ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 117
بَدِيْعُ السَّمَاوَاتِ وَالأرْضِ وَإذَا قَضَى أمْراً فَإنَّمَا يَقُوْلُ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ
พระองค์เป็นผู้เริ่มสร้างฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินเพียงผู้เดียว และเมื่อพระองค์ทรงบัญชาเรื่องใด ก็เพียงแต่กล่าวว่า จงเป็นแล้วมันก็จะเป็นขึ้นมา
คำว่า بديع มีรากศัพท์ทางภาษาจากคำกริยาสามอักษรคือ بدع มีความหมายว่า “เริ่มกระทำโดยไม่มีผู้ใดเคยกระทำมาก่อน” ฉะนั้นคำว่า بديع ในอายะห์นี้จึงมีความหมายว่า “พระองค์เป็นผู้ที่เริ่มสร้างฟ้าและแผ่นดินแต่ผู้เดียวโดยไม่มีผู้ใดกระทำมาก่อน”
มีผู้รู้ในบ้านเราบางคน ต้องการสนับสนุนการกระทำที่เป็นบิดอะห์หรืออุตริในศาสนาโดยนำเอาอัลกุรอานอายะห์นี้ไปเป็นข้ออ้างว่า “อัลลอฮ์ก็ทำบิดอะห์” คือพระองค์ทรงสร้างฟ้าและแผ่นดินโดยที่ไม่มีผู้ใดกระทำมาก่อน
หากไม่ได้ยินประโยคนี้ด้วยหูของตัวเอง ก็ไม่น่าเชื่อว่า ผู้พูดประโยคนี้จะเป็นผู้รู้ ครู,อาจารย์ที่สอนศาสนา เพราะผู้พูดไม่สามารถแยกได้ว่าใครคือเจ้าของบัญญัติและใครคือผู้ถูกใช้ให้ตามบทบัญญัติ และเพราะเหตุใดจึงนำสถานะของพระเจ้าไปเปรียบกับการกระทำของมนุษย์ ช่างอับยศสิ้นดี
อิบนุ กะษีร ได้นำเอาการอธิบายของ มุญาฮิด และ อัสซุดดีย์ มาชี้แจงว่า “ข้อความของอายะห์นี้มีความหมายทางด้านภาษา”
เนื่องจากคำว่า “ بدعة ” มีความหมายสื่อได้สองนัยยะด้วยกันคือ ทางด้านศาสนาและทางด้านภาษา ซึ่งความหมายทางด้านภาษานั้น เช่นคำพูดของท่านอุมัร อิบนุลค๊อตต๊อบ ในการรวมผู้คนให้ละหมาดตามอิหม่ามเพียงคนเดียวในการละหมาดตะรอเวียะห์ โดยท่านกล่าวว่า
نعمت البدعة هذه
“การริเริ่มกระทำนี้ช่างดีเสียนี่กระไร” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 1871
มูลเหตุการกล่าวประโยคนี้ของท่านอุมัรคือข้อความที่ถูกระบุไว้ในฮะดีษข้างต้นคือ “ท่านอุมัรได้ออกมาที่มัสยิดในยามค่ำคืนของเดือนรอมฏอน แล้วท่านพบว่า บรรดาผู้คนต่างก็ละหมาดกันตามลำพัง หรือบางคนก็ละหมาดกันเป็นกลุ่ม ท่านจึงดำริที่จะให้ผู้คนละหมาดตามอิหม่ามเพียงคนเดียว โดยมอบหมายให้ อุบัย บิน กะอบ์ เป็นอิหม่ามนำละหมาด และในคืนถัดมา ท่านก็พบว่า บรรดาผู้คนได้ละหมาดพร้อมกันโดยมี อุบัย เป็นอิหม่าม ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า “การริเริ่มกระทำเช่นนี้ช่างดีเสียนี่กระไร”
ดำริของท่านอุมัรนี้มิใช่เป็นสิ่งใหม่ในศาสนา เนื่องจากบรรดาศอฮาบะห์ได้เคยละหมาดพร้อมกันโดยมีท่านนบีเป็นอิหม่ามนำละหมาดมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ท่านนบีก็ออกมาเป็นอิหม่ามนำละหมาดเป็นครั้งคราวเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นฟัรดูแก่อุมมะห์ของท่าน และเมื่อท่านนบีมิได้ออกมาเป็นอิหม่าม บรรดาผู้คนจึงต่างคนต่างละหมาด
ดังนั้นการที่ท่านอุมัร ได้ให้ผู้คนละหมาดพร้อมกับอิหม่ามเพียงคนเดียว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและมิใช่สิ่งใหม่ในศาสนาแต่อย่างใด และที่ท่านกล่าวว่า “การริเริ่มกระทำเช่นนี้ช่างดีเสียนี่กระไร” หมายถึงการริเริ่มกระทำขึ้นมาอีกครั้งในยุคการปกครองของท่าน
ส่วนความหมายคำว่า بدعة ทางด้านศาสนา หมายถึง “การอุตริ” เช่นคำของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวว่า
فَإنَّ كُلَّ مُحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلاَلَةٌ
“แท้จริงทุกสิ่งที่ทำขึ้นใหม่ในศาสนานั้นคืออุตริ และทุกสิ่งอุตริคือความหลงผิด” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 1435 และสุนัน นะซาอีย์ ฮะดีษเลขที่ 1560
เป้าหมายของคำกล่าวของท่านนบีในฮะดีษบทนี้คือ การอุตริในเรื่องของศาสนา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ หรือวิธีการ ก็เป็นที่ต้องห้ามทั้งสิ้น เนื่องจากพระองค์อัลลอฮ์ทรงแต่งตั้งท่านนบีให้ทำหน้าที่ประกาศศาสนา ดังที่ท่านหญิงอาอิชะห์ รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
مَنْ أحْدَثَ فِي أمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ
“ผู้ใดกระทำขึ้นมาใหม่ในงานของเรา ที่ไม่มีต้นแบบมันเป็นโมฆะ” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 2499
เพราะฉะนั้น บิดอะห์หรืออุตริในทางศาสนาจึงมีชนิดเดียวคือ “ฏอลาละห์” ถือเป็นความหลงผิด และเป็นที่ต้องห้ามตามที่ท่านนบีได้กล่าวไว้
ส่วนการทำขึ้นมาใหม่ในงานดุนยานั้น จะจำแนกเป็นกี่ชนิดก็ตาม ก็เป็นที่อนุญาต ไม่ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า
إنْ كَانَ شَيْئاً مِنْ أمْرِ دُنْيَاكُمْ فَشَأْنُكُمْ بِهِ وَإنْ كَانَ شَيْئاً مِنْ أُمُوْرِدِيْنِكُمْ فَإلَيَّ
“หากเรื่องใดเป็นงานดุนยาของพวกเจ้า มันเป็นหน้าที่ของพวกเจ้าในเรื่องนั้น แต่หากเรื่องใดที่เป็นงานศาสนาของพวกเจ้าจงกลับมาเอาจากฉัน” สุนัน อิบนิมาญะห์ ฮะดีษเลขที่ 2462
อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า “เป้าหมายของอายะห์นี้เพื่อปฏิเสธข้ออ้างของบรรดาผู้กล่าวอ้างว่า พระองค์อัลลอฮ์ทรงมีบุตรหรือธิดา หรือพระองค์ทรงมีคู่ครอง และเพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์ว่า มหาบริสุทธิ์แด่พระองค์ อย่างไรเล่าที่พระองค์จะทรงมีบุตร ทั้งๆที่พระองค์เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์สิ่งที่มีอยู่ฟ้ากฟ้าและแผ่นดิน ซึ่งทั้งหมดนั้นต่างก็ยืนยันต่อพระองค์ด้วยการให้เอกภาพต่อพระองค์ อีกทั้งยอมจำนนต่อพระองค์ด้วยความจงรักภักดี และพระองค์เป็นผู้ทรงสร้างสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาโดยที่ไม่มีต้นแบบ นี่คือการแจ้งย้ำของอัลลอฮ์ที่มีต่อบ่าวของพระองค์ว่า พระองค์ผู้ทรงเริ่มสร้างฟ้าและแผ่นดินโดยที่ไม่มีสิ่งใดมาก่อนและไม่มีต้นแบบ และพระองค์ทรงเริ่มสร้างอีซา (หรือเยซูตามความเชื่อของชาวคริสต์) โดยไม่มีบิดาด้วยเดชานุภาพของพระองค์”
ถ้อยคำที่ว่า (และเมื่อพระองค์ทรงบัญชาเรื่องใด ก็เพียงแต่กล่าวว่า จงเป็นแล้วมันก็จะเป็นขึ้นมา) พระองค์อัลลอฮ์ทรงแจ้งถึงเดชานุภาพของพระองค์ในสถานะของพระเจ้า ผู้สร้าง, ผู้บริหาร โดยเมื่อพระองค์ทรงประสงค์สิ่งใดก็เพียงแต่กล่าวเพียงครั้งเดียวว่า “จงเป็น” แล้วมันก็จะเป็นตามที่พระองค์ทรงประสงค์ ดังที่พระองค์ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อีกหลายอายะห์เช่น
إنَّمَا أَمْرُهُ إذَا أرَادَ شَيْئاً أنْ يَقُوْلَ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ
“ที่จริงแล้วพระบัญชาของพระองค์นั้น เมื่อพระองค์ประสงค์สิ่งใด ก็เพียงแต่กล่าวกับสิ่งนั้นว่าจงเป็น แล้วมันก็จะเป็นขึ้นมา” ซูเราะห์ ยาซีน อายะห์ที่ 82
إنَّمَا قَوْلُنَا لِشَيْئٍ إذَا أَرَدْنَاهُ أنْ نَقُوْلَ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ
“ที่จริงแล้วประกาศิตของเราที่มีแก่สิ่งใดนั้นคือ เมื่อเราปรารถนาสิ่งนั้นก็เพียงแต่กล่าวแก่มันว่า จงเป็นแล้วมันก็จะเป็นขี้นมา” ซูเราะห์ อัลนะฮล์ อายะห์ที่ 40
وَمَا أمْرُنَا إلاَّ وَاحِدَةٌ كَلَمْحٍ بِالْبَصَرِ
“และประกาศิตของเรานั้นหาใช่อื่นใดนอกจากบัญชาเพียงครั้งเดียว (แล้วมันก็จะปรากฏขึ้นมาอย่างรวดเร็ว) ดั่งการกระพริบตา” ซูเราะห์ อัลกอมัร อายะห์ที่ 50
อิบนุ กะษีร กล่าวว่า “พระองค์อัลลอฮ์ทรงจุดประกายให้ทราบเช่นเดียวกันว่า พระองค์ทรงสร้างอีซาด้วยประกาศิตเพียงครั้งเดียวว่า “จงเป็น” แล้วเขาก็ปรากฏตามที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงพระบัญชา พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
إنَّ مَثَلَ عِيْسَى عِنْدَ اللهِ كَمَثَلِ آدَمَ خَلَقَهُ مَنْ تُرَابٍ ثُمَّ قَالَ لَهُ كُنْ فَيَكُوْنُ
“แท้จริงแล้ว เปรียบอีซา ณ.พระองค์อัลลอฮ์ ก็เปรียบได้ดั่งอาดัม ที่พระองค์ทรงสร้างเขามาจากดิน แล้วทรงประกาศิตแก่เขาว่า จงเป็นแล้วเขาก็เป็นขึ้นมา” ซูเราะห์ อาลาอิมรอน อายะห์ที่ 59