นับเป็นความพยายามของกลุ่มคนที่นิยมอ่านอัลกุรอานในกุโบร จะได้นำหลักฐานเสนอต่อบรรดาผู้คนให้คล้อยตามในสิ่งที่ตนเองนิยมกระทำกันอยู่ โดยไม่คำนึงว่า ตัวบทที่อ้างอิงนั้นจะมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด นอกจากการนำเอาฮะดีษฏออีฟ (อ่อน) หรือฮะดีษเมาฏัวอ์ (เก้) มาอ้างอิงแล้ว บางทีก็นำเอาฮะดีษศอเฮียะห์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปมาอ้างอิง ทั้งๆ ที่เนื้อความของฮะดีษไม่เกี่ยวกับเรื่องอ้าง แต่ก็พยายามชักลากนำเอามาครอบให้เป็นเรื่องเดียวกันจนได้ นี่คือการบิดเบือนเจตนารมณ์และเป้าหมายของฮะดีษ และที่สำคัญคือการบิดเบือนรากฐานของศาสนาอิสลาม
แม้ว่าท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม จะได้กล่าวสำทับไว้ว่า
من كذب علي متعمدا فليتبوأ مقعده من النار
“ผู้ใดกล่าวเท็จต่อฉันโดยเจตนา ก็จงเตรียมที่นั่งสำหรับเขาในนรก” ศอเฮียะห์บุคอรีย์ ฮะดีษเลขที่ 107
หากแต่ผู้นิยมอ่านอัลกุรอานในกุโบร (บางท่าน) ไม่ได้คำนึงถึงคำสำทับของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่าการกระทำเช่นนั้นก็คือการเตรียมที่นั่งสำหรับตัวเองในนรก เพียงแต่ต้องการหาหลักฐานใดก็ได้ มาแสดงให้เห็นว่าทัศนะของตัวเองมีความถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ้างคำพูดหรือการกระทำของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ดูจะเป็นการอ้างที่สามารถทำให้ชาวบ้านเคลิบเคลิ้มได้ และผู้ที่กระทำการเยี่ยงนี้ มิใช่ชาวบ้านโดยทั่วไป หากแต่เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้รู้ของเรา (บางท่าน) เท่านั้น
เหตุที่ต้องกล่าวว่า ผู้รู้ของเราบางท่านนั้น ก็เพราะว่า ไม่มีผู้รู้ที่เป็นนักวิชาการในโลกอิสลามที่แท้จริงคนใดได้กระทำเยี่ยงนี้เลย ดังเช่นฮะดีษที่พวกเขานำมาอ้างกันว่า ท่านนบีอ่านอัลกุรอานในกุโบร ดังนี้
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ أنَّ رَجُلاً أسْوَدَ أوِ امْرَأَةً سَوْدَاءَ كَانَ يَقُمُّ المَسْجِدَ فَمَاتَ فَسَأَلَ النَبِيُّ صَلى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْهُ فَقَالُوا مَاتَ قَالَ : أَفَلاَ كُنْتُمْ آذَنْتُمُوْنِي بِهِ دُلُّوْنِي عَلى قَبْرِهِ أَوْ قَالَ قَبْرِهَا فَأتَى قَبْرَهَا فَصَلَّى عَليْهَا
อบีฮุรอยเราะห์ รายงานว่า “มีชายผิวดำคนหนึ่ง หรือหญิงผิวดำคนหนึ่งที่คอยกวาดมัสยิดได้เสียชีวิตลง ต่อมาท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ถามถึงเขา เหล่าศอฮาบะห์ตอบว่า เขาเสียชีวิตแล้ว ท่านกล่าวว่า ทำไมพวกเจ้าไม่บอกข่าวการเสียชีวิตของเขาให้ฉันทราบ พวกเจ้าจงชี้ให้ฉันได้ทราบว่า หลุมศพของเขา หรือของนางอยู่ที่ไหน หลังจากนั้นท่านก็ไปที่หลุมศพของนาง และละหมาด (ฆอเอ็บ) ให้แก่นางที่กุโบร์” ศอเฮียะห์บุคอรีย์ ฮะดีษเลขที่ 438
ฮะดีษบทนี้เป็นฮะดีษศอเฮียะห์ มีความถูกต้องเชื่อถือได้ โดยไม่มีนักวิชาการฮะดีษท่านใดโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะของฮะดีษบทนี้เลย และเราเองก็ไม่ได้โต้แย้งเรื่องสถานะของฮะดีษเช่นเดียวกัน หากแต่ประเด็นที่เราทำการวิพากษ์อยู่นี้ก็คือ การนำเอาของถูกไปอ้างผิด นั่นคือการกล่าวอ้างว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม อ่านอัลกุรอานในกุโบร์ ก็ด้วยการอ้างฮะดีษบทนี้
เมื่อได้อ่านข้อความของฮะดีษโดยละเอียดแล้ว ก็ไม่พบว่ามีข้อความใดระบุว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการอ่านอัลกุรอานในกุโบรเลย หรือแม้กระทั่งคำอธิบายฮะดีษโดยนักวิชาการระบือนาม เช่นท่านอิบนุฮะญัร อัลอัสกอลานีย์ หรือ ท่านอิหม่ามนะวาวีย์ และท่านอื่นๆ ก็ไม่พบว่า ท่านเหล่านั้นได้ชี้ประเด็นว่า ท่านนบีอ่านอัลกุรอานในกุโบรด้วยฮะดีษบทนี้เช่นเดียวกัน
หากแต่ในตำราบันทึกฮะดีษจะจัดหมวดหมู่และประเภทของฮะดีษไว้ ตัวอย่างเช่น
ศอเฮียะห์บุคคอรี ระบุไว้ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของการละหมาด ฮะดีษเลขที่ 438
ศอเฮียะห์มุสลิม ระบุไว้ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง ญะนาเอ็ซ ฮะดีษเลขที่ 1588
สุนันอบีดาวูด ระบุไว้ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง ญะนาเอ็ช ฮะดีษเลขที่ 2788
โดยข้อเท็จจริงว่า นักวิชาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีท่านใดเลยที่นำเอาฮะดีษบทนี้ไปจัดหมวดหมู่ไว้ในบทที่ว่าด้วยเรื่อง การอ่านอัลกุรอานในกุโบร เพราะข้อเท็จจริงตามเนื้อของฮะดีษคือ ท่านนบีไปละหมาด (ฆอเอ็บ) ที่กุโบร์ ไม่ใช่ ไปอ่านอัลกุรอานที่กุโบร
ยิ่งไปกว่านั้น ในบันทึกของท่านอิหม่ามมุสลิม ระบุว่า หลังจากที่ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาด (ฆอเอ็บ) ให้กับหญิงดำเสร็จแล้ว ท่านก็กล่าวว่า
إنَّ هَذِهِ القُبُوْرَ مَمْلُوْءَةٌ ظُلْمَةً عَلى أهْلِهَا وَإنَّ اللهَ عَزَّوَجَلَّ يُنَوِّرُهَا لَهُمْ بِصَلاتِي عَليْهِمْ
“แท้จริงหลุมศพเหล่านี้เต็มไปด้วยความมืดต่อผู้ที่อยู่ในหลุมศพนั้น และพระองค์อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกียรติและสูงส่ง ได้ทำให้มันสว่างไสวแก่ผู้ที่อยู่ในหลุมศพนั้นด้วยการละหมาดของฉันให้แก่พวกเขา” อิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 1588
ข้อความของฮะดีษในบทข้างต้นนี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า พระองค์อัลลลอฮ์ ได้ทรงทำให้หลุมศพสว่างไสวด้วยการละหมาด (ฆออิบ) ของท่านนบี ซึ่งท่านกล่าวว่า بِصَلاتِي แปลว่า ด้วยการละหมาดของฉัน ท่านมิได้กล่าวว่า بِقِرَائَتِي แปลว่า ด้วยการอ่านของฉัน
แล้วเพราะเหตุใดเล่า ผู้ที่ฝักใฝ่การอ่านอัลกุรอานในกุโบร จึงได้นำเอาฮะดีษในบทนี้ไปเป็นหลักฐานอ้างว่า ท่านนบีก็อ่านอัลกุรอานที่กุโบร์ด้วย อย่างนี้ไม่เป็นการบิดเบือนเป้าหมายของฮะดีษ หรือกล่าวเท็จต่อท่านนบีหรอกหรือ
แต่การดื้อรั้นของคนบางกลุ่มทำให้พวกเขาไม่กลัวการจับจองที่นั่งในนรกตามที่ท่านนบีได้กล่าวเตือนไว้ พวกเขาอ้างแบบข้างๆคูๆ ว่า ก็ในละหมาด (ฆออิบ) ของท่านนบีมีการอ่านอัลกุรอานหรือเปล่า การกล่าวเช่นนี้เหมือนเป็นการพูดแบบกำปั้นทุบดิน และถ้าเป็นคำพูดของคนอะวามก็น่าจะให้อภัยกัน เพราะเขาพูดโดยความไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่หากผู้พูดเป็นผู้ที่ผ่านการศึกษาและได้รับการยกย่องให้เป็นผู้รู้ ก็ยิ่งทำให้สถานะของผู้รู้นั้นด้อยค่าลงทันที เพราะคนเรียนรู้นั้น ก่อนที่เขาจะศึกษาในรายละเอียดของเรื่องใด ก็จะต้องเรียนรู้,ทำความเข้าใจในคำจำกัดความ (ตะอ์รีฟ)ของเรื่องนั้นๆ เสียก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้ทราบว่ามันคืออะไร,เหมือนหรือต่างกับสิ่งอื่นอย่างไร เพราะฉะนั้น จึงอยากจะให้นักศึกษาและครูอาจารย์ที่กำลังมุ่งมั่นเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานในกุโบรโดยอ้างหลักฐานจากฮะดีษบทนี้ ได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการละหมาดฆออิบในกุโบร และการอ่านอัลกุรอานในกุโบร ว่าทั้งสองอย่างนี้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร, เงื่อนไขและวิธีการปฏิบัติเหมือนกันหรือไม่, เงื่อนไขที่ทำให้การปฏิบัติใช้ได้หรือใช้ไม่ได้เป็นเช่นใด และเป้าหมายของการกระทำเพื่ออะไร ทั้งนี้มีผลต่อการนำเอาทั้งสองเรื่องนี้มากิยาส (การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้มาซึ่งฮุก่มเดียวกัน)
เมื่อท่านได้ทราบความเหมือนหรือความต่างของทั้งสองอย่างนี้แล้ว ท่านก็ไม่สามารถกล่าวได้หรอกว่า การอ่านอัลกุรอานในกุโบร์ ดีกว่าการละฆออิบในกุโบร์
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.