แนวทางการอธิบายอายะห์ที่เกี่ยวกับซาตและซิฟาตของอัลลอฮ์


คำว่า “ซาต” คือตัวตน หรือบางคนใช้ศัพท์บัญญัติว่า อาตมันของอัลลอฮ์
คำว่า “ซิฟาต” คือคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์อัลลอฮ์ตามที่พระองค์ได้ทรงแจ้งไว้

ในอัลกุรอานมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวถึงคุณลักษณะของพระองค์เอง ซึ่งในที่นี้จะนำบางอายะห์มาแสดงเป็นตัวอย่างพอสังเขป เช่น พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

إنَّ الَّذِيْنَ يُبَايِعُوْنَكَ إنَّمَا يُبَايِعُوْنَ اللهَ يَدُ اللهِ فَوْقَ أيْدِيْهِمْ

“แท้จริงบรรดาผู้ที่ให้สัตยาบันต่อเจ้านั้น อันที่จริงแล้วพวกเขาได้ให้สัตยาบันต่ออัลลอฮ์ มือของอัลลอฮ์อยู่เหนือมือพวกเขาเหล่านั้น” ซูเราะห์ อัลฟัตฮ์ อายะห์ที่ 10


ที่มาของอายะห์นี้คือเหตุการณ์ที่เหล่าศอฮาบะห์ประมาณ 1400 คน ได้จับมือให้สัตยาบันต่อท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่าจะอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านนบีไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ซึ่งการทำสัตยาบันครั้งนี้ถูกเรียกว่า “บัยอะตุ้ลริฏวาน” เกิดขึ้นที่ ฮุดัยบียะห์ และขณะที่เหล่าศอฮาบะห์จับมือให้สัตยาบันต่อท่านนบีอยู่นั้น พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานอายะห์นี้มาแจ้งว่า มือของอัลลอฮ์อยู่เหนือมือของพวกเขาที่กำลังให้สัตยาบันต่อท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
อีกตัวอย่างหนึ่งพระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

قَالَ يَا إبْلِيْسُ مَا مَنَعَكَ أنْ تَسْجُدَ لِمَا خَلَقْتُ بِيَدَيَّ

“พระองค์กล่าวว่า โอ้อิบลีสเอ๋ย อะไรที่ห้ามเจ้าไม่ให้สุญูดต่อสิ่งที่ข้าสร้างด้วยมือทั้งสองของข้า” ซูเราะห์ ศอด อายะห์ที่ 75


ที่มาของอายะห์นี้คือเหตุการณ์ที่พระองค์ ทรงสั่งใช้ให้แสดงคาราวะต่ออาดัม ซึ่งบรรดามะลาอิกะห์ต่างก็ปฏิบัติตามคำสั่ง นอกจากอิบลีสที่ไม่ยอมแสดงคาราวะ พระองค์จึงถามว่า อะไรที่ขัดขวางไม่ให้อิบลีสปฏิบัติตามคำสั่งด้วยการแสดงคาราวะต่ออาดัม ที่พระองค์ทรงสร้างเขาจากมือทั้งสองของพระองค์

คำว่า يد มีความหมายในภาษาไทยว่า “มือ” หรือถ้าเป็นราชาศัพท์ก็จะให้ความหมายว่า “พระหัตถ์” แต่ภาษาอาหรับไม่มีราชาศัพท์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกล่าวถึงตนเองหรือกล่าวแก่ผู้ใด ก็จะใช้คำว่า يد เหมือนกัน
คำว่า มือ ทั้งในภาษาอาหรับและภาษาไทยนั้น เป็นคำที่เข้าใจได้โดยไม่ต้องตีความ เนื่องจาก “มือ” เป็นอวัยวะในร่างกายของมนุษย์ซึ่งทราบถึงรูปลักษณ์กันเป็นอย่างดี ฉะนั้นเมื่ออัลลอฮ์กล่าวว่า มือของเหล่าศอฮาบะห์กับมือของท่านนบี จึงไม่มีผู้ใดสงสัยว่ามือของเหล่าศอฮาบะห์กับของท่านนบีนั้นจะเป็นเช่นใด จะเหมือนกับมือของเราหรือไม่ เพราะมือคน ก็คือมือคน เข้าใจได้โดยไม่ต้องจินตนาการหรือตีความใดๆทั้งสิ้น
นอกจากมนุษย์จะมีมือแล้ว สัตว์บางชนิดก็มีอวัยวะที่ถูกเรียกว่ามือเช่นเดียวกันเช่น ลิง เป็นต้น
เป็นที่รู้กันว่า ลิงนั้นเกลียดกะปิดจนเป็นที่กล่าวขานว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่กะปิถูกมือมัน มันก็จะเอามือถูพื้นจนเลือดไหล และจนกว่ากลิ่นกะปิจะหาย
แล้วมือลิงเป็นเช่นไร ? จะเหมือนหรือต่างจากมือมนุษย์หรือไม่ ?
คนที่ไม่เคยเห็นมือลิง ก็จะมโนภาพตามจินตนาการของเขา ซึ่งอาจจะถูกหรืออาจจะผิดก็ได้
ส่วนคนที่เคยเห็นมือลิง ก็สามารถอธิบายได้ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
และในหมู่คนที่เคยเห็นนั้น ก็อาจจะให้คำตอบที่ต่างกัน บางคนอาจจะบอกเหมือน, บางคนอาจจะบอกว่า คล้าย และบางคนอาจจะบอกว่าทั้งไม่เหมือนและไม่คล้ายแต่มีความแตกต่างกัน
นี่ขนาดแค่กล่าวถึงมือคนกับมือลิงซึ่งเป็นสิ่งถูกสร้างด้วยกันยังมีมุมมองที่ต่างกันถึงเพียงนี้ แล้วสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยรู้,ไม่เคยเห็น และไม่เคยมีประสบการณ์เล่า จะเอาปัญญาที่ไหนไปอธิบาย
นอกจากคำว่า “มือ” จะสื่อถึงอวัยวะของคนและสัตว์แล้ว บางครั้งก็ยังถูกใช้ในแง่ของการเปรียบเทียบ เช่นคนไทยเรามักจะกล่าวถึง สิ่งที่อยู่ภายใต้การครอบครองของเขาด้วยคำว่า “ลูกไก่ในกำมือ” อย่างนี้เป็นต้น

พระองค์อัลลอฮ์กล่าวว่า يد الله แปลว่า “มือของอัลลอฮ์” มนุษย์ทั้งโลกไม่สามารถเอาปัญญาของตนเองมาอธิบายความได้เลยว่าเป็นเช่นใด เนื่องจากมนุษย์ไม่มีประสบการณ์ ทั้งไม่เคยเห็นและก็ไม่สามารถสร้างมโนภาพหรือจินตนาการได้เลย
เมื่ออัลลอฮ์ได้กล่าวถึง มือของพระองค์ ตามปรากฏอยู่ในอัลกุรอาน มากมายหลายอายะห์ แล้วมนุษย์จะทำอย่างไรกับข้อความเหล่านี้ จะเชื่อตามที่ถูกกล่าวไว้ หรือจะใช้ปัญญาเบี่ยงเบนความหมายให้เป็นอื่น ซึ่งเราได้เห็นแนวทางหลากหลายปรากฏดังนี้

1 - ปฏิเสธคำและความหมาย
2 – ยอมรับทั้งคำและยอมรับทั้งความหมายแล้วอธิบายความกลบเกลื่อน
3 – ยอมรับคำแต่ปฏิเสธความหมาย โดยเอาความหมายอื่นมาแทนที่
4 – ยอมรับทั้งคำและความหมายโดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ใดๆ

เหล่านี้คือแนวทางที่บรรดาผู้คนยึดถือกันอยู่ จะเห็นได้ว่าบางกลุ่มวางเฉย และบางกลุ่มเช่นนักวิภาษนิยมได้นำเรื่องนี้เข้าสู่วังวนของการใช้ปัญญาวิพากวิจารณ์ แล้วก็แตกแขนงอีกเป็นหลายก๊ก ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างความชอบธรรมว่า แนวทางที่ตนเองยึดถืออยู่ถูกต้องที่สุด แล้วแนวทางไหนเล่าที่มีความถูกต้องและปลอดภัย

เรากล่าวว่า แนวทางที่ถูกต้องและปลอดภัยที่สุดคือ แนวทางที่เหล่าศอฮาบะห์ของท่านนบีได้ยึดถือ

ท่านอาจจะถามว่า ทำไมต้องอ้างอิงเรื่องนี้ถึงศอฮาบะห์ของท่านนบีด้วย
ขอตอบว่า เพราะพวกเขาอยู่ในยุคที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา และบางท่านก็อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่อายะห์อัลกุรอานกำลังประทานลงมา พวกเขาได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่านนบีโดยตรง หรือบางท่านเป็นศอฮาบะห์รุ่นเยาว์ที่มิได้รับรู้ในเหตุการณ์ หรือบางท่านที่อยู่ไกลออกไป ก็ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องเหล่านี้จากเหล่าศอฮาบะห์ที่ได้เรียนรู้จากท่านนบีอีกทอดหนึ่ง
เหล่าศอฮาบะห์ของท่านนบี คือกลุ่มชนที่ท่านนบีให้การรับรอง ซึ่งท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ประชาชาติของฉันแตกออกเป็น 73 กลุ่ม ทั้งหมดลงนรกนอกจากกลุ่มเดียวเท่านั้น พวกเขาถามว่า ใครกันหรือโอ้รอซูลของอัลลอฮ์ ท่านตอบว่า

مَنْ كَانَ عَلَى مِثْلِ مَا أنَا عَلَيْهِ وَأصْحَابِي

“คือผู้ที่อยู่บนสิ่งเดียวกับที่ฉันและศอฮาบะห์ของฉันยึดถืออยู่”


ฮะดีษในเรื่องนี้ถูกรายงานมาหลายสายด้วยกัน มีทั้งสายรายงานที่ศอเฮียะห์และฏออีฟ เช่นในสุนัน อัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 2526 หนึ่งในผู้รายงานชื่อ อับดุรเราะห์มาน บิน ซิยาด อัลอัฟรีกีย์ เป็นบุคคลที่ฏออีฟ แต่ก็มีสายรายงานอื่นที่ศอเฮียะห์มาสนับสนุน และถูกบันทึกไว้หลายสำนวนด้วยกัน โดยบางรายงานใช้คำว่า السواد الأعظم แปลว่า “คนกลุ่มใหญ่” หมายถึงบรรดาผู้ที่ยืนหยัดในสิ่งที่ท่านนบีและเหล่าศอฮาบะห์ได้ยึดถืออยู่ ซึ่งเชคอัลบานีย์ ได้ตรวจสอบสายรายงานของเรื่องนี้ทั้งหมดแล้วให้สถานะฮะดีษในเรื่องนี้ว่า “ศอเฮียะห์” (ดูอัสซิลซิละห์อัสศอฮีฮะห์ ลำดับที่ 204)

บรรดาญุมฮูร (ปวงปราชญ์) ต่างนำเอาฮะดีษเรื่องนี้เป็นหลักฐานยืนยันถึงกลุ่มชนที่อยู่บนวิถีทางที่ปลอดภัย ซึ่งเราพบได้ในตำราที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องอะกีดะห์ มากมาย หรือแม้กระทั่งหนังสือตัฟซีร อิบนิ กะษีร

ดังนั้นเรื่องใดก็ตามที่มีสายรายงานถูกต้องอ้างอิงการอธิบายของศอฮาบะห์ เราน้อมรับ และสิ่งใดที่พวกเขาไม่ได้อธิบายไว้ เราก็จะไม่ใช้ปัญญาของเราอธิบาย เราหยุดอยู่แค่นั้น

นี่คือจุดยืนของเราในเรื่องนี้ คือยอมรับทั้งคำและความหมายที่สื่อโดยตรงหรือในด้านการเปรียบเทียบตามจุดยืนของศอฮาบะห์ โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ใดๆด้วยปัญญาของเราเอง และเราเชื่อตามหลักฐานว่า พระองค์อัลลอฮ์ทรงมีคุณลักษณะตามที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ แต่ไม่เหมือนสิ่งถูกสร้างใดๆ
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

لَيْسَ كَمِثْلِهِ شَيْئٌ

“ไม่มีสิ่งใดเสมือนพระองค์” ซูเราะห์ อัชชูรอ อายะห์ที่ 11

وَلَمْ يَكُن لَّهُ كُفُواً أَحَدُ

“และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์” ซูเราะห์ อัลอิคลาศ อายะห์ที่ 4


พระองค์อัลลอฮ์ทรงยืนยันว่า ไม่มีผู้ใด หรือสิ่งใด เหมือนกับพระองค์ ไม่ว่าตัวตนหรือคุณลักษณะของสิ่งถูกสร้างทั้งหมด ดังนั้นเราจึงกล่าวว่า “มีแต่ไม่เหมือน” คือมีตามถ้อยคำที่พระองค์ทรงกล่าวแต่ไม่เหมือนสิ่งถูกสร้างใดๆ ซึ่งคำว่าไม่เหมือนกับสิ่งถูกสร้างนี้ เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าเป็นเช่นใด คือเป็นสิ่งที่เกินกว่าประสบการณ์และปัญญาของมนุษย์จะหยั่งรู้ ดังนั้นเราจึงไม่ใช้ปัญญาของเราจาบจ้วงในเรื่องนี้
อย่าว่าแต่เอาปัญญาไปวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของอัลลอฮ์เลย แค่กล่าวว่ามนุษย์คือสิ่งถูกสร้างที่มีมือ และลิงก็คือสิ่งถูกสร้างที่มีมือ แต่สิ่งถูกสร้างทั้งสองนี้มีมือที่ไม่เหมือนกัน ก็ยังหาบทสรุปที่ลงตัวไม่ได้

แต่บรรดานักวิภาษนิยมทั้งหลายต่างก็ใช้ปัญญาของตนเองไปอธิบายความเบี่ยงเบนให้เป็นอื่น หรือเปลี่ยนความหมายของคำที่ถูกระบุไว้ ให้เป็นอย่างอื่นเสีย เช่นเปลี่ยนความหมายของคำว่า يد ที่แปลว่า “มือ” เป็น “อำนาจ” และบางท่านก็ให้ความหมายว่า “ความเมตตา” หรือ “ความช่วยเหลือ” อย่างนี้เป็นต้น โดยพวกเขากล่าวว่า พวกเขายืนยันในถ้อยคำแต่พวกเขาไม่ยอมรับในความหมายตามคำเดิมของมัน เราจึงถามว่า หลักฐานที่อธิบายให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างซิฟาตของอัลลอฮ์กับสิ่งถูกสร้างทั้งหมดนั้นไม่มีหรืออย่างไรถึงได้กระทำการเช่นนี้
เราได้แสดงหลักฐานที่ยืนยันว่า อัลลอฮ์นั้นไม่เหมือนกับสิ่งใด และไม่มีสิ่งใสเสมอเหมือนอัลลอฮ์ ดังที่ปรากฏในซูเราะห์ อัชชูรอ อายะห์ที่ 11 และใน ซูเราะห์ อัลอิคลาศ อายะห์ที่ 4 ตามที่แสดงไว้ข้างต้น
ก็ในเมื่อมีหลักฐานอธิบายเช่นนี้แล้ว เพราะเหตุใดจึงไม่หยุดอยู่ที่หลักฐานแล้วเชื่อตามหลักฐาน เพราะเหตุใดจึงต้องใช้ปัญญาของตนเอง เปลี่ยนความหมายให้เป็นอย่างอื่นอีกเล่า หรือไม่เชื่อหลักฐานที่ยืนยันว่าอัลลอฮ์นั้นไม่เหมือนกับสิ่งถูกสร้าง

เมื่อพวกเขายืนยันในถ้อยคำ แต่ไม่ยอมรับในความหมาย และเปลี่ยนความหมายคำว่า يد ที่แปลว่า “มือ” เป็น “อำนาจ”และ “ความเมตตา” หรือ “ความช่วยเหลือ” ดังนั้นในข้อความที่ว่า

“มือของอัลลอฮ์อยู่เหนือมือพวกเขา”
จึงถูกเปลี่ยนความหมายเป็น
“อำนาจของอัลลอฮ์อยู่เหนือมือพวกเขา”
“ความเมตตาของอัลลอฮ์อยู่เหนือมือพวกเขา”
“ความช่วยเหลือของอัลลอฮ์อยู่เหนือมือพวกเขา”

ทำไม่จึงต้องทำเช่นนั้นเล่า หรือว่า


1 – ไม่เชื่อหลักฐานที่ยืนยันว่าไม่เหมือนสิ่งถูกสร้าง
2 – หรือเชื่อว่าเหมือนสิ่งถูกสร้างจึงต้องเปลี่ยนความหมาย

ไม่ว่าจะเลือกข้อที่ 1 หรือข้อที่ 2 ก็นำพาไปสู่ความหายนะทั้งสิ้นคือ ไม่เชื่อหลักฐานก็คือการปฏิเสธอัลกุรอาน หรือเชื่อว่าเหมือน ก็คือการปฏิเสธอัลกุรอานเช่นเดียวกัน เพราะพระองค์ทรงยืนยันว่า พระองค์ไม่เหมือนสิ่งถูกสร้างใดๆ
แล้วอะไรคือมูลเหตุของการเปลี่ยนความหมายนี้ มันเกิดจากอะไรกันแน่ เพราะเชื่อว่า มือในที่นี้เหมือนกับมือมนุษย์หรือ ? เขาตอบว่า ไม่ได้เชื่อเช่นนั้น เราจึงถามว่า ถ้าไม่เชื่อแล้วเปลี่ยนความหมายทำไม ในเมื่ออัลลอฮ์ยืนยันอยู่แล้วว่าไม่เหมือนสิ่งถูกสร้าง
พวกเขากล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่า อัลลอฮ์มีอวัยวะนะซิ เพราะมือคืออวัยวะของมนุษย์ ข้ออ้างนี้คือกากตะกอนทางความคิดบ้องตื้นที่เชื่อว่า يد คือมือที่เหมือนมือมนุษย์ ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะถ้าหากไม่เชื่อว่า يد คือมือที่เหมือนมือมนุษย์ละก้อ คำว่า “อวัยวะ” ของมนุษย์หรือสิ่งถูกสร้างอื่นๆ คงไม่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างเป็นแน่แท้
หรือคำว่า “เรือนร่าง” และ “รูปร่าง” ก็คงไม่ถูกนำมาเป็นเหตุผลของการเปลี่ยนความหมายเป็นแน่แท้ หากพวกเขาเชื่อตามหลักฐานที่ว่า อัลลอฮ์ไม่เหมือสิ่งถูกสร้างใดๆตามที่พระองค์ทรงกล่าวไว้
แต่มิใช่เช่นนั้น หากแต่มูลเหตุที่พวกเขาเปลี่ยนความหมายเพราะกลัวว่า มือในที่นี้จะเหมือนมือมนุษย์ ตามความคิดและจินตนาการของพวกเขาเอง ดังนั้นเหตุผลหลายร้อยเล่มเกวียนจึงถูกนำมาแสดงและระบาดไปทั่ว ปรากฏเป็นแนวคิดของกลุ่มต่างๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างก็หาวิธีที่จะทำให้อัลลอฮ์แตกต่างจากสิ่งถูกสร้างทั้งสิ้น ทั้งๆที่อัลลอฮ์ยืนยันถึงความต่างอยู่แล้ว เหล่านี้ทั้งหมดคือกระบวนการใช้ปัญญาแซงหน้าหลักฐาน
แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนไปอธิบายความ ในเมื่อปัญญาของมนุษย์ที่คิดว่าเลิศล้ำนั้น ไปไม่ถึงในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์, ไม่เคยรู้, ไม่เคยเห็นมาก่อน
เมื่อนำเรื่องเหล่านี้ไปเข้าสู่วังวันของการใช้สติปัญญาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาดีหรือไม่ก็ตาม จึงก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มนักวิภาษผู้ใช้ปัญญาเอง เพราะต่างคนต่างมีปัญญา และมีมุมมองที่ต่างกัน
แต่ทฤษฎีของนักวิภาษผู้ใช้ปัญญาทั้งหลายนั้น กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาให้แก่ความคิดของตนเอง เพราะความหมายที่ถูกเปลี่ยนมาแทนที่นั้น ก็คือสิ่งที่มาจากปัญญาของมนุษย์ ตามที่มนุษย์ได้รู้,ได้เห็น และมีประสบการณ์ คือคำว่า อำนาจ หรือ ความเมตตา และความช่วยเหลือ ซึ่งคำเหล่านี้ก็เป็นคำที่ถูกใช้กับสิ่งถูกสร้างด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นพวกเขาจึงแก้ปัญหาของพวกเขาด้วยการ หนีจากปัญหาหนึ่งไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง

แนวทางของนักวิภาษนิยมนั้น พวกเขากล่าวกันว่า พวกเขาไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง “ซาต” หรือ “ตัวตน” ของอัลลอฮ์ แต่พวกเขาวิเคราะห์วิจัยในเรื่อง ซิฟาต หรือคุณลักษณะต่างๆของอัลลอฮ์ ซึ่งแนวทางของพวกเขามิใช่แนวทางที่เหล่าศอฮาบะห์ยึดถืออยู่อย่างแน่นอน แต่เป็นแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่บนพื้นฐานของการใช้ตรรกะกำหนดกรอบความคิด หรือการตั้งสมมติฐานเพื่อหาผล และพิสูจน์ผล
แนวทางการศึกษาเรื่องซิฟาตของอัลลอฮ์โดยอาศัยการวิเคราะห์ วิจัยบนพื้นฐานของตรรกะนี้ ทำให้เกิดกลุ่มวิภาษนิยมแตกแขนงเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่ม แต่ที่โดดเด่นและยังคงแพร่หลายในปัจจุบันคือ กลุ่มอะชาอิเราะห์ ก่อตั้งโดย อบูฮะซัน อัลอัชอารีย์ (เสียชีวิตปีที่ 324 ฮิจเราะห์ศักราช) และมีพันธมิตรร่วมสมัยคือ กลุ่มมาตุรีดียะห์ โดยมีอบู มันศูร อัลมาตูรีดีย์ (เสียชีวิตปีที่ 333 ฮิจเราะห์ศักราช) เป็นแกนนำ
ทั้งสองกลุ่มนี้คือ กลุ่มวิภาษนิยม ซึ่งในอดีตมีแนวทางการใช้ปัญญาสมดุลตอบโต้การใช้ปัญญาแบบสุดโต่งของ กลุ่มมัวอ์ตะซิละห์ ซึ่งมี วาศิล อิบนุ อะฏออ์ เป็นแกนนำ

เพื่อให้ได้เห็นภาพแนวทางการศึกษาเรื่องซิฟาตของอัลลอฮ์ตามแนวทางของนักวิภาษนิยม จึงจะนำเอาโครงสร้างการศึกษาเกี่ยวกับซิฟาตของอัลลอฮ์ตามแนวทางของ กลุ่มอะชาอิเราะห์ มาให้เห็นเป็นภาพรวมดังนี้

กลุ่มอะชาอิเราะห์ได้จำแนกซิฟาตของอัลลอฮ์เป็น 3 หมวดคือ

ซิฟัตวาญิบ คือคุณลักษณะจำเป็นที่อัลลอฮ์ต้องมี หรือที่เรียกกันว่า ซิฟัต 20 ยี่สิบคือ
1 – วุญูด จำเป็นต้องมี
2 – กิดัม จำเป็นต้องมีมาแต่เดิม
3 – บะกอ จำเป็นต้องมีอย่างถาวร
4 – มุคอละฟะห์ลิ้ลฮะวาดิส จำเป็นต้องแตกต่างจากของใหม่
5 – กิยามุบิลนัฟซิ จำเป็นต้องดำรงด้วยตนเอง
6 – วาเฮ็ด หรือ วะดานียะห์ จำเป็นต้องมีหนึ่งเดียว
7 – กุดเราะห์ จำเป็นต้องมีพลังอำนาจ
8 – อิรอดะห์ จำเป็นต้องมีเจตจำนงค์
9 – อิลมุน จำเป็นต้องมีความรอบรู้
10 – ฮะยาตุน จำเป็นต้องมีชีวิต
11 – ซัมอุน จำเป็นต้องได้ยิน
12 – บะศอรุน จำเป็นต้องเห็น
13 – กะลามุน จำเป็นต้องพูด
14 – เกานุฮูกอดิร็อน จำเป็นต้องอยู่ในสภาพที่ทรงพลังอำนาจ
15 – เกานุฮูมุรีดัน จำเป็นต้องอยู่ในสภาพผู้ที่มีเจตจำนงค์
16 – เกานุฮูฮัยยัน จำเป็นต้องอยู่ในสภาพมีชิวิต
17 – เกานุฮูซะมีอัน จำเป็นต้องอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่ได้ยิน
18 – เกานุฮูบะศีร็อน จำเป็นต้องอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่เห็น
19 – เกานุฮูอาลิมัน จำเป็นต้องอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่รอบรู้
20 – เกานุฮูมุตะกัลป์ลิมัน จำเป็นต้องอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่พูด

ซิฟัตญาอิช คือคุณลักษณะเป็นไปได้ที่อัลลอฮ์จะมี เช่น คือ สิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ ประสงค์จะให้มี หรือไม่ให้มีก็ได หรือทำให้ไม่มีหลังจากมีมาแล้วก็ได้ หรือทำให้มีอย่างถาวร หลังจากไม่เคยมีมาก่อนก็ได้ หรือ ทำให้ไม่มีอย่างถาวร หลังจากที่เคยมีแล้วก็ได้ หรือทำให้ไม่มีอย่างถาวรในสิ่งที่ไม่เคยมีมาก็ได้

ซิฟัตมุสตะฮีล คือคุณลักษณะเป็นไปไม่ได้ที่อัลลอฮ์จะมี เช่น
1 – อะดะมุน การไม่มีอยู่จริงของอัลลอฮ์
2 – ฮุดูส เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นมาใหม่
3 – ฟะนาอ์ ดับสูญ หรือสูญสลาย
4 – มุมาซิละห์ลิ้ลฮะวาดิส เหมือนกับสิ่งถูกสร้าง
5 – เอียะห์ติฮุอิลั้ลฆ็อยร์ ความต้องการพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น
6 – ตะอัดดุด มีจำนวนหลากหลาย
7 – อัจซุน อ่อนแอ หรือไร้ความสามารถ
8 – อิกรอฮ์ ถูกบังคับ
9 – ญะฮ์ลุน โง่เขลา
10 – เมาตุน ตาย
11 – ซ่อมะมุ หูหนวก
12 – อะมา ตาบอด
13 – บุกมุน เป็นใบ้พูดไม่ได้
14 – เกานุฮูอาญิซัน อยู่ในสภาพที่อ่อนแอ
15 – เกานุฮูมุกรอฮัน อยู่ในสพาพที่ถูกบังคับ
16 – เกานุฮูมัยยิตัน อยู่ในสภาพที่ตาย
17 – เกานุฮูอะศอม อยู่ในสภาพหูหนวก
18 – เกานุฮูอะอ์มา อยู่ในสภาพตาบอด
19 – เกานุฮูญาฮิลัน อยู่ในสภาพโง่เขลา
20 – เกานุฮูอับกัม อยู่ในสภาพเป็นใบ้

ความจริงแล้ว คุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮ์ มิใช่มีแค่เพียง 20 นี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประการที่พวกเขาไม่ได้กล่าวถึง แต่พวกเขาก็อ้างว่า เฉพาะ 20 ซิฟัตนี้คือสิ่งจำเป็นที่มุสลิมต้องเรียนรู้

เมื่อเราถามว่า ทำไมจึงต้องวางกฏเกณฑ์ให้อัลลอฮ์ โดยกำหนดว่า อัลลอฮ์ต้องเป็นอย่างนั้นหรือต้องเป็นอย่างนี้, เป็นอย่างนั้นได้หรือเป็นอย่างนี้ไม่ได้ ทำไมบ่าวผู้ต่ำต้อยถึงต้องล่วงเกินพระเจ้า พวกเขากล่าวว่า คำว่า “วาญิบ” มีความหมายว่า “จำเป็น” ในที่นี้คือ จำเป็นที่บ่าวต้องศรัทธาและเรียนรู้ ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต่ออัลลอฮ์ ซึ่งเป็นการวางกฏเกณฑ์ให้พระเจ้าอย่างที่คนอื่นเข้าใจผิดและกล่าวหาพวกเขา
แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหลีกหนีความจริงได้ เนื่องจากในตำราที่พวกเขาศึกษากันอย่างแพร่หลาย มีถ้อยคำเหล่านี้ระบุอยู่มากมายคือ واجب على الله แปลว่า จำเป็นต่ออัลลอฮ์ جائز على الله แปลว่า อนุญาตต่ออัลลอฮ์ และ مستحيل على الله แปลว่า เป็นไปไม่ได้ต่ออัลลอฮ์

อย่างนี้มิใช่เป็นการที่บ่าวผู้ต่ำต้อยล่วงเกินพระเจ้าหรอกหรือ ?

เรามิได้วิจารณ์หรือกล่าว ยอมรับและปฏิเสธในซิฟัต 20 ที่เหล่านักวิภาษตั้งขึ้น แต่เรากล่าวถึงกฏเกณฑ์ที่พวกเขากำหนดกรอบให้พระเจ้าต่างหาก เพราะบ่าวไม่สิทธิ์ที่จะกระทำการเช่นนี้ต่อพระเจ้าเลย ถึงแม้จะมีเจตนาดีที่จะทำให้พระเจ้าต่างจากสิ่งถูกสร้างก็ตาม แต่เป็นการใช้ปัญญาถลำเลยขอบเขต และไม่ใช่แนวทางที่เหล่าศอฮาบะห์และบรรพชนยึดถือ

เรายกตัวอย่างประเด็นทางการเมืองในบ้านเราที่กำลังวุ่นวายอยู่ขณะนี้ หนึ่งในนั้นคือความพยายามของคนบางกลุ่มที่ถูกเรียกว่า กลุ่มนิติรัฐ เพื่อจะวางกรอบให้กษัตริย์ คือให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ, ให้กษัตริย์สาบานตน แล้วก็เกิดการแบ่งฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า การกระทำของกลุ่มนิติรัฐเหมาะสมหรือไม่ มีสิทธิ์หรือไม่ที่จะกระทำการเช่นนั้น เป็นการกำหนดกรอบให้พระมหากษัตริย์ และเป็นการล่วงเกินสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า

แต่ที่เรากล่าวถึงอยู่นี้ยิ่งใหญ่กว่า คือเรื่องของพระเจ้า ที่บรรดามุสลิมให้ความสำคัญสูงสุด
มนุษย์มีสิทธิ์ที่จะกำหนดกรอบ หรือตั้งกฏเกณฑ์ให้พระเจ้าหรือ
มนุษย์มีสิทธิที่จะจาบจ้วงล่วงเกินโดยเอาปัญญาไปวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่มนุษย์ไม่มีความรู้หรือ
ดังนั้นเราจึงมิอาจกล่าวได้ว่า อัลลอฮ์มีอวัยวะหรือไม่มี
เรามิอาจกล่าวได้ว่า อัลลอฮ์หรือเรือนร่างหรือไม่มี
ไม่ใช่สิทธิ์ของบ่าวผู้ต่ำต้อยที่จะวิจารณ์ในเรื่องสูงส่งนี้เลย
และเราขอปฏิเสธว่า เรามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับแนวคิดของนักวิภาษนิยมทั้งหลาย

และเรามิได้เรียกร้องท่านไปสู่แนวคิดของผู้ใดเลย นอกจากแนวทางที่ปลอดภัยของบรรดาศอฮาบะห์ที่ท่านนบีได้ให้การรับรอง

วัลลอฮุอะอ์ลัม