ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 17
مَثَلُهُمْ كَمَثَلِ الَّذِي اسْتَوْقَدَ نَاراً فَلَمَّا أَضَاءَتْ مَا حَوْلَهُ ذَهَبَ اللهُ بِنُوْرِهِمْ وَتَرَكَهُمْ فِي ظُلُمَاتِ لاَ يُبْصِرُوْنَ
เปรียบพวกเขาได้ดั่งผู้ที่จุดไฟขึ้น ครั้นเมื่อได้เกิดแสงสว่างสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา อัลลอฮ์ก็เอารัศมีของพวกเขาไป และทิ้งพวกเขาไว้ในความมืดที่ไม่สามารถมองเห็น
อีกกรณีหนึ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงเปรียบบรรดาผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธาว่า เป็นดั่งคนที่จุดไฟขึ้นท่ามกลางความมืด โดยหวังว่าแสงสว่างจะเป็นประโยชน์กับเขา ในทางตรงกันข้ามแสงสว่างที่ถูกจุดขึ้นนั้นกลับไม่เป็นประโยชน์กับเขาเลย ดังเช่นคนตาบอดที่ถือเทียนนำทาง ซึ่งแสงสว่างจากเทียนในมือของเขาไม่สามารถทำให้เขามองเห็นสิ่งต่างๆ
การเปรียบบรรดาผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธาด้วยคำเปรียบกับพฤติกรรมของบุคคลเพียงคนเดียว เช่นนี้ถูกระบุในอายะห์อื่นๆ ด้วย เช่น อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
فَإذَا جَاءَ الْخَوْفُ رَأَيْتَهُمْ يَنْظُرُوْنَ إلَيْكَ تَدُوْرُ أعْيُنُهُمْ كَالَّذِي يُغْشَى عَلَيْهِ مِنَ الْمَوْتِ
เมื่อความกลัวได้ปรากฏขึ้น เจ้าจะได้เห็นพวกเขามองมายังเจ้า สายตาของพวกเขากลอกกลิ้ง ดั่งเช่นผู้มีอาการใกล้ตาย ซูเราะห์อัลอะห์ซาบ อายะห์ที่ 19
อะฏออ์ อัลคุรอซานีย์ ได้กล่าวถึงถ้อยคำที่ว่า (เปรียบพวกเขาได้ดั่งผู้ที่จุดไฟขึ้น) คือ การเปรียบผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธา ซึ่งได้มองเห็นและรับรู้เป็นครั้งคราว แต่หลังจากนั้นก็ใจบอด
อิบนุ อบี ฮาติม ได้กล่าวว่า ถูกรายงานจาก อิกริมะห์, อัลฮะซัน, อัลซุดดีย์ และอัรรอเบียอ์ บิน อะนัส ในการอธิบายเช่นเดียวกับคำอธิบายของ อะฏออ์ อัลคุรอซานีย์ เช่นเดียวกัน
อับดุลเราะห์มาน บินเซด บิน อัสลัม ได้อธิบายในคำพูดที่ว่า (เปรียบพวกเขาได้ดั่งผู้ที่จุดไฟขึ้น) จนกระทั่งจบอายะห์ว่า นี่คือลักษณะของบรรดาผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธา ซึ่งพวกเขาเคยศรัทธาจนกระทั่งการศรัทธานั้นส่องสว่างอยู่ในหัวใจของพวกเขา ดังเช่นการส่องสว่างของไฟซึ่งพวกเขาได้จุดมันขึ้น แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ปฏิเสธการศรัทธา อัลลอฮ์จึงได้เอารัศมี (การศรัทธา) ของพวกเขาไปโดยการถอดมันออก ดังเช่นเอาแสงสว่างไปจากไฟ แล้วปล่อยให้พวกเขาอยู่ในความมืดที่ไม่สามารถมองเห็น ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 81
คำอธิบายนี้ได้ชี้ประเด็นของการเปรียบเทียบว่า หัวใจของบรรดาผู้กลับกลอกนั้นเคยศรัทธาจึงทำให้เกิดความสว่างในหัวใจ คืออิสลามได้เคยส่องสว่างและนำทางพวกเขามาแล้ว แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ปฏิเสธการศรัทธา ซึ่งไฟที่เคยส่องสว่างก็ดับลง ทำให้หัวใจของพวกเขามืดมน แม้ว่าพวกเขาจะได้ยิน,ได้เห็นสัจธรรมก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับพวกเขาเลย
อัตเฏาะฮ์ฮาก กล่าวว่า (อัลลอฮ์ก็เอารัศมีของพวกเขาไป) คำว่า รัศมีของพวกเขา คือ การศรัทธาของพวกเขาซึ่งพวกเขาได้เคยกล่าวถ้อยคำยืนยันนี้
อับดุลรอซาก กล่าวว่า จาก มะอ์มัร จาก ก่อตาดะห์ ได้อธิบายข้อความที่ว่า (เปรียบพวกเขาได้ดั่งผู้ที่จุดไฟขึ้น ครั้นเมื่อได้เกิดแสงสว่างสิ่งที่อยู่รอบตัวเขา) หมายถึงการกล่าวด้วยถ้อยคำที่ว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลั้ลลอฮ เป็นแสงส่วางแก่พวกเขา พวกเขาจึงกิน,ดื่มและใช้ชีวิตปกติในดุนยา ได้แต่งงานกับสตรีเพศ และเลือดของพวกเขาได้รับการคุ้มครอง จนกระทั่งพวกเขาเสียชีวิต อัลลอฮ์ได้เอารัศมีของพวกเขาไป และปล่อยให้พวกเขาอยู่ในความมืดที่ไม่สามารถมองเห็น
สะอี๊ด ได้กล่าวว่า จาก ก่อตาดะห์ในการอธิบายอายะห์นี้ว่า ความหมายคือ ผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธาได้กล่าวคำว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลั้ลลอฮ์ จึงทำให้แสงสว่างแก่เขาในดุนยา แล้วเขาก็แต่งในหมู่มุสลิม ได้ร่วมสงคราม,ได้สืบมรดก และได้รับสิทธิ์ในการคุ้มครองเลือดของเขาและทรัพย์ของเขา จนกระทั่งขณะเสียชีวิตเขาก็กลับปฏิเสธ เนื่องจากคำปฏิญาณนั้นไม่ได้ออกจากหัวใจที่ศรัทธา และไม่จริงใจในการกระทำของเขา
ส่วนข้อความที่ว่า (และทิ้งพวกเขาไว้ในความมืด) นั้น อาลี บินอบี ฏอลฮะห์ กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส (และทิ้งพวกเขาไว้ในความมืด) เขากล่าวว่า ในการลงโทษเมื่อพวกเขาเสียชีวิต
มูฮัมหมัด บิน อบี อิสหาก กล่าวว่า จาก มูฮัมหมัด บิน อบี มูฮัมหมัด จาก อิกริมะห์ หรือ สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส ในข้อความที่ว่า (และทิ้งพวกเขาไว้ในความมืด) คือได้มองเห็นสัจธรรมและก็กล่าวไปตามนั้น จนกระทั่งพวกเขาออกจากความมืดมนของการปฏิเสธการศรัทธา พวกเขาก็ดับแสงสว่างด้วยการปฏิเสธและการกลับกลอกการศรัทธาของพวกเขา ฉะนั้นอัลลอฮ์จึงได้ทิ้งพวกเขาไว้ในอยู่ในความมืดมนของการปฏิเสธการศรัทธาต่อ โดยที่พวกเขาไม่สามารถมองเห็นทางนำ และไม่สามารถดำรงอยู่บนสัจธรรม
อัสซุดดีย์ ได้กล่าวไว้ในตัฟซีรของเขาด้วยสายรายงานของเขาเองว่า (และทิ้งพวกเขาไว้ในความมืด) ความมืดนั้นคือการกลับกลอกของพวกเขา
อัลฮะซัน อัลบัศรีย์ กล่าวว่า (และทิ้งพวกเขาไว้ในความมืดที่ไม่สามารถมองเห็น) อย่างนี้แหละคือสภาพของผู้กลับกลอกการศรัทธาขณะที่พวกเขาเสียชีวิต ผลของเขาที่เป็นการประพฤติชั่วจะปกคลุมเขา โดยไม่พบผลงานของเขาที่เป็นความดีที่จะทำให้เขาสามารถยืนยันถ้อยคำที่ว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลั้ลลอฮ์ ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 82