ประพจน์และองค์ประกอบของประพจน์
قضية
ประพจน์
ไม่ต้องถามผมว่า ประพจน์เป็นใคร บ้านอยู่ที่ไหน เพราะเราไม่ได้พูดถึงคนที่ชื่อประพจน์ แต่คำนี้เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้แปลความหมายคำว่า قضية (กอดียะห์) ในวิชาตรรกวิทยา
ประพจน์หรือ กอดียะห์ คือคำพูดที่สื่อความได้ชัดเจนในตัวของมัน ไม่ว่าจะประกอบด้วยกี่คำก็ตาม เช่น นายดำเป็นคน, นายแดงได้ตายแล้ว หรือ ดวงอาทิตย์ขึ้นตอนกลางคืน หรือ ถ้าฝนตกรถก็จะติด อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งคำพูดดังกล่าวนี้นี้อาจจะจริงหรือเท็จก็ได้ ซึ่งจะต้องนำไปสู่กระบวนการพิสูจน์อีกที แต่ตอนนี้เรายังไม่พูดถึงกระบวนการพิสูจน์ เพียงแค่คำพูดประโยคนั้นสามารถสื่อความหมายให้กับผู้ฟังได้ก็จะถูกเรียกว่า กอดียะห์ หรือถ้าจะนำไปเปรียบกับวิชาไวยากรณ์ก็คงจะถูกเรียกว่า جملة مفيدة หรือประโยคสมบูรณ์นั่นเอง
แต่การนำเอา قضية ในวิชาตรรกไปเปรียบเทียบกับ جملة مفيدة ในวิชาไวยากรณ์นั้น พอเปรียบได้ใกล้เคียงแต่ไม่ตรงประเด็นซะทีเดียว เพราะประโยคหนึ่งในทางไวยากรณ์จะพิจารณาทุกคำพูด แต่ทางตรรกจะพิจารณาเฉพาะเนื้อหรือความหมายของคำพูดเท่านั้น เช่นประโยคที่ว่า
ท่านนบีมูฮัมหมัดเป็นปถุชนดั่งคนทั่วไปและเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์
คำพูดประโยคข้างต้นนี้ถ้าพิจารณาในทางวิชาไวยกรณ์อาหรับจะมีรายละเอียดกำกับทุกๆคำ ซึ่งมีทั้งประธานของโยค مبتدأ คำขยายความ خبر คำสันธาน حرف العطف บุพบท ظرف กรรตุกะและการกันตุกะ مضاف ومضاف اليه
แต่ในทางตรรกจะพิจารณาเฉพาะเนื้อหาแล้วตัดสินว่า คำพูดข้างต้นนี้ประกอบด้วยสองประพจน์ หรือสองประโยคเท่านั้น ซึ่งถ้านำมาแยกให้เห็นชัดเจนก็คือ
ประโยคที่ 1 ท่านนบีมูฮัมหมัดเป็นปุถุชนเช่นคนทั่วไป
ประโยคที่ 2 ท่านนบีมูฮัมหมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์
ถ้าเป็นคำพูดแบบประพจน์เดียว เช่นประโยคที่ 1 คือท่านนบีมูฮัมหมัดเป็นปุถุชนเช่นคนทั่วไป อย่างนี้คือ ประพจน์ความเดี่ยว หรือถูกเรียกทางศัพท์บัญญัตว่า เอกรรถประโยค แต่ถ้านำสองประโยคมารวมกันก็จะกลายเป็น ประพจน์มากความ ซึ่งถูกเรียกทางศัพท์บัญญัติว่า อเนกรรถประโยค
เพราะฉะนั้นประพจน์หรือ กอดียะห์ ในทางตรรกจึงไม่ขีดกรอบจำกัดเนื้อหาของประโยค ซึ่งอาจจะให้ความหมายอย่างเดียวหรืออาจจะสื่อความหมายหลายหลากก็ย่อมได้
องค์ประกอบของประพจน์
คำพูดที่ประกอบรวมกันเป็นประโยคหนึ่ง หรือประพจน์หนึ่งนั้นจะถูกพิจาณาการสื่อความหมายเป็นหลัก เพราะฉะนั้นในประพจน์หนึ่งจะมีองค์ประกอบมาจาก 3 ส่วนด้วยกันคือ موضوع ภาคประธาน , محمول ภาคลักษณะ, และ نسبة หรือ رابطة สนธิกร หรือตัวเชื่อม ขอนำตัวอย่างที่ท่านอ่านผ่านมาแล้วมาแสดงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่งงเต๊ก
ท่านนบีมูฮัมหมัดเป็นปุถุชนเช่นคนทั่วไป
ประพจน์หรือ กอดียะห์ข้างต้นนี้ประกอบมาจาก 3 ส่วนคือ
คำว่าท่านนบีมุฮัมหมัด คือ موضوع หรือภาคประธาน
คำว่า เป็น คือ نسبة หรือ رابطة สนธิกรหรือตัวเชื่อม
คำว่า ปุถุชนเช่นคนทั่วไป คือ محمول หรือภาคลักษณะ
ขอให้สังเกต نسبة หรือ رابطة ซึ่งหมายถึง สนธิกรหรือตัวเชื่อมสักเล็กน้อยว่า มันคือเครื่องหมายที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง موضوع ภาคประธาน และ محمول ภาคลักษณะ ซึ่งตัวเชื่อมที่ว่านี้ได้แก่คำว่า เป็น ที่แสดงในตัวอย่างข้างต้น หรือคำว่า คือ, ใช่, ปรากฏว่า, ซึ่งในที่นี้รวมถึง كان وأخواتها ในวิชาไวยากรณ์ด้วย คือ كان - صار - أصبح - أمسى - أضحى - ظل - และ بات ยกเว้นคำว่า ليس ซึ่งจะได้นำมากล่าวในประเด็นถัดไป อินชาอัลลอฮ์
ทีนี้เราลองมาดูอีกสักตัวอย่างหนึ่งเช่น
كان محمد شجاعا
มูฮัมหมัดเป็นผู้ที่กล้าหาญ
ตัวอย่างที่นำมาแสดงข้างต้นนี้ถ้าพิจารณาทางด้านไวยากรณ์อาหรับ ก็คือคำว่า محمد เป็น اسم คำว่า شجاعا เป็น خبر ของคำว่า كان แต่ในทางตรรกถือว่าประโยคนี้เป็น قضية หรือประพจน์ที่มีความสมบูรณ์ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ส่วนอย่างครบถ้วนคือ
คำว่า มูฮัมหมัด คือ موضوع ภาคประธาน
คำว่า เป็น คือ نسبة หรือ رابطة สนธิกรหรือตัวเชื่อม
คำว่า ผู้กล้าหาญ คือ محمول ภาคลักษณะ
หมายเหตุ รบกวนน้องๆ นักศึกษาที่ให้ช่วยอธิบายวิชานี้สักหน่อยว่า ช่วยส่งหนังสือมักติกให้ด้วย ตามที่อยู่ของมูลนิธิฯ เพราะผมอ่านวิชานี้มาประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพียงใช้ความจำในหัวก็อาจมีประเด็นตกหล่นหรือข้อมูลอาจจะคลาดเคลื่อนได้ วันนี้ขอคุยเท่านี้ก่อนครับ
สงวนลิขสิทธิ์โดย © อ.ฟารีด เฟ็นดี้ All Right Reserved. ติดประกาศ: 2006-08-02 (2719 ครั้ง) [ ย้อนกลับ ] |