การจำแนกฮะดีษโดยพิจารณาถึงจำนวนผู้รายงาน
ฮะดีษถูกจำแนกโดยการพิจารณาถึงจำนวนผู้รายงานไว้เป็น 2 หมวดด้วยกันคือ มุตุวาติร และ อาฮาด
ฮะดีษมุตะวาติร
คำว่า มุตะวาติร ทางด้านภาษามีความหมายว่า ต่อเนื่อง,ไม่ขาดสาย แต่คำนี้ถูกนำมาใช้ในแวดวงของวิชาฮะดีษมีความหมายว่า ฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนมากทุกระดับ และเป็นฮะดีษที่ถูกรายงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้รายงานได้รับการถ่ายทอดมาด้วยตัวเอง และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รายงานเหล่านั้นจะร่วมกันกล่าวเท็จ
คำว่า ผู้รายงานมีจำนวนมากทุกระดับ หมายถึงตั้งแต่ในยุคของศอฮาบะห์ สู่ยุคตาบีอีนเรื่อยมาจนกระทั่งถึงผู้บันทึก ส่วนในด้านจำนวนของผู้รายงานนั้น นักวิชาการฮะดีษแต่ละท่านระบุจำนวนไม่ตรงกัน บางท่านว่า จำนวนผู้รายงานต้องมี 10 คนขึ้นไป,บางท่านว่า 20, บางท่านว่า 40 บางท่านก็ว่า 70 เป็นต้น แต่ก็ไม่มีนักวิชาการท่านใดกำหนดจำนวนสูงสุดของผู้รายงานไว้ แต่จะกล่าวกันว่าอย่างน้อยต้องมีกี่คนขึ้นไป
ในกรณีที่บรรดาผู้รายงานจำนวนมากนั้นมีผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมรวมอยู่ด้วยกลุ่มหนึ่ง จะถือว่าฮะดีษนั้นเป็นมุตะวาติรหรือไม่ ซึ่งในมุมมองของท่านอิหม่ามนะวาวีย์นั้น เห็นว่า ไม่มีเงื่อนไขใดๆเลยที่จะกำหนดว่าผู้รายงานฮะดีษมุตะวาติรนั้นจะต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่นักวิชาการโดยส่วนใหญ่ให้น้ำหนักว่า จะถือว่าเป็นฮะดีษมุตะวาติรก็ต่อเมื่อมีมุสลิมที่เชื่อถือได้ร่วมอยู่ในการรายงานนั้นด้วย เพราะเป็นหลักขั้นพื้นฐานของผู้รายงานฮะดีษว่า จะต้องเป็นผู้เที่ยงธรรม มีความแม่นยำในการรายงาน และจะต้องเป็นมุสลิม
ส่วนในกรณีที่ในกลุ่มผู้รายงานเป็นเด็กส่วนมาก จะถือว่าเป็นฮะดีษมุตะวาติรหรือไม่ เช่นในกลุ่มผู้รายงานมีผู้ใหญ่ 2 คนและมีเด็ก 15 คนเป็นต้น ประเด็นนี้อยู่ในกรณีของผู้รายงานที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ซึ่งให้รับการรายงานของเด็กนั้นไว้ก่อน แต่เมื่อเขาบรรลุศาสนภาวะและยืนยันคำรายงานก็จะถือว่าครบเงื่อนไข
นอกจากนั้นแล้วผู้รายงานจำนวนมากแต่ละระดับนั้นจะต้องได้รับการถ่ายทอดฮะดีษมาด้วยตัวเอง ไม่ใช่ฟังต่อจากผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง เช่นบรรดาศอฮาบะห์จำนวนมากได้ยินหรือได้เห็นจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม หรืออยู่ร่วมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง และในยุคของตาบีอีนก็เช่นเดียว ที่จะต้องมีจำนวนมากและได้ฟังการถ่ายทอดจากบรรดาศอฮาบะห์ ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ฟังจากตาบีอีนด้วยกันเล่าต่ออีกทอดหนึ่ง
ประเภทฮะดีษมุตะวาติร
ฮะดีษมุตะวาติร จำแนกเป็นสองประเภทคือ มุตะวาติรลัฟซีย์ และ มุตะวาติรมะอ์นาวีย์
มุตะวาติรลัฟซีย์
คือฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนมากและมีคำรายงานตรงกันตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวอย่างเช่นฮะดีษต่อไปนี้
مَنْ كَذَبَ عَلَيَّ مُتَعَمِّداً فَلْيَتَبَوَّأ مَقْعَدَهُ مِنَ النَّارِ
ฮะดีษบทนี้มีผู้รายงานจำนวนมากทุกระดับและรายงานถ้อยคำนี้ตรงกัน ตัวอย่างผู้รายงานในระดับศอฮาบะห์เช่น ซุบัยร์ อิบนุลเอาวาม, อนัส บินมาลิก, ซะละมะห์ บินอัมร์, อบูฮุรอยเราะห์, อัลมุฆีเราะห์ อิบนุซัวอ์บะห์, อับดุลลอฮ์ อิบนิอัมร์, อบูซัรริน อิลฆิฟารีย์, อบูสอี๊ด อัลคุ๊ดรีย์, อับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอู๊ด, อับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส, อาลี อิบนิอบีตอลิบ, ญาบิร บินอับดิลลาฮ์ อัลอันศอรีย์, อบูก่อตาดะห์, อับดุลลอฮ์ อิบนุอุมัร, อุสมาน บินอัฟฟาน, อุมัร อิบนุลค๊อตต๊อบ, ก๊อยซ์ บินสะอด์, อุกบะห์ อิบนุอามิร, ซะอด์ บินมาลิก, อับดุลเราะห์มาน บินเอาวฟ์, มุอาวียะห์ อิบนิอบีซุฟยาน, เซด อิบนุอัรกอม, ยะอ์ลาอ์ อิบนุมุรเราะห์, คอลิด อิบนุอุรฟุเฏาะ
มุตะวาติรมะอ์นะวีย์
คือฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนมากและมีเนื้อหาความหมายเดียวกัน แต่คำรายงานอาจจะแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น
ฮะดีษที่ 1
رفع اليدين فى الدعاء
ฮะดีษที่ 2
رفع يديه فى الدعاء
เราได้เห็นความแตกต่างในคำรายงานของฮะดีษทั้งสองบทข้างต้นคือ ฮะดีษที่ 1 ใช้คำว่า اليدين ส่วนฮะดีษที่ 2 ใช้คำรายงานว่า يديه แต่ความหมายและเป้าหมายของฮะดีษทั้งสองนี้เพื่อยืนยันว่าท่านนบียกมือในขณะขอดุอาอ์
สถานะของฮะดีษมุตะวาติร
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ฮะดีษมุตะวาติร นั้นคือฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนมากทุกระดับและเป็นไปไม่ได้ที่บรรดาผู้รายงานจะร่วมกันกล่าวเท็จ เพราะฉะนั้นฮะดีษมุตะวาติรจึงใช้เป็นตัวบทหลักฐานทางศาสนาได้โดยไม่ต้องสงสัย
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.