เหล่าชีอะห์อิหม่ามสิบสองยังคงไม่ละความพยายาม ที่จะหยิบฉวยข้อความใดๆ มาอ้างเป็นหลักฐานตบตาผู้คนว่า ท่านนบีได้รับประกันความปลอดภัยแก่กลุ่มชีอะห์ไว้ก่อนแล้ว ดังเช่นข้อความที่พวกเขานำมาอ้างต่อไปนี้
أخبرنا أبو القاسم بن السمرقندي أنا عاصم بن الحسن أنا أبو عمر بن مهدي أنا أبو العباس بن عقدة نا محمد بن أحمد بن الحسن القطواني نا إبراهيم بن أنس الأنصاري نا إبراهيم بن جعفر بن عبد الله بن محمد بن مسلمة عن أبي الزبير عن جابر بن عبد الله قال كنا عند النبي ( صلى الله عليه و سلم ) فأقبل علي بن أبي طالب فقال النبي ( صلى الله عليه و سلم ) قد أتاكم أخي ثم التفت إلى الكعبة فضربها بيده ثم قال والذي نفسي بيده إن هذا وشيعته لهم الفائزون يوم القيامة ثم قال إنه أولكم إيمانا معي وأوفاكم بعهد الله وأقومكم بأمر الله وأعدلكم في الرعية وأقسمكم بالسوية وأعظمكم عند الله مزية قال ونزلت " إن الذين امنوا وعملوا الصالحات أولئك هم خير البرية "
สายรายงาน
อบุลกอสิม บินอัสสะมัรกอนดี เล่าให้ฉันฟัง ► อาศิม บินอัลฮาซัน ► อบูอุมัร บินมะฮ์ดี ► อบุลอับบาส บินอุกดะฮ์ ► มุฮัมมัด บินอะหมัด บินอัลฮาซัน อัลก็อฏวานี ► อิบรอฮีม บินอะนัส อัลอันศอรี ► อิบรอฮีม บินญะอ์ฟัร บินอับดุลลอฮ์ บินมุฮัมมัด บินมัสละมะฮ์ ► จากอบิส ซุเบร ► จากท่านญาบิร บินอับดุลลอฮ์ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ เล่าว่า
ตัวบทหะดีษ
พวกเราอยู่กับท่านนบี(ศ) แล้วทันใดนั้นท่านอะลีได้เข้ามาหา ท่านนบี(ศ)กล่าวว่า แท้จริง น้องชายของฉันได้มาหาพวกท่าน จากนั้นท่านหันไปยังอัลกะอ์บะฮ์แล้วตบลงไปที่มันด้วยมือของท่าน จากนั้นท่านกล่าวว่า ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า แท้จริงชายคนนี้ (อะลี) กับชีอะฮ์ของเขา คือบรรดาผู้ประสบความสำเร็จในวันกิยามะฮ์
อ้างอิงจากหนังสือ ตารีคดามัสกัส โดยอิบนุอะซากิร เล่ม 42 หน้า 371
.............................................................................
วิจารณ์ข้อความ
ข้อความที่อ้างเป็นคำพูดของท่านนบีว่า “อาลีกับชีอะห์ของเขาคือบรรดาผู้ประสบความสำเร็จในวันกิยามะห์” หากข้อความนี้มีความถูกต้อง เราก็พบว่า บรรดาผู้กล่าวอ้างว่ารักและสนับสนุนท่านอาลีนั้น มีหลายก๊กหลายเหล่าด้วยกัน และต่างก็มีความเชื่อและการปฏิบัติไม่ตรงกัน เช่น ซัยดียะห์,อิสมาอิลียะห์ และฯลฯ ซึ่งทั้งหมดก็น่าจะอยู่ในฐานะของ ชีอะอ์อาลี ด้วย
แต่หากเหล่าอิหม่ามสิบสองจะทึกทักว่า หมายถึงลัทธิชีอะห์อิหม่ามสิบสองเท่านั้น แล้วข้อความใดเล่าที่จะยืนยันว่า กลุ่มชีอะห์อื่นๆ ที่รักและสนับสุนนท่านอาลีเหมือนกัน ไม่ได้รับชัยชนะจากคำรับประกันนี้
ถ้าเป็นจริงตามอ้าง ก็เป็นเรื่องแปลกว่า กลุ่มคนที่ด่าประณามบรรดาภรรยา,พ่อตา,และสาวกของท่านนบีนั้น ท่านนบีกลับรับประกันว่า พวกเขาเป็นกลุ่มที่ได้รับชัยชนะ
และคนที่เจริญรอยตาม,รักและเชิดชูพร้อมทั้งปกป้องเกียรติของบรรดาภรรยา,พ่อตา และสาวกของท่านกลับเป็นกลุ่มที่หายนะ แปลกดีแท้ๆ
อัลลอฮ์ไม่ได้กล่าวหรอกหรือว่า
وَالَّذِيْنَ اتَّبَعُوْهُمْ بِإحْسَانٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُمْ
“และบรรดาผู้เจริญรอยตามพวกเขาด้วยความดีนั้น อัลลอฮ์ทรงพอพระทัยพวกเขา” ซูเราะห์อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 100
วิจารณ์คำรายงาน
ชีอะห์ได้อ้างว่า ข้อความที่แสดงนี้นำมาจากหนังสือตารีคดิมัชก์ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า หนังสือคารีค ดิมัชก์ ของ อิบนุอะซากีร นั้นไม่ใช่ตำราบันทึกฮะดีษโดยตรง แต่มีคำรายงานที่เป็นฮะดีษทั้งศอเฮียะห์,ฮะซัน,ฏออีฟ,เมาฏัวอ์, เรื่องเล่าที่ไม่สามารถสืบหาที่มาได้ และอื่นๆ ปะปนกัน ดังนั้นการนำข้อความใดๆ จากตำราเล่มนี้มากล่าวอ้าง จึงต้องพิถีพิถัน และตรวจสอบความถูกต้องก่อนเสมอ
ข้อความที่นำมาแสดงข้างต้นนี้ หากมองเผินๆ แล้วอาจจะเข้าใจได้ว่า เป็นฮะดีษที่ถูกรายงานมาจากคนรุ่นตาบีอีน,ผ่านศอฮาบะห์ สืบถึงท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แต่ความเป็นจริงแล้ว มันคือเรื่องเล่าที่ไม่ได้อยู่ในสาระบบฮะดีษ ทั้งสายรายงาน,ตัวผู้รายงาน และเนื้อหา ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง
อบุสซุบัยร์ มีชื่อจริงว่า มูฮัมหมัด บิน มุสลิม บิน ตัดรุส หรือรู้จักกันในนาม อบุสซุบัยร์ อัลมักกีย์ อัลอะซะดีย์ เป็นคนรุ่นตาบีอีน รายงานฮะดีษจากศอฮาบะห์หลายท่านด้วยกันเช่น อิบนิอับบาส,ท่านหญิงอาอิชะห์, ท่านอัลดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร, และท่านญาบิร บินอับดิลาห์ เป็นต้น เสียชีวิตในปีที่ 126 ฮิจเราะห์ศักราช
สถานะของอบุสซุบัยร์ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการฮะดีษ เช่น
อิบนุ มะอีน, อัลนะซาอีย์ และท่านอื่นๆ กล่าวว่า : ตัวของเขาน่าเชื่อถือ
อบูซุรอะห์และอบูฮาติม กล่าวว่า : การรายงานของเขานำมาอ้างอิงไม่ได้
อิบนุ อดีย์ กล่าวว่า : ลำพังตัวของเขาน่าเชื่อถือ นอกจากกลุ่มผู้รายงานที่มีปัญหาได้อ้างการรายงานต่อจากเขา
แต่สิ่งที่นักวิชาการฮะดีษเตือนให้ระวังก็คือ คำรายงานของเขาเพียงลำพังที่กล่าวว่า عن جابر “จากญาบิร” เพราะถือว่าเขาเป็นหนึ่งในบรรดา “มุดัลลัซ” (เป็นบุคคลที่มีเงื่อนงำ) ดังนั้นท่านอิหม่ามบุคอรีจึงไม่รับการรายงานของเขาเพียงลำพัง หากแต่ต้องมีรายงานอื่นมาสำทับด้วย ขณะที่อิหม่ามมุสลิมยังให้น้ำหนักการรายงานของเขา (มีซานุ้ลเอียะอ์ติดาล เล่มที่ 4 หน้าที่ 37 – 40)
ประการที่สอง
หากเรามองข้ามคำวิจารณ์ตัวผู้รายงานระดับตาบีอีนในข้อที่หนึ่งไป แล้วพิจารณาผู้รายงานในลำดับถัดมาคือ อิบรอฮีม บินญะอ์ฟัร บินอับดุลลอฮ์ บินมุฮัมมัด บินมัสละมะฮ์ ก็จะพบว่า บุคคลผู้นี้ไม่อยู่ในทำเนียบของผู้รายงานฮะดีษ
โดยปกติแล้วบรรดาผู้รายงานฮะดีษในแต่ละสายนั้น จะมีประวัติความเป็นมา สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเป็นใคร มีสถานะเช่นใด และระดับผู้บันทึกฮะดีษแต่ละท่านนั้น ก็จะมีสายรายงานของตนเองที่สามารถสืบเพื่อตรวจสอบการรายงานของเขาได้
แต่ อิบรอฮีม บินญะอ์ฟัร ผู้นี้ไม่ได้เป็นหนึ่งในสายรายงานของผู้บันทึกฮะดีษคนใดเลย และไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาของเขา ซึ่งในทางวิชาการฮะดีษจะเรียกว่าบุคคล มัจญ์ฮูล ซึ่งไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของการยอมรับ ถือว่าเป็น ฏออีฟ
และเมื่อตรวจสอบทำเนียบการเป็นครูและศิษย์ของบรรดาผู้รายงานฮะดีษก็พบว่า อบูสซุบัยร์ ซึ่งเป็นคนรุ่นตาบีอีนนั้น มีศิษย์ที่รายงานฮะดีษต่อจากท่านรวมทั้งหมด 86 คน แต่ไม่มีชื่อของ อิบรอฮีม บินญะอ์ฟัร ระบุอยู่ในทำเนียบการเป็นศิษย์ หรือเป็นผู้รายงานฮะดีษต่อจาก อบูสซุบัยร์ เลย
ประการที่สาม
ผู้รายงานในลำดับถัดมาคือ อิบรอฮีม บินอะนัส อัลอันศอรี และคนอื่นๆในสายรายงานนี้ ล้วนแต่ไม่ใช่ผู้รายงานฮะดีษ และไม่มีบันทึกประวัติของพวกเขาในสาระบบฮะดีษ ดังนั้นกลุ่มผู้รายงานในสายนี้ จึงถือเป็นบุคคล “มัจญ์ฮูล” เช่นเดียวกัน
ประการที่สี่
เรายืนยันข้อความข้างต้นนี้ด้วยคำพูดของนักวิชาการฮะดีษร่วมสมัยคือ ท่านเชคอัลบานีย์ ที่แจ้งสถานะว่า เมาฏัวอ์ แปลว่า ข้อความที่ไม่ใช่ฮะดีษแต่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา โดยเชคอัลบานีย์ กล่าวว่า อบูซซุบัยร์ เป็นคนมุดัลลัซ (เป็นบุคคลที่มีเงื่อนงำ) และอีกสองคนก่อนหน้านี้ (คือ อิบรอฮีม บินอนัส อัลอันศอรีย์ และอิบรอฮีม บินญะอ์ฟัร) ไม่มีประวัติในตำราผู้รายงานฮะดีษ (ดูอัลซิลซิละห์อัดฏออีฟะห์ ญุชที่ 10 หน้าที่ 429 ลำดับที่ 4925)
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.