ในระยะหลังนี้ ผมมักจะได้ยินถ้อยคำแปลกๆของคนนิยมกระทำอุตริกรรมในศาสนาที่กล่าวว่า “มีหลักฐานห้ามไหม” เช่นหลักฐานห้ามทำอีซีกุโบร์,หลักฐานห้ามทำเมาลิด,หลักฐานห้ามทำบุญ 3 วัน 7 วัน 40 วันหรือ 100 วันให้แก่ผู้ตาย อย่างนี้เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏหลักฐานห้ามโดยตรง คนกลุ่มนี้จึงทำอุตริกรรมในศาสนากันเป็นล่ำเป็นสัน และกลายเป็นช่องทางของคนที่ทำมาหากินโดยเอาศาสนาบังหน้าจะได้กล่าวอ้างแก่ชาวบ้านว่า ทำไปเถิดเพราะไม่มีหลักฐานห้าม ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังได้อ้างว่า เมื่อท่านนบีไม่ห้าม แต่ใครมาห้ามก็เท่ากับเป็นการโกหกต่อท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งกล่าวว่าการทำเช่นนั้นเป็น “บิดอะห์” เพราะท่านนบีไม่เคยทำ, ศอฮาบะห์ไม่เคยทำ ไม่มีคำสั่งใช้หรือสนับสนุนให้กระทำ ดังนั้นพวกเขาจึงถามว่า “มีหลักฐานใช้ให้ทำไหม” และเมื่อไม่สามารถแสดงหลักฐานใช้ให้ทำหรือสนับสนุนให้กระทำได้ พวกเขาจึงกล่าวว่า การกระทำเหล่านั้นเป็น “บิดอะห์” หรืออุตริกรรมในศาสนานั่นเอง และถ้าผู้ใดกล่าวอ้างว่าท่านนบีใช้หรือสนับสนุนให้กระทำ ก็เท่ากับการกล่าวเท็จต่อท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
ข้อขัดแย้งดังกล่าวข้างต้น มีผลมาจากคนทั้งสองกลุ่มนี้มีฐานความคิดที่แตกต่างกัน
โดยกลุ่มหนึ่งถามหา หลักฐานใช้ แต่อีกกลุ่มหนึ่งถามหา หลักฐานห้าม
ระหว่างการพิจารณาถึงหลักฐานใช้กับหลักฐานห้าม อะไรคือฐานความคิดที่ถูกต้องในเรื่องศาสนากันแน่ เราจะได้ตีแผ่ให้ท่านทราบจากตัวบทหลักฐานดังนี้
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
وَمَا آتَاكُمُ الرَّسُوْلُ فَخُذُوْهُ وَمَا نَهَاكُمْ عَنْهُ فَانْتَهُوا
“และสิ่งใดที่รอซูลนำมาพวกเจ้าก็จงถือปฏิบัติ และสิ่งใดที่รอซูลห้ามพวกเจ้าก็จงละเลิกจากสิ่งนั้น” ซูเราะห์อัลฮัซร์ อายะห์ที่ 7
อบูฮุรอยเราะห์รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
دَعُوْنِي مَا تَرَكْتُكُمْ اِنَّمَا هَلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ بِسُؤالِهِمْ وَاخْتِلاَفِهِمْ عَلى أنْبِيَائِهِمْ فَاِذَا نَهَيْتُكُمْ عَنْ شَئٍ فَاجْتَنِبُوْهُ وَإذَا أمَرْتُكُمْ بِأَمْرٍ فَأتُوا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ
“พวกเจ้าทั้งหลายจงละฉันไว้เถิดมันพอเพียงแล้วกับสิ่งที่ฉันทิ้งไว้กับพวกเจ้าทั้งหลาย แท้จริงกลุ่มชนก่อนหน้าพวกเจ้าได้พบกับความหายนะเนื่องจากการถามและการขัดแย้งของพวกเขาต่อบรรดานบีของพวกเขาเอง ดังนั้นเมื่อฉันห้ามพวกเจ้าในเรื่องใด พวกเจ้าก็จงออกห่างจากเรื่องนั้น และเมื่อฉันใช้พวกเจ้าในเรื่องใด พวกเจ้าก็จงปฏิบัติตามกำลังความสามารถ” ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 6744
ทั้งอัลกุรอานและฮะดีษข้างต้นนี้ ได้กล่าวถึงเรื่องคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามไว้ควบคู่กัน และดูเหมือนคนทั้งสองกลุ่มต่างก็อยู่บนบรรทัดฐานของอัลกุรอ่านและฮะดีษเดียวกันนี้ เพียงแต่ยึดกันคนละท่อน และในบางครั้งประโยคเดียวกันแต่เข้าใจกันไปคนละทางก็มี
เรื่องนี้มิได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใดจะตีความอย่างไรก็ได้ เพราะฐานความคิดที่แตกต่างย่อมจะทำให้ผลของความคิดแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นความเข้าใจในอัลกุรอานและฮะดีษ จึงขึ้นอยู่กับหลักฐานที่จะมาอธิบายความให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง และหลักฐานดังกล่าวนี้ก็คือ อัลกุรอ่าน,ฮะดีษ,และศอฮาบะห์ของท่านนบี อย่างนี้เป็นวิธีการที่บรรดานักวิชาการศาสนารู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี หรือที่เรียกกันว่า
อัลกุรอานอธิบายอัลกุรอาน
อัลกุรอานอธิบายฮะดีษ
ฮะดีษอธิบายอัลกุรอาน
ศอฮาอธิบายอัลกุรอานหรือฮะดีษ
ระหว่างการพิจาณาถึงหลักฐานใช้ และหลักฐานห้ามนี้ ได้นำไปสู่ข้อขัดแย้งในวงกว้าง จนกระทั่งชาวบ้านทั่วไปต่างก็นำไปอ้างอิงซึ่งกันโดยฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า มีหลักฐานใช้ไหม และอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า มีหลักฐานห้ามไหม
ที่จริงแล้วจะโทษชาวบ้านก็ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากพวกเขาไม่มีพื้นฐานการพิจารณาทางวิชาการ และถ้าผู้รู้บ้านเราบางคนไม่เปิดประเด็นขึ้นมา ชาวบ้านก็คงจะไม่ตั้งคำถามไขว่กันเช่นนี้
ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إنْ كانَ شَيْئًا مِنْ أمْرِ دُنْيَاكُمْ فَشَأْنُكُمْ بِهِ وَإنْ كَانَ مِنْ أُمُوْرِدِيْنِكُمْ فَإِلَيَّ
“หากว่าเรื่องใดก็ตามที่เป็นเกี่ยวกับดุนยาของพวกเจ้า มันเป็นภารกิจของพวกเจ้าในเรื่องนั้น แต่หากเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องศาสนาของพวกเจ้าก็จงกลับมาที่ฉัน” สุนันอิบนิมาญะห์ ฮะดีษเลขที่ 2462 และมุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 12086
จากฮะดีษข้างต้นนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้จำแนกระหว่างเรื่องดุนยากับเรื่องศาสนาไว้คนละส่วน
โดยเรื่องของดุนยานั้นท่านกล่าวว่า มันเป็นภารกิจของพวกเจ้าในเรื่องดังกล่าว และในบันทึกของอิหม่ามมุสลิมใช้คำรายงานว่า أنْتُمْ اَعْلَمُ بِامْرِ دُنْيَاكُمْ “พวกเจ้าทั้งหลายรู้ในเรื่องดุนยาของพวกเจ้าดีกว่า” (ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 4358)
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
هُوَالذِى خَلَقَ لَكُمْ مَا فِى الأرْضِ جَمِيْعًا
“พระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่งในแผ่นดินทั้งหมดเพื่อพวกเจ้า” ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 29
ดังนั้นเรื่องใดที่เป็นภารกิจทางดุนยา ก็เป็นสิ่งที่ศาสนาเปิดกว้างให้ปฏิบัติได้หากไม่มีคำสั่งห้าม เช่นท่านจะกินแกงส้ม,แกงเผ็ดหรือแกงเขียวหวานก็เลือกรับประทานได้ตามปรารถนา แต่ถ้าแกงเขียวหวานนั้นใส่บรั่นดีปรุงรส ก็ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม เนื่องจากมีข้อบัญญัติห้ามในเรื่องน้ำเมา หรือถ้าอาหารนั้นมีเศษส่วนของหมูเจือปนก็เป็นที่ต้องห้ามด้วยเช่นกัน หรือกรณีที่ท่านเป็นพ่อค้าต้องการจะขายสินค้าใดก็ได้ตามปรารถนา แต่สินค้านั้นต้องไม่อยู่ในข่ายที่ต้องห้าม เช่นหมู,สุรา เป็นต้น และต้องไม่ใช้วิธีการที่ต้องห้าม เช่นการยักยอก,การทุจริต เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของศาสนานั้น ท่านนบีได้กล่าวว่า “จงกลับมาที่ฉัน” หมายถึงเรื่องใดที่เป็นศาสนาต้องฟังคำสั่งจากท่านนบี หรือพิจารณาจากการกระทำของท่าน หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อหน้าท่านนบีแล้วท่านให้การยอมรับ เหล่านี้รวมเรียกว่า ฮะดีษ หรือซุนนะห์ของท่านนบีนั่นเอง ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์ที่ท่านอนัส บินมาลิกรายงานว่า
أن نفرا من أصحاب النبي صلى الله عليه وسلم سألوا أزواج النبي صلى الله عليه وسلم عن عمله فى السر فقال بعضهم لا أتزوج النساء وقال بعضهم لا آكل اللحم وقال بعضهم لا أنام على فراش فحمد الله وأثنى عليه فقال مابال أقوام قالوا كذا وكذا لكني أصلي وأنام وأصوم وأفطر وأتزوج النساء فمن رغب عن سنتي فليس مني
“มีศอฮาบะห์ของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กลุ่มหนึ่งได้ถามบรรดาภรรยาของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เกี่ยวกับการกระทำของท่านนบีที่เขาไม่ทราบ (แต่หลังจากที่พวกเขาทราบ) บางคนในหมู่พวกเขาได้กล่าวว่า ฉันจะไม่แต่งงานกับสตรี,บางคนในหมู่พวกเขากล่าวว่า ฉันจะไม่กินเนื้อสัตว์, และบางคนก็กล่าวว่า ฉันจะไม่นอนบนที่นอน (หลังจากที่ข่าวนี้ถึงท่านนบี,ท่านได้เรียกประชุม) ท่านได้เริ่มต้นด้วยการสรรเสริญอัลลอฮ์และสดุดีต่อพระองค์แล้วกล่าวว่า มีเหตุใดเกิดขึ้นหรือ พวกเขาตอบว่า อย่างนั้น,อย่างนี้ตามที่ตั้งใจ แต่ท่านนบีกล่าวว่า ทว่าฉันละหมาดและฉันก็นอน ฉันถือศีลอดแล้วก็ละศีลอด และฉันก็แต่งงานกับสตรี ดังนั้นผู้ใดไม่ปรารถนาแนวทางของฉัน เขาก็ไม่ใช่พวกของฉัน” (ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 2487)
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า
أَمْ لَهُمْ شُرَكآؤُا شَرَعُوا لَهُم مِّنَ الدِيْنِ مَالَمْ يَأْذَن بِهِ اللهُ
“หรือว่าพวกเขามีหุ้นส่วนในการกำหนดศาสนาแก่พวกเขา ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์มิได้ทรงอนุมัติ” ซูเราะห์อัชชูรอ อายะห์ที่ 21
ท่านหญิงอาอิชะห์ รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَليْهِ أمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ
“ผู้ใดกระทำสิ่งใดโดยสิ่งนั้นไม่ใช่งานของเรามันเป็นโมฆะ” บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 3243
จากหลักฐานที่กล่าวมาแล้วนี้ทำให้เราได้รับทราบว่า เรื่องดุนยาเป็นเรื่องที่อนุญาตให้กระทำได้หากไม่มีหลักฐานห้าม ดังนั้นจึงต้องถามว่า มีหลักฐานห้ามไหม ส่วนในเรื่องศาสนาคิดกระทำเองไม่ได้หากไม่มีหลักฐานใช้หรือสนับสนุนให้กระทำ เพราะฉะนั้นจึงต้องถามว่า มีหลักฐานใช้ไหม และหลักที่กล่าวมานี้เป็นโครงสร้างที่มาของวิชาอรรถคดี (อุศูลุ้ลฟิกฮ์) ในประเด็นที่ว่า
الأصل فى العادات الإباحة
“พื้นฐานของกิจทั่วไปคือการอนุมัติ”
الأصل فى العبادات التحريم
“พื้นฐานของอิบาดะห์ทั้งหลายคือการห้าม”
ผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากตำราวิชา อุศูลุ้ลฟิกฮ์ ทุกเล่ม แต่เราก็ไม่เข้าใจในบทบาทของผู้รู้บ้านเราบางท่านที่สนับสนุนการทำอุตริในศาสนาแล้วถามว่ามีหลักฐานห้ามไหม จนชาวบ้านนำเอาไปถามต่อๆ กัน และถ้าชาวบ้านเขาถามกันเช่นนี้ด้วยภูมิความรู้ของเขาเองก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วขาดความเข้าใจในหลักขั้นพื้นฐาน แต่หากถ้อยคำเช่นนี้เกิดจากผู้รู้ ก็เป็นเรื่องแปลกว่า “คนสอนศาสนาแต่ไม่เข้าใจพื้นฐานศาสนา”
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.