ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 115


وَللهِ الْمَشْرِقُ وَالْمَغْرِبُ فَأيْنَمَا تُوَلُّوا فَثَمَّ وَجْهُ اللهِ إنَّ اللهَ وَاسِعٌ عَلِيْمٌ


ทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตกล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ฉะนั้นไม่ว่าพวกเจ้าจะผินหน้าไปทางใด ที่นั่นคือพระพักตร์ของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้


อิบนิ กะษีร กล่าวว่า ข้อความของอายะห์นี้เป็นการปลอบโยนท่านรอซูล ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาศอฮาบะห์ของท่าน ขณะที่พวกเขาต้องออกจากมักกะห์และต้องแยกจากมัสยิดและสถานที่ ที่พวกเขาเคยละหมาด และท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เองก็ได้ละหมาดที่มักกะห์โดยผินหน้าไปทางบัยตุ้ลมักดิส ทั้งๆที่กะอ์บะห์ก็อยู่ต่อหน้าท่าน และเมื่อท่านได้เดินทางกลับสู่นครมะดีนะห์แล้ว ท่านก็ยังละหมาดโดยหันหน้าไปทางบัยตุลมักดิลเป็นเวลา 16 หรือ 17 เดือน หลังจากนั้นพระองค์อัลลอฮ์ก็ทรงสั่งให้เปลี่ยนทิศโดยให้หันไปทางกะอ์บะห์ เหล่านี้คือที่มาของถ้อยคำที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (ทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตกล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ฉะนั้นไม่ว่าพวกเจ้าจะผินหน้าไปทางใด ที่นั่นคือพระพักตร์ของอัลลอฮ์)

อบู อุบัยด์ อัลกอเซ็ม บินสลาม ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัลนาซิควัลมัสซูค” ว่า ฮัจญาจ บิน มูฮัมหมัด เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อิบนุ ญุรอยญ์ และ อุสมาน บิน อะฏออ์ ได้บอกกับเราว่า จาก อะฏออ์ จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า : นี่คือเรื่องแรกในอัลกุรอานที่ถูกยกเลิกข้อบัญญัติ หมายถึงเรื่องกิบละห์ พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (ทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตกล้วนเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ฉะนั้นไม่ว่าพวกเจ้าจะผินหน้าไปทางใด ที่นั่นคือพระพักตร์ของอัลลอฮ์) ซึ่งท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดโดยหันหน้าไปทางบัยตุ้ลมักดิส โดยมิได้หันหน้าไปทางกะอ์บะห์ ต่อมาพระองค์อัลลอฮ์ทรงสั่งยกเลิกโดยบัญชาให้ผินหน้าไปทางกะอ์บะห์ ดังที่พระองค์ทรงกล่าวว่า

وَمِنْ حَيْثُ خَرَجْتَ فَوَلِّ وَجْهَكَ شَطْرَ الْمَسْجِدِ الْحَرَامِ وَحَيْثُ مَا كُنْتُمْ فَوَلُّوا وُجُوْهَكُمْ شَطْرَهُ


“และไม่ว่าที่ใดก็ตามที่เจ้าออกไป เจ้าจงผินหน้าของเจ้าไปทางมัสยิดอัลฮะรอม และไม่ว่าที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าดำรงอยู่ ก็จงผินหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศนั้น” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 150

ในคำรายงานนี้ มีผู้รายงานชื่อ อะฏออ์ เขาคือ อะฏออ์ บิน มุสลิม อัลคุรอซานีย์ ที่อ้างว่าได้ฟังเรื่องนี้จาก อิบนิ อับบาส แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว เขาไม่เคยได้พบและได้ฟังเรื่องราวจากอิบนิ อับบาส แต่อย่างใด ฉะนั้นคำรายงานนี้จึงอยู่ในสถานะ “ฏออีฟ” (ดูอัตตะฮ์ซีบ โดย อิบนุ ฮะญัร เล่มที่ 7 หน้าที่ 190)

แต่มีอีกรายงานหนึ่งจาก อาลี บิน อบี ฏอลฮะห์ กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า : เกี่ยวกับกิบละห์นี้เป็นเรื่องแรกที่ถูกยกเลิกข้อบัญญัติในอัลกุรอาน คือขณะที่ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้อพยพไปที่นครมะดีนะห์ ซึ่งเป็นถิ่นฐานของชาวยิว พระองค์อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ท่านละหมาดโดยผินหน้าไปทาง บัยตุ้ลมักดิส ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวยะฮูด ซึ่งท่านรอซูลได้ผินหน้าไปทางบัยตุ้ลมักดิสเป็นเวลามากกว่า 10 เดือน แต่ท่านรอซูลเองชอบที่จะผินหน้าไปทางกิบละห์แห่งนบีอิบรอฮีม (หมายถึงกะอ์บะห์) ดังนั้นท่านจึงวิงวอนขอและแหงนหน้ามองฟ้า พระองค์อัลลอฮ์จึงได้ประทานอายะห์นี้มาว่า

قَدْ نَرَى تَقَلُّبَ وَجْهِكَ فِي السَّمَاءِ

“แน่นอนว่า เราได้เห็นว่าเจ้านั้นแหงนหน้าสู่ฟากฟ้า” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 144


จนกระทั่งถึงข้อความที่ว่า

فَوَلُّوا وُجُوْهَكُمْ شَطْرَهُ

“ดังนั้นจงผินหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศนั้น” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 144


เหล่านี้เป็นเหตุที่ทำให้บรรดาชาวยะฮูดเกิดความสงสัย พวกเขาต่างถามกันว่า อะไรที่ทำให้พวกเขาต้องผินหน้าจากทิศทีเคยหันไป พระองค์อัลลอฮ์จึงได้ประทานข้อความมาว่า

قُلْ للهِ الْمَشْرِقُ وَالْمَغْرِبُ

“จงกล่าวเถิดว่า ทั้งทิศตะวันออกและทิศตะวันตกล้วนเป็นกรรมสิทธ์ของอัลลอฮ์” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 143


อิกริมะห์ กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส ได้อธิบายข้อความที่ว่า (ฉะนั้นไม่ว่าพวกเจ้าจะผินหน้าไปทางใด ที่นั่นคือพระพักตร์ของอัลลอฮ์) คือทิศของอัลลอฮ์ ไม่ว่าท่านจะผินหน้าไปทางตะวันออกหรือตะวันตกก็ตาม

มุญาฮิด กล่าวว่า (ฉะนั้นไม่ว่าพวกเจ้าจะผินหน้าไปทางใด ที่นั่นคือพระพักตร์ของอัลลอฮ์) คือทิศของอัลลอฮ์ ไม่ว่าพวกท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม พวกท่านก็จะต้องมีทิศทางที่ผินหน้าไป หมายถึง กะอ์บะห์
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายของ มุญาฮิด ในประเด็นนี้ยังไม่สอดคลองกับข้อเท็จจริง เนื่องจากพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานอายะห์นี้มาก่อนที่จะสั่งให้ผินหน้าไปทางมัสยิดฮะรอมซึ่งเป็นที่ตั้งของ กะอ์บะห์ ดั่งที่ อิบนุ ญะรีร และคนอื่นๆ กล่าวว่า “พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานอายะห์นี้มาก่อนที่จะบัญญัติให้ผินหน้าไปทางกะอ์บะห์ ซึ่งพระองค์ได้สอนให้ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม และศอฮาบะห์ของท่านได้รู้ทิศทางของการผินหน้าสำหรับการละหมาด ตามแต่พวกเขาต้องการ และไม่ว่าพวกเขาจะผินหน้าไปทางใด ที่นั่นก็เป็นทิศของอัลลอฮ์ทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกก็ตาม เนื่องจากไม่มีที่ใดว่างเว้นจากพระองค์ ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

وَلاَ أدْنَى مِنْ ذَلِكَ وَلاَ أكْثَرَ إلاَّ هُوَ مَعَهُمْ أيْنَ مَا كاَنُوا

“และไม่ว่าจะน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น นอกจากพระองค์จะอยู่ร่วมกับพวกเขา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม” ซูเราะห์ อัลมุญาดะละห์ อายะห์ที่ 7


พวกเขากล่าวว่า หลังจากนั้นข้อบัญญัตินี้ได้ถูกยกเลิกด้วยคำสั่งใช้ให้ผินหน้าไปทางที่ตั้งของมัสยิดฮะรอม
และในข้อความที่กล่าวว่า “ไม่มีที่ใดว่างเว้นจากพระองค์” นั้นหมายถึง ความรู้ของพระองค์ครอบคลุมทั่วทั้งหมด ส่วนตัวตนของพระองค์นั้นมิได้ถูกจำกัดด้วยสิ่งถูกสร้างใดๆ พระองค์อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งและยิ่งใหญ่กว่าสิ่งดังกล่าว” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 343

อิบนุญะรีร และคนอื่นๆ กล่าวว่า : อายะห์นี้ถูกประทานลงมาให้แก่ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม เป็นการอนุมัติจากพระองค์อัลลอฮ์ให้ละหมาดซุนนะห์ตามแต่จะผินหน้าไปทั้งตะวันตกและตะวันออก ไม่ว่าจะอยู่ในขณะเดินทางหรือขณะเผชิญหน้ากับศัตรูหรือขณะเกิดความกลัว
ดั่งที่ อบูกุรัยบ์ ได้เล่าให้เราฟังว่า อิบนุ อิดรีส เล่าให้เราฟังว่า อับดุลมาลิก (หมายถึง อิบนุ อบี สุไลมาน) เล่าให้เราฟังจาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อุมัร ว่า“ท่านอิบนุ อุมัร นั้นได้ละหมาดโดยหน้าไปตามแต่สัตว์ที่เป็นพาหนะจะหันไป และเขากล่าวให้ฟังว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้เคยปฏิปัติไว้เช่นนี้” บันทึกโดย อิหม่ามมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 1129

ส่วนคำรายงานในศอเฮียะห์ บุคอรี รายงานโดย นาเฟียะอ์ จาก อิบนิ อุมัร ว่า ท่านอิบนิ อุมัร ถูกถามเกี่ยวกับละหมาดอันเนื่องจากความกลัว ท่านได้สาธยายวิธีปฏิบัติมันแล้วกล่าวว่า “เมื่อความหวาดกลัวเกิดขึ้นอย่างรุนแรงก็จงละหมาดในสภาพที่ยืนหรือในสภาพที่ขี่หาพนะโดยผินหน้าไปทางกิบละห์หรือไม่ตรงกับกิบละห์ก็ได้” นาเฟียะอ์ กล่าวว่า ฉันไม่เห็นว่า อิบนุ อุมัร ได้กล่าวสิ่งใดนอกจากจะได้มาจากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 4171