หลักของการอธิบายอัลกุรอานซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายในหมู่มุฟัซซีรีน (นักอธิบายอัลกุรอาน) คือ
1 – อัลกุรอานอธิบายอัลกุรอาน
ในประเด็นนี้เราได้พบเห็นตัวอย่างมากมาย จากหนังสือตัฟซีรหลายๆ ชุด ซึ่งการนำเอาอายะห์อัลกุรอาน มาอธิบายความหมายในอีกอายะห์หนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ท่านนบีได้ให้แบบอย่างไว้ เช่น เมื่อ อายะห์ที่ 82 ในซเราะห์อัลอันอามได้ถูกประทานลงมาว่า
اَلَّذِيْنَ آمَنُوا وَلمْ يَلْبِسُوا اِيْمَانَهُمْ بِظُلْمٍ أُوْلئِكَ لَهُمْ الأَمْنُ وَهُمْ مُهْتَدُوْنَ
“บรรดาผู้ศรัทธาที่ไม่นำความอธรรมมาเจือปนกับการศรัทธาของพวกเขา ชนเหล่านี้แหละที่ความปลอดภัยจะประสบแก่พวกเขา และพวกเขาคือผู้ที่ได้รับทางนำ”
หลังจากบรรดาศอฮาบะห์ได้ฟังข้อความในอายะห์นี้ก็เกิดฉงน และต่างไต่ถามกันว่า มีหรือในหมู่พวกเราที่นำเอา ظلم ไปปะปนกับการศรัทธา เพราะคำว่า ظلم เป็นคำที่มีความหมายกว้าง แต่ที่เข้าใจกันโดยทั่วไปก็คือ หมายถึง อธรรม พวกเขาจึงได้ถามท่านรอซูล และได้รับคำตอบว่า ความหมายของคำว่า อธรรมในอายะห์นี้คือ الشرك หมายถึงการนำสิ่งอื่นใดมาเป็นภาคีต่อพระองค์อัลลอฮ์ ดังเช่นถ้อยความที่พระองค์อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงลุกมาน อัลฮะกีม ขณะที่เขาสอนลูกว่า
يَا بُنَىَّ لاَ تُشْرِكْ بِاللهِ اِنَّ الشِرْكَ لَظُلْمٌ عَظِيْمٌ
“โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงอย่าได้นำสิ่งใดเป็นภาคีต่อพระองค์อัลลอฮ์ แท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความอธรรมที่ยิ่งใหญ่” ซูเราะห์ลุกมาน อายะห์ที่ 13 (บันทึกรายงานฮะดีษของเหตุการณ์นี้จากศอเฮียะห์บุคคอรีและมุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด)
เพราะฉะนั้นความหมายของซูเราะห์อัลอันอามอายะห์ข้างต้นนี้ก็คือ
“บรรดาผู้ศรัทธาที่ไม่นำการตั้งภาคีมาเจือปนกับการศรัทธาของพวกเขา ชนเหล่านี้แหละที่ความปลอดภัยจะประสบแก่พวกเขา และพวกเขาคือผู้ที่ได้รับทางนำ”
นี่เป็นแบบอย่างที่ท่านรอซูล ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้แสดงให้เห็นถึงการนำเอาอัลกุรอานอายะห์หนึ่งมาอธิบายความหมายอีกอายะห์หนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การอธิบายอัลกุรอานด้วยอัลกุรอานนี้ ผู้อธิบายต้องรู้ภูมิหลังของแต่ละอายะห์ที่จะนำมาอธิบายซึ่งกันและกันว่ามีที่มาอย่างไร และมีความเกี่ยวพันธ์กันอย่างไร ไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการครอบคนละเรื่อง คนละประเด็น
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.