มีมุสลิมะห์ท่านหนึ่งส่งข้อความฮะดีษเกี่ยวกับการถือศีลอด 10 วันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะห์มาให้ตรวจสอบดังนี้
.....................................................................................................
“อาจารย์ค่ะหะดีษที่ว่า
( كان رسول الله صلى الله عليه وسلم يصوم تسع ذي الحجة ويوم عاشوراء وثلاثة أيام من كل شهر أول اثنين من الشهر وخميسين ) رواه الإمام أحمد 21829 ، وأبو داود 2437 ، وضعفه في نصب الراية 2 / 180 ، وصححه الألباني
ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถือศีลอดเก้าวันของซุลหิจญะฮฺ, วันอาชูรออ์, และสามวันของทุกเดือน วันจันทร์แรกของเดือน และวันพฤหัสบดีอีกสองวัน
"บันทึกโดย อิหม่ามอะหฺมัด 2189, อบูดาวุด 2437, และเขา (อัซซัยละอีย์) ได้ระบุในนัศบุรรอยะฮฺ 2/180 ว่าเฎาะอีฟ, ส่วนอัลบานีย์มีทัศนะว่า เศาะฮีหฺ"
ตกลงว่าหะดีษนี้ศอเหี้ยะ หรือฎออีฟกันแน่ ช่วยวิเคราะห์ด้วยค่ะ”
....................................................................................................
ความจริงผมได้อ่านข้อความนี้จากกระทู้หน้าแรกของเว็บมรดกมาก่อนแล้ว และข้อความนี้ถูกส่งมาที่ผมโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง (แต่ผู้เขียนกับผู้ส่งข้อความไม่น่าจะเป็นคนเดียวกัน) ซึ่งผมพิจารณาว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงสิบวันแรกของเดือนซุ้ลลฮิจญะห์ พอดี จึงเหมาะสมที่จะนำมาชี้แจงในช่วงเวลานี้ และผมจะวิเคราะห์เรื่องนี้เท่าที่มีความสามารถ (อินชาอัลลฮ์)
ขอทำความเข้าใจในเบื้องแรกก่อนว่า การปฏิบัติความดีอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 10 เดือนซุ้ลฮิจญะห์ เช่นการซิกรุ้ลลอฮ์,การอิสติคฟาร และการขอดุอาอ์ และฯลฯ มีตัวบทหลักฐานสนับสนุนให้กระทำอย่างชัดเจน และไม่ใช่ข้อพิพาทแต่อย่างใด
และการถือศีลอดวันที่ 9 เดือนซุ้ลฮิจญะห์ซึ่งเป็นวันอะรอฟะห์นั้น ก็ไม่ใช่กรณีพิพาทเพราะมีตัวบทหลักฐานสนับสนุนให้ถือศีลอดวันอะรอฟะห์อย่างชัดเจน ส่วนวันที่ 10 เดือนซุ้ลฮิจญะห์ซึ่งเป็นวันอีดิ้ลอัฏฮา ก็เป็นวันห้ามถือศีลอดตามที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน และไม่ใช่กรณีพิพาทด้วยเช่นกัน
แต่การถือศีลอดสิบวันแรกวันแรก หมายถึงตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 8 เดือนซุ้ลฮิจญะห์ ประเด็นนี้เป็นกรณีพิพาท และหนึ่งในตัวบทหลักฐานที่นำมาอ้างอิงกันก็คือ ฮะดีษที่สอบถามมาข้างต้น
และตามข้อความที่ปรากฏคือนักวิชาการฮะดีษทั้งสองท่าน คือ อัซซัยละอีย์และอัลบานีย์ ให้สถานะของฮะดีษบทนี้ไว้ ต่างกัน โดยฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า ฏออีฟ และอีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า ศอเฮียะห์ ซึ่งผมพยายามสืบข้อมูลของการให้สถานะของทั้งสองฝ่ายแต่ก็ไม่พบรายละเอียด นอกจากกล่าวไว้ลอยๆ ว่า ศอเฮียะห์ และ ฏออีฟ เท่านั้น
วิจารณ์มุมมองของอัซซัยละอีย์
การที่ อัซซัยละอีย์ได้กล่าวว่า ฮะดีษบทนี้ ฏออีฟ นั้น น่าจะพิจารณาในมุมมองทางทางวิชาการด้านตัวผู้รายงานเป็นหลัก เพราะเมื่อตรวจสอบผู้รายงานในสายต่างๆ ปรากฏดังนี้
สายรายงานในมุสนัดอิหม่ามอะห์หฺมัด
สายที่หนึ่ง :
حَدَّثَنَا سُرَيْجٌ وَعَفَّانُ قَالَا حَدَّثَنَا أَبُو عَوَانَةَ حَدَّثَنَا الْحُرُّ بْنُ الصَّيَّاحِ قَالَ سُرَيْجٌ عَنِ الْحُرِّ عَنْ هُنَيْدَةَ بْنِ خَالِدٍ عَنِ امْرَأَتِهِ عَنْ بَعْضِ أَزْوَاجِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
สายที่สอง :
حَدَّثَنَا عَفَّانُ حَدَّثَنَا أَبُو عَوَانَةَ حَدَّثَنَا الْحُرُّ بْنُ الصَّيَّاحِ عَنْ هُنَيْدَةَ بْنِ خَالِدٍ عَنِ امْرَأَتِهِ عَنْ بَعْضِ أَزْوَاجِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
สายรายงานในสุนันอบีดาวุด
حَدَّثَنَا مُسَدَّدٌ حَدَّثَنَا أَبُو عَوَانَةَ عَنْ الْحُرِّ بْنِ الصَّبَّاحِ عَنْ هُنَيْدَةَ بْنِ خَالِدٍ عَنْ امْرَأَتِهِ عَنْ بَعْضِ أَزْوَاجِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
สายรายงานในสุนันนะซาอีย์
สายที่หนึ่ง :
أخْبَرنِي زَكَرِيَّا بْنُ يَحْيَى قَالَ : حَدَثَّنَا شَيْبَانُ قَالَ حَدَثَّنَا أَبُو عَوَانَةَ عَنِ الحُرِّ بْنِ صَيَّاحٍ عَنْ هُنَيْدَةَ بْنِ خَالِدٍ عَنْ امْرَأتِهِ قَالَتْ حَدَّثَنِي بَعْضُ نِسَاءِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ
สายที่สอง :
أخْبَرنِي أَحْمَدُ بْنُ يَحْيَى عَنْ أبِي نُعَيْمٍ قَالَ حَدَّثَنَا أبُو عَوَانَةَ عَنِ الحُرِّ بْنِ الصَيَّاحِ عَنْ هُنَيْدَةَ بْنِ خَالِدٍ عَنْ امْرَأتِهِ عَنْ بَعْضِ أزْوَاجِ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
สายรายงานทั้งหมดตามที่แสดงให้เห็นนี้ต่างก็นำข้อความมาจากแหล่งเดียวกันคือ จาก อบูอะวานะห์ จากอัลฮุร บิน อัศศอยยาห์ จากฮุนัยดะห์ บิน คอลิด จาก ภรรยาของเขา จากภรรยาของท่านนบี
บุคคลที่มีปัญหาในสายรายงานนี้คือ “ภรรยาของเขา” ซึ่งหมายถึง ภรรยา ของฮุนัยดะห์ บิน คอลิด ซึ่งตัวของฮุนัยดะห์ เองนั้นเราทราบประวัติของเขาว่า เป็นศอฮาบะห์รุ่นเยาว์ แต่ภรรยาของเขาเป็นใครนั้น ไม่มีผู้ใดสืบทราบประวัติได้ รู้แต่เพียงว่าเธอเป็นตาบีอีน
ประเด็นนี้มีปัญหาต่อการพิจารณาสถานะของฮะดีษ เนื่องจากเกณฑ์มาตรฐานของฮะดีษศอเฮียะห์นั้นจะต้องประกอบไปด้วย
1 – สายรายงานต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ
2 – ผู้รายงานมีความเที่ยงธรรมเป็นที่ยอมรับ
3- ผู้รายงานมีความแม่นยำดีเลิศในการรายงาน
4 – คำรายงานไม่ค้านกับฮะดีษศอเฮียะห์บทอื่น
5 – ไม่มีข้อบกพร่องในเนื้อหา
แต่เมื่อไม่ทราบชื่อและประวัติความเป็นมาภรรยาของฮุนัยดะห์ได้ จึงขาดหลักเกณฑ์ของฮะดีษศอเฮียะห์ในข้อที่ 2 และ 3 หรือแม้กระทั่งหลักเกณฑ์ของฮะดีษฮะซันทั้งห้าข้อ (ฮะดีษฮะซันต่างกับฮะดีษศอเฮียะห์ในข้อที่ 3 คือผู้รายงานมีความแม่นยำปานกลาง)
และในศาสตร์การวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้รายงาน “อัลญัรฮุวัตตะอ์ดีล” ก็ไม่สามารถที่จะตีแผ่ในประเด็นนี้ได้ ดังนั้นจึงถือว่า ภรรยาของ ฮุนัยดะห์ เป็นบุคคล “มัจญ์ฮูล” ซึ่งมีผลทำให้ฮะดีษบทนี้อยู่ในสถานะฏออีฟในที่สุด นี่คือคำอธิบายการให้สถานะ ฏออีฟ แก่ฮะดีษบทนี้ตามหลักวิชาฮะดีษ
วิจารณ์มุมมองของอัลบานีย์
อัลบานีย์ เป็นนักฮะดีษร่วมสมัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป มีผลงานการวิเคราะห์และให้สถานฮะดีษอย่างมากมาย ฉะนั้นเป็นไปหรือที่ อัลบานีย์ จะไม่ทราบหลักเกณฑ์ของฮะดีษ ศอเฮียะฮ์,ฮะซัน,ฏออีฟ,และเมาฏัวอ์ ถ้าเช่นนั้นแล้ว เพราะเหตุใดอัลบานีย์จึงกล่าวว่า ฮะดีษบทนี้ศอแฮะห์
เป็นไปได้ว่า อัลบานีย์ ทราบดีถึงคำวิจารณ์ข้างต้นตามที่แสดงให้เห็น แต่พิจารณาได้อีกมุมหนึ่งก็คือ แม้ฮะดีษบทนี้จะอยู่ในสถานะฏออีฟ แต่ก็มีฮะดีษบทอื่นมาสนับสนุน คือ
عَنِ الحُرِّ بْنِ الصَيَّاحِ عَنْ هُنَيْدَةَ بْنِ خَالِدٍ الخُرَاعِيِّ عَنْ حَفْصََةَ قَالَتْ : أَرْبَعٌ لَمْ يَكُنْ يَدَعْهُنَّ النَبِيُ صَلَّى اللهُ عَليْهِ وَسَلَّمَ : صِيَامَ عَاشُوْرَاءَ وَالْعَشْرَ وَثَلاَثَةَ أيَّامٍ مِنْ كُلِّ شَهْرٍ وَرَكْعَتَيْنِ قَبْلَ الغَدَاةِ
“จากอัลฮุร บิน อัศศอยยาห์ จากฮุนัยดะห์ บิน คอลิด อัลคุซาอีย์ จากท่านหญิงฮับเชาะห์ กล่าวว่า : สี่ประการที่ท่านนบีไม่เคยละทิ้งคือ : การถือศีลอดอาชูรอ, สิบวันแรก (ของเดือนซุ้ลฮิจญะห์) สามวันทุกๆ เดือน และสองร๊อก อะห์ก่อนซุบฮิ” สุนนันนะซาอีย์ ฮะดีษเลขที่ 2373, มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 25254
ข้อสังเกตของฮะดีษที่นำมาสนับสนุนนี้ก็คือ ในสายรายงานไม่ได้ระบุคำว่า “ภรรยาของเขา” เหมือนดั่งฮะดีษวิพากษ์ที่เรากล่าวไว้ข้างต้น แต่ฮุนัยดะห์ กล่าวว่า ได้ยินมาจากท่านหญิงฮับเซาะห์
เป็นไปได้ว่า ฮะดีษบทนี้ถูกนำมาเป็นหลักในการยกสถานะของฮะดีษวิพากษ์ จากฮะดีษฏออีฟ ให้เลื่อนสถานะเป็น ฮะดีษศอเฮียะห์ ตามการแจ้งของอัลบานีย์ แต่ก็จะถูกจัดอยู่ในประเภท ศอเฮียะห์ลีฆอยริฮิ หมายถึงอยู่ในสถานะศอเฮียะห์เนื่องจากมีฮะดีษศอเฮียะห์บทอื่นมาสนับสนุน
อาจจะมีผู้แย้งว่า อัซซัยละอีย์ ไม่รู้จักฮะดีษที่นำมาสนับสนุนบทนี้หรือ เหมือนกับที่แย้งว่า อัลบานีย์ ไม่รู้กฏเกณฑ์การให้สถานฮะดีษศอเฮียะห์หรือ ถ้าต่างฝ่ายต่างกล่าวเช่นนี้ก็คงจะเถียงกันไม่จบสิ้น
วิจารณ์การให้สถานนะฮะดีษของอัลบานีย์
ท่านได้ทราบแล้วว่า อัลบานีย์ ให้สถานะฮะดีษวิพากษ์นี้ว่าเป็นฮะดีษ ศอเฮียะห์ ซึ่งผมเองไม่เห็นด้วยกับ อัลบานีย์ แต่จะให้น้ำหนักกับ อัซซัยละอีย์ มากกว่าในการยืนยันว่า ฮะดีษวิพากษ์บทนี้เป็นฮะดีษ ฎออีฟ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ
ประการที่หนึ่ง
คำรายงานของ ฮุนัยดะห์ที่กล่าวว่า นำมาจาก “ภรรยาของเขา” ประเด็นนี้เป็นปริศนาที่ไม่สามารถคลี่คลายได้ ส่วนคำรายงานของ ฮุนัยดะห์ที่กล่าวว่า ได้ฟังจากท่านหญิงฮับเซาะห์ ซึ่งเป็นบทที่นำมาสนับสนุนนั้น เราไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นฮะดีษศอเฮียะห์ ร้อยเปอร์เซ็น เนื่องจากฮะดีษในบทเดียวกันนี้ มีความสับสนของสายรายงาน ซึ่งในมุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ก็ระบุว่า
عَنْ هُنَيْدَةَ الخُزَاعِيِّ عَنْ أُمِّهِ
“จากฮุนัยดะห์ อัลคุซาอีย์ จากแม่ของเขา” มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 25275
ปรากฏว่า ฮะดีษในเรื่องนี้มีรายงานจากฮุซัยละห์ที่ไขว้กันอยู่สามสายคือ
1 - ฮุนัยดะห์ได้ฟังจากท่านหญิงฮัฟเชาะห์ด้วยตัวเขาเอง
2 - ฮุนัยดะห์ได้ฟังจากภรรยาของเขา จากภรรยาของนบีบางคน
3 – ฮุนัยดะห์ได้ฟังจากแม่ของเขา จากท่านหญิงอุมมุซะลามะห์
อย่างนี้คือความสับสนของสายรายงาน ท่านอัรนาอูฏ ผู้ตรวจสอบสถานภาพมุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด กล่าวว่า
ضعيف لإضطرابه
“ฏออีฟเนื่องจากความสับสน” มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด เล่มที่ 5 หน้าที่ 271
ประการที่สอง
ฮะดีษศอเฮียะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นคำรายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์ รอดิยัลลอฮุอันฮา ระบุว่า
مَا رَأيْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ صَائِمًا فِي العَشْرِ قَطُّ
ฉันไม่เคยเห็นท่านรอซูลลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ถือศีลอดในสิบวันแรกเลย” ศอเฮียะห์มุสลิม เล่มที่ 8 หน้าที่ 58 ฮะดีษเลขที่ 1176
เมื่อเป็นเช่นนี้ ฮะดีษของฮุนัยดะห์ จึงมีเนื้อหาขัดกับคำรายงานของท่านหญิงอาอิชะห์ที่เป็นฮะดีษศอเฮียะห์อย่างหน้ามือกับหลังมือ ลักษณะอย่างนี้ในทางภาษาฮะดีษเรียกว่า “ชาต” หมายถึงรายงานที่ค้านหรือขัดกับฮะดีษศอเฮียะห์ (ดูเงื่อนไขฮะดีษศอเฮียะห์ข้อที่ 4) ซึ่งฮะดีษ “ชาต” นี้ถูกจัดไว้เป็นหนึ่งในประเภท ฏออีฟ
แนวทางการประสานฮะดีษ
นักวิชาการบางท่านพยายามที่จะนำเอาฮะดีษที่รายงานจากท่านหญิงฮับเซาะห์ กับฮะดีษที่รายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์มาประสานกัน ซึ่งในทางวิชาการฮะดีษนั้น การประสานฮะดีษจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ ฮะดีษศอเฮียะห์สองบทที่กล่าวในเรื่องเดียวกันแต่เนื้อหาขัดกัน จึงนำมาประสานกัน ตัวอย่างเช่น
การยกมือตั๊กบีรในละหมาด ซึ่งรายงานหนึ่งระบุว่า حتى منكبيه ท่านนบียกมือตั๊กบีรเสมอบ่า แต่อีกฮะดีษหนึ่งระบุว่า حتى فروع أذنيه ท่านนบียกมือตั๊กบีรขนาดกับหู ดังนั้นท่านอิหม่ามซะยูฏี จึงให้แนวทางการประสานฮะดีษทั้งสองนี้ว่า ตำแหน่งการยกมือตั๊กบีรนั้นอยู่ระหว่างบ่ากับหู อย่างนี้เป็นต้น
แต่ในกรณีที่ฮะดีษศอเฮี่ยะห์สองบทมีข้อความที่ขัดกัน และไม่สามารถประสานฮะดีษทั้งสองได้ นักวิชาการก็จะพิจารณาถึงภูมิหลังของฮะดีษ และให้ถือว่าฮะดีษที่เกิดที่หลังคือข้อบัญญัติล่าสุด ตัวอย่างเช่น
การกรอกเลือดในขณะถือศีลอด ซึ่งรายงานหนึ่งระบุว่า أفطر الحاجم والمحجوم ผู้ที่กรอกเลือดและผู้ที่ถูกกรอกเลือดนั้นเสียศีลอด แต่อีกฮะดีษหนึ่งระบุว่า احتجم رسول الله صلى الله عليه وسلم وهو صائم ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ทำการกรอกเลือดในขณะท่านถือศีลอด เมื่อรายงานทั้งสองนี้ค้านกันและไม่สามารถประสานเข้าด้วยกันได้ นักวิชาการจึงสืบภูมิหลังของฮะดีษก็ปรากฏว่า ฮะดีษที่ท่านนบีกรอกเลือดนั้นเป็นฮะดีษที่มาล่าสุด ดังนั้นข้อบัญญัติในเรื่องนี้จึงถือว่า อนุญาตให้ผู้ถือศีลอดทำการกรอกเลือดได้ และฮะดีษที่ระบุว่า ผู้กรอกเลือดเสียศีลอดนั้นจึงถูกยกเลิกฮุก่มด้วยกับฮะดีษบทนี้
เมื่อเรากลับมาพิจารณาแนวทางการประสานฮะดีษวิพากษ์ จะเห็นว่า นักวิชาการได้เสนอแนวทางไว้หลายกรณีด้วยกัน เช่น บางท่านกล่าวว่า
ฮะดีษที่รายงานจากท่านหญิงฮับเซาะห์นั้น หมายถึงท่านนบีถือศีลอดประจำแต่ไม่ครบทั้งหมด
และฮะดีษที่รายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์นั้น หมายถึงท่านนบีไม่เคยถือศีอลอดทุกวันอย่างครบถ้วน
บทสรุปแนวทางการประสานในลักษณะนี้ก็คือ ให้ถือบ้างเว้นบ้าง
แต่ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางการประสานฮะดีษทั้งสองนี้ เนื่องจากฮะดีษที่รายงานจากท่านหญิงฮับเซาะห์นั้น ไม่ได้อยู่ในสถานะศอเฮียะห์อย่างชัดเจนตามที่ชี้แจงมาก่อนแล้ว และขัดกับรายงานจากท่านหญิงอาอิชะห์ที่เป็นฮะดีษศอเฮียะห์ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะนำฮะดีษฏออีฟ กับฮะดีษศอเฮียะห์ มาประสานกัน
สรุปก็คือ ผมให้น้ำหนักการแจ้งสถานะฮะดีษวิพากษ์นี้แก่ท่าน อัซซัยละอีย์ กล่าวคือ เป็นฮะดีษฏออีฟ แต่ผมก็ไม่สงวนสิทธิ์ที่ใครจะมีมุมมองที่แตกต่างไปจากนี้ วัลลอฮุอะอ์ลัม
อนึ่ง การทำความดีอื่นๆ (นอกจากการถือศีลอด) ในสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะห์ ยังคงเป็นสิ่งที่ศาสนาสนับสุนนส่งเสริมให้กระทำ โดยหลักฐานจากฮะดีษของ อิบนุอับบาส ที่ว่า
عن ابن عباس – رضي الله عنهما – أنه قال : يقول رسول الله صلى الله عليه وسلم : " ما من أيامٍ العمل الصالح فيها أحبُّ إلى الله من هذه الأيامِ ( يعني أيامَ العشر ) . قالوا : يا رسول الله ، ولا الجهادُ في سبيل الله ؟ قال : ولا الجهادُ في سبيل الله إلا رجلٌ خرج بنفسه وماله فلم يرجعْ من ذلك بشيء "
อิบนุอับบาส ขออัลลอฮ์ทรงพอพระทัยต่อท่านและบิดาของท่านด้วยเถิด จากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ไม่มีวันใด ที่การกระทำความดีซึ่งอัลลอฮฺทรงโปรดปราน ดีกว่าการกระทำความดีในวันนี้เหล่านี้” (หมายถึงสิบวันแรกของซุ้ลฮิจญะห์) บรรดาศอฮาบะห์ถามว่า “แม้กระทั่งการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์กระนั้นหรือ” ท่านนบีตอบว่า “แม้ กระทั่งการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ นอกจากคนหนึ่งได้ออกไปต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ด้วยตัวของเขาและทรัพย์ของเขา แต่ไม่มีสิ่งใดกลับมาเลย (ไม่ว่าชีวิตและทรัพย์สินของเขา) จากการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์” สุนันอบีดาวูด ฮะดีษเลขที่ 2438
หากนักวิชาการท่านใดจะใช้ความหมายโดยรวมของฮะดีษบทนี้ แล้วเข้าใจว่า การถือศีลอดก็ถือเป็นงานที่ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงถือว่า สนับสนุนให้ถือศีลอดในสิบวันแรกของเดือนซุ้ลฮิจญะห์ ก็ตามแต่จะพิจารณา วัลลอฮุอะลัม
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.