عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ عَنِ النَبِىِ صَلى اللهُ عَليْهِ وَسَلمَ قَالَ
أسْرَفَ رَجُلٌ عَلى نَفْسِهِ فَلَماَ حَضَرَهُ المَوْتُ أوْصَى بَنِيْهِ فَقَالَ ادَا أنَا مُتُ فَأحْرِقُوْنِى ثُم
اسْحَقُوْنِى ثُم ادْرُوْنِى فِى الرِيْحِ فِى البَحْرِ فَوَاللهِ لَئِنْ قَدَرَ عَلَى رَبِى لَيُعَدبُنِى عَدَابًا مَا
عَدَبَهُ بِهِ أَحَدًا فَفَعَلُوا دَلِكَ بِهِ فَقَالَ لأِرْضِ : أَدِىْ مَا أَخَدْتِ فَاِدَا هَوَ قَائِمٌ فَقَالَ لَهُ : مَا
حَمَلَكَ عَلَى مَا صَنَعْتَ قَالَ : خَشْيَتُكَ يَارَب أوْ قَالَ مَخَافَتُكَ فَغَفَرَ لَهُ بِدَلِك
อะบีฮุรอยเราะห์ ร่อดิยัลลอฮุอันฮุ รายงานจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า
ชายผู้หนึ่งเขาสะสมบาปให้แก่ตัวเองอย่างมากมาย จนเมื่อความตายใกล้มาถึง,เขาจึงได้สั่งเสียแก่ลูกๆว่าเมื่อฉันตายก็จงนำร่างของฉันไปเผา แล้วเอาไปบดให้ละเอียด เสร็จแล้วจงเอาไปโปรยในอากาศกลางท้องทะเล ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า หากแม้นองค์อภิบาลของฉันได้ทรงลิขิตแก่ฉันไว้แล้ว พระองค์ก็จะลงโทษฉันอย่างที่ไม่เคยลงโทษแก่ผู้ใดมาก่อนอย่างแน่นอน, ลูกๆจึงได้ทำตามที่เขาสั่ง พระองค์จึงได้กล่าวแก่แผ่นดินว่าเจ้าจงนำสิ่งที่เจ้าเอาไปกลับคืนมา และทันใดนั้น เขาก็ปรากฏร่างขึ้นมาอีกครั้ง พระองค์ได้กล่าวแก่เขา เพราะเหตุใดเจ้าจึงได้ทำเช่นนั้น เขาตอบว่า ข้ากลัวพระองค์ท่าน องค์อภิบาลของข้าเอ๋ย หรือเขากล่าวว่า ข้ากลัวการลงทัณฑ์ของท่าน ฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรงอภัยโทษให้แก่เขาจากเหตุดังกล่าว
ฐานะของฮะดีษ ฮะดีษ กุดซีย์ มัรฟัวอ์ ศอเฮียะห์
บันทึกฮะดีษ ศอเฮียะห์บุคคอรี,ศอเฮียะห์มุสลิม,สุนันนะซาอีย์,สุนันอิบนิมาญะห์,มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด,สุนันอัดดารีมีย์, มุวัตเฏาะอ์ของอิหม่ามมาลิก
ผู้รายงานฮะดีษ ชื่ออับดุลเราะห์มาน บิน ศ็อคริน ชื่อเดิมก่อนรับอิสลามคือ อับดุลซัม มีฉายาว่า อะบูฮุรอยเราะห์ เป็นชนเผ่าเดาซ์ จากยะมัน เข้ารับอิสลามปีที่ 7 ฮิจเราะห์ศักราช ขณะมีอายุได้ 30 ปี มีฐานะเป็นศอฮาบะห์อุวุโส และเป็นหนึ่งในอะห์ลุสศุฟฟะห์ รายงานฮะดีษไว้จำนวน 5347 ฮะดีษ มีบันทึกอยุ่ในบุคคอรี 93 ฮะดีษ, ในศอเฮียะห์มุสลิม 189 ฮะดีษ นอกเหนือจากนั้นมีอยู่ในบันทึกอื่นๆ เสียชีวิตที่นครมะดีนะห์ ปีที่ 57 ฮิจเราะห์ศักราช
ภาษาฮะดีษ คำว่า أسحق หมายถึง บด,ป่น, เป็นผง
คำว่า در หมายถึงโปรย หรือ ทำให้กระจาย
สิ่งที่ได้รับจากฮะดีษ
1 ความเมตตาของอัลลอฮ์ที่มีต่อปวงบ่าวนั้นเหลือคณานับ
2 การเกรงกลัวต่ออัลลอฮ์ทำให้ได้รับการอภัย แม้จะมีความผิดอย่างมหันต์ก็ตาม
3 - บ่าวที่ดีต้องรู้จักสำนึกผิดและขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์อยู่ตลอดเวลา