أَنَا مَدِيْنَةُ العِلْمِ وَعَلِيٌ بَابُهَا
“ฉันคือนครแห่งความรู้ และอาลีคือประตูของมัน”
ข้อความข้างต้นนี้ ลัทธิชีอะฮ์อิหม่ามสิบสองอ้างว่าเป็นคำพูดของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่พวกเขานำมาแสดงว่า ท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ เป็นดังกุญแจที่จะไขสู่ความรู้เรื่องอิสลามทั้งหมด หรือกล่าวได้อีกประการหนึ่งก็คือ ท่านนบีได้ถ่ายทอดเรื่องอิสลามให้แก่ท่านอาลีอย่างครอบคลุมทุกเรื่องแต่เพียงผู้เดียว และในบางข้อความได้กล่าวว่า ผู้ใดจะเข้าเมืองก็ต้องไปที่ประตู เป็นการเปรียบว่า ผู้ใดจะเอาความรู้ก็ต้องไปหาอาลีนั่นเอง
แต่ในความเป็นจริงเรากลับพบว่า การถ่ายทอดอิสลามของท่านนบีนั้นไม่ได้จำกัดให้แก่ศอฮาบะห์คนใดเป็นการเฉพาะ หมายถึงสอนคนนี้แต่ไม่สอนคนนั้น หรือท่านนบีได้สอนอิสลามแก่ท่านอาลีเพียงคนเดียวแล้วปกปิดไม่สอนแก่ผู้อื่น ซึ่งท่านนบีมิได้กระทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน และในทางปฏิบัติหากท่านอาลีได้ลิขสิทธิ์ความรู้เรื่องอิสลามจากท่านนบีแต่เพียงผู้เดียว ท่านก็ต้องทำหน้าที่สอนอิสลามทุกเรื่องที่ท่านได้รับการถ่ายทอดมา แต่ปรากฏว่า การรายงานเรื่องอิสลามจากท่านอาลีมีเพียงบางส่วนเท่านั้น แม้กระทั่งชีอะฮ์เองก็ต้องไปนำเอารายงานจากศอฮาบะห์คนอื่นๆ มากล่าวอ้าง เหมือนอย่างที่พวกเขาอ้างฮะดีษแก่ชาวซุนนะห์ที่รายงานโดยซอฮาบะห์ท่านอื่นๆ เช่นพวกเขาอ้างการรายงานของท่านเซด อิบนุอัรกอม และท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส เป็นต้น ก่อให้เกิดความสงสัยว่า หากท่านอาลีมีภูมิรู้อิสลามทุกเรื่อง ทำไมท่านจึงไม่รายงานเรื่องต่างๆ ด้วยตัวท่านเอง เพราะหากมีการรายงานจากท่านอาลีจริงๆ ชาวซุนนะห์ก็ให้การยอมรับไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด หรือชีอะฮ์จะกล่าวว่าท่านอาลีบกพร่องในการถ่ายทอดอัลอิสลาม หรือท่านอาลีปกปิดความรู้เรื่องอิสลามกันแน่
ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
مَنْ سُئِلَ عَنْ عِلْمٍ عَلِمَهُ ثُمَّ كَتَمَهُ أُلْجِمَ يَوْمَ القِيَامَةِ بِلِجَامٍ مِنْ نَارٍ
“ผู้ใดถูกถามเกี่ยวกับความรู้ที่เขารู้แต่เขาปกปิดมันไว้ เขาจะถูกสวมบังเหียนด้วยบังเหียนจากไฟนรก” สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 2573
ท่านอาลีของชีอะฮ์จะเป็นดังเช่นที่ท่านนบีกล่าวไว้ข้างต้นนี้หรือ แต่ท่านอาลีที่ชาวซุนนะห์รู้จักมิได้เป็นเช่นนั้น ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาต่อท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบด้วย
บรรดามุสลิมทุกยุคทุกสมัยก็ทราบกันเป็นอย่างดีว่า บรรดาศอฮาบะห์ของท่านรอซูลนั้นมีความรู้เรื่องอิสลามไม่เท่ากัน บางท่านอาจจะทราบเรื่องนี้แต่ไม่ทราบเรื่องนั้น แต่พวกเขาก็ถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกัน เช่นท่านอิบนิอับบาสเคยฟัตวาว่า มุตอะฮ์สตรี (การสมสู่ชั่วคราว) เป็นที่อนุมัติเพราะท่านยังไม่ทราบถึงคำสั่งห้าม จนกระทั่งท่านอาลีได้แจ้งข้อบัญญัติเรื่องนี้ให้ทราบ จึงทำให้ท่านอิบนิ อับบาสเปลี่ยนคำฟัตวาใหม่
عَنْ مُحَمَّد بْنِ عَليٍّ أَنَّهُ سَمِعَ عَلِيَّ بْنَ أَبِي طَالِبٍ يَقُوْلُ لاِبْنِ عَبَّاسٍ نَهَى رَسُوْلُ اللهِ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ عَنْ مُتْعَةِ النِسَاءِ يَوْمَ خَيْبَرَ وَعَنْ أكْلِ لُحُوْمِ الحُمَرِ الأنْسِيَّةِ
“ท่านมูฮัมหมัด บุตรของอาลี รายงานว่า เขาเคยได้ยินท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ กล่าวแก่ อิบนิอับบาสว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ห้ามมุตอะฮ์สตรีในวันคอยบัร และห้ามกินเนื้อลาบ้าน” ดูศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2513
หรือฮุก่มที่เกี่ยวกับเรื่องเฉพาะของสตรีนั้น บางครั้งท่านนบีก็ไม่สะดวกที่จะถ่ายทอดด้วยคำพูดตรงๆ และท่านนบีก็มิได้ใช้ให้ท่านอาลีหรือศอฮาบะห์ท่านอื่นบอกแทน แต่ท่านได้บอกผ่านแก่บรรดาภรรยาของท่านให้แจ้งข้อฮุก่มเรื่องนี้ให้บรรดาสตรีได้ทราบ
หรือตัวอย่างเช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้หลั่งอสุจินั้นจำเป็นต้องอาบน้ำยกฮะดัษหรือไม่ ซึ่งมีรายงานปรากฏในยุคของท่านคอลีฟะห์อุมัร ริดิยัลลอฮุอันฮุว่า
اِتَّفَقَ النَاسُ عَلى أَنَّ المَاءَ لاَ يَكُوْنُ اِلاَّ مِنَ المَاءِ اِلاَّ رَجُلَيْنِ عَلِيَّ بْنَ أَبِيْ طَالِبٍ وَمُعَاذَ بْنَ جَبَلٍ قَالا اِذَا جَاوَزَ الخِتَانُ الخِتَانَ فَقَدْ وَجَبَ الغُسْلُ قَالَ فَقَالَ عَلِيٌّ يَا أَمِيْرَ المُؤْمِنِيْنَ اِنَّ اَعْلَمَ النَاسِ بِهِذَا أزْوَاجُ النَبِيِّ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ فَأرْسَلَ اِلَى حَفْصَةَ فَقَالَتْ لاَ عِلْمَ لِيْ فَأرْسَلَ اِلَى عَائِشَةَ فَقَالَتْ اِذَا جَاوَزَ الخِتَانُ الخِتَانَ وَجَبَ الغُسْلُ
“บรรดาผู้คนต่างเห็นพ้องกันว่าไม่ต้องอาบน้ำหลังมีเพศสัมพันธ์นอกจากหลั่งอสุจิเท่านั้น เว้นสองคนนี้คือท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ และท่านมุอาซ อิบนุญะบัล ที่เห็นว่า เมื่ออวัยเพศชายล่วงล้ำสู่อวัยวะเพศหญิงจำเป็นต้องอาบน้ำ ผู้รายงานกล่าวว่า ท่านอาลีได้กล่าวว่า โอ้ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มีนีน ผู้ที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดคือบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ท่านจึงได้ส่งคนไปถามท่านหญิงฮับเซาะห์ นางตอบว่า ฉันไม่รู้เรื่องนี้ แล้วท่านก็ส่งคนไปถามท่านหญิงอาอิชะห์ นางตอบว่า เมื่ออวัยวะเพศชายล่วงล้ำสู่อวัยวะเพศหญิงจำเป็นต้องอาบน้ำยกฮะดัษ” มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 20182
คำพูดของท่านอาลีข้างต้นที่ว่า บรรดาภรรยาของท่านนบีเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในเรื่องนี้ คงเป็นคำตอบได้ดีว่า ท่านอาลีมิใช่ขุมคลังแห่งความรู้ทั้งหมด และหากชีอะอ์ยืนยันว่า ท่านอาลีเป็นผู้รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับฮุก่มศาสนา และเป็นกุญแจไขสู่ประตูอัลอิสลามแล้ว ท่านอาลีก็ต้องทำหน้าสอนอิสลามอย่างครอบคลุมทุกเรื่องด้วยเช่นกัน แต่ปรากฏว่าศอฮาบะห์ที่เป็นปราชญ์ในการอธิบายอัลกุรอาน และเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ศอฮาบะห์ด้วยกันกลับกลายเป็นท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส มิใช่ท่านอาลี และศอฮาบะห์ที่มีความรู้ความเข้าในเรื่องฮะล้าลฮะรอมจนเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ศอฮาบะห์ก็คือ ท่านมุอาซ อิบนุญะบัล เป็นต้น
นอกจากนี้แล้วท่านนบียังได้ส่งบรรดาศอฮาบะห์ไปประกาศอิสลามในที่ต่างๆ เช่นส่งท่านมุอาซ อิบนุญะบัลไปที่ยะมัน จนทำให้ชาวยะมันได้รับความรู้เรื่องอัลกุรอานและซุนนะห์ของท่านนบีอย่างกว้างขวาง และแม้ว่าท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ จะถูกส่งไปยะมันในเวลาต่อมา แต่ปรากกฎว่าชาวยะมันได้รับความรู้เรื่องอิสลามจากท่านมุอาซ มากกว่าท่านอาลีเสียอีก
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เราเกิดข้อกังขาในตัวบทที่ชีอะฮ์อิหม่ามสิบสองนำมาอ้างว่า ท่านนบีได้พูดว่า
أَنَا دَارُالحِكْمَةِ وَعَلِيٌ بَابُهَا
“ฉันคือสถานแห่งวิชาความรู้ และอาลีคือประตูของมัน” สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 3657
เป็นที่ทราบกันดีถึงวิธีการอำพรางและกลโกงของลัทธิชีอะฮ์อิหม่ามสิบสอง ที่พวกเขานำเอาฮะดีษจากตำราของชาวซุนนะห์มาแสดงโดยตัดตอนเฉพาะที่ต้องการ แต่กลับไม่เอาคำวิจารณ์ฮะดีษมาแสดงด้วย โดยเฉพาะตัวบทฮะดีษในบทนี้ที่นำมาจากบันทึกของท่านอิหม่ามติรมีซีย์ โดยตัดคำวิจารณ์ต่อท้ายฮะดีษของท่านอิหม่ามติรมีซีย์ออกไปดังนี้
قَالَ أبُوعِيْسَى هَذَا حَدِيْثٌ غَرِيْبٌ مُنْكَرٌ وَرَوَى بَعْضُهُمْ هَذَا الحَدِيْثَ عَنْ شَرِيْكٍ وَلمْ يَذْكُرُوا فِيْهِ عَنْ الصُنَابَحِيِّ وَلاَ نَعْرِفُ هَذَا الحَدِيْثَ عَنْ وَاحِدٍ مِنَ الثِقَّاتِ عَنْ شَرِيْكٍ وَفِي البَابِ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ
“อบูอีซา (อิหม่ามติรมีซีย์) ได้กล่าวว่า ฮะดีษนี้แปลกและไม่เป็นที่ยอมรับกัน บางคนรายงานฮะดีษบทนี้จากซะรี๊กโดยไม่กล่าวถึงอัศศุนาบะฮีย์ และเราไม่เคยรู้จักฮะดีษบทนี้จากผู้รายงานที่เชื่อถือได้คนใดเลยนอกจากซะรี๊กเท่านั้น และฮะดีษในบทนี้ยังมีอ้างรายงานจากอิบนิอับบาสอีกด้วย” สุนันอัตติรมีซีย์ คำวิจารณ์ท้ายฮะดีษเลขที่ 3657
และเมื่อเราได้ตรวจสอบผู้รายงานแต่ละระดับแล้วก็พบว่า หนึ่งในผู้รายงานชื่อมูฮัมหมัด บุตรของอุมัร อัรรูมีย์ เป็นบุคคลที่นักฮะดีษวิจารณ์ว่า ดออีฟ เช่นคำวิจารณ์ของท่านอบูดาวูด หรือคำวิจารณ์ของอบูฮาติม อัรรอซีย์ว่า “เขารายงานฮะดีษจากซะรี๊กซึ่งเป็นฮะดีษมุงกัร” (ฮะดีษมุงกัรหมายถึงผู้รายงานไม่มีความเที่ยงธรรม,ขาดความแม่นยำ และรายงานขัดกับรายงานอื่นที่เชื่อถือได้)
นอกจากนี้ยังมีรายงานในบทอื่นๆ ที่มีคำรายงานแตกต่างกันออกไปเช่น รายงานหนึ่งใช้คำว่า أنَا مَدِيْنَةُ العِلْمِ แปลว่า ฉันคือนคนแห่งความรู้ ส่วนอีกรายงานหนึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า أنَا دَارُ الحِكْمَةِ แปลว่า ฉันคือสถานแห่งวิชาความรู้ ส่วนในคำรายงานท่อนท้ายทั้งสองบทไม่ต่างกันคือ وَعَلِيٌ بَابُهَا แปลว่า และอาลีคือประตูของมัน แต่ยังมีรายงานอื่นที่มีข้อความท่อนท้ายเพิ่มมากกว่านี้คือ فمن أراد العلم فليأت الباب แปลว่า ดังนั้นผู้ใดต้องการความรู้ก็จงไปที่ประตูนี้ หมายถึงให้ไปเอาความรู้จากท่านอาลี
คำรายงานทั้งหมดในเรื่องนี้ อ้างถึงผู้รายงานในระดับศอฮาบะห์ 3 ท่านคือ
1. ท่านอาลี อิบนิอบีตอลิบ มีการอ้างรายงานต่อจากท่านอีกจำนวน 5 สาย
2. ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส, อ้างรายงานต่อจากท่านอีกจำนวน 10 สาย
3. และท่านญาบิร อ้างรายงานต่อจากท่านจำนวน 1 สาย
แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่อยุ่ในฐานของฮะดีษฏออีฟ (อ่อน) และเมาดัวอ์ (ฮะดีษเก้) ทั้งสิ้น ซึ่งท่านอิบนุเญา ซี่ย์ได้นำเอารายงานแต่ละสายมตีแผ่และแจ้งเหตุของความดออีฟและเมาดัวอ์ไว้ในหหนังสือของท่านชื่อ อัลเมาดัวอาต (รวมฮะดีษอุปโลกน์) ท่านสามรถดูเพิ่มเติมได้จากหนังสือ อัลเมาดัวอาต เล่มที่ 1 ตั้งแต่หน้าที่ 349 ถึงหน้าที่ 355
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.