ตอนที่ 4 ศอฮาบะห์กับการรายงานฮะดีษ
ศอฮาบะห์
บรรดานักวิชาการได้ให้คำจำกัดความ คำว่า ศอฮาบะห์ ต่างกัน บางท่านกล่าวว่า
- ศอฮาบะห์ หมายถึง มุสลิมที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านรอซูลและได้เห็นท่านรอซูล พร้อมทั้งได้ตายไปในสภาพที่ศรัทธามั่น
คำจำกัดความดังกล่าวนี้ถูกคัดค้าน เพราะศอฮาบะห์ของท่านรอซูลที่ตาบอด ไม่มีโอกาสได้เห็นท่านรอซูลก็มี เช่นท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ มักตูม เป็นต้น ถึงแม้ตาของเขาจะบอดแต่เขาก็ได้คลุกคลีอยู่กับท่านรอซูล อีกทั้งยังเป็นบุคคลผู้หนึ่งที่เป็นเหตุแห่งการประทานอัลกุรอาน (ซูเราะห์ อะบะซะ)
ฉะนั้นนักวิชาการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักวิชาการด้านฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) จึงให้คำจำกัดความว่า
- ศอฮาบะห์ หมายถึง มุสลิมที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านรอซูลและได้พบกับท่านรอซูล พร้อมทั้งได้ตายไปในสภาพที่ศรัทธามั่น
คำจำกัดความทั้งสองข้างต้นนี้ ต่างกันตรงคำว่า ได้พบ กับได้เห็น ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความ
หมายครอบคลุมต่างกันด้วย และเราสามารถที่จะขยายความคำจกัดความทั้งสองได้ดังนี้
1 บุคคลที่อยู่ร่วมสมัยกับท่านรอซูลแต่มิได้ศรัทธา ไม่ถูกนับว่าเป็นศอฮาบะห์ เช่น อะบูละฮับ อะบูญะฮัล และหมู่คณะเป็นต้น บุคคลทั้งสองและหมู่คณะของเขา แม้ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้สัมผัสอยู่กับท่านรอซูล แต่ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นศอฮาบะห์ เพราะพวกเขาไม่ได้ศรัทธา
2 - และถึงแม้ว่าบางท่านจะเป็นมุสลิมได้อยู่ร่วมสมัยกับท่านรอซูลก็ตาม แต่ถ้าเขาไม่มีโอกาสได้เห็นหรือได้พบกับท่านรอซูล ก็ไม่ถูกนับว่าเป็นศอฮาบะห์เช่นเดียวกัน เช่นท่าน อัลกอมะห์ บินกอยซ์ ซึ่งท่านผู้นี้ถูกนับว่าเป็น ตาบีอีน เท่านั้น
บรรดาศอฮาบะห์มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดซุนนะห์ของท่านรอซูล เพราะพวกเขาได้ยินได้ฟัง และได้เห็น คำพูดและการกระทำของท่านนบี อีกทั้งหลายท่านได้อยู่ในเหตุการณ์ที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา
ฉะนั้นคนในยุคหลังนี้ถึงแม้ว่าจะได้พบกับฮะดีษหรือซุนนะห์ของท่านรอซูลก็ตาม แต่ก็อาจจะเข้าใจเป้าหมายคำพูดและการกระทำของท่านรอซูลอย่างคลาดเคลื่อนคลาดเคลื่อน หากไม่นำเอาความเข้าใจของบรรดาศอฮาบะห์มาอธิบายด้วย
เกียรติประวัติของศอฮาบะห์ที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอาน
น้อยคนนักที่พระองค์อัลลอฮ์จะได้กล่าวถึงไว้ในอัลกุรอาน นอกจากบรรดาผู้ที่ประพฤติดีอย่างมากมาย หรือร้ายอย่างสุดๆ และเหล่าศอฮาบะห์ของท่านรอซูลก็เช่นเดียวกัน ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงคุณงามความดีของพวกเขาในหลายซูเราะห์และหลายอายะห์ ซึ่งบางครั้งก็กล่าวชมเชย บางครั้งก็กล่าวให้กำลังใจ บางครั้งก็กล่าวถึงการให้อภัย และบางครั้งก็กล่าวรับรองถึงชัยชนะของพวกเขาทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ ตัวอย่างเช่น
محمد رسول الله والدين معه أشداء على الكفار رحماء بينهم تراهم ركعا
سجدا يبتغون فضلا من الله ورضوانا
มูฮัมหมัดคือรอซูลของอัลลอฮ์ และบรรดาผู้ที่อยู่ร่วมกับเขานั้น มีความเด็ดเดี่ยวต่อบรรดาพวกปฏิเสธ แต่พวกเขาเป็นผู้เมตตาเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน เจ้าจะเห็นว่าพวกเขาเป็นผู้ รุกัวอ์ สุญูด โดยแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮ์และความพอพระทัยจากพระองค์ ซูเราะห์อัลฟัตฮ์ อายะห์ที่ 29
والسابقون الاولون من المهاجرين والانصار والدين اتبعوهم باحسان
رضى الله عنهم ورضوا عنه
และบรรดาผู้ที่ล่วงหน้าไปก่อนในช่วงแรกจากชาวมุฮาญีรีน (บรรดาผู้ที่อพยพพร้อมกับท่านนบี) และชาวอันศอร (ชาวเมืองมะดีนะห์ที่ให้การช่วยเหลือท่านนบีและบรรดาผู้อพยพ) อีกทั้งบรรดาผู้ทีเจริญรอยตามพวกเขาด้วยความดีนั้น พระองค์อัลลอฮ์พอพระทัยพวกเขา และพวกเขาก็พอใจต่อพระองค์ ซูเราะห์อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 100
والدين آمنوا وهاجروا وجاهدوا فى سبيل الله والدين آووا ونصروا
أولئك هم المؤمنون حقا لهم مغفرة ورزق كريم
และบรรดาผู้ศรัทธาและอพยพ และต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ อีกทั้งบรรดาผู้ที่ให้ที่พักอาศัยและคอยให้ความช่วยเหลือนั้น พวกเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง โดยที่พวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและปัจจัยชีพอย่างมากมาย ซูเราะห์อัลอัมฟาล อายะห์ที่ 74
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved. ติดประกาศ: 2006-07-18 (2091 ครั้ง) [ ย้อนกลับ ] |