ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 114


وَمَنْ أظْلَمُ مِمَّنْ مَنَعَ مَسَاجِدَ اللهِ أن يُذْكَرَ فِيْهَا اسْمُهُ وَسَعَى فِي خَرَابِهَا أُوْلَئِكَ مَا كَانَ لَهُمْ أن يَدْخُلُوْهَا إلاَّ خَائِفِيْنَ لَهُمْ فِي الدُنْيَا خِزْيٌ وَلَهُمْ فِي الآخِرَةِ عَذَابٌ عَظِيْمٌ


และผู้ใดเล่าจะอธรรมไปยิ่งกว่าผู้ที่ห้ามมัสยิดต่างๆของอัลลอฮ์ ในการที่พระนามของพระองค์จะถูกกล่าวในมัน และแสวงหาวิธีการในการทำลายมัน พวกเหล่านี้มิบังควรในการที่พวกเขาจะเข้าไปในมันนอกจากบรรดาผู้เกรงกลัว สำหรับพวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้ และสำหรับพวกเขาในโลกหน้านั้นคือการลงโทษมหันต์


นักอธิบายอัลกุรอานบางท่านเช่น ก่อตาดะห์ และ มุญาฮิด ระบุว่า เหตุของการประทานอายะห์นี้ เนื่องจาก ชาวนะศอรอ ได้ห้ามและขัดขวางบรรดาผู้คนมิให้เข้าไปละหมาดในมัสยิดอักซอ และพยายามที่จะทำลายมัสยิดอักซอ

ขณะที่นักอธิบายอัลกุรอานท่านอื่น ระบุว่า เหตุของการประทานอายะห์นี้เกี่ยวกับการที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาชาวกุรอยช์มักกะห์ ได้ห้ามท่านนบีและบรรดาศอฮาบะห์ในการเข้ามัสยิดฮะรอม

อิบนุ ญะรีร ได้อ้างคำรายงานว่า : ยูนุส บิน อับดิลอะอ์ลา เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อิบนุ วะฮ์บิน เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อิบนุ ซัยด์ กล่าวว่า ถ้อยคำของพระองค์อัลลอฮ์ที่ว่า (และผู้ใดเล่าจะอธรรมไปยิ่งกว่าผู้ที่ห้ามมัสยิดต่างๆของอัลลอฮ์ ในการที่พระนามของพระองค์จะถูกกล่าวในมัน และแสวงหาวิธีการทำลายมัน) หมายถึง บรรดาผู้ตั้งภาคีชาวมักกะห์ที่ขัดขวางท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม มิให้เข้านครมักกะห์ ในวันฮุดัยบียะห์ จนกระทั่งท่านนบีต้องเชือดสัตว์พลี ณ.ที่ ซิลฏูวา พวกเขากล่าวว่า “เราจะไม่ยอมให้ผู้ที่ฆ่าบรรพบุรุษของพวกเราในวันบะดัรได้เข้าไปเป็นอันขาดตราบใดที่พวกเรายังมีชีวิตอยู่”

ในบันทึกของ อิบนุ อบี ฮาติม ได้อ้างคำรายงานจาก อิบนิ อับบาสว่า ชาวกุรอยซ์ได้ห้ามท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ในการละหมาดที่ กะอ์บะห์ในมัสยิดฮะรอม ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์จึงได้ประทานอายะห์นี้ลงมา (และผู้ใดเล่าจะอธรรมไปยิ่งกว่าผู้ที่ห้ามมัสยิดต่างๆของอัลลอฮ์ ในการที่พระนามของพระองค์จะถูกกล่าวในมัน)

นอกจากพวกเขาจะขัดขวางมิให้ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาศอฮาบะห์ เข้าสู่มัสยิดฮะรอมแล้ว พวกเขายังกีดกันมิให้ผู้ใดทำการบูรณะโดยการแสดงความเป็นเจ้าของและการครอบครอง
พรองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

وَمَا لَهُمْ ألاَّ يُعَذِّبَهُمُ اللهُ وَهُمْ يَصُدُّوْنَ عَنِ الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ وَمَا كَانُوا أوْلِيَاءَهُ إنْ أوْلِيَاؤُهُ إلاَّ الْمُتَّقُوْنَ وَلَكِنَّ أكْثَرَهُمْ لاَ يَعْلَمُوْنَ


“เกิดอะไรแก่พวกเขาหรือในการที่อัลลอฮ์จะไม่ลงโทษพวกเขา ทั้งๆที่พวกเขาขัดขวางมิให้เข้าไปในมัสยิดฮะรอม และพวกเขาก็มิได้เป็นผู้ครอบครองมัน บรรดาผู้ครอบครองมันมิใช่ใครหรอก นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง แต่ทว่าส่วนมากของพวกเขาไม่รู้” ซูเราะห์ อัลอัมฟาล อายะห์ที่ 34

ما كان للمشركين أن يعمروا مساجد الله شاهدين على أنفسهم بالكفر أولئك حبطت أعمالهم وفي النار هم خالدون


“ไม่ใช่เรื่องอะไรของบรรดาผู้ตั้งภาคีในการบูรณะมัสยิดต่างๆของอัลลอฮ์ ขณะที่พวกเขายืนยันสถานะตัวของพวกเขาเองด้วยการปฏิเสธการศรัทธา ชนเหล่านี้ งานของเขาไม่มีคุณค่า และในนรกนั้นพวกเขาจะพำนักอยู่ถาวร” ซูเราะห์ อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 17

إنَّمَا يَعْمُرُمَسَاجِدَ اللهِ مَنْ آمَنَ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ وَأَقَامَ الصَّلاَةَ وَآتَى الزَّكَاةَ وَلَمْ يَخْشَ إلاَّ اللهَ فَعَسَى أوْلَئِكَ أن يَكُوْنُوا مِنَ الْمُهْتَدِيْنَ


“อันที่จริงผู้ที่จะบูรณะมัสยิดต่างๆของอัลลอฮ์นั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันอวสาน และดำรงไว้ซึ่งการละหมาด, ชำระซะกาต และเขามิได้กลัวสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์ จึงหวังว่า ชนเหล่านี้จะเป็นผู้ที่ได้รับทางนำ” ซูเราะห์ อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 18

هُمُ الَّذِيْنَ كَفَرُوا وَصَدُّوْكُمْ عَنِ الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ وَالْهَدْيَ مَعْكُوْفاً أنْ يَبْلُغَ مَحِلَّهُ وَلَوْلاَ رِجَالٌ مُؤْمِنُوْنَ وَنِسَاءٌ مُؤْمِنَاتٌ لَمْ تَعْلَمُوْهُمْ أنْ تَطَئُوهُمْ فَتُصِيْبَكُمْ مِنْهُمْ مَغْفِرَةٌ بِغَيْرِ عِلْمٍ لِيُدْخِلَ اللهُ فِي رَحْمَتِهِ مَنْ يَشَاءُ لَوْ تَزَيَّلُوا لَعَذَّبْنَا الَّذِيْنَ كَفَرُوا مِنْهُمْ عَذَاباً أَلِيْماً

“พวกเขาคือบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและขัดขวางพวกเจ้าไม่ให้เข้ามัสยิดฮะรอมและการเชือดพลีเพื่อมิให้บรรลุวัตถุประสงค์ของมัน และหากไม่ใช่เพราะมีบรรดาผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงที่พวกเจ้าไม่รู้จักพวกเขาร่วมอยู่ด้วย พวกเจ้าก็จะสังหารพวกเขาทั้งหมด แล้วก็จะเป็นบาปแก่พวกเจ้าโดยไม่รู้ตัว เพื่ออัลลอฮ์จะให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์เข้าอยู่ในความเมตตาของพระองค์ แต่หากพวกเขาแยกกันเป็นสัดส่วน แน่นอนว่าเราจะลงโทษบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาในหมู่พวกเขา ด้วยการลงโทษอันเจ็บปวด” ซูเราะห์ อัลฟัตฮ์ อายะห์ 25

อิบนุ กะษีร กล่าวว่า การบูรณะในที่นี้ มิได้หมายถึงการซ่อมแซมและปรับปรุงรูปลักษณ์แต่ภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการที่พระนามของอัลลอฮ์จะต้องถูกกล่าวในมัสยิดฮะรอม และข้อบัญญัติของศาสนาจะต้องถูกนำมาปฏิบัติได้จริง อีกทั้งการขจัดสิ่งโสโครกและการตั้งภาคีออกไปให้หมด

ถ้อยคำที่ว่า (พวกเหล่านี้มิบังควรในการที่พวกเขาจะเข้าไปในมันนอกจากบรรดาผู้เกรงกลัว) ประโยคนี้ถึงแม้จะอยู่ในสำนวนของการบอกเล่า แต่มีความหมายรวมถึงการเรียกร้อง คือ พวกเจ้าอย่ายินยอมให้พวกเขาเข้าไปในมัสยิดฮะรอม

แต่ในปีถัดมา หลังจากที่นครมักกะห์ได้ถูกเปิดเป็นรัฐอิสลามแล้ว ท่านนบีได้ใช้ให้ประกาศ ณ.ทุ่งมีนาว่า

لاَ يَحُجَّنَّ بَعْدَ العَامِ مُشْرِكٌ وَلاَ يَطُوْفَ بِالْبَيْتِ عُرْيَانٌ

“หลังจากปีนี้ จะไม่มีผู้ตั้งภาคีคนใดที่จะทำฮัจญ์ และจะไม่มีการตอวาฟบัยตุ้ลลอฮ์ของผู้ที่เปลือยร่าง” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 4290


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีที่ 9 ฮิจเราะห์ศักราช ก่อนที่ท่านนบีจะเดินทางไปทำฮัจญ์ที่เรียกว่า “ฮัจญะตุ้ลวะดาอ์” และนี่คือการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์ที่ทรงกล่าวว่า

يَا أيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوا إنَّمَا الْمُشْرِكُوْنَ نَجَسٌ فَلاَ يَقْرَبُوا الْمَسْجِدَ الْحَرَامَ بَعْدَ عَامِهِمْ هَذَا


“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย แท้จริงบรรดาผู้ตั้งภาคีนั้นโสมม ดังนั้นจงอย่าให้พวกเขาเข้าใกล้มัสยิดฮะรอม หลังจากปีของพวกเขานี้” ซูเราะห์ อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 28

ถ้อยคำที่ว่า (สำหรับพวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้ และสำหรับพวกเขาในโลกหน้านั้นคือการลงโทษมหันต์) ในขณะที่บรรดาผู้ศรัทธาได้รับแจ้งข่าวดีว่า พวกเขาจะได้เข้าสู่มัสยิดฮะรอม แต่ก็เป็นข่าวร้ายและเป็นสิ่งที่น่าอับอายสำหรับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและบรรดาผู้ตั้งภาคีว่า นับจากปีนี้ไป พวกเขาไม่มีสิทธิ์ในการที่จะแสดงความอุบาทว์และกระทำการอนาจารใดๆ ณ.ที่มัสยิดฮะรอมได้อีก เช่นการสักการะ บวงสรวงเจว็ด และเทพเจ้าใดๆของพวกเขา หรือการตอวาฟโดยเปลือยกาย และอื่นๆ นอกเหนือจากนี้แล้ว พวกเขายังไม่มีสิทธิ์แม้แต่เพียงเข้าใกล้มัสยิดฮะรอม

คำว่า “ خِزْيٌ ” ในอายะห์นี้ที่ให้ความหมายว่า “ความอัปยศ” นั้น นักอธิบายอัลกุรอานบางท่านเช่น อัสซุดดีย์, อิกริมะห์, วาอิล บิน ดาวูด ระบุว่า คือความอัปยศในดุนยาขณะที่ อัลมะฮ์ดี ได้ปรากฏ (นักอฺธิบายอัลกุรอานเหล่านี้มิได้เป็นชีอะห์หรือมีความเชื่อแบบชีอะห์อิหม่ามสิบสอง ดังนั้นการอ้างถึง อัลมะฮ์ดี ในที่นี้จึงเป็นไปตามหลักฐานและตามความเชื่อของชาวซุนนะห์ว่า อัลมะฮ์ดี บุตรของ อับดุลลอฮ์ ยังมิได้กำเนิดมาบนโลกใบนี้ ซึ่งต่างจาก มะฮ์ดี บุตรของ ฮะซัน อัลอัสกะรีย์ ตามความเชื่อของชีอะห์ ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้แล้วแต่หายตัวไปพร้อมกับอัลกุรอานฉบับสมบูรณ์ และจะกลับมาอีกครั้งเมื่อใกล้วันกิยามะห์ ซึ่งเป็นแค่เพียงนิยายชวนหัวเท่านั้นเอง)

ก่อตาดะห์ กล่าวว่า ความอัปยศของพวกเขาก็คือ การที่พวกเขาต้องจ่าย ญิซยะห์ ในสภาพที่ต่ำต้อย (คำว่า ญิซยะห์ในที่นี้คือ การจ่ายภาษีหัวหรือการจ่ายค่าคุ้มครองขณะที่พวกเขาอยู่ภายใต้รัฐอิสลาม)
แต่ อิบนุ กะษีร ระบุว่า ความอัปยศในดุนยานี้ครอบคลุมทั้งหมด มิได้จำกัดเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใด ดังเช่นการที่ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ขอความคุ้มครองให้พ้นจากความอับยศในดุนยาและการลงโทษในอาคิเราะห์ ตามที่ อิหม่ามอะห์หมัด ได้รายงานจาก บุชร์ บิน อัรฏออ์ ว่า

كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَدْعُو : اللَّهُمَّ أحْسِنْ عَاقِبَتَنَا فِي الأُمُوْرِ كُلِّهَا وَأَجِرْنَا مِنْ خِزْيِ الدُنْيَا وَمِنْ عَذَابِ الآخِرَةِ


“ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้วิงวอนขอว่า : โอ้ข้าแต่อัลลอฮ์ ได้โปรดให้เป็นความดีในบั้นปลายงานทั้งหมดของเรา และขอให้เราได้พ้นจากความอับยศในดุนยาและจากการทรมานในอาคิเราะห์” มุสนัด อิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 16970