ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 128
رَبَّنَا وَاجْعَلْنَا مُسْلِمَيْنِ لَكَ وَمِنْ ذُرِّيَّتِنَا أُمَّةً مُسْلِمَةً لَكَ وَأَرِنَا مَنَاسِكَنَا وَتُبْ عَلَيْنَا إنَّكَ أنْتَ التَّوَّابُ الرَّحِيْمُ
องค์อภิบาลของเราเอ๋ย โปรดทำให้เราทั้งสองเป็นผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์ และจากลูกหลานของเราให้เป็นประชาชาติที่สวามิภักดิ์ต่อพระองค์ และโปรดให้เราได้ทราบถึงการทำฮัจญ์ของเรา และโปรดอภัยโทษให้แก่เรา แท้จริงพระองค์ท่านนั้นเป็นผู้ทรงรับการขออภัยโทษและผู้ทรงเมตตา
อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า : ความหมายในคำวิงวอนของทั้งสองคือ โปรดทำให้เราทั้งสองเป็นผู้น้อมรับปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน, ขอให้เราทั้งสองเป็นผู้ที่สวามิภัดิ์ จงรักภักดีต่อท่าน โดยที่เราจะไม่นำสิ่งใดมาเทียบเคียงในการภักดีต่อท่าน และเราจะไม่สักการะสิ่งใดนอกจากท่าน
อิบนุ ญะรีร ได้อ้างคำรายงานจาก อิบนุ อบี ฮาติม ว่า พ่อของฉันเล่าให้ฟังว่า อิสมาอีล บิน รอญาอ์ บิน ฮัยยาน อัลฮิศนีย์ อัลกุรซีย์ เล่าให้เราฟังว่า มะอ์กิล บิน อุบัยดิลลาฮ์ เล่าให้เราฟังจาก อับดุลการีม ในการอธิบายข้อความที่ว่า (องค์อภิบาลของเราเอ๋ย โปรดทำให้เราทั้งสองเป็นผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์) เขากล่าวว่า หมายถึงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ใจตอพระองค์ และข้อความที่ว่า (และจากลูกหลานของเราให้เป็นประชาชาติที่สวามิภักดิ์ต่อพระองค์) หมายถึงเป็นประชาชาติที่มีความบริสุทธิ์ใจ
อีกรายงานหนึ่งจาก อาลี บิน อัลฮุเซน เล่าให้เราฟังว่า อัลมุก็อดดามีย์ เล่าให้เราฟังว่า สะอี๊ด บิน อามิร เล่าให้เราฟังจาก ซะลาม บิน อบีมุฏิอ์ ในข้อความที่ว่า (โปรดทำให้เราทั้งสองเป็นผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์) เขากล่าวว่า ทั้งสองนั้นเป็นผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์อยู่แล้ว แต่ทั้งสองได้วิงวอนขอเพื่อยืนยัน
อัสซุดดีย์ กล่าวว่า (และจากลูกหลานของเราให้เป็นประชาชาติที่สวามิภักดิ์ต่อพระองค์) หมายถึง ลูกหลานของท่านที่เป็นชาวอาหรับ แต่อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า ข้อความนี้ครอบคลุมถึงชาวอาหรับและชนชาติอื่นด้วย เนื่องจากลูกหลานของนบีอิบรอฮีม และนบีอิสมาอีล นั้นมีทั้ง บนีอิสรอีลอีล (คือชาวยะฮูดและนะศอรอ)
พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
وَمِنْ قَوْمِ مُوْسَى أُمَّةٌ يَهْدُوْنَ بِالْحَقِّ وَبِهِ يَعْدِلُوْنَ
“และส่วนหนึ่งจากกลุ่มชนของมูซานั้นเป็นประชาชาติที่คอยแนะนำผู้อื่นด้วยสัจธรรม และด้วยสัจธรรมนั้นพวกเขาจึงยุติธรรม” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 159
อิบนุ กะษีร กล่าวว่า : “คำอธิบายของอิบนุ ญะรีร ไม่ได้ค้านกับคำอธิบายของ อัสซุดดีย์ เพราะการกล่าวถึงชนกลุ่มหนึ่งก็ไม่ได้เป็นการปฏิเสธชนอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าสำนวนของประโยคนี้จะหมายถึงชาวอาหรับก็ตาม ดังเช่นถ้อยคำวิงวอนที่ถัดจากอายะห์นี้ว่า
رَبَّنَا وَابْعَثْ فِيْهِمْ رَسُوْلاً مِنْهُمْ يَتْلُو عَلَيْهِمْ آيَاتِكَ وَيُعَلِّمُهُمُ الْكِتاَبَ وَالحِكْمَةَ وَيُزَكِّيْهِمْ
“องค์อภิบาลของเราเอ๋ย ขอได้โปรดส่งรอซูลคนหนึ่งจากพวกเขาไปในหมู่พวกเขาเอง เพื่อเขาจะได้อ่านโองการของพระองค์แก่พวกเขา และสอนคัมภีร์และบทบัญญัติให้แก่พวกเขา และชำระพวกเขาให้บริสุทธิ์” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 129
เป้าหมายของอายะห์นี้ก็คือท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงส่งมาในหมู่พวกเขา ดังที่พระองค์ได้ทรงกล่าวว่า
هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الأُمِّيِيْنَ رَسُوْلاً مِنْهُمْ
“พระองค์คือผู้ทรงแต่งตั้งในกลุ่มชนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็นให้เป็นรอซูลในหมู่พวกเขา” ซูเราะห์ อัลญุมุอะห์ อายะห์ที่ 2
สาสน์ที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้นำมาประกาศนั้นไม่ได้ขีดกรอบเฉพาะแก่ชนชาติใดหรือสีผิวใด ไม่ว่าจะคนผิวดำหรือแดง ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า
قُلْ يَا أيُّهَا النَّاسُ إنِّي رَسُوْلُ اللهِ إلَيْكُمْ جَمِيْعاً
“จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด โอ้บรรดามนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงฉันคือศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์มายังพวกท่านทั้งหมด” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 158
และยังมีหลักฐานอีกมากมายที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 395
ถ้อยคำขอวิงวอนตามสำนวนของนบีอิบรอฮีม และ นบีอิสมาอีล นี้ บรรดาผู้ศรัทธาได้นำมาวิงวอนขอกันอย่างเนืองนิตย์ ดังเช่นพระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
وَالَّذِيْنَ يَقُوْلُوْنَ رَبَّنَا هَبْ لَنَا مِنْ أزْوَاجِنَا وَذُرِّيَّتِنَا قُرَّةَ أَعْيُنٍ وَاجْعَلْنَا للْمُتَّقِيْنَ إمَاماً
“และบรรดาผู้ซึ่งพวกเขากล่าวว่า องค์อภิบาลของเราเอ๋ย ได้โปรดประทานให้แก่เรา จากคู่ครองของเราและลูกหลานของเราให้เป็นที่ชื่นตา และได้โปรดทำให้เราเป็นผู้นำแห่งบรรดาผู้ยำเกรง” ซูเราะห์ อัลฟุรกอน อายะห์ที่ 74
คำวิงวอนขอเช่นนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งบัญญัติ คือความปรารถนาที่จะให้ตัวเองและทายาทได้สักการะต่อพระองค์อัลลอฮ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีภาคีใดๆต่อพระองค์ ดังเช่นถ้อยคำที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวแก่นบีอิบรอฮีมว่า
إنِّي جَاعِلُكَ لِلنَّاسِ إمَاماً قَالَ وَمِنْ ذُرِّيَّتِي قَالَ لاَ يَنَالُ عَهْدِي الظَّالِمِيْنَ
“แท้จริงข้าจะให้เจ้าเป็นผู้นำแห่งมนุษย์ชาติ เขากล่าวว่า และจากลูกหลานของข้าด้วย พระองค์กล่าวว่า สัญญาของข้านั้นจะไม่ได้รับแก่บรรดาผู้อธรรม” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 124
และถ้อยคำวิงวอนขอของนบีอิบรอฮีมให้แก่ตัวเองและลูกหลานของท่าน ดังที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงนำมาเล่าให้ฟังว่า
وَاجْنُبْنِي وَبَنِي أنْ نَعْبُدَ الأصْنَامَ
“และขอให้ตัวข้าและลูกหลานของข้าพ้นจากการบูชาเจว็ดด้วยเถิด” ซูเราะห์ อิบรอฮีม อายะห์ที่ 35
และหลักฐานยืนยันจากฮะดีษศอเฮียะห์ ในบันทึกของ อิหม่ามมุสลิม จากการรายงานของ อบู ฮุรอยเราะห์ จากท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إذَا مَاتَ الإنْسَانُ انْقَطَعَ عَنْهُ عَمَلُهُ إلاَّ مِنْ ثَلاَثَةٍ : إلاَّ صَدَقَةٍ جَارِيَّةٍ أوْ عِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِهِ أوْ وَلَدٍ صَالِحٍ يَدءعُو لَهُ
“เมื่อมนุษย์เสียชีวิต งานของเขาได้ขาดตอนนอกจากสามประการคือ นอกจากการบริจาคทานถาวร หรือความรู้ที่เป็นประโยชน์ หรือลูกที่ดีขอดุอาอ์ให้” ศอเฮียะห์ มุสลิม ฮะดีษเลขที่ 3084
และถ้อยคำที่ว่า (และโปรดให้เราได้ทราบถึงการทำฮัจญ์ของเรา) อิบนุ ญุรอยจญ์ กล่าวว่า จาก อะฏออ์ ในการอธิบายถ้อยคำที่ว่า (และโปรดให้เราได้ทราบถึงการทำฮัจญ์ของเรา) หมายถึง โปรดแสดงแก่เราและโปรดสอนเรา
มุญาฮิด กล่าวว่า (และโปรดให้เราได้ทราบถึงมะนาซิกของเรา) หมายถึง ที่เชือดของเรา และถูกรายงานมาจาก อะฏออ์ และ ก่อตาดะห์ ในทำนองนี้เช่นเดียวกัน
สะอี๊ด บิน มันซูร กล่าวว่า : อัตต๊าบ บิน บะชีร เล่าให้เราฟังว่า จาก คุศ็อยฟ์ จาก มุญาฮิด กล่าวว่า อิบรอฮีม กล่าวว่า : (และโปรดให้เราได้ทราบถึงการทำฮัจญ์ของเรา) ญีบรีลได้พานบี อิบรอฮีม มาจนกระทั่งถึงที่ตั้งของกะอ์บะห์ แล้วกล่าวว่า จงยกรากฐานของอาคารกะอ์บะห์ แล้วนบี อิบรอฮีม ก็ทำการยกรากฐานของอาคารกะอ์บะห์จนกระทั่งสมบูรณ์ หลังจากนั้น ญิบรีล ก็จูงมือนบี อิบรอฮีม แล้วพามาถึง ซอฟา แล้วกล่าวว่า นี่คือสัญลักษณ์แห่งอัลลอฮ์ เสร็จแล้วก็พานบี อิบรอฮีม มาที่ มัรวะห์ แล้วกล่าวว่า นี่คือสัญลักษณ์แห่งอัลลอฮ์ หลังจากนั้นก็พาไปที่มีนา แต่เมื่อถึง อะกอบะห์ ก็พบว่า อิบลีส ได้ยืนอยู่ที่ต้นไม้ ญิบรีล กล่าวว่า เจ้าจงกล่าวตักบีร แล้วขว้างมัน ท่านนบี อิบรอฮีม ก็กล่าวตักบีร แล้วก้อนกรวรดขว้างไปที่มัน แต่อิบลีส ก็ขยับไปอยู่ที่เสาต้นกลาง เมื่อ ญิบรีล พานบีอิบรอฮีมผ่านมาก็กล่าวว่า เจ้าจงตักบีรแล้วขว้างมัน นบีอิบรอฮีมจึงตักบีรแล้วเอาก้อนกรวดขว้างไปที่มัน ซึ่ง อิบลีส พยายามที่จะแทรกเข้ามาในการทำฮัจญ์แต่ก็ไม่สามารถกระทำได้ หลังจากนั้นญิบรีลได้พานบีอิบรอฮีมมาจนถึง ทุ่งอะรอฟะห์ แล้วกล่าวว่า เจ้ารู้สิ่งที่ข้าแสดงให้เจ้าเห็นแล้วใช่ไหม เขากล่าวเช่นนี้สามครั้ง นบีอิบรอฮีม ตอบว่า ใช่
อิบนุ กะษีร กล่าวว่า “เรื่องราวข้างต้นนี้ถูกรายงานมาจาก อบี มิจลัซ และ ก่อตาดะห์ ในทำนองนี้เช่นเดียวกัน” ตัฟซีร อิบนุ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 396