ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 3


اَلَّذِيْنَ يُؤْمِنُوْنَ بِالْغَيْبِ وَيُقِيْمُوْنَ الصَّلاَةَ وَمِمَّا رَزَقْنَاهُمْ يُنْفِقُوْنَ

คือบรรดาผู้ศรัทธาในสิ่งที่พ้นญาณวิสัย และดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และส่วนหนึ่งจากที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา ก็ได้บริจาค


พระองค์อัลลอฮ์ทรงแจ้งถึงลักษณะบางประการของบรรดาผู้ยำเกรงว่า คือบรรดาผู้ซึ่งศรัทธามั่นในสิ่งที่พ้นญาณวิสัย
คำว่า “อัลฆ็อยบ์” บางท่านให้ความหมายว่าคือ สิ่งเร้นลับ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดไปว่าเป็นเรื่องผีสางนางไม้ แต่ความจริงแล้ว หมายถึงสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา,ไม่สามารถได้ยินได้ด้วยหู,ไม่สามารถสัมผัสได้จากความรู้สึกส่วนใดของร่างกาย, และสติปัญญาของมนุษย์ก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้เอง เช่นเรื่อง ชีวิตหลังความตาย, สภาพการทรมานในหลุมศพ, การฟื้นคืนชีพในวันกิยามะห์, สวรรค์,นรก เป็นต้น
เรื่องที่นำมากล่าวเป็นตัวอย่างนี้ถูกเรียกว่า “อัลฆ็อยบ์” หรือสิ่งที่พ้นญาณวิสัย เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถล่วงรู้ได้ด้วยตนเองไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆก็ตาม แต่บรรดาผู้ศรัทธาได้เชื่อมั่นในเรื่องราวเหล่านี้ถึงแม้จะไม่เคยเห็นและไม่เคยสัมผัสได้ก็ตาม แต่พวกเขาก็ศรัทธาตามที่พระองค์อัลลอฮ์และรอซูลของพระองค์ได้นำมาบอก หรือเชื่อตามหลักฐานที่ถูกระบุอยู่ในอัลกุรอานและฮะดีษ

ไม่มีผู้ใดอ้างตนว่าเป็นผู้ที่สามารถล่วงรู้เรื่อง “อัลฆ็อยบ์” นอกจากเขาเป็นผู้โกหก ดั่งเช่นการอ้างของนักซูฟีบางคนว่าเป็นผู้มี “คัชฟ์” หรือ “กะชัฟ” ซึ่งหมายถึงเป็นผู้ที่ประจักษ์แจ้งทางจิตวิญญาณ หรือมีญาณทิพย์ ที่สามารถล่วงรู้ชีวิตหลังความตาย และสามารถเห็นสภาพการทรมานในหลุมศพ และ ฯลฯ ตามที่มีระบุอยู่ในตำราของเหล่าซูฟี ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนาทั้งสิ้น
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

عَالِمُ الْغَيْبِ فَلاَ يُظْهِرُ عَلَى غََيْبِهِ أَحَداً إلاَّ مَنِ ارْتَضَى مِن رَّسُوْلٍ


“พระองค์ผู้ทรงรู้เรื่องพ้นญาณวิสัย โดยพระองค์จะไม่ทรงเผยเรื่องพ้นญาณวิสัยของพระองค์แก่ผู้ใด นอกจากผู้ที่ทรงพึงพอใจจากรอซูล” ซูเราะห์ อัลญิณ อายะห์ที่ 25-26

แม้กระทั่ง ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ก็มิได้เป็นผู้ที่มีหูทิพย์, ตาทิพย์, หรือญาณทิพย์จนสามารถหยั่งรู้ฟ้าดิน หรือมองข้ามมิติได้ด้วยตัวเอง แต่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทาน “วะฮีย์” ให้แก่ท่าน เพื่อให้นำมาสั่งสอนและตักเตือนแก่บรรดาผู้คน แม้ว่าผู้ศรัทธาจะไม่ได้สัมผัสกับเรื่องเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ศรัทธามั่นตามที่ท่านนบีได้นำมาบอก
อีกลักษณะหนึ่งที่ถูกกล่าวไว้ในอายะห์นี้คือ ดำรงการละหมาดและจ่ายซะกาต ซึ่งทั้งสองประการนี้คือรากฐานอิสลามของผู้ศรัทธา ดังที่ท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

بُنِيَ الإسْلاَمُ عَلَى خَمْسٍ : شَهَادَةِ أنْ لاَ إلهَ إلاَّ اللهُ وَأنَّ مُحَمَّدا رَسُوْلُ اللهِ وَإقَامِ الصَّلاَةِ وَإيْتَاءِ الزَكَاةِ وَالْحَجِّ وَصَوْمِ رَمَضَانَ


“อิสลามวางอยู่บนรากฐานห้าประการคือ : การปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ และมูฮัมหมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮ์, การดำรงละหมาด, การจ่ายซะกาต, การทำฮัจญ์ และการถือศีลอดเดือนรอมฏอน” ศอเฮียะห์บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 7

ในเรื่องของการละหมาดนั้น “อิบนิ อับบาส กล่าวว่า : คือการดำรงมั่นในข้อบังคับของการละหมาด
อัตเฏาะฮ์ฮาก ได้รายงานจาก อิบนิ อับบาส โดยกล่าวว่า : คือความสมบูรณ์ของการรุกัวอ์,สุญูด,การอ่าน,การมีสมาธิ และการผินหน้าสู่กิบละห์
ก่อตาดะห์ กล่าวว่า : คือการรักษาเวลาของการละหมาด, การอาบน้ำละหมาด, การรุกัวอ์และการสุญูด
มะกอติล บิน ฮัยยาน กล่าวว่า : การดำรงละหมาดคือการรักษาเวลา, การอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์, การรุกัวอ์,การสุญูด,การอ่านอัลกุรอานในละหมาดอย่างสมบูรณ์ อีกทั้งการอ่านตะชะฮุดและการศอลาวาตแก่ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม อย่างนี้คือการดำรงละหมาด” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 65

ในเรื่องของ “ซะกาต” คือการจ่ายทรัพย์ส่วนหนึ่งตามข้อกำหนดของศาสนานั้น เป็นข้อบัญญัติสำหรับผู้ที่มีความสามารถเท่านั้น คือมีปริมาณทรัพย์ในอัตราที่ศาสนากำหนด และครบรอบปี หรือครบรอบฤดูกาล ตามแต่ละประเภทของทรัพย์ อย่างนี้คือ “ศ่อดะเกาะห์มัฟรูเดาะห์” หมายถึงการบริจาคภาคบังคับ หรือที่เรียกว่า ซะกาต นั่นเอง
ส่วนการบริจาคตามความสมัครใจคือ “ศ่อดะเกาะห์ตะเตาวะอ์” หมายถึงการบริจาคภาคอาสา ซึ่งเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำไม่ใช่ข้อบังคับ ดังนั้นจึงไม่มีเงื่อนไขเรื่องครบรอบหรือปริมาณของทรัพย์ที่จะบริจาค ซึ่งจะได้นำมากล่าวในอายะห์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ อินชาอัลลอฮ์