ยุคนี้เป็นยุคที่มีการตื่นตัวในเรื่องฮะดีษเป็นอย่างมาก มีการตรวจสอบที่มาที่ไปของฮะดีษอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนที่จะนำมาบันทึกเป็นสัดส่วน นักวิชาการฮะดีษในยุคนี้มีบทบาทโดดเด่นหลายท่าน เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ศึกษาวิชาฮะดีษ ซึ่งจะนำมากล่าวเป็นสังเขปดังนี้
ท่านอิบนุกุตัยบะห์
เกิดในปีที่ 213 และเสียชีวิตในปีที่ 270 ฮิจเราะห์ศักราช ชื่อเสียงของท่านเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ประสานฮะดีษ คือการเอาฮะดีษศอเฮียะห์ ที่ดูผิวเผินแล้วมีความหมายขัดกัน นำมาประสานเพื่อสร้างความเข้าใจในฮะดีษทั้งสอง นอกจากนี้แล้วท่านยังมีบทบาทโดดเด่นในการปกป้องซุนนะห์ของท่านรอซูล อีกทั้งคอยตอบโต้ผู้ที่ทำลายอิสลามด้วยวิธีการต่างๆ
หนังสือที่ท่านเรียบเรียงขึ้นมีหลายชุด แต่เป็นที่รู้จักกันมากในวงการฮะดีษก็คือหนังสือ ตะอ์วีลลุ้ลมุคตะลิฟ อัลอะฮาดีษ
ท่านอิหม่ามอะห์หมัด
เชื้อสายของท่านอิหม่ามผู้นี้ไปบรรจบกับท่านรอซูลในลำดับปู่ที่ชื่อ อัดนาน ท่านเกิดที่นคร บัคดาด ในเดือนรอบีอุ้ลเอาวัล ปีที่ 164 ฮิจเราะห์ศักราช และได้เริ่มต้นศึกษาวิชาฮะดีษ ณ.ที่กรุงแบคดาด และหลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปศึกษาต่ออีกหลายสถานที่ โดยเฉพาะได้ร่ำเรียนวิชาการจากท่านอิหม่ามซาฟีอี จนกระทั่งได้กลายเป็นนักวิชาการฮะดีษและนักฟิกฮ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่ง ซึ่งรู้จักกันในนาม อิหม่ามอะห์หมัด อิบนุฮัมบัล เจ้าของมัซฮับอัมบาลี นั่นเอง
ส่วนในด้านวิชาการฮะดีษนั้น ท่านได้รวบรวมตำราฮะดีษไว้ มีชื่อว่า มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ซึ่งนักวิชาการฮะดีษในยุคหลังๆ ก็มักจะใช้เป็นแหล่งอ้างอิงเสมอ ท่านอิหม่ามอะห์หมัดมีอุดมการณ์ในการรับและบันทึกฮะดีษของท่านว่า
1 เพื่อให้ประชาชนในแว่นแคว้นต่างๆ ได้รับรู้ฮะดีษของท่านรอซูลโดยทั่วกัน
2 เพื่อปกป้องซุนนะห์ของท่านนบีในการถูกแทรกแซง ซึ่งในยุคนั้นมีการปลอมปนฮะดีษกันเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องเดินทางไปสืบฮะดีษถึงแหล่งที่มาด้วยตัวเอง แล้วนำมาบันทึกไว้
และจากการเอาใจใส่ในรายละเอียดของฮะดีษนี่เอง ทำให้นักวิชาการฮะดีษอีกหลายท่านได้นำเอาฮะดีษที่ท่านบันทึกไว้ไปรายงานต่ออีกทอดหนึ่ง เช่น ท่านอิหม่ามบุคคอรี, ท่านอิหม่ามมุสลิม, อบูดาวูด, ติรมีซีย์ และอิบนุมาญะห์ เป็นต้น
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved.