3 – ศอฮาบะห์อธิบายอัลกุรอาน
ศอฮาบะห์คือ มุสลิมในยุคแรกที่ได้ทันพบกับท่านบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ด้วยความศรัทธาพร้อมทั้งได้เสียชีวิตในสภาพของผู้ศรัทธาด้วย
ในขณะที่เราไม่พบการอธิบายความหมายของอายะห์ที่เรากำลังทำความเข้าใจอยู่นั้น ทั้งจากอัลกุรอานในอายะห์อื่นหรือจากฮะดีษหรือซุนนะห์ของท่านนบี ก็จำเป็นที่เราจะต้องหันกลับไปดูการอธิบายจากบรรดาศอฮาบะห์ก่อนเป็นประการแรก เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา หรืออัลกุรอานบางอายะห์ได้ถูกประทานลงมาก็ด้วยเหตุจากเหล่าศอฮาบะห์นี่เอง เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงมีความเข้าใจในอัลกุรอานได้อย่างลึกซึ้ง อย่างเช่น บรรดาคอลีฟะห์ทั้งสี่ หรือท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอู๊ด และท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส ซึ่งทั้งสองท่านหลังนี้ถือเป็นปราชญ์ในหมู่ศอฮาบะห์เลยทีเดียว
รายงานจากท่านอะอ์มัช จากอบีวาอิ้ล ว่า ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอู๊ดได้กล่าวว่า
كان الرجل منا اذا تعلم عشر آيات لم يجاوزهن حتى يعرف معانيهن والعمل بهن
“คนใดก็ตามในหมู่พวกเรา เมื่อได้เมื่อได้รู้สักสิบอายะห์ก็จะไม่ข้ามไปจนกว่าจะได้ทำความเข้าใจความหมายและปฏิบัติตามในสิบอายะห์นั้นเสียก่อน”
ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิมัสอู๊ดนั้นนอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในอัลกุรอานเป็นอย่างดีแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่อ่านอัลกุรอานได้ไพเราะอีกด้วย
ส่วนท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส นั้นก็ถือว่าเป็นปราชญ์รุ่นเยาว์ในหมู่ศอฮาบะห์ ด้วยกับดุอาอ์ที่ท่านนบีได้เคยขอให้ว่า
اَللَّهُمَّ فّقِّهْهُ فِى الدِيْنِ
“โอ้พระองค์อัลลอฮ์ ได้โปรดให้เขาเข้าใจศาสนา” บันทึกโดยอิหม่ามบุคคอรี ฮะดีษเลขที่ 140
บรรดาศอฮาบะห์ของท่านรอซูลนั้นล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในอัลกุรอาน พวกเขาเป็นศอฮาบะห์ผู้ทรงคุณธรรม โดยเมื่อคนใดในหมู่พวกเขาได้รับรู้หรือเข้าใจในอายะห์ใด ก็จะถ่ายทอดความรู้,ความเข้าใจในอัลกุรอานให้แก่กัน นอกจากนั้นแล้วยังได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้ให้แก่คนในยุคถัดมา คือเหล่าตาบีอีนอีกด้วย ( ตาบีอีน คือมุสลิมที่ไม่ทันได้พบกับท่านรอซูล แต่ได้ทันพบกับเหล่าศอฮาบะห์ และได้เรียนรู้เรื่องราวของอัลกุรอานจากศอฮาบะห์อีกทอดหนึ่ง )
คนในยุคตาบีอีนที่เป็นนักอธิบายอัลกุรอาน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีเช่น ท่านมุญาฮิด ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของศอฮาบะห์ที่ชื่อ อับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส ซึ่งท่านอิบนุ อบีมุลัยกะห์ ได้กล่าวว่า “ ฉันเห็นมุญาฮิดได้ถามท่านอิบนิอับบาสเกี่ยวกับการอธิบายอายะห์อัลกุรอาน ขณะนั้นมุญาฮิดมีกระดานชนวนคอยบันทึกไว้ด้วย โดยท่านอิบนิอับบาส ก็คอยบอกให้จด จนกระทั่งเขาได้ถามถึงการอธิบายอัลกุรอานทั้งหมด” จากจุดนี้เองที่ทำให้ท่านซุฟยาน อัสเซารีย์ได้กล่าวว่า “ถ้าได้มีการอธิบายจากท่านมุญาฮิดก็ถือว่าเพียงพอแล้ว” เพราะเท่ากับเป็นการอธิบายจากศอฮาบะห์
นอกจากมุญาฮิดแล้วก็ยังมีตาบีอีนอีกหลายท่านที่เป็นลูกศิษย์ของศอฮาบะห์ในการอธิบายอัลกุรอาน เช่น อิกริมะห์ ซึ่งเป็นผู้รับใช้ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาส หรือท่านสอี๊ด บินญุบัยร์, ท่านฮะซัน อัลบัศรีย์, ท่านสอี๊ด อิบนิมุซัยยับ เป็นต้น
เกี่ยวกับการอธิบายอัลกุรอานโดยตาบีอีนนี้ ยังมีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะใช้เป็นหลักฐานได้หรือไม่ ในเมื่อคำพูดของตาบีอีนที่เกี่ยวกับข้อใช้ข้อห้ามนั้นไม่ถือเป็นหลักฐานทางศาสนา แล้วจะเอาคำพูดของตาบีอีนเป็นแหล่งอ้างอิงในการอธิบายอัลกุรอานกระนั้นหรือ ? ในประเด็นนี้ท่านอิบนุกะษีรได้แสดงจุดยืนว่า “หากตาบีอีนมีความเข้าใจโดยลำพังที่แตกต่างกันก็คงจะไม่ให้น้ำหนักแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ถ้าเหล่าตาบีอีนเข้าใจตรงกันก็ยังจะใช้เป็นแหล่งอ้างอิง”
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.