ผ่านวันอีดิ้ลอัฏฮาและวันตัชรีกมาก็เนิ่นนาน เพิ่งจะพบคำถามที่ฝากทิ้งไว้ให้ช่วยวิเคราะห์หลักฐานเรื่อง การทำอุฏฮิยะห์หรือทำกุรบานแทนผู้ตาย
ด้วยเห็นว่ามิใช่เป็นปัญหาเร่งรีบในขณะนี้เสียแล้ว จึงได้หันไปเขียนบทความเรื่องอื่นก่อน ทำให้เกิดความล่าช้าไปอีก จนกระทั่งผู้ถามได้ส่งคำถามย้ำมาอีกครั้ง ต้องขอมะอัฟจริงๆ
ก่อนจะวิเคราะห์สถานะของฮะดีษ ไปดูตัวบทและสายรายงานของฮะดีษบทวิพากษ์กันก่อนดังนี้
ตัวบทและสายรายงานจากสุนันอบีดาวูด
2790 - حدثنا عثمان بن أبي شيبة قال ثنا شريك عن أبي الحسناء عن الحكم عن حنش قال
: رأيت عليا رضي الله عنه يضحي بكبشين فقلت له ما هذا ؟ فقال إن رسول الله صلى الله عليه و سلم أوصاني أن أضحي عنه فأنا أضحي عنه .
อุสมาน อิบนุ อบีชัยบะห์ เล่าให้เราฟังว่า ชะรีก เล่าให้เราฟังจาก อบี อัลฮัสนาอ์ จาก อัลฮะกัม จาก ฮะนัช กล่าวว่า ฉันเคยเห็นท่านอาลี เชือดอุฏฮิยะห์ ด้วยแกะสองตัว ฉันจึงถามเขาว่า นี่คืออะไร เขาตอบว่า แท้จริงท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้สั่งเสียแก่ฉันให้เชือดอุฏฮิยะห์แทนท่าน ฉันจึงต้องเชือดอุฏฮิยะห์แทนท่าน (สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 2408)
ตัวบทและสายรายงานจากสุนันอัลติรมีซีย์
حدثنا محمد بن عبيد المحاربي الكوفي حدثنا شريك عن أبي الحسناء عن الحكم عن حنش عن علي أنه كان يضحي بكبشين أحدهما عن النبي صلى الله عليه وسلم والآخر عن نفسه فقيل له فقال أمرني به يعني النبي صلى الله عليه وسلم فلا أدعه أبدا
มูฮัมหมัด อิบนุ อุบัยด์ อัลมุฮาริบีย์ อัลกูฟีย์ เล่าให้เราฟังว่า ชารี๊ก เล่าให้เราฟังจาก อบี ฮัสนาอ์ จาก อัลฮะกัม จาก ฮะนัช จาก อาลี ว่า แท้จริงอาลีได้เชือดอุฏฮิยะห์ด้วยแกะสองตัว โดยตัวหนึ่งเชือดให้แก่ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และอีกตัวหนึ่งเชือดให้แก่ตัวเอง มีผู้ถามเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาตอบว่า ท่านใช้ให้ฉันทำมัน หมายถึงท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และฉันจะไม่ละทิ้งมันตลอดไป (สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 1415)
ความจริงแล้วฮะดีษบทวิพากษ์นี้ยังมีระบุอยู่ในตำราฮะดีษอีกหลายเล่ม เช่น มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด, อัลมุสตัดร๊อกของ อัลฮากิม แต่ทั้งหมดล้วนมาจากสายรายงานเดียวกัน และเหตุที่เลือกนำเอาตัวบทจาก สุนันอัตติรมีซีย์ และสุนันอบีดาวูด มาแสดง เนื่องจากทั้งสองมีเนื้อหาคำรายงานแตกต่างกันคือ
ในสุนันอบีดาวู๊ด ระบุว่า ท่านอาลีเชือดแกะสองตัว โดยทั้งสองตัวนั้นเชื่อแทนท่านบี แต่ในสุนันอัตติรมีซีย์ระบุว่า ท่านอาลีเชือดแกะสองตัว โดยเชือดให้ตัวเองหนึ่งตัว และเชือดแทนท่านนบีตัวเดียวเท่านั้น
ในสุนันอบีดาวูด ผู้รายงานเหตุการณ์ที่ชื่อ ฮะนัช ได้กล่าวว่า ฉันถามท่านอาลี คือถามด้วยตัวเอง แต่ในสุนันอัตติรมีซีย์ ระบุว่า มีผู้อื่นถามท่านอาลี
ในสุนันอบีดาวู๊ด ระบุว่า ท่านอาลีกล่าวว่า ท่านรอซูลได้สั่งเสียไว้ แต่ในสุนันอัตติรมีซีย์ นั้นท่านอาลีกล่าวว่า ท่านรอซูลได้ใช้ฉัน
เหล่านี้คือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดลออของนักวิชาการฮะดีษ ซึ่งมีผลต่อการพิจารณาเนื้อหาของฮะดีษ ซึ่งเราจะข้ามผ่านประเด็นเหล่านี้ไปโดยไม่ขยายความต่อ แต่เราจะติดตามประเด็นหลักๆ ดังนี้
ข้อสังเกตเนื้อหาฮะดีษ
คำรายงานของฮะดีษบทนี้เกิดขึ้นหลังจากท่านนบีได้เสียชีวิตแล้ว และผ่านยุคการปกครองของท่านอบูบักร์,ท่านอุมัร และท่านอุสมาน จนกระทั่งมาถึงยุคที่ท่านอาลีดำรงตำแหน่งคอลีฟะห์ ซึ่งหากการทำกุรบานให้แก่ท่านนบีเป็นคำสั่งใช้หรือคำสั่งเสียของท่านนบีจริงแล้ว ไฉนเลยจึงไม่มีคำรายงานว่าท่านอาลีได้กระทำมาก่อนทุกๆ ปี ไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มในยุคที่ท่านดำรงตำแหน่งคอลีฟะห์ตามคำรายงาน และหากท่านอาลีได้กระทำทุกปีหลังจากดำรงตำแหน่งคอลีฟะห์ ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า ฉันจะทำเช่นนี้โดยไม่ละทิ้งเด็ดขาดนั้น เพราะเหตุใดจึงไม่ผู้ใดรับรู้การกระทำของท่านแล้วรายงานต่อกันมา
หากเรื่องนี้เป็นคำสั่งของท่านนบีจริง ทำไมบรรดาศอฮาบะห์ถึงไม่สืบสานแบบฉบับของท่านนบีเล่า ซึ่งเราไม่พบหลักฐานว่า ท่านอบูบักร์,ท่านอุมัร,ท่านอุสมาน และศอฮาบะห์ท่านอื่นๆ หรือแม้กระทั่งท่านอาลีเอง ได้สั่งเสียให้ทำกุรบานให้แก่ตนเองเมื่อเสียชีวิตแล้ว หรือพวกเขาเข้าใจว่ามันเป็นกรณีเฉพาะสำหรับท่านนบีเท่านั้น เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นให้น่าติดตามหาข้อเท็จจริง
ข้อสังเกตสายรายงานและผู้รายงาน
ฮะดีษบทนี้เป็นคำรายงานเดี่ยวโดยบรรดาผู้รายงานจากชาวกูฟะห์ ซึ่งอัลฮากิม กล่าวว่า
تفرد به أهل الكوفة من أول الإسناد إلى آخره لم يشركهم فيه أحد
“ชาวกูฟะห์รายงานเดี่ยวจากต้นจนปลายสายรายงานโดยไม่มีผู้อื่นร่วมด้วย” อุลูมุ้ลฮะดีษของอัลฮากิม 1/219
เกี่ยวกับกรณีนี้บรรดานักวิชาการฮะดีษได้กำชับให้ระมัดระวังฮะดีษที่รายงานโดยบรรดาผู้รายงานจากชาวเมืองกูฟะห์เพียงลำพัง เพราะส่วนใหญ่จะเป็นฮะดีษอุปโลกน์ กรณีนี้เป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้นมิใช่คำตัดสิน และการที่เรากล่าวว่า “ส่วนใหญ่” หมายถึงกลุ่มผู้รายงานจากชาวกูฟะห์โดยเฉพาะคำรายงานที่เกี่ยวกับความประเสริฐของท่านอาลี อิบนิ อบี ตอลิบ และวงศ์วานของท่าน เนื่องจากอิทธิพลทางการเมือง และการคลั่งไคล้ในตัวท่านอาลีและครอบครัว มีผลทำให้เกิดการแพร่ระบาดของฮะดีษปลอมจากเมืองกูฟะห์ในขณะนั้น
อีกกรณีหนึ่งก็คือ แม้ว่าฮะดีษบทนี้จะมีระบุอยู่ในบันทึกฮะดีษหลายชุดก็ตาม แต่ทั้งหมดล้วนมาจากสายรายงานเดียวกันคือ จาก ชารี๊ก จาก อบี อัลฮัสนาอ์ จาก อัลฮะกัม จาก ฮะนัช จาก อาลี ซึ่งท่านอิหม่ามอัลติรมีซีย์ ได้กล่าววิจารณ์ไว้ในท้ายฮะดีษว่า “นี่คือฮะดีษฆ่อรีบ”
คำว่า ฆ่อรีบ ในทางภาษาฮะดีษนั้น หมายถึง ฮะดีษที่มีผู้รายงานเพียงคนเดียวไม่ว่าในระดับใดก็ตาม และฮะดีษบทวิพาษ์นี้ ก็เป็นเพียงสายรายงานเดียวโดยที่ไม่มีรายงานจากสายอื่นมาสนับสนุน (ชะวาฮิด)
ดังนั้นหากฮะดีษบทนี้มีข้อบกพร่อง ไม่ว่าจากสายรายงาน,ตัวผู้รายงาน หรือเนื้อหา ก็จะทำให้ฮะดีษนี้อยู่ในสถานะ ฏออีฟ (อ่อน) และ เมาฏัวอ์ (เก้) เท่านั้น
วิจารณ์ผู้รายงาน
อัลมุนซิรีย์ ได้กล่าววิจารณ์ผู้รายงานว่า
1 – ชะรีก คือ อิบนุ อับดิลลาฮ์ อัลกอฏี (อัลนัคอีย์ อัลกูฟีย์) มีคำวิจารณ์เกี่ยวกับเขาหลายประการ และท่านอิหม่ามมุสลิม ได้บันทึกการรายงานของเขาเป็นกรณีคำรายงานสำทับเท่านั้น
2 – อัลฮะกัม คือ อิบนุอุตัยบะห์
3 – ผู้รายงานที่ชื่อ ฮะนัช นั้นไม่ใช่ อิบนุอับดิลลาฮ์ อัสสะบะอีย์ ตามที่บางคนเข้าใจ แต่เขาคือ ฮะนัช บิน อัล มัวตะมิร อัลกินานีย์ อัลกูฟีย์ ซึ่งบรรดานักวิชาการหลายท่านวิพากษ์วิจารณ์ในตัวเขา เช่น อิบนุฮิบบาน กล่าวว่า : มีความคลุมเครือมากเหลือเกินในคำรายงานของเขาเพียงลำพังจากท่านอาลีหลายประการ ไม่ละม้ายกับฮะดีษของผู้รายงานที่เชื่อถือได้ จนกระทั่งได้กลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ที่ไม่สามารถอ้างเป็นหลักฐาน
4 – อบี อัลฮัสนาอ์ ครูของ อับดุลลอฮ์ เป็นบุคคลมัจญ์ฮุล ดังที่ทราบกันดี
ฉะนั้นฮะดีษบทนี้จึงฏออีฟ ( ตัวฮ์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์ 4/148)
อิบนุ ฮะญัร อัลอัสก่อลานีย์ ได้กล่าววิจารณ์ผู้รายงานชื่อ อบี อัลฮัสนาอ์ ว่า
อบี อัลฮัสนาอ์ นั้น บางคนบอกว่า เขามีชื่อว่า อัลฮะซัน และบางคนก็บอกว่าเขาชื่อ อัลฮุเซน ซึ่งเขาอยู่ในสถานะมัจญ์ฮูล (ตั๊กรีบุตตะห์ซีบ เล่มที่ 2 หน้าที่ 384 ลำดับที่ 8086)
ท่านฮาฟิซ อัสซะฮะบีย์ วิจารณ์ว่า
อบี อัลฮัสนาอ์ นั้น ชะรี๊ก ได้รายงานต่อจากเขา แต่เขาไม่เป็นที่รู้จัก และเขาอ้างคำรายงานจาก อัลฮะกัม อิบนุ อุตัยบะห์ ( มีซานุ้ลเอียะอ์ติดาล เล่มที่ 4 หน้าที่ 515 ลำดับที่ 10106)
คำว่า “มัจฮูล” ในทางวิชาฮะดีษนั้น หมายถึงบุคคลซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก ไม่สามารถสืบประวัติของเขาได้ ซึ่งกรณีนี้มีผลทำให้ฮะดีษบทนี้อยู่ในสถานะ ฏออีฟ ไม่สามารถอ้างเป็นหลักฐานได้
เชคอัลบานี ได้คัดแยกฮะดีษบทวิพากษ์นี้จาก สุนันอัตติรมีซีย์ ไว้ในหมวดของ “ฏออีฟอัตติรมีซีย์” และได้คัดแยกจาก สุนันอบีดาวูด ไว้ในหมวดของ “ฏออีฟอบีดาวูด” ลำดับที่ 2790 และฮะดีษบทวิพาษ์นี้ที่อยู่ในบันทึกอื่นๆ ก็เป็นสานรายงานเดียวกันทั้งสิ้น
มุมมองของนักวิชาการ
อย่างไรก็ตาม การทำอุฏฮิยะห์ หรือ กุรบาน ให้แก่ผู้ตายนั้นยังเป็นข้อขัดแย้งของบรรดานักวิชาการทั้งอดีตและปัจจุบัน แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่มีหลักฐานอ้างอิงโดยตรงก็ตาม
อัลมุบาร๊อกฟูรีย์ ผู้อธิบายสุนัน อัตติรมีซีย์ ได้กล่าวถึงคำวิจารณ์ท้ายฮะดีษของท่านอิหม่ามอัตติรมีซีย์ว่า
قوله : ( وقد رخص بعض أهل العلم أن يضحى عن الميت ولم ير بعضهم أن يضحى عنه )
أي عن الميت ، واستدل من رخص بحديث الباب لكنه ضعيف
และคำพูดของเขา (อิหม่ามติรมีซีย์) ที่ว่า : (นักวิชาการบางคนได้ผ่อนปรนให้ทำอุฏฮิยะห์แทนผู้ตายได้ แต่นักวิชาการบางคนก็ไม่เห็นด้วยในการทำอุฏฮิยะห์แทนเขา)
หมายถึงผู้ตาย โดยผู้ที่ผ่อนปรนให้กระทำได้อ้างหลักฐานฮะดีษบทนี้ ทว่ามันฏออีฟ (ตัวฮ์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์ 4/148)
นอกจากนี้บรรดานักวิชาการร่วมสมัยก็มีคำฟัตวาที่แตกต่างกันเช่น
เชค อิบนุ อุซัยมีน ได้ตอบคำถามเรื่องการทำกุรบานให้คนตายว่า
“พื้นฐานของอุฏฮิยะห์นั้น เป็นบัญญัติให้เป็นหน้าที่แก่ผู้มีชีวิต ดังที่ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาศอฮาบะห์ของท่านได้ทำการเชือดอุฏฮิยะห์ให้แก่ตนเองและครอบครัว การที่บางคนทึกทักเอาเองด้วยการเจาะจงทำอุฏอิยะห์ให้แก่ผู้ตายนั้น ไม่รากฐานทางศาสนา”
ส่วนคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา ของซาอุดิอาราเบีย โดยมีเชคบินบาซ เป็นประธาน ได้ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า
“อนุญาตให้ทำอุฏฮิยะห์แทนผู้เสียชีวิตได้ โดยอาศัยหลักฐานโดยรวมจากคำพูดของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า “เมื่อมนุษย์ได้เสียชีวิตไป งานของเขาขาดตอน ยกเว้นสามประการดังนี้ (1) การบริจาคทานถาวร (2) ความรู้ที่เป็นประโยชน์ (3) ลูกที่ดีขอดุอาอ์ให้แก่เขา” และการเชือดอุฏฮิยะห์แทนผู้ตายก็ถือเป็นการบริจาคทานถาวร ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ทำอุฏฮิยะห์รวมถึงผู้ตายและคนอื่นๆด้วย” (คำฟัตวาเลขที่ 14431 เมื่อวันที่ 01/06/2004 คำถามเลขที่ 1474 เรื่อง อนุญาตทำอุฏฮิยะห์ให้แก่ผู้ตายหรือไม่)
คณะกรรมการถาวรเพื่อการวินิจฉัยและชี้ขาดปัญหาศาสนา ได้ตอบว่าอนุญาตให้กระทำได้ โดยมิได้อ้างหลักฐานจากฮะดีษวิพากษ์บทนี้ เนื่องจากเป็นฮะดีษฏออีฟตามที่ได้แสดงแล้ว แต่คณะกรรมการฯ ได้อ้างฮะดีษศอเฮียะห์เป็นหลักฐาน แต่ฮะดีษศอเฮียะห์ที่นำมาอ้างนั้นก็เป็นเพียงหลักฐานข้างเคียงโดยอาศัยการตีความ
บทสรุปของเราก็คือ ไม่มีหลักฐานศอเฮียะห์ในเรื่องการทำกุรบานแทนผู้ตาย และฮะดีษบทวิพากษ์ที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงนั้น เป็นฮะดีษฏออีฟ วัลลอฮุอะอ์ลัม
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.