ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 16


أُوْلئِكَ الَّذِيْنَ اشْتَرَوُا الضَّلاَلَةَ بِالْهُدَى فَمَا رَبِحَتْ تِجَارَتُهُمْ وَمَا كَانُوا مُهْتَدِيْنَ

เหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ซื้อความหลงผิดด้วยทางนำ แต่การค้าของพวกเขาไม่ได้ก่อให้เกิดผลกำไร และพวกเขาก็ไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับทางนำ


พระองค์อัลลอฮ์ทรงเปรียบพฤติกรรมของบรรดาผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธา ด้วยคำว่า “ซื้อ” และคำว่า “การค้า” ซึ่งย่อมมีการลงทุน แต่ต้นทุนการค้าของพวกเขาคือ ทางนำ ที่เอาไปแลกกับความหลงผิด ด้วยเหตุนี้ การค้าของพวกเขาจึงไม่ก่อให้เกิดกำไร

“อัสซุดดีย์ ได้กล่าวไว้ในตัฟซีรของเขา จากอบี มาลิก จากอบีศอและห์ จาก อิบนิ อับบาส และจาก มุรเราะห์ จาก อิบนิ มัสอู๊ด และศอฮาบะห์อีกกลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า (เหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ซื้อความหลงผิดด้วยทางนำ) หมายถึง พวกเขาได้ยึดถือความหลงผิดและละทิ้งทางนำ
อิบนุ อิสหาก กล่าวว่า จากมูฮัมหมัด บิน อบี มูฮัมหมัด จาก อิกริมะห์ หรือจาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า (เหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ซื้อความหลงผิดด้วยทางนำ) หมายถึง เอาการอีหม่านไปแลกการเป็นกุฟร์
และมุญาฮิด กล่าวว่า : พวกเขาได้ศรัทธาแล้วก็ปฏิเสธการศรัทธา
ก่อตาดะห์ กล่าวว่า : พวกเขาชอบหลงผิดบนทางนำ ซึ่งการอธิบายของก่อตาดะห์นี้ใกล้เคียงกับความหมายในคำพูดของอัลลอฮ์ที่กล่าวถึงพวกซะมูดว่า

فَأمَّا ثَمُوْدُ فَهَدَيْنَاهُمْ فَاسْتَحَبُّوا الْعَمَى عَلَى الْهُدَى

“ส่วนพวกซะมูดนั้น เราได้ชี้แนะพวกเขา แต่พวกเขาชอบที่จะเอาการตาบอดบนทางนำ” ซูเราะห์ฟุศศิลัต อายะห์ที่ 17


ขณะที่บรรดาผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธาได้อยู่กับทางนำ คือได้รู้,ได้ยิน,ได้เห็นสัจธรรมจากท่านรอซูล แต่เนื่องจากหัวใจของพวกเขาปฏิเสธ ดังนั้นพวกเขาจึงมองไม่เห็นคุณค่าทางนำที่พวกเขาได้สัมผัสอยู่ จึงได้ไขว่คว้าความหลงผิดมาแทนที่ การกระทำเยี่ยงนี้ มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ กับพวกเขาเลย

“อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า : บิชร์ ได้เล่าให้เราฟังว่า ยะซีด ได้เล่าให้เราฟังว่า สะอี๊ด เล่าให้เราฟังจาก ก่อตาดะห์ ว่า (แต่การค้าของพวกเขาไม่ได้ก่อให้เกิดกำไร และพวกเขาก็ไม่ได้เป็นผู้ที่ได้รับทางนำ) คือพวกท่านจะได้เห็นว่าพวกเขาออกจากทางนำสูความหลงผิด, จากกลุ่มที่ถูกต้องสู่กลุ่มย่อยที่หลงผิด, จากความสงบสุขสู่ความหวาดกลัว, และจากซุนนะห์สู่บิดอะห์
และ อิบนุ อบีฮาติม ได้รายงานเรื่องนี้ไว้เช่นเดียวกัน จากฮะดีษของ ยะซีด บิน ซุรอยอ์ จาก สะอี๊ด จาก ก่อตาดะห์ ซึ่งมีเนื้อหาเดียวกัน” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 79