ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 34
وَإذْ قُلْنَا لِلْمَلاَئِكَةِ اسْجُدُوا لآدَمَ فَسَجَدُوا إلاَّ إبْلِيْسَ أبَى وَاسْتَكْبَرَ وَكاَنَ مِنَ الْكَافِرِيْنَ
และจงทบทวน ขณะที่เราได้กล่าวแก่มะลาอิกะห์ว่า พวกเจ้าจงแสดงคาราวะต่ออาดัม แล้วพวกเขาก็แสดงคาราวะ นอกจากอิบลิส ที่ปฏิเสธและแสดงความโอหัง และมันได้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ปฏิเสธการศรัทธา
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่มนุษย์เป็นอย่างยิ่ง ที่พระองค์ทรงนำเหตุการณ์นี้มาแจ้งให้มนุษย์ได้รับทราบ หากมิเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดทราบว่า อาดัม ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกเขาได้รับเกียรติอย่างมากมายถึงขนาดที่พระองค์ทรงใช้ให้เหล่ามะลาอิกะห์และญินแสดงคาราวะต่อบรรพบุรุษของเหล่ามนุษย์
พระองค์ทรงขึ้นต้นอายะห์นี้โดยการกล่าวว่า ได้ทรงสั่งแก่บรรดามะลาอิกะห์ให้แสดงคาราวะต่ออาดัม โดยข้อความระบุด้วยคำว่า อุสญุดู แปลว่า พวกเจ้าจงสุญูด ทำให้บางคนเข้าใจไปว่า อัลลอฮ์ได้สั่งใช้ให้ก้มกราบต่ออาดัม เช่นเดียวกับกริยาที่กระทำในท่าละหมาดคือ คือการเอาหน้าผาก,ฝ่ามือ,หัวเข่าและปลายเท้าจรดพื้น แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า สุญูด ในที่นี้มีความหมายในทางภาษา หมายถึงการแสดงคาราวะไม่ใช่การก้มกราบ
และจากความเข้าใจผิดทางด้านภาษานี้เอง ทำให้นักซูฟีย์ (กลุ่มนักพรต) บางคนอ้างว่า อิบลีส เป็นผู้มีศรัทธาเข้มแข็ง เนื่องจากไม่ยอมสุญูดต่ออาดัมซึ่งเป็นสิ่งถูกสร้างเช่นเดียวกัน กลับกลายเป็นการยกย่องเชิดชูให้อิบลีสเป็นผู้มีศรัทธาแกร่งกล้า ถ้าเช่นนั้นแล้ว ทำไมผู้มีศรัทธาแกร่งกล้าอย่างอิบลีส จึงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งและแสดงความหยิ่งยะโสโอหัง แล้วก็ถูกตัดสินว่าเป็นผู้ปฏิเสธการศรัทธา ดังนั้นข้ออ้างของนักซูฟีจึงเป็นความเชื่อที่สวนทางกับ อะกีดะห์อิสลามียะห์ หรือหลักความเชื่อของอิสลามโดยสิ้นเชิง
นอกจากนี้แล้ว ยังมีบางคนเข้าใจคาดเคลื่อนไปว่า อิลลีส ก็เป็นมะลาอิกะห์ด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากข้อความที่ว่า พระองค์อัลลอฮ์ได้สั่งใช้ให้บรรดามะลาอิกะห์ให้แสดงคาราวะต่ออาดัม แต่ความจริงแล้ว อิบลีส เป็นญินที่ถูกสร้างจากไฟ ซึ่งต่างจากมะลาอิกะห์ที่ถูกสร้างจากรัศมี
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า
وَإذْ قُلْنَا للمَلاَئِكَةِ اسْجُدُوا لآدَمَ فَسَجَدُوا إلاَّ إبْلِيْسَ كاَنَ مِنَ الْجِنِّ
และจงทบทวน ขณะที่เรากล่าวแก่บรรดามะลาอิกะห์ว่า พวกเจ้าจงแสดงคาราวะต่ออาดัม ดังนั้นพวกเขาจึงได้แสดงคาราวะ นอกจากอิบลีสซึ่งเป็นญิน ซูเราะห์อัลกะฮ์ฟิ อายะห์ที่ 50
وَخَلَقَ الْجَانَ مِن مَّارِجٍ مَِن نَّارٍ
และได้ทรงสร้างญินจากเปลวไฟ ซูเราะห์อัรเราะห์มาน อายะห์ที่ 15
จากอัลกุรอานทั้งสองอายะห์ข้างต้นนี้ เป็นหลักฐานชัดเจนว่า อิบลิส มิได้เป็นมะลาอิกะห์ เพราะเหล่ามะลาอิกะห์นั้นเป็นผู้สวามิภักดิ์และจงรักภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์ พระองค์ทรงกล่าวว่า
لاَ يَعْصُوْنَ اللهَ مَا أَمَرَهُمْ وَيَفْعَلُوْنَ مَا يُؤْمَرُوْنَ
พวกเขาจะไม่ฝ่าฝื่นอัลลอฮ์ในสิ่งที่ทรงสั่งใช้แก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติตามในสิ่งที่ถูกสั่งใช้ ซูเราะห์อัตตะห์รีม อายะห์ที่ 6
เกี่ยวกับเรื่องนี้มีการกล่าววิจารณ์ในหนังสือตัฟซีรหลายเล่ม โดยอ้างถึงการอธิบายของศอฮาบะห์บางท่านว่า อิบลีส เป็นมะลาอิกะห์แต่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ แต่หลักฐานที่นำมาแสดงนั้นล้วนไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งจากการสืบค้นของบรรดานักวิชาการฮะดีษแล้วพบว่า ไม่ใช่เป็นคำอธิบายของบรรดาศอฮาบะห์ตามกล่าวอ้าง ส่วนใหญ่เป็นการแอบอ้างของนักบูรพาคดีที่สืบหาที่มาไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักฐานยืนยันว่า อิบลิส ไม่ได้เป็นมะลาอิกะห์ แต่ก็มีบางท่านกล่าวว่า มันเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มของมะลาอิกะห์
มูฮัมหมัด บิน อิสหาก กล่าวว่า จาก ค๊อดลาด จาก อะฏออ์ จาก ฏอวูส จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า : อิบลีสนั้นก่อนที่จะกระทำการฝ่าฝืนก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มของมะลาอิกะห์ โดยมีชื่อจริงว่า อะซาซีล และเป็นประชากรของโลก แต่เนื่องจากมันเคยเป็นผู้ที่มานะบากบั่นมากผู้หนึ่ง และเป็นผู้ที่มีความรู้มากในเหล่ามะลาอิกะห์ จึงเป็นเหตุที่นำพามันไปสู่ความหยิ่งยะโส ซึ่งมันเป็นชนิดหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ญิน
และในรายงานจาก ค๊อลลาด จาก อะฏออ์ จาก ฏอวูส หรือจาก มุญาฮิด จาก อิบนิ อับบาส และคนอื่น ก็รายงานไว้ในทำนองนี้เช่นเดียวกัน
อิบนุ อบีฮาติม กล่าวว่า พ่อของฉันเล่าให้เราฟังว่า สะอี๊ด บิน สุไลมาน เล่าให้เราฟังว่า อับบาด หมายถึง อิบนุลเอาวาม เล่าให้เราฟังจาก ซุฟยาน บิน ฮุเซน จาก ยะอ์ลา บิน มุสลิม จาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า : อิบลีสนั้นมีชื่อเดิมว่า อะซาซีล มันเคยเป็นหนึ่งในมะลาอิกะห์ผู้ทรงเกียรติ มีสี่ปีก ต่อมามันได้สิ้นหวัง ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 110
คำว่า อิบลีส มีที่มาจากศัพท์ภาษาอาหรับว่า อับละซ่า แปลว่า สิ้นหวัง ถูกนำมาเรียกหัวหน้าญินชั่วร้ายที่คอยล่อลวงมนุษย์ว่า อิบลีส หมายถึงสิ้นหวังจากการล่อลวงผู้ศรัทธาให้สักการะบูชาสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์