ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 37


فَتَلَقَّى آدَمُ مِن رَّبِّهِ كَلِمَاتٍ فَتَابَ عَلَيْهِ إنَّهُ هُوَ التَّوَّابُ الرَّحِيْمِ


ต่อมาอาดัมได้เรียนรู้ถ้อยคำวิงวอนจากองค์อภิบาลของเขา แล้วพระองค์ก็อภัยโทษแก่เขา แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตา


อายะห์นี้ให้บทเรียนที่ล้ำค่าแก่บรรดาผู้ศรัทธาว่า บรรพบุรุษของพวกเขาได้กระทำผิดแต่สำนึกผิด เมื่อได้ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ที่ห้ามเข้าใกล้ต้นไม้แล้ว ก็วิงวอนขออภัยโทษต่อพระองค์

กล่าวกันว่า ท่านนบีอาดัมสารภาพผิดและวิงวอนขออภัยโทษต่อพระองค์อัลลอฮ์ด้วยการอ้างสิทธิ์ของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ดังนี้

عبد الرحمن بن زيد بن أسلم عن أبيه عن جده عن عمر بن الخطاب قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : لما اقترف آدم الخطيئة قال : يارب أسألك بحق محمد لما غفرت لي فقال الله عزوجل : يا آدم وكيف عرفت محمدا ولم أخلقه قال : لأنك يا رب لما خلقتني بيدك ونفخت في من روحك رفعت رأسي فرأيت على قوائم العرش مكتويا : لا إله إلا الله محمد رسول الله فعلمت أنك لم تضف إلى اسمك إلا أحب الخلق إليك فقال الله عزوجل : صدقت يا آدم إنه لأحب الخلق إلي وإذ سألتني بحقه فقد غفرت لك ولولا محمد ما خلقتك

รายงานจาก อับดุลเราะห์มาน บิน เซด บิน อัสลัม จากพ่อของเขา จากปู่ของเขา จาก อุมัร อิบนุลค๊อตต๊อบ กล่าวว่าท่านรอซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า : เมื่อครั้งที่อาดัมสารภาพผิด เขากล่าวว่า โอ้องค์อภิบาลของฉัน, ฉันขอวิงวอนต่อท่านด้วยสิทธิ์ของมูฮัมหมัด ในการที่พระองค์จะให้อภัยโทษแก่ฉัน, อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กล่าวว่า เจ้ารู้จักมูฮัมหมัด ได้อย่างไร ในเมื่อข้ายังไม่ได้สร้างเขามา เขาตอบว่า โอ้องค์อภิบาลของฉัน แท้จริงขณะที่พระองค์ท่านได้สร้างฉันมาด้วยพระหัตของพระองค์และทรงเป่าวิญญาณของท่านในตัวฉัน, ฉันได้เงยศีรษะของฉันขึ้น แล้วฉันได้เห็นที่ขาบัลลังถูกเขียนไว้ว่า “ลาอิลาฮ่าอิ้ลลัลลอฮ์ มูฮัมมะดุรรอซูลุ้ลลอฮ์” ดังนั้นฉันจึงได้รู้ว่า แท้จริงพระองค์ไม่ได้เขียนชื่อของพระองค์ไว้ นอกจากชื่อของผู้เป็นที่รักยิ่ง ณ.ที่พระองค์ ฉะนั้นอัลลอฮ์จึงได้กล่าวว่า ถูกต้องแล้วอาดัมเอ๋ย เขาคือผู้เป็นที่รักยิ่งของข้า และเมื่อเจ้าได้วิงวอนขอต่อข้าด้วยสิทธิ์ของเขา แน่นอนข้าให้อภัยโทษแก่เจ้า และถ้าหากว่าไม่มีมูฮัมหมัด ข้าก็จะไม่สร้างเจ้า

อัลฮากิม ได้บันทึกฮะดีษบทนี้แล้วแจงว่า “สายรายงานของฮะดีษบทนี้ดี” แต่อัสซะฮะบีย์ ได้วิจารณ์ต่อท้ายคำของอัลฮากิมว่า “ทว่ามันเป็นฮะดีษอุปโลกน์” เช่นเดียวกับที่ อัลบัยฮะกีย์ กล่าววิจารณ์ท้ายฮะดีษว่า “ฮะดีษนี้มีผู้รายงานชื่อ อับดุรเราะห์มาน บิน เซด บิน อัสลัม รายงานเพียงลำพัง และเขาฏออีฟ” และนักวิชาการร่วมสมัยเช่น เชคอัลบานีย์ ก็วิจารณ์ว่า “อะดีษอุปโลกน์” จึงทำให้เราได้รับความเข้าใจว่า ฮะดีษบทนี้ถึงแม้จะมีสายรายงานดีแต่ตัวผู้รายงานฏออีฟ จึงทำให้ฮะดีษบทนี้อยู่ในสถานะฏออีฟด้วย ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิงได้

อีกรายงานหนึ่งจาก อบี มัรวาน อัลอุสมานีย์ กล่าวว่า : พ่อของฉันคือ อุสมาน บินคอลิด ได้เล่าให้ฉันฟัง (ในบันทึกต้นเดิมใช้คำว่า : ลูก ซึ่งเป็นการอ้างผิด) จาก อับดุรเราะห์มาน บิน อบี อัซซินาด จาก พ่อของเขา กล่าวว่า “จากถ้อยคำที่อัลลอฮ์ได้ทรงอภัยโทษให้แก่อาดัม อลัยฮิสสลาม คือถ้อยคำที่เขากล่าวว่า

اللهم إني أسألك بحق مجمد

“โอ้ข้าแต่อัลลอฮ์ แท้จริงฉันขอวิงวอนต่อท่านด้วยสิทธิ์ของมูฮัมหมัด”


ฮะดีษบทนี้เป็นฮะดีษ “เมากูฟฏออีฟ” คืออ้างคำรายงานสุดแค่ศอฮาบะห์และอยู่ในสถานะฏออีฟ เนื่องจาก อุสมาน บิน คอลิด และ ลูกชายของเขาคือ อบี มัรวาน นั้น พ่อลูกคู่นี้ฏออีฟ ไม่สามารถอ้างเป็นหลักฐานได้

เพราะฉะนั้น ฮะดีษที่นำมาอ้างว่า ท่านนบีอาดัมสารภาพผิดโดยการตะวัสซุ้ลต่อท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม นั้นจึงไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องเลย

ความจริงแล้วถ้อยคำที่นบีอาดัมสารภาพผิด คือถ้อยคำที่ท่านได้เรียนรู้จากพระองค์อัลลอฮ์ ไม่ได้เกิดจากการที่ท่านนบีอาดัมคิดเอาเองตามการอ้างของฮะดีษที่ได้วิจารณ์นี้

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (ต่อมาอาดัมได้เรียนรู้ถ้อยคำวิงวอนจากองค์อภิบาลของเขา) คือถ้อยคำสารภาพผิดและขออภัยโทษต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซึ่งในซูเราะห์อัลอะอ์รอฟ ได้ระบุถึงถ้อยคำวิงวอนของนบีอาดัมและท่านหญิงฮาวา ในกรณีนี้ว่า

قَالاَ رَبَّنَا ظَلَمْنَا أنْفُسَنَا وَإنْ لَمْ تَغْفِرْلَنَا وَتَرْحَمْنَا لَنَكُوْنَنَّ مِنَ الْخَاسِرِيْنَ


“ทั้งสองได้กล่าวว่า องค์อภิบาลของเราเอ๋ย เราได้อธรรมต่อตัวของพวกเราเอง และหากพระองค์ไม่อภัยและเมตตาแก่พวกเรา เราก็จะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ขาดทุนอย่างแน่นอน” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 23

ต่างจากอิบลีส ที่กระทำผิดโดยฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์เช่นกัน ในการที่พระองค์ทรงใช้ให้แสดงคาราวะต่ออาดัม แต่มันปฏิเสธแล้วอ้างเหตุผลและแสดงความโอหัง ขณะเดียวกันก็ขอประวิงเวลาต่ออัลลอฮ์เพื่อจะกระทำผิดต่อไป พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

قَالَ أنْظِرْنِي إلَى يَوْمِ يُبْعَثُوْنَ

“อิบลีสได้กล่าวว่า ได้โปรดประวิงเวลาให้แก่ข้าจนกว่าวันที่พวกเขาจะถูกให้ฟื้นคืนชีพ” ซูเราะห์ อัลอะรอฟ อายะห์ที่ 14

لأقْعُدَنَّ لَهُمْ صِرَاطَكَ الْمُسْتَقِيْمَ

“ข้าจะนั่งขวางทางตรงของท่านแก่พวกเขา” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 16


บรรดาผู้ที่ชอบสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ศรัทธามักจะกล่าวว่า อิบลีสฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์ และอาดัมก็ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮ์เช่นเดียวกัน แต่ทำไมอิบลีสถึงถูกตัดสินว่าเป็นกาเฟร ข้างต้นนี้คือตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว

มนุษย์ซึ่งเป็นลูกหลานของอาดัมย่อมกระทำความผิดได้เสมอ ตามวิสัยปุถุชน แต่บรรพบุรุษของพวกเขาได้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีให้เจริญรอยตาม ด้วยการสำนึกผิดและขออภัยโทษ
ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

كُلُّ ابْنِ آدَمَ خَطَّاءٌ وَخَيْرُ الْخَطَّائِيْنَ التَّوَّابُوْنَ

“มนุษย์ทุกคนนั้นผิดพลาด แต่คนผิดที่ดีที่สุดคือผู้ที่ขออภัยโทษ” สุนัน อัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 2423


หากผู้ที่กระทำผิดแล้วไม่ยอมสำนึกผิดและยังดึงดันในความผิดต่อไป เขาคือลูกหลานอาดัมที่มีพฤติกรรมของอิบลีส
และหากผู้ใดกระทำผิดแล้วสำนึกผิด พึงทราบเถิดว่าอัลลอฮ์นั้น (แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตา) ซึ่งอายะห์ที่แสดงถึงความเมตตาและให้อภัยต่อปวงบ่าวของพระองค์นั้น นอกจากอายะห์นี้แล้วก็ยังมีระบุไว้อีกมากมายในคัมภีร์ของพระองค์ ตัวอย่างเช่น

ألَمْ يَعْلَمُوا أنَّ اللهَ هُوَ يَقْبَلُ التَّوْبَةَ عَنْ عِبَادِهِ

“พวกเขาไม่เคยรู้หรือว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้น พระองค์ทรงรับการสำนึกผิดจากบ่าวของพระองค์” ซูเราะห์อัตเตาบะห์ อายะห์ที่ 104


وَمَنْ يَعْمَلْ سُوْءً أوْ يَظْلِمْ نَفْسَهُ ثُمَّ يَسْتَغْفِرِ اللهَ يَجِدِ اللهَ غَفُوْراً رَحِيْماً


“และผู้ใดกระทำความชั่วหรืออธรรมต่อตัวเอง แล้วเขาขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ เขาจะพบว่าอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยและผู้ทรงเมตตา” ซูเราะห์ อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 110

وَمَنْ تَابَ وَعَمِلَ صَالِحاً فَإنَّهُ يَتُوْبُ إلَى اللهِ مَتَاباً

“และผู้ใดสำนึกผิดและประกอบความดี แท้จริงเขาได้สำนึกผิดต่ออัลลอฮ์อย่างแท้จริง” ซูเราะห์ อัลฟุรกอน อายะห์ที่ 71