซด อิบนุอัรกอม เมื่อพวกเราได้นั่งต่อต่อหน้าเขา, ฮุศอยน์ก็ได้กล่าวแก่เขาว่า โอ้ท่านเซดเอ๋ย ท่านได้พบกับความดีมากมาย โดยท่านได้เคยเห็น และเคยได้ยินเรื่องราวต่างๆ ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม อีกทั้งท่านยังได้เคยร่วมสมรภูมิ และละหมาดตามหลังท่านรอซูลอีกด้วย ท่านได้พบกับความดีอย่างมากมายโอ้ท่านเซดเอ๋ย ได้โปรดเล่าให้พวกเราฟังบ้างเกี่ยวเรื่องที่ท่านเคยได้ยินจากท่านรอซูล ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เขากล่าวตอบว่า โอ้หลานเอ๋ย อายุฉันก็มากแล้ว วันเวลามันผ่านมาเนิ่นนานแล้ว และฉันก็ลืมไปบางเรื่องที่เคยจดจำจากท่านรอซูล ฉะนั้นสิ่งใดที่ฉันเล่าให้ฟังก็จงรับมันไว้ แต่สิ่งที่ไม่ได้เล่าให้ฟังก็อย่าได้อ้างถึงฉันในเรื่องนั้น แล้วเขาก็กล่าวว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ได้คุตบะห์แก่พวกเราในวันหนึ่งที่แหล่งน้ำซึ่งเรียกกันว่า คุมม์ อยู่ระหว่างมักกะห์กับมะดีนะห์ ซึ่งท่านเริ่มต้นด้วยการกล่าวสรรญเสริญอัลลอฮ์และขอบคุณต่อพระองค์ ท่านได้ตักเตือนและสั่งสอนพวกเรา หลังจากนั้นก็กล่าวว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงฉันก็คือปุถุชนคนหนึ่งเท่านั้น ใกล้เวลาเต็มทีที่ทูตแห่งองค์อภิบาลจะมายังฉันโดยฉันก็น้อมรับ และฉันได้ทิ้งสิ่งหนักสองสิ่งไว้ในหมู่พวกท่าน อย่างแรกคือคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ที่มีทั้งทางนำและรัศมี พวกเจ้าทั้งหลายจงยึดคัมภีร์ไว้ให้มั่น โดยท่านรอซูลได้รณรงค์และส่งเสริมให้ยึดอัลกุรอาน ต่อมาท่านได้กล่าวว่า อีกประการหนึ่งก็คือ วงศ์วานของฉัน ขอเตือนพวกท่านทั้งหลายให้ระลึกถึงอัลลอฮ์ เกี่ยวกับวงศ์วานของฉัน, ขอเตือนพวกท่านทั้งหลายให้ระลึกถึงอัลลอฮ์ เกี่ยวกับวงศ์วานของฉัน, ขอเตือนพวกท่านทั้งหลายให้ระลึกถึงอัลลอฮ์ เกี่ยวกับวงศ์วานของฉัน, ฮุศอยน์ได้ถามท่านเซดว่า แล้วใครเล่าที่เป็นวงศ์วานของท่านนบี โอ้ท่านเซดเอ๋ย บรรดาภรรยาของท่านนบีมิได้เป็นวงศ์วานของท่านนบีหรือ เขาตอบว่า บรรดาภรรยาของท่านนบีก็เป็นวงศ์วานของท่านนบีด้วย หากแต่วงศ์วานของท่านนบีนั้นถูกห้ามรับซะกาตต่อจากนบี ฮุศอยน์ถามว่า แล้วมีใครบ้าง เขากล่าวตอบว่า พวกเขาคือ วงศ์วานของอาลี, วงศ์วานของอะกี้ล, วงศ์วานของญะอ์ฟัร และวงศ์วานของอับบาส ฮุศอยน์ถามว่า คนเหล่านี้ถูกห้ามรับซะกาตอย่างนั้นหรือ เขาตอบว่า ถูกต้องแล้ว” บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 4425
ถ้อยความของท่านเซด อิบนุอัรกอม ข้างต้นนี้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า “อะฮ์ลุ้ลบัยต์” ในฮะดีษบทนี้มีความหมายว่า วงศ์วานของท่านนบี ซึ่งประกอบด้วยวงศ์วานของอาลี, วงศ์วานของอะกี้ล, วงศ์วานของญะอ์ฟัร และวงศ์วานของอับบาส ซึ่งมิใช่เฉพาะบุคคลในครอบครัวของท่านนบีเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วยังรวมถึงบรรดาภรรยาของท่านนบีอีกด้วย แต่ปรากฏว่าวงศ์วานเหล่านี้มิได้ถูกนับเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ ในความเชื่อของชีอะฮ์ โดยเฉพาะบรรดาภรรยาของท่านนบี
หากจะมีผู้แย้งว่า เนื่องจากยังมีคำรายงานในบันทึกของอิหม่ามมุสลิมอีกบทหนึ่งที่ยืนยันว่า บรรดาภรรยาของท่านนบีมิใช่อะฮ์ลุ้ลบัยต์ ถ้าเช่นนั้นเราจะไปติดตามดูข้อเท็จจริงกันดังนี้
ในบันทึกของท่านอิหม่ามมุสลิม ได้ระบุถึงข้อความฮะดีษตามที่อ้างซึ่งเป็นข้อความที่ต่อท้ายจากฮะดีษข้างต้น แต่เป็นสายรายงานจากสอี๊ด หรือ อิบนุมัซรูก โดยมีเนื้อหาที่แตกต่างไปจากบทแรกคือ
فَقُلْنَا مَنْ أهْلُ بَيْتِهِ . نِسَاؤُهُ. قَالَ لاَ وَاَيْمُ اللهِ اِنَّ المَرْأَةَ تَكُوْنُ مَعَ الرَجُلِ العَصْرَ مِنَ الدَهْرِ ثُمَّ يُطَلِّقُهَا فَتَرْجِعُ اِلَى أَبِيْهَا وَقَوْمِهَا . أهْلُ بَيْتِهِ أصْلُهُ وَعَصَبَتُهُ الَّذِبْنَ حُرِمُوا الصَدَقَةَ بَعْدَهُ
“พวกเราได้ถามท่านเซดว่า ผู้ใดคือวงศ์วานของท่านนบี ภรรยาของท่านหรือ เขาตอบว่า ไม่ใช่ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า แท้จริงบรรดาสตรีนั้นได้อยู่กับชายเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่หลังจากที่เขาหย่านางแล้ว นางก็กลับไปอยู่กับพ่อและพวกของนาง อะฮ์ลุ้ลบัยต์ของท่านนบีก็คือวงศ์วานและเชื้อสายของท่าน, ซึ่งถูกห้ามรับซะกาตต่อจากท่านนบี”
หากเราอ่านฮะดีษทั้งสองบทโดยผิวเผินก็จะเห็นว่า เนื้อความของฮะดีษทั้งสองบทนี้ขัดกัน โดยฮะดีษบทแรกยืนยันว่า บรรดาภรรยาของท่านนีบก็คืออะฮ์ลุ้ลบัยต์ด้วย แต่ในบทที่สองกลับบอกว่าไม่ใช่ ทั้งที่ฮะดีษทั้งสองบทนี้ ศอเฮียะฮ์ และอ้างถึงศอฮาบะห์ผู้รายงนคนเดียวกันคือท่านเซด อิบนุอัรกอม
แต่หากพิจารณาถึงเนื้อหาของฮะดีษบทที่สองอย่างละเอียด เราจะพบความแตกต่างคือ
1 – คำว่าอะฮ์ลุ้ลบัยต์ในฮะดีษนี้ไม่ได้หมายถึง บุคคลในครอบครัวของท่านนบี แต่หมายถึงวงศ์วาน หรือสายสกุลของท่านนบี ดังถ้อยคำในฮะดีษที่ว่า أهْلُ بَيْتِهِ أصْلُهُ وَعَصَبَتُهُ “อะฮ์ลุ้ลบัยต์ของท่านนบีก็คือวงศ์วานและเชื้อสายของท่าน”
2 – บรรดาภรรยาของท่านนบีบางคนก็มาจากตระกูลกุรอยช์เช่นเดียวกับท่านนบีด้วยคือ 1. ท่านหญิงคอดิยะฮ์ บินติคุวัยลิด, 2. ท่านหญิงอาอิชะฮ์ บินติอบีบักร์, 3. ท่านหญิงฮับเซาะฮ์ บินติอุมัร, 4. ท่านหญิงอุมมุฮะบีบะฮ์ บินติอบีซุฟยาน, 5. ท่านหญิงอุมมุซะลามะฮ์ บินติ อบีอุมัยยะฮ์, 6. ท่านหญิงเซาดะฮ์ บินติซัมอะฮ์ และบางท่านก็มาจากตระกูลอื่นคือ 7. ท่านหญิงซัยหนับ บินติญะฮ์ชิน, 8. ท่านหญิงมัยมูนะฮ์ บินติ อัลฮาริส, 9. ท่านหญิงซัยหนับ บินติคุซัยมะฮ์, 10. ท่านหญิงญุวัยรียะฮ์ อัลกิบตียะฮ์ นอกจากนี้ภรรยาของท่านนบีบางท่านก็มิได้มีเชื้อชาติอาหรับ คือ 11. ท่านหญิงซอฟียะฮ์ บินติฮุยัย จากบนีนะดีร
ส่วนอีกสองคนที่ท่านนบีได้เลิกไปและมิได้เป็นหญิงที่มาจากสายตระกูลเดียวกับท่านคือ อัสมาอ์บินติ นัวอ์มาน อัลกินดียะฮ์, ซึ่งหลังท่านนบีได้นิกะห์กับนางแล้ว จึงพบว่า เธอเป็นโรคเรื้อน ท่านจึงได้ส่งนางกลับไปสู่ครอบครัว อีกคนหนึ่งคือ อัมเราะฮ์ บินติยะซีด อัลกิลาบียะฮ์ ซึ่งเธอปฏิเสธที่จะร่วมหลับนอนกับท่านนบี ท่านจึงได้ส่งนางกลับไปสู่ครอบครัว
ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงเชื้อสายหรือตระกูลของท่านนบี ก็ปรากฏว่า ภรรยาของท่านนบีบางคนมีเชื้อสายจากตระกูลเดียวกับท่านนบี และบางคนก็มาจากตระกูลอื่น และบางคนก็ถูกหย่าไปแล้ว
3 - เงื่อนไขและเหตุผลที่แจ้งในฮะดีษบทที่สองคือ บรรดาภรรยาที่ไม่ถูกนับเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ด้วยนั้นคือ ภรรยาที่ถูกหย่าไปแล้ว จากข้อความที่ว่า “แท้จริงบรรดาสตรีนั้นได้อยู่กับชายเพียงชั่วครู่ชั่วยาม แต่หลังจากที่เขาหย่านางแล้ว นางก็กลับไปอยู่กับพ่อและพวกของนาง”
และไม่ว่าจะให้ความหมายคำว่า อะฮ์ลุ้ลบัยต์ ด้วยคำว่า ครอบครัวหรือวงศ์วานก็ตาม แต่บรรดาภรรยาของท่านนบีที่มาจากสายตระกูลเดียวกับท่าน หรือไม่ได้มาจากสายตระกูลเดียวกับท่านบี แต่ไม่ได้ถูกหย่าและยังคงเป็นภรรยาของท่านนบีจนกระทั่งตายจากกันไปนั้น ก็ต้องนับเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ด้วย หรือแม้กระทั่งภรรยาของท่านนบีที่ไม่ถูกหย่าแต่ได้เสียชีวิตไปก่อนท่านนบีคือ ท่านหญิงคอดิยะฮ์ บินติคุวัยลิด และท่านหญิงซัยหนับ บินติคุซัยมะฮ์ หรืออุมมุนมะซากีน ก็ต้องนับเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ด้วยเช่นเดียวกัน
ฉะนั้นฮะดีษทั้งสองบทข้างต้นนี้จึงไม่ค้านกัน แต่เป็นหลักฐานยืนยันว่า บรรดาภรรยาของท่านนบีที่ไม่ได้ถูกหย่าเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ ถึงแม้ว่ากลุ่มชีอะฮ์จะไม่นับบรรดาภรรยาของท่านนบีเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ก็ตาม แต่ท่านหญิงเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในฐานนะที่สูงส่ง
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า
النَبِيُّ أَوْلَى بِالْمُؤْمِنِيْنَ مِنْ أنْفُسِهِمْ وَأَزْوَاجُهُ أُمَّهَاتُهُمْ
“นบีนั้นใกล้ชิดกับผู้ศรัทธายิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง และบรรดาภริยาของเขาคือมารดาแห่งศรัทธาชน” ซูเราะห์อัลอะฮ์ซาบ อายะห์ 6
หากชีอะฮ์อิหม่ามสิบสองคือเหล่าชนผู้ศรัทธาที่แท้จริงแล้วไซร้ พวกเขาจะด่าประณามใส่ร้ายบรรดาภรรยาของท่านนบีซึ่งเป็นมารดาของพวกเขาได้อย่างไร พวกเขาจะกีดกันบรรดาภรรยาของท่านนบีมิให้เป็นหนึ่งในอะฮ์ลุ้ลบัยต์ได้อย่างไร
ชีอะฮ์อธรรมต่ออะฮ์ลุ้ลบัยต์
ท่านได้ทราบแล้วว่า อะฮ์ลุ้ลบัยต์ หมายถึงครอบครัว และวงศ์วานของท่านนบี ประกอบด้วย บรรดาภรรยาของท่านนบี, วงศ์วานของอาลี, วงศ์วานของอะกี้ล, วงศ์วานของญะอ์ฟัร และวงศ์วานของอับบาส ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกกลุ่มชีอะฮ์อิหม่ามสิบสองเขี่ยทิ้งทั้งหมดไม่นับพวกเขาเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ ไม่เว้นแม้ลูกสาวของท่านนบีอย่างเช่น ท่านหญิงซัยหนับ ภรรยาของท่านอุสมาน แต่ชีอะฮ์จะนับเอาสายตระกูลของท่านอาลีบางคน ขอย้ำว่า ชีอะฮ์นับอะฮ์ลุ้ลบัยต์จากสายตระกูลของท่านอาลีบางคนที่พวกเขาพอใจเท่านั้น ส่วนคนที่เหลือคือลูกๆ และวงศ์วานของท่านอาลีกลับไม่ถูกนับเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ด้วย เพราะเหตุใด
หลังจากท่านหญิงฟาติมะฮืได้เสียชีวิตไปแล้ว ท่านอาลีก็แต่งงานใหม่อีกหลายครั้ง และมีบุตรกับภรรยาใหม่อีก 13 คนคือ
1. อับบาส บุตรของท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ
2. อับดุลลอฮ์ บุตรของท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ
3. ญะอ์ฟัร บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
4. อุสมาน บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
บุตรชายทั้ง 4 เกิดจากภรรยาชื่อ อุมมุบะนีน บินติฮิซาม
5. อับดุลลอฮ์ บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
6. อบูบักร์ บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
บุตรชายทั้งสอง เกิดจากภรรยาชื่อ ลัยลา บินติมัสอู๊ด อัดดารีมียะฮ์
7. ยะห์ยา บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
8. มูฮัมหมัด อัลอัศฆ็อร บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
9. เอาน์ บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
บุตรชายทั้งสองเกิดจากภรรยาชื่อ อัสมาอ์ บินติอมีส
10. รุกอยยะฮ์ บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
11. อุมัร บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ (เสียชีวิตขณะอายุได้ 35 ปี)
บุตรชายและบุตรสาวทั้งสองนี้ เกิดจากภรรยาชื่อ อุมมุฮะบีบ บินติรอบีอะฮ์
12. อุมมุนฮะซัน บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
13. รอมละฮ์ อัลกุบรอ บุตรของอาลี อิบนิอบีตอลิบ
บุตรทั้งสองนี้เกิดจากภรรยาชื่อ อุมมุมัสอู๊ด บินติอุรวะฮ์ บินมัสอู๊ด อัสซะกอฟีย์
บุตรของท่านอาลีทั้ง 13 คนนี้คือพี่น้องร่วมพ่อกับท่านฮะซันและท่านฮุเซน แล้วเพราะเหตุใดที่บรรดาบุตรของท่านอาลีจึงไม่ถูกนับว่าเป็นอะฮ์ลุ้ลบัยต์ทั้งหมด และถ้าชีอะฮ์จะนับว่าพวกเขาคืออะฮ์ลุ้ลบัยต์ด้วย ฉะนั้นบุตรชายของท่านอาลีทุกคนก็ต้องอยู่ในตำแหน่งอิหม่ามของชีอะฮ์ด้วยเช่นเดียวกัน แต่ปรากฏว่าลูกๆ ของท่านอาลีเหล่านี้ถูกอธรรมด้วยน้ำมือของชีอะฮ์เอง
ที่น่าแปลกก็คือ ท่านอาลีได้ตั้งชื่อบุตรชายของท่านว่า อบูบักร์,อุมัร,อุสมาน ซึ่งถ้าท่านอาลีรังเกียจ หรือเป็นศัตรูกับท่านอบูบักร์,ท่านอุมัร,และท่านอุสมาน จริงๆ อย่างที่ชีอะฮ์กล่าวอ้างละก็ ท่านอาลีก็คงไม่นำชื่อของพวกเขามาตั้งเป็นชื่อลูกชายของท่านเป็นแน่แท้
นี่คือความอธรรมและการทรยศต่ออะฮ์ลุลบัยต์ ของชีอะฮ์อิหม่ามสิบสอง
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.