ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 23


وَإنْ كُنْتُمْ فِي رَيْبٍ مِّمَّا نَزَّلْنَا عَلَى عَبْدِنَا فَأْتُوا بِسُوْرَةٍ مِّن مِّثْلِهِ وَادْعُوا شُهَدَاءَكُمْ مِّنْ دُوْنِ اللهِ إنْ كُنْتُمْ صَادِقِيْنَ

และหากพวกเจ้าอยู่ในความสงสัย จากสิ่งที่เราได้ประทานให้แก่บ่าวของเรา ดังนั้นจงนำมาสักบทหนึ่งให้เหมือนกัน และจงเรียกร้องประจักษ์พยานในหมู่พวกเจ้านอกจากอัลลอฮ์ หากพวกเจ้าเป็นผู้สัจจริง


พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานอัลกุรอานให้แก่ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มาจากอัลลอฮ์ ที่ไม่มีผู้ใดสามารถเลียนแบบได้ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันในการเป็นศาสนทูตของท่านนบีมูฮัมหมัด

พระองค์ได้ทรงกล่าวท้าทายไว้ในอายะห์นี้ว่า “และหากพวกเจ้าอยู่ในความสงสัยจากสิ่งที่ถูกประทานให้แก่บ่าวของเรา” หมายถึงสงสัยในอัลกุรอานที่ประทานให้แก่นบีมูฮัมหมัดว่าจะไม่ได้มาจากอัลลอฮ์จริง ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม
เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม นั้นเป็นผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงยืนยันไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า

هُوَ الَّذِي بَعَثَ فِي الأُمِّيِيْنَ رَسُوْلاً مِّنْهُمْ

“พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งศาสนทูตในกลุ่มคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็นจากพวกเขา” ซูเราะห์อัลญุมุอะห์ อายะห์ที่ 2


ดังนั้นการที่ผู้ใดจะกล่าวอ้างว่า ท่านนบีมูฮัมหมัดได้แต่งอัลกรุอานขึ้นเอง หรือได้อ่านหรือคัดลอกมาจากตำราเล่มใด จึงเป็นคำกล่าวหาที่เลื่อนลอย
และหากคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็นอย่างมูฮัมหมัดกระทำได้จริงตามที่กล่าวหา ดังนั้นผู้อื่นก็ย่อมกระทำได้และย่อมทำได้ดีกว่า โดยเฉพาะในปัจจุบัน มีคนที่อ่านออกเขียนได้ อีกทั้งมีความรู้,ความชำนาญในศาสตร์อื่นๆมากมาย
เมื่อคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่เป็นชื่อมูฮัมหมัด เพียงคนเดียว ได้นำมาทั้งหมด 114 บท พระองค์อัลลอฮ์ทรงท้าทายว่า “ดังนั้นจงนำมาสักบทหนึ่ง” คือให้ผู้ที่สงสัยหรือผู้กล่าวหา นำมาแค่เพียงบทเดียว ไม่ว่าจะเป็นบทที่สั้นหรือยาวก็ได้ อีกทั้งให้ระดมผู้คนมาช่วยกันกระทำการเยี่ยงนี้โดยไม่จำกัดจำนวน โดยพระองค์กล่าวว่า “และจงเรียกร้องประจักษ์พยานในหมู่พวกเจ้า” คำว่า “ประจักษ์พยาน” ในที่นี้
ท่านอิบนิ อับบาส อธิบายว่า คือผู้ให้ความช่วยเหลือในหมู่พวกเจ้า
อัสซุดดีย์ ได้กล่าวว่า จาก อบี มาลิก ให้ความหมายว่า หุ้นส่วนหรือผู้ร่วมขบวนการของพวกเจ้า
มุญาฮิด กล่าวว่า (และจงเรียกร้องประจักษ์พยานในหมู่พวกเจ้า) หมายถึง รวบรวมผู้คนให้เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้

และพระองค์อัลลอฮ์ทรงท้าทายในท้ายอายะห์นี้ว่า “หากพวกเจ้าเป็นผู้สัจจริง” คือผู้สัจจริงย่อมกระทำได้ มิใช่เป็นผู้กล่าวหาผู้อื่นอย่างเลื่อนลอย แต่ปรากฏว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่ปรากฏว่าคนทั้งโลกผู้สัจจริงในกรณีนี้แม้แต่คนเดียว ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์อัลลอฮ์ ยังกล่าวอีกว่า

قُلْ لَئِنِ اجْتَمَعَتِ الإنْسُ وَالْجِنُّ عَلَى أنْ يَأْتُوا بِمِثْلِ هَذَا الْقُرْآنِ لاَ يَأْتُوْنَ بِمِثْلِهِ وَلَوْكاَنَ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ ظَهِيْراً


“ประกาศเถิดมูฮัมหมัด หากว่ามนุษย์และญินร่วมกันในการนำมาเช่นเดียวกับอัลกุรอานนี้ พวกเขาไม่สามารถนำมาเช่นเดียวกันได้ ถึงแม้ว่าพวกเขาต่างเป็นผู้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็ตาม” ซูเราะห์ อัลอิสรออ์ อายะห์ที่ 88