16 มีนาคม 2549
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทยขณะนี้ที่ดูเหมือนกำลังเดินเข้าสู่ทางตัน หลายฝ่ายได้พยายามหาทางออกเพื่อแก้วิกฤติการเมือง ข้อเสนอหลากหลายถูกระดมมาจากหลายสำนัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเจรจาทั้งลับและเปิดเผยที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าสำเร็จลงได้ เนื่องจากเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายต่างกัน เลยทำให้ข้อเสนอเรื่องเจรจานี้เป็นแค่เพียงการซื้อเวลาเท่านั้นเอง และยิ่งนานวันเข้าสถานการณ์ก็เริ่มสุกงอมขึ้นทุกที
ถอยคนละก้าว เป็นอีกคำพูดหนึ่งที่ถูกนำมาเสนอในช่วงเวลานี้ แต่ก็คงจะไม่เกิดผลอะไรในทางปฏิบัติมากนัก เพราะต่างฝ่ายต่างก็เดินมาจนสุดทางแล้ว นอกจากถอยคนละก้าวจะหมายถึงทักษิณลาออก และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเลิกชุมนุมเท่านั้นเอง
ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่รู้ไม่ชี้ รอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อเหตุการณ์จบลงที่ฝ่ายไหนมีชัยชนะข้าก็จะอยู่กับฝ่ายนั้น คนจำพวกนี้ถูกให้ชื่อในแวดวงนักวิจารณ์ว่า พวกเปรตรอส่วนบุญ หรือ พวกแทงกั๊ก หรือ พวกเหยียบเรือสองแคม แล้วแต่จะสรรหาคำพูดใดที่เหมาะสมมาตั้งให้กับพวกที่ไม่จริงใจต่อบ้านเมือง เราจะเห็นได้จากนักเลือกตั้งทั้งหลาย เมื่อสถานการณ์สงบลงก็จะเสนอหน้าหาประชาชนแล้วอ้างว่ามีส่วนร่วมอยู่เบื้องหลัง
ความเป็นกลาง คำพูดนี้ดูจะสวยหรูแต่ความจริงแล้วมันคือการเพาะบ่มปัญหา หรือซุกปัญาหาไว้รอให้คนถัดไปมาแก้ไข แต่ถ้าความเป็นกลางนี้หมายถึงการไม่มีอคติกับผู้ใด แล้วพิจารณาปัญหาด้วยความรอบคอบ แต่สุดท้ายผู้ที่ใจบริสุทธิ์ก็ต้องเลือกฝ่ายที่ถูกต้องอยู่ดี เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนดีๆ เขาจะนำเอาความถูกกับความผิดไปใส่ขวดแล้วเขย่ารวมกัน โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่มีต่อรัฐบาลทักษิณนั้นคือการทุจริต การขายสมบัติของชาติ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และข้อหาอื่นๆอีกที่ทยอยโผล่ออกมาให้สังคมรับรู้มากขึ้นทุกวัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่ใครจะยอมความกับใครเป็นการส่วนตัว และไม่ใช่เรื่องที่นายดำกับนายแดงทะเลาะกัน ที่คนกลางจะไกล่เกลี่ยแล้วให้เลิกราต่อกัน แต่มันเป็นข้อหาโกงชาติกินเมือง ซึ่งข้อกล่าวหาเหล่านี้ยังไม่ได้มีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ จึงเป็นข้อกังขาว่า หากรัฐบาลยืนอยู่บนความถูกต้องจริงๆ ทำไมไม่กล้าเผชิญหน้าในการเจรจาอย่างเปิดเผย ทำไมไม่ยอมตอบคำถาม ทำไมต้องหนีออกนอกเมือง
แต่การที่นายกและรัฐบาลทักษิณจะแสดงความจริงใจกับประชาชนด้วยการแก้ข้อกล่าวหา กลับนำประชาชนเข้าสู่วังวนของความขัดแย้ง แบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย เอาประชาชนเป็นด่านหน้าสังเวยความบ้าอำนาจของตัวเอง เช่นจัดม๊อบชนม๊อบที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา หรืออย่างขบวนรถอีแต๋นจากท้องไร่ท้องนาทางภาคเหนือ ที่โดยปกติแล้วจะกินไปวันๆก็ยังแสนเข็ญ ภาระหนี้เกษตรกรก็ยังเต็มบ่า แล้วได้ค่าใช้จ่ายมาจากไหนถึงลุยมาจนเมืองกรุงเพื่อสนับสนุนนายกฯ ปัญหาที่หลายคนห่วงใยก็คือ ถ้านายจ้างเขาลงจากอำนาจ แล้วจะเอาเงินที่ไหนเติมน้ำกลับบ้านเล่า ? แต่จากปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรมประชาธิปไตยในรูปแบบใหม่คือ คนจนสงเคราะห์มหาเศรษฐี
นอกจากทักษิณจะไม่ยอมแก้ข้อกล่าวหา และไม่แสดงความจริงใจต่อประชาชนแล้ว ยังด่าประชาชนว่าเป็นกุ้ยข้างถนน โยนข้อหาให้ประชาชนว่าเป็นกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ แล้วมองประชาชนว่าเป็นศัตรูปักหลักสู้กับประชาชนด้วยวิธีการหลายหลาก เช่นจ้างวานระดมคนระดับล่างมาเป็นฐานกำลัง และแสดงพลังด้วยการจัดชุมนุมตามหัวเมืองต่างๆอีก ทำให้วันนี้ ประชาชนยิ่งทบทวนตัวเองมากยิ่งขึ้นว่า
ที่ผ่านเราเลือกหัวหน้าโจร หรือนายกรัฐมนตรี กันแน่
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.