18 พฤศจิกายน 2552
เป็นเรื่องที่เฝ้าติดตามกันมาโดยตลอดว่า ผลการดูจันทร์เสี้ยวข้างขึ้นเพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนซุ้ลฮิจญะห์ในแต่ละท้องที่ สำหรับปีนี้ (2552 - 1430) จะเป็นเช่นใด และมุสลิมจะมีวันอะรอฟะห์วันเดียวกันหรือไม่ และบรรดามุสลิมจะออกอีดใหญ่ตรงกันหรือเปล่า เหล่านี้เป็นประเด็นที่พูดคุยกันมาก่อนที่จะทราบผลของการดูเดือนเสียอีก
หลังจากที่ศาลสูง แห่งราชอณาจักรซาอุดิอาราเบีย ประกาศว่าวันที่ 1 ซุลฮิจญะฮฺ 1430 ตรงกับวันพุธ (ที่ 17 พฤศจิกายน 52) ดังนั้นวันวุกูฟ หรือวันอะรอฟะห์ ซึ่งเป็นวันที่ 9 เดือนซุ้ลฮิจญะห์ จึงตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 52 (และวันอีดิ้ลอัฏฮาปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 52)
แต่หากเราจะไม่ใส่ใจการประกาศวันอะรอฟะห์ โดยต้องการเข้าเดือนซุ้ลฮิจญะห์ ตามผลการดูเดือนของเราเอง แล้วนับวันที่ 1 - 2 และ 3 ของเราเรื่อยไปจนถึงวันที่ 9 แน่นอนว่า เราก็จะมีวันที่ 9 ซุ้ลฮิจญะห์ ของเราเอง แต่วันที่ 9 ซุ้ลฮิจญะห์ ของเรากลับไม่ใช่วันอะรอฟะห์
อะรอฟะห์
คำว่า “อะรอฟะห์” คือชื่อสถานที่ สำหรับพี่น้องมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องไปทำการ วุกูฟ ณ.ที่แห่งนี้ ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ในอดีตทุ่งอะรอฟะห์ไม่ได้อยู่ในเขตการปกครองของราชอณาจักรซาอุดิอาราเบีย พี่น้องที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ก็ต้องไปวุกูฟ ณ.ที่แห่งนี้
ปัจจุบัน ทุ่งอะรอฟะห์อยู่ในเขตการปกครองของราชอณาจักรซาอุดิอาราเบีย พี่น้องที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ก็ต้องทำการวุกูฟ กันที่นี่
ในอนาคต หากราชอณาจักรซาอุดิอาราเบียล่มสลาย พี่น้องที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ก็ต้องวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะห์ เช่นเดิม
ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากทำตามแบบฉบับและคำสั่งของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เพราะหากใครไปทำฮัจญ์แล้วไม่วุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะห์ การทำฮัจญ์ของเขาก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้น จึงไม่ใช่การตามซาอุดี้ ดังที่บางคนกล่าวอ้าง
วันอะรอฟะห์เป็นวันสำคัญของมุสลิมทั้งโลก
มีผู้กล่าวว่า การวุกูฟ และอะรอฟะห์นั้น เป็นเรื่องของคนทำฮัจญ์ ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับคนที่ไม่ได้ไปทำฮัจญ์
คำพูดข้างต้นนี้ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว ที่ถูกต้องคือประโยคที่ว่า การวุกูฟที่ทุ่งอะรอฟะห์ เป็นเรื่องของคนทำฮัจญ์ แต่คำพูดที่ว่าไม่เกี่ยวข้องกับคนที่ไม่ได้ไปทำฮัจญ์นั้น เป็นคำพูดที่ผิดถนัด เนื่องจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม สนับสนุนให้ผู้ที่ไม่ได้ไปทำฮัจญ์ ถือศีลอดในวันอะรอฟะห์
อบีก่อตาดะห์ อัลอันศอรีย์ รายงานว่า
وَسُئِلَ عَنْ صَوْمِ يَوْمِ عَرَفَةَ فَقَالَ يُكَفِّرُ السَّنَةَ المَاضِيَّةَ وَاليَاقِيَّةَ
“ท่านนบีถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดวันอะรอฟะห์ ท่านตอบว่า จะได้รับการอภัยโทษในปีที่ผ่านมาและปีถัดไป” ศอเฮียะห์มุสลิม กิตาบุศศิยาม ฮะดีษเลขที่ 1977
صِيَامُ يَوْمِ عَرَفَةَ أحْتَسِبُ عَلى اللهِ أنْ يُكَفِّرَ السَنَةَ الَّتِي قَبْلَهُ وَالسَّنَةَ الَّتِي بَعْدَهُ
“การถือศีลอดวันอะรอฟะห์นั้น หวังว่าอัลลอฮ์จะอภัยโทษปีก่อนหน้านี้และปีถัดไป” ศอเฮียะห์มุสลิม กิตาบุศศิยาม ฮะดีษเลขที่ 1976
ด้วยเหตุนี้ การถือศีลอดวันอะรอฟะห์ จึงเป็นซุนนะห์สำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำฮัจญ์ แต่สำหรับผู้ที่ทำฮัจญ์และวุกูฟอยู่ที่ท่งอะรอฟะห์นั้นให้งดการถือศีลอด เนื่องจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ไม่ได้ถือศีลอดในขณะที่ท่านกำการวุกูฟอยู่ที่ทุ่งอะรอฟะห์ ดังรายงานต่อไปนี้
عَنْ أُمِّ الفَضْلِ بِنْتِ الحَارِثِ أنَّ نَاسًا تَمَارَوْا عِنْدَهَا يَوْمَ عَرَفَةَ فِي صِيَامِ رَسُوْلِ اللهِ صَلى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَقَالَ بَعْضُهُمْ : هُوَ صَائِمٌ وَقَالَ بَعْضُهُمْ : لَيْسَ بِصَائِمٍ فَأرْسَلْتُ إلَيْهِ بِقَدَّحِ لَبَنٍ وَهُوَ وَاقِفٌ عَلى بَعِيْرِهِ بِعَرَفَةَ فَشَرِبَهُ
“รายงานจากอุมมุลฟัศล์ บินติลฮาริษ ว่า บรรดาผู้คน (หมายถึงศอฮาบะห์ที่ทำการวุกูฟอยู่ที่ทุ่งอะรอฟะห์) ต่างถกเถียงกัน ณที่เธอในวันอะรอฟะห์ เกี่ยวกับการถือศีลอดของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม โดยที่บางคนกล่าวว่า ท่านนบีถือศีลอด และบางคนก็กล่าวว่า ท่านไม่ได้ถือศีลอด ดังนั้นฉันจึงส่งเหยือกนมให้แก่ท่าน ขณะที่ท่านวุกูฟอยู่บนอูฐของท่านที่ทุ่งอะรอฟะห์ แล้วท่านก็ดื่มมัน” ศอเฮียะห์บุคอรี กิตาบุศเศาม์ ฮะดีษเลขที่ 1852
ท่านอิหม่ามนะวาวีย์ กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วยเรื่อง “สมควรงดถือศีลอดสำหรับผู้ทำฮัจญ์ ที่ทุ่งอะรอฟะห์ในวันอะรอฟะห์” ดังนี้
مذهب الشافعي ومالك وأبي حنيفة وجمهور العلماء استحباب فطر يوم عرفة بعرفة للحاج
“มัซฮับชาฟีอี, มาลิกี, ฮานะฟีย์ และบรรดาญุมฮูรุ้ลอุลามาอ์ ถือว่าสมควรงดการถือศีลอดวันอะรอฟะห์ที่ทุ่งอะรอฟะห์สำหรับผู้ทำฮัจญ์” อธิบายศอเฮียะห์มุสลิม โดยอิหม่ามนะวาวีย์ เล่มที่ 8 หน้าที่ 3
ฉะนั้น ผู้ที่ทำฮัจญ์และวุกูฟอยู่ที่ทุ่งอะรอฟะห์ จึงไม่มีซุนนะห์ให้ถือศีลอด แต่เป็นซุนนะห์สำหรับมุลลิมทั่วไปที่ไม่ได้วุกูฟอยู่ที่ทุ่งอะรอฟะห์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงกล่าวว่า วันอะรอฟะห์เป็นวันสำคัญสำหรับมุสลิมทั้งโลก ทั้งผู้ที่ทำฮัจญ์และไม่ได้ทำฮัจญ์
มีบางท่านกล่าวว่า ให้ถือศีลอดวันที่ 9 ของเดือนซุ้ลฮิจญะห์ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว แม้จะไม่ใช่วันอะรอฟะห์ก็ตาม ซึ่งการพูดเช่นนี้อาจจะถูกต้องหากท่านนบีสั่งให้ถือศีลอดวันที่ 9 ซุ้ลฮิจญะห์ เฉยๆ แต่ตัวบทฮะดีษตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ได้ระบุถึงการถือศีลอดวันอะรอฟะห์อย่างชัดเจน
ดังนั้นท่านจะถือศีลอดวันที่ 9 ซึ่งเป็นวันอะรอฟะห์ ตามตัวบทหลักฐาน
หรือจะถือศีลอดวันที่ 9 ซึ่งไม่ใช่วันอะรอฟะห์ ก็ขอให้พิจารณาดูเถิด
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.