ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 106


مََا نَنْسَخْ مِنْ آيَةٍ أوْ نُنسِهَا نَأْتِ بِخَيْرٍ مِّنْهَا أوْ مِثْلِهَا أَلَمْ تَعْلَمْ أنَّ اللهَ عَلَى كُلِّ شَيْئٍ قَدِيْرٌ


อายะห์ใดที่เรายกเลิก หรือทำให้มันลืมเลือนไป เราก็จะนำสิ่งที่ดีกว่ามัน หรือที่เท่าเทียมกับมัน มาแทนที่ เจ้าไม่รู้หรอกหรือว่า อัลลอฮ์นั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกๆสิ่ง



ข้อความของอายะห์นี้ประกอบด้วยสองส่วนที่เป็นเงื่อนไขสัมพันธ์กันคือ

ข้อความแรกที่กล่าวว่า อายะห์ใดที่เรายกเลิก หรือทำให้มันลืมเลือนไป
ข้อความที่สองที่กล่าวว่า เราก็จะนำสิ่งที่ดีกว่ามัน หรือเท่าเทียมกับมันมาแทนที่

ในทางภาษานั้น คำว่า ما ที่ปรากฏอยู่ในต้นอายะห์คือ اسم شرط ส่วนคำว่า نأت ที่ปรากฏในวรรคถัดมาคือ جواب شرط ซึ่งอธิบายความซึ่งกันและกัน

คำว่า (อายะห์ใดที่เรายกเลิก) คือ ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติบางประการตามวาระแห่งการประทานอัลกุรอาน ซึ่งหมายถึงเฉพาะอายะห์ที่เป็นข้อบัญญัติเท่านั้น เช่นเปลี่ยนข้อบัญญัติจากฮะล้าลเป็นฮะรอม หรือจากฮะรอมเป็นฮะล้าล จากการอนุมัติเป็นการห้าม หรือจากการห้ามเป็นการอนุมัติ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในกฏเกณฑ์ของคำสั่งใช้และคำสั่งห้าม ตัวอย่างเช่นข้อบัญญัติเกี่ยวกับน้ำเมา ที่ทยอยลงมาเป็นวาระดังนี้

ระยะแรกยังไม่มีการห้ามเด็ดขาดแต่บอกถึงคุณและโทษ

يَسْأَلُوْنَكَ عَنِ الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ قُلْ فِيْهِمَا إثْمٌ كَبِيْرٌ وَمَنَافِعٌ لِلنَّاسِ وَإثْمُهُمَا أكْبَرُ مِنْ نَفْعِهِمَا


“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมาและการพนัน จงกล่าวเถิด ในมันทั้งสองนั้นมีโทษใหญ่หลวงและมีคุณแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นใหญ่กว่าคุณประโยชน์” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 219

ระยะที่สอง จำกัดปริมาณและระยะเวลาดื่มกระทั่งระยะสร่างเมา



يَايُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا لاَ تَقْرَبُوا الصَّلاَةَ وَأنْتُمْ سُكاَرَى حَتَّى تَعْلَمُوا مَا تَقُوْلُوْنَ


“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้การละหมาดในขณะที่พวกเจ้าเมา จนกว่าพวกเจ้าจะรู้ถึงสิ่งที่พวกเจ้าพูด” ซูเราะห์ อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 43

ระยะที่สาม ห้ามเด็ดขาด

يَاَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا إنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأنْصَابُ وَالأزْلاَمُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوْهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُوْنَ


“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย อันที่จริงน้ำเมา การพนัน แท่นบูชา การเสี่ยงทาย คือสิ่งโสโครก เป็นการกระทำของชัยตอน ดังนั้นพวกเจ้าจงออกห่างจากมัน เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” ซูเราะห์ อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 90

ในกรณีดังกล่าวนี้คือการยกเลิกข้อบัญญัติ แต่มิได้ยกเลิกข้อความ กล่าวคือ ข้อความของอายะห์ยังคงถูกอ่านเหมือนเดิม แต่ให้ถือเอาอายะห์ที่ถูกประทานลงมาล่าสุดเป็นข้อบัญญัติ ส่วนข้อความในอายะห์ใดที่เป็นการบอกเล่า เช่นอายะห์ที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องราวของประชาชาติยุคก่อน มิได้เข้าอยู่ในความหมายของการยกเลิกข้อบัญญัติแต่อย่างใด

คำว่า (หรือทำให้มันลืมเลือนไป) คือข้อความของอัลกุรอานบางส่วนที่ถูกทำให้ลืมเลือนไปจากความทรงจำ คือถูกยกเลิกถ้อยคำและความหมาย ซึ่งก่อนหน้านั้นเหล่าศอฮาบะห์เคยอ่านข้อความดังกล่าว

عَنْ سَعِيْدِ بْنِ جُبَيْرٍ عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ قَالَ : قَالَ عُمَرُ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ اَقْرَؤُنَا أُبَيٌّ وَأقْضَانَا عَلِيٌّ وَإنَّا لَنَدَعُ مِنْ قَوْلِ أُبَيٍّ وَذَاكَ أنَّ أُبَيًّا يَقُوْلُ : لاَ اَدَعُ شَيْئاً سَمِعْتُهُ مِن رَّسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَقَدْ قَالَ اللهُ تَعَالَى (مَا نَنْسَخْ مِنْ آيَةٍ أوْ نُنْسِهَا)

“จากสะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า อุมัร ขออัลลอฮ์ทรงพระทัยต่อท่าน ได้กล่าวว่า ผู้ที่อ่านอัลกุรอานดีที่สุดในหมู่พวกเราคือ อุบัยด์ และผู้ตัดสินดีที่สุดในหมู่พวกเราคือ อาลี และพวกเราไม่ได้ละเลยถ้อยคำของ อุบัยด์ ทั้งนี้เนื่องจาก อุบัยด์ ได้กล่าวว่า : ฉันไม่ได้ละทิ้งสิ่งใดที่ฉันเคยได้ยินจากท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม พระองค์อัลลอฮ์ ผู้สูงส่ง กล่าวว่า (อายะห์ใดที่เรายกเลิก หรือทำให้มันลืมเลือนไป)” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 4121

ข้อความของอายะห์นี้เป็นหลักฐานชัดเจนว่า พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงทำให้ข้อความของอัลกุรอานบางส่วนถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของเหล่าศอฮาบะห์ ทั้งๆที่พวกเขาเคยอ่านกันในยุคที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา

และอายะห์นี้เป็นหลักฐานลบล้างข้อกล่าวหาและใส่ร้ายของเหล่าชีอะห์อิหม่ามสิบสองที่มีต่อบรรดาศอฮาบะห์ว่า ได้ตัดทอนอัลกุรอานออกไปโดยพละการจนกระทั่งทำให้อัลกุรอานไม่ครบ แต่พระองค์อัลลอฮ์ทรงยืนยันว่าเป็นพระประสงค์ของพระองค์ที่จะทำให้มันลืมเลือนไป ด้วยการกล่าวว่า (อายะห์ใดที่เรายกเลิก หรือทำให้มันลืมเลือนไป) ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นเรื่องของอัลลอฮ์โดยเฉพาะ มิใช่เรื่องของมนุษย์ พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

إنَّا نَحْنُ نَزَلْنَا الذِّكْرَ وَإنَّا لَهُ لَحَافِظُوْنَ

“แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน” ซูเราะห์อัลฮจญ์ อายะห์ที่ 9