ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 119


إنَّا أرْسَلْنَاكَ بِالْحَقِّ بَشِيْراً وَنَذِيْراً وَلاَ تُسْئَلُ عَنْ أصْحَابِ الْجَحِيْمِ


แท้จริงเราได้ส่งเจ้ามาพร้อมกับสัจธรรม โดยเป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้เตือนถึงข่าวร้าย และเจ้าจะไม่ถูกถามเกี่ยวกับสหายของเปลวเพลิง



พระองค์อัลลอฮ์ทรงยืนยันว่า ได้ทรงแต่งตั้งท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม มาพร้อมกับสัจธรรม คือ วะฮีย์อันบริสุทธิ์จากพระองค์อัลลอฮ์ ได้แก่อัลกุรอาน อีกทั้งมอบความเข้าใจแก่ท่านนบีเพื่อให้ท่านสาธยายวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และนี่คือสัจธรรมที่ยืนยันถึงการเป็นศาสนทูตของท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม

ถ้อยคำที่ว่า (เป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนถึงข่าวร้าย) คือชี้นำผู้คนให้เชื่อและปฏิบัติตามกรอบคำสอนของศาสนาซึ่งผลของมันนั้นจะทำให้ปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮ์และได้รับสวนสวรรค์ ขณะเดียวกันก็ตักเตือนและห้ามปรามผู้คนให้ละเลิกและออกห่างจากความเชื่อและการกระทำที่หลงผิด ซึ่งผลของมันนั้นจะทำให้รับการลงโทษในนรก
จะเห็นได้ว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ทำหน้าพร้อมกันทั้งสองด้านคือเป็นทั้งผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือนถึงข่าวร้าย ฉะนั้น ผู้ใดที่ต้องการสืบสานการทำงานประกาศสัจธรรมอิสลามจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจริญรอยตามท่านนบีโดย ชี้แนะบรรดาผู้คนให้เชื่อและปฏิบัติตามกรอบของศาสนา อีกทั้งห้ามปรามและตักเตือนผู้คนให้ออกห่างจากการละเมิดและฝ่าฝืนคำสอนของศาสนา กล่าวคือ บอกกล่าวทั้งเรื่องสวรรค์และนรกตามที่ระบุอยู่ในคำสอน ดั่งเช่นเหล่าบรรดาศอฮาบะห์ของท่านนบี ดั่งที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

كُنْتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ للنَّاسِ تَأْمُرُوْنَ بِالْمَعْرُوْفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنْكَرِوَتُؤْمِنُوْنَ بِاللهِ


“พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติที่ดีเลิศ ถูกนำออกมาแก่มนุษยชาติ โดยพวกเจ้ากำชัยใช้ในเรื่องคุณธรรมและห้ามปรามสิ่งที่ฝ่าฝืนบัญญัติศาสนา อีกทั้งพวกเจ้าได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์” ซูเราะห์ อาลาอิมรอน อายะห์ที่ 110

อะฏออ์ บิน ยะซาร กล่าวว่า ฉันได้พบกับ อับดุลลอฮ์ อิบนิ อัมร์ อิบนิ อาศ ฉันจึงถามว่า บอกฉันได้ไหม เกี่ยวกับคุณลักษณะของท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ที่ถูกระบุในคัมภีร์อัตเตารอต เขาตอบว่า ได้ซิ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า ท่านนั้นถูกแจ้งลักษณะบางประการไว้ในอัตเตารอตเช่นเดียวกับลักษณะที่ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานคือ

يَا أيُّهَا النَّبِيُّ إنَّا أرْسَلْنَاكَ شَاهِداً وَمُبَشِّراً وَنَذِيْراً وَحِرْزاً للأُمِّيِّيْنَ وَأنْتَ عَبْدِي وَرَسُوْلِي سُمَّيْتُكَ المُتَوَكِّلُ لاَ بِفَظٍّ وَلاَ غَلِيْظٍ وَلاَ سَخَّابٍ فِي الأسْوَاقِ وَلاَ يَدْفَعُ بِالسَّيِّئَةِ السَّيِّئَةَ وَلَكِنْ يَعْفُو وَيَغْفِرُ وَلَنْ يَقْبِضَهُ حَتَّى يُقِيْمَ بِهِ المِلَّةَ العَوْجَاءَ بِأن يَقُوْلُوا : لاَ إلهَ إلاَّ اللهُ وَيَفْتَحُ بِهِ أعْيُناً عُمْياً وَآذاَناً صُمّاً وَقُلُوْباً غُلْفاً

“โอ้นบีเอ๋ย แท้จริงเราได้ส่งเจ้ามาเป็นพยาน,เป็นผู้แจ้งข่าวดี,เป็นผู้ตักเตือนถึงข่าวร้าย และเป็นผู้ที่ให้ความปลอดภัยแก่บรรดาผู้อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น, เจ้าคือบ่าวของข้าและเป็นศาสนทูตของข้า ข้าเรียกเจ้าว่าผู้ที่มอบหมาย เจ้าไม่แข็งกร้าว,ไม่หยาบ ไม่เอะอะโวยวายตามตลาด และเจ้าไม่ปกป้องความผิดด้วยความผิด แต่เจ้านั้นไม่ถือสาหาความและให้อภัย และเจ้าจะไม่เสียชีวิตจนกว่าจะได้ทำให้ลัทธิที่เฉไฉนั้นได้ดำรงมั่นในการที่พวกเขาจะกล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ โดยพระองค์จะเปิดตาที่บอด หูที่หนวก และหัวใจที่ถูกผนึกไว้” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 1981

อิบนุ อบี ฮาติม กล่าวว่า : พ่อของฉันเล่าให้ฟังว่า อับดุรเราะห์มาน บิน ซอและห์ เล่าให้เราฟังว่า อับดุรเราะห์มาน บิน มูฮัมหมัด บิน อุบัยดิลลาฮ์ อัลฟะซารีย์ เล่าให้เราฟังจาก ซัยบาน อัลนะฮ์วีย์ ว่า ก่อตาดะห์ได้บอกกับฉัน จาก อิกริมะห์ จาก อิบนิ อับบาส จากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “อายะห์นี้ถูกประทานให้แก่ฉันว่า (แท้จริงเราได้ส่งเจ้ามาพร้อมกับสัจธรรม โดยเป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้เตือนถึงข่าวร้าย) ท่านกล่าวว่า คือแจ้งข่าวดีในเรื่องสวรรค์ และตักเตือนถึงข่าวร้ายจากนรก”

คำรายงานข้างต้นนี้ แม้จะมีเนื้อหาดี แต่เป็นคำรายงานที่ “ฏออีฟ” เนื่องจากหนึ่งในผู้รายงานชื่อ อับดุรเราะห์มาน บิน มูฮัมหมัด บิน อุบัยดิลลาฮ์ อัลฟะซารีย์ รายงานจาก ซัยบาน อัลนะฮ์วีย์ และอับดุรเราะห์มาน บิน ซอและห์ อัลฟัตกีย์ ได้รายงานจากเขานั้น อบูฮาติม กล่าวว่า ไม่แข็งแรง

ถ้อยคำที่ว่า (และเจ้าจะไม่ถูกถามเกี่ยวกับสหายของเปลวเพลิง) คำว่า ولا تسأل สามารถอ่านได้หลายวิธีด้วยกันคือ อ่านว่า وَلاَ تُسْأَلُ ด้วยการใส่สระ “ดอมมะห์” ที่อักษร “ตาอ์” ซึ่งเป็นการอ่านของนักอ่านโดยส่วนใหญ่
ส่วนการอ่านตามกฏเกณฑ์ของ อุบัย บิน กะอบ์ อ่านว่า وَمَا تُسْئَلُ
และการอ่านตามหลักเกณฑ์ของ อิบนิ มัสอู๊ด อ่านว่า ولَنْ تُسْأَلَ
การอ่านตามวิธีต่างๆข้างต้นนี้มีความหมายเดียวกันคือ “เจ้าจะไม่ถูกถาม”

อิบนุ ญะรีร ได้อธิบายว่า “เราจะไม่ถามเจ้าเกี่ยวกับการปฏิเสธศรัทธาของผู้ที่ปฏิเสธศรัทธาต่อเจ้า” ดังเช่นที่พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

فَذَكِّرْ إنَّمَا أنْتَ مُذَكِّرٌ لَسْتَ عَلَيْهِمْ بِمُسَيْطِرٍ

“ดังนั้นจงตักเตือนเถิด แท้จริงเจ้านั้นคือผู้ที่ตักเตือน เจ้ามิได้มีหน้าที่บังคับขู่เข็ญพวกเขา” ซูเราะห์ อัลฆอชิยะห์ อายะห์ที่ 21-22


نَحْنُ أعْلَمُ بِمَا يَقُوْلُوْنَ وَمَا أنْتَ عَلَيْهِمْ بِجَبَّارٍ فَذَكِّرْ بِالْقُرْآنَ مَنْ يَخَافُ وَعِيْدِ

“เรารู้ดีในสิ่งที่พวกเขากล่าว และเจ้ามิได้มีหน้าที่ขู่เข็ญพวกเขา ดังนั้นจงตักเตือนด้วยอัลกุรอานแก่ผู้ที่เกรงกลัวต่อสัญญาร้าย” ซูเราะห์ กอฟ อายะห์ 45


ขณะเดียวกัน ยังมีนักวิชาการบางท่านเช่น นาเฟียะอ์ (ตามที่กุรตุบีย์ระบุไว้) และ อัตฏอบะรีย์ ระบุว่า นักวิชาการชาวมะดีนะห์บางท่าน ได้อ่านข้อความนี้ว่า

وَلاَ تَسْأَلْ عَنْ أصْحَابِ الْجَحِيْمِ


เป็นการอ่านใส่สระ “ฟะตฮะห์” ที่อักษร “ตาอ์” และสระ “สุกูน” ที่อักษร “ลาม” ซึ่งอยู่ในลักษณะของการห้าม มีความหมายว่า “และเจ้าอย่าได้ถามเกี่ยวกับสหายของเปลวเพลิง” หมายถึง เจ้าอย่าได้ถามถึงสภาพของพวกเขา คือพระองค์อัลลอฮ์ทรงห้ามท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ในการถามถึงบุคคลที่เสียชีวิตในสภาพที่ปฏิเสธศรัทธา

อับดุรรอซาก ได้รายงานว่า อัสเซารีย์ ได้บอกกับเรา จาก มูซา บิน อุบัยดะห์ จาก มูฮัมหมัด บิน กะอบ์ อัลกุรซีย์ กล่าวว่า ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

لَيْتَ شِعْرِي مَا فَعَلَ أبَوَايَ لَيْتَ شِعْرِي مَا فَعَلَ أَبَوَايَ لَيْتَ شِعْرِي مَا فَعَلَ أَبَوَايَ فنزلت ( وَلاَ تَسْأَلْ عَنْ أصْحَابِ الْجَحِيْمِ ) فَمَا ذَكَرَهُمَا حَتَّى تَوَفَّاهُ اللهُ عَزَّوَجَلَّ

“มิน่าเลย ที่พ่อแม่ของฉันได้กระทำ, พ่อแม่ของฉันมิน่าทำเช่นนั้นเลย, มิน่าเลยที่พ่อแม่ของฉันได้กระทำเช่นนั้น พระองค์อัลลออ์จึงได้ประทานอายะห์นี้มาว่า (และเจ้าอย่าได้ถามเกี่ยวกับสหายของเปลวเพลิง) แล้วท่านนบีก็ไม่ได้กล่าวถึงท่านทั้งสองอีก จนกระทั่งพระองค์อัลลอฮ์ได้ให้ท่านเสียชีวิต”

อับดุรรอซาก ได้บันทึกฮะดีษข้างต้นนี้ไว้ในหนังสือตัฟซีรของท่าน เล่มที่ 1 หน้าที่ 78 ฮะดีษเลขที่ 126 แต่ฮะดีษนี้จัดอยู่ในประเภท “มุรซัล” คือการรายงานของตาบีอีนกระโดดข้ามผู้รายงานในระดับศอฮาบะห์แล้วอ้างถึงท่านนบี ทั้งที่ตนเองก็ไม่เคยพบกับท่านนบี ยิ่งไปกว่านั้น ฮะดีษบทนี้มีผู้รายงานชื่อ มูซา บิน อุบัยดะห์ เป็นผู้รายงานที่ฏออีฟ ซึ่งอิหม่ามบุคอรี วิจารณ์ว่า “มุงกัร” อิหม่ามอะห์หมัด กล่าวว่า “การรายงานของ มูซา บิน อุบัยดะห์ ไม่เป็นที่ยอมรับแก่ฉัน” อิบนุมะอีน กล่าวว่า “ฮะดีษของเขาไม่สามารถอ้างเป็นหลักฐานได้” และ อบูฮาติม กล่าวว่า “มุงกัร”

กุรตุบีย์ กล่าวว่า : มีผู้กล่าวอ้างว่า ท่านนบีได้วิงวอนขอให้พ่อและแม่ของท่านฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์จึงได้ประทานอายะห์นี้มา ความจริงแล้ว เราได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “อัลตัซกีเราะห์” ที่ว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ให้พ่อและแม่ของท่านนบีฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แล้วทั้งสองก็ศรัทธาต่อท่านนบี” แล้วเราก็ชี้แจงด้วยคำของท่านนบีที่กล่าวแก่ชายผู้หนึ่งว่า

إنَّ أَبِي وَأبَاكَ فِي النَّارِ

“แท้จริงพ่อของฉันและพ่อของท่านอยู่ในนรก” ศอเฮียะห์ มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 302 ดูตัฟซีร อัลกุรตุบีย์ เล่มที่ 2 หน้าที่ 93


ข้อความที่ว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ให้พ่อและแม่ของท่านนบีฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แล้วทั้งสองก็ศรัทธาต่อท่านนบี” เป็นคำรายงานที่อ้างถึงคำพูดของท่านหญิงอาอิชะห์ แต่เป็นฮะดีษเก้ ซึ่ง อัลอิจลูนีย์ ได้วิจารณ์ไว้ในหนังสือ “กัชฟุลค่อฟาอ์” เล่มที่ 1 หน้าที่ 61 หน้าที่ 150 ว่า ในสายรายงานมีผู้รายงานหลายคนที่ “มัจฮูล” คือไม่เป็นที่รู้จักและไม่สามารถสอบประวัติได้ และ อิบนุ เญาซีย์ ได้ระบุฮะดีษบทนี้ไว้ในหนังสือ “อัลเมาดูอาต” เล่มที่ 1 หน้าที่ 283 และ 284 บทที่ว่าด้วยเรื่อง “การรับอิสลามของท่านหญิงอามีนะห์ บินติ วะฮ์บิน” และสรุปว่า เป็นฮะดีษเก้โดยไม่ต้องสงสัย

ฮะดีษที่ กุรตุบีย์ ได้นำมาชี้แจงนั้น เป็นฮะดีษที่อิหม่ามมุสลิม ได้รายงานสืบถึงท่าน อนัส บินมาลิก ว่า

أنَّ رَجُلاً قَالَ : يَا رَسُوْلَ اللهِ أيْنَ أَبِي ؟ قَالَ : فِي النَّارِ فَلَمَّا قَفَّى دَعَاهُ فَقَالَ : إنَّ أبِي وَأبَاكَ فِي النَّارِ


“ชายผู้หนึ่งได้ถามว่า โอ้ศาสนทูตของอัลลอฮ์ พ่อของฉันอยู่ที่ไหน ท่านตอบว่า ในนรก เมื่อชายผู้นั้นหันหลังกลับไป ท่านก็เรียกเขามาแล้วบอกว่า แท้จริงพ่อของฉันและพ่อของท่านอยู่ในนรก” ศอเฮียะห์ มุสลิม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการศรัทธา ฮะดีษเลขที่ 302

อิหม่ามนะวาวีย์ ได้อธิบายฮะดีษบทนี้ว่า

فِيْهِ أنَّ مَنْ مَاتَ عَلَى الْكُفْرِ فَهُوَ فِي النَّارِ وَلاَ تَنْفَعهُ قَرَابَة المُقَرَّبِيْنَ وَفِيْهِ أنَّ مَنْ مَاتَ فِي الْفَتْرَةِ عَلَى مَا كاَنَتْ عَلَيْهِ العَرَبُ مِنْ عِبَادَةِ الأوْثَان فَهُوَ مِنْ أهْلِ النَّارِ وَلَيْسَ هَذَا مُؤَاخَذَة قَبْل بُلُوْغِ الدَعْوَة فَإنَّ هَوُلاَءِ كَانَتْ قَدْ بَلَغَتْهُمْ دَعْوَة إبْرَاهِيْم وَغَيْره مِنَ الأنْبِيَاءِ صَلَوَاتُ اللهِ وَسَلاَمهُ عَلَيْهِمْ

“ในฮะดีษบทนี้บ่งถึงว่า ผู้ใดเสียชีวิตในสภาพปฏิเสธศรัทธานั้น เขาอยู่ในนรก และญาติใกล้ชิดก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์แก่เขาได้ และในฮะดีษบทนี้บ่งว่า ผู้ใดเสียชีวิตในช่วงรอยต่อระหว่างนบี ตามที่ชาวอาหรับได้สักการะต่อเจว็ด เขาคือชาวนรก โดยไม่ถือว่าเขาจะไม่ถูกลงโทษก่อนการเรียกร้องจะไปถึง เนื่องจากการเรียกร้องของนบีอิบรอฮีมและการเรียกร้องของนบีท่านอื่นๆ ได้ไปถึงพวกเขาแล้ว” คำอธิบาย ศอเฮียะห์ มุสลิม โดย อิหม่ามนะวาวีย์ เล่มที่ 3 หน้าที่ 70

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : زَارَ النَبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَبْرَ أُمِّهِ فَبَكَى وَأبْكَى مَنْ حَوْلَهُ فَقَالَ : اسْتَأْدَنْتُ رَبِّي فِي أنْ أسْتَغْفِرَ لَهَا فَلَمْ يُؤْذَنْ لِي وَاسْتَأْذَنْتُهُ فِي أنْ أَزُوْرَ قَبْرَهَا فَأَذِنَ لِي فَزُوْرُوا القُبُوْرَ فَإنَّهَا تُذَكِّرُ الْمَوْتَ

“อบีฮุรอยเราะห์ รอฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้เยี่ยมหลุมศพแม่ของท่าน แล้วท่านก็ร้องไห้ จึงทำให้คนที่อยู่รอบท่านพลอยร้องไห้ไปด้วย ท่านกล่าวว่า ฉันขออนุญาตต่อองค์อภิบาลของฉันที่จะขออภัยโทษให้กับแม่ของฉัน แต่พระองค์ไม่ทรงอนุมัติ แต่ฉันก็ขออนุญาตต่อพระองค์ในการเยี่ยมหลุมศพแม่ แล้วพระองค์ก็ทรงอนุมัติแก่ฉัน ดังนั้นพวกจงเยี่ยมหลุมศพกันเถิด เพราะมันทำให้รำลึกถึงความตาย” ศอเฮียะห์มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 976

อิหม่ามนะวาวีย์ ได้กล่าวไว้ในการอธิบายฮะดีษบทนี้ว่า :

فِيْهِ : النَهْيُ عَنِ الاسْتِغْفَارِ للكُفَّارِ

ฮะดีษบทนี้บ่งถึงการห้ามขออภัยโทษให้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา (อธิบายฮะดีษศอเฮียะห์มุสลิม โดยอิหม่ามนะวาวีย์ เล่มที่ 7 หน้าที่ 48)


เอานิ้ล มะอ์บู๊ด ซึ่งเป็นหนังสืออธิบาย สุนันอบีดาวูด ได้กล่าวถึงประโยคที่ (แต่พระองค์ไม่ทรงอนุมัติแก่ฉัน) แล้วอธิบายว่า

لأنَّهَا كَافِرَةٌ وَالاسْتِغْفَارُ للكَافِرِيْنَ لاَ يَجُوْزُ

“เนื่องจากเธอเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และการขออภัยโทษให้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นไม่อนุญาต” (เอานิลมะอ์บู๊ด 7/220)


หมายเหตุ : เกี่ยวกับเรื่องพ่อและแม่ของท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม นี้เราได้นำเอาความเข้าใจของนักวิชาการทั้งด้านการอธิบายอัลกุรอานและฮะดีษ (มุฟัสซีรีน และ มุฮัดดีซีน) มาแสดงให้เห็น และเราไม่ขอแสดงทัศนะใดๆ เนื่องจากเราไม่มีความรู้ส่วนตน และไม่สามารถสันนิฐานได้ วัลลอฮุอะอ์ลัม