ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 40
يَا بَنِي إسْراَئِيْلَ اذْكُرُوا نِعْمَتِيَ الَّتِي أنْعَمْتُ عَلَيْكُمْ وَأَوْفُوا بِعَهْدِي أُوْفِ بِعَهْدِكُمْ وَإيَّايَ فَأرْهَبُوْنَ
โอ้วงศ์วานของอิสรออีลเอ๋ย จงรำลึกถึงความเมตตาของข้าที่ได้ให้ความเมตตาแก่พวกเจ้า และพวกเจ้าจงรักษาสัญญาของข้า ให้ครบถ้วน ข้าก็จะรักษาสัญญาของพวกเจ้าให้ครบถ้วนเช่นกัน และเฉพาะข้าเท่านั้นที่พวกเจ้าต้องเกรงกลัว
เมื่อกล่าวถึง “บะนีอาดัม” แปลว่า ลูกหลานของอาดัม ซึ่งหมายถึงมนุษย์ทั้งหมด แต่ในอายะห์นี้พระองค์อัลลอฮ์ทรงขึ้นต้นอายะห์นี้โดยการเรียก บะนีอิสรออีล หมายถึงผู้ที่เป็นเชื้อสายวงศ์วานของอิสรออีล
คำว่า “อิสรออีล” มีต้นกำเนิดจากภาษาฮิบรู ประกอบด้วยสองคำด้วยกันคือ “อิสรอ” และคำว่า “อีล”
คำว่า “อิสรอ” มีความหมายตรงกับภาษาอาหรับว่า “อุบดุล” แปลว่า บ่าว ส่วนคำว่า “อีล” ตรงกับคำว่า “อิลาฮ์” แปลว่า พระเจ้า เพราะฉะนั้น อิสรออีล จึงแปลว่า บ่าวของพระเจ้า หรือบ่าวของอัลลอฮ์ นั่นเอง
อิสรออีล คือฉายาของนบี ยะอ์กู๊บ อลัยฮิสสลาม ผู้เป็นบุตรของนบี อิสหาก บุตรของนบี อิบรอฮีม ในตัฟซีร อิบนิกะษีร ได้นำเอาฮะดีษจากบันทึกของ อบีดาวู๊ด อัลตอยนาลิซีย์ มาระบุว่า
“อิบนิ อับบาส ได้กล่าวว่า ชาวยะฮูดกลุ่มหนึ่งได้มาหาท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม แล้วท่านได้กล่าวแก่พวกเขาว่า พวกท่านรู้ไหมว่า อิสรออีลก็คือยะอ์กู๊บ พวกเขาตอบว่า ใช่แล้ว ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า โอ้ข้าแต่อัลลอฮ์ได้โปรดเป็นพยาน” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 118
“อิบนิ อับบาส กล่าวว่า แท้จริงคำว่า อิสรออีล ก็คือคำเดียวกันกับที่ท่านกล่าวว่า อับดุลลอฮ์” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 248
ดังนั้น นบียะอ์กู๊บ อลัยฮิสสลาม ก็คือต้นกำเนิดของชนชาวยะฮูดและนอศอรอ ซึ่งชนทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็มีนบีและได้รับคัมภีร์ กล่าวคือ ในกลุ่มชนของชาวยะฮูด พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งนบีมูซาและประทานคัมภีร์เตารอตให้แก่พวกเขา และในกลุ่มชนชาวนะศอรอ พระองค์อัลลอฮ์ทรงแต่งตั้งนบีอีซาและประทานคัมภีร์อินญีลให้แก่พวกเขาเช่นเดียวกัน ดังนั้นทั้งชนชาวยะฮูดและนะศอรอจึงถูกเรียกรวมอีกชื่อหนึ่งว่า “อะห์ลุ้ลกิตาบ” หรือชาวคัมภีร์ นั่นเอง
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงเรียกเหล่ายะฮูดและนอศอรอโดยการอ้างถึงบรรพบุรุษของพวกเขาด้วยคำว่า (โอ้วงศ์วานของอิสรออีลเอ๋ย) แม้ว่าประโยคนี้จะเป็นคำที่เรียกรวม แต่ก็เจาะจงถึงเหล่ายะฮูดเป็นกรณีเฉพาะ ซึ่งท่านอิบนิ อับบาส ได้อธิบายข้อความนี้ว่า “โอ้ชาวคัมภีร์เอ๋ย โดยเฉพาะบรรดานักพรตจากชาวยะฮูด” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 249
(จงรำลึกถึงความเมตตาของข้าที่ได้ให้ความเมตตาแก่พวกเจ้า) คือความเมตตาที่พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งศาสนทูตมาในหมู่พวกเขา อีกทั้งยังทรงประทานคัมภีร์ให้แก่พวกเขา
“มุญาฮิด กล่าวว่า ความเมตตาของอัลลอฮ์ที่มีต่อพวกเขาคือการที่พระองค์ ทรงให้น้ำพุ่งพวยออกมาจากซอกหิน, ให้นกคุ้มและน้ำตาลฟ้าเป็นอาหารแก่พวกเขา, ช่วยให้พวกเขาปลอดภัยจากการตกเป็นทาสและสักการะต่อฟิรอูน
อบู อัลอาลียะห์ กล่าวว่า ความเมตตาของพระองค์คือ ให้พวกเขามีนบีและรอซูล อีกทั้งทรงประทานคัมภีร์ให้แก่พวกเขา” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 118
เหล่านี้คือความเมตตาที่ชนชาวยะฮูดได้รับในขณะที่ไม่มีกลุ่มชนใดได้รับความเมตตาอย่างมากมายเช่นนี้ในยุคนั้น ดังเช่นที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวถึงถ้อยคำของนบีมูซาว่า
وَإذْ قَالَ مُوْسَى لِقَوْمِهِ يَا قَوْمِ اذْكُرُوا نِعْمَةَ اللهِ عَلَيْكُمْ إذْ جَعَلَ فِيْكُمْ أنْبِيَاءَ وَجَعَلَكُمْ مُلُوْكاً وَآتَاكُمْ مَالَمْ يُؤْتِ أجَداً مِنَ الْعَالَمِيْنَ
“และจงทบทวน ขณะที่มูซาได้กล่าวแก่กลุ่มชนของเขาว่า โอ้กลุ่มชนของฉัน พวกเจ้าจงรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮ์ที่มีต่อพวกเจ้า โดยพระองค์ได้ให้มีบรรดานบีในหมู่พวกเจ้า และได้ทรงให้พวกเจ้าเป็นกษัตริย์ และทรงประทานให้แก่พวกเจ้าด้วยสิ่งที่ไม่เคยให้แก่คนใดในประชาชาติอื่นมาก่อน” ซูเราะห์ อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 20
พระองค์อัลลอฮ์ ได้ทรงกำชับให้เหล่ายะฮูด รักษาพันธสัญญาที่มีต่อพระองค์โดยกล่าวว่า (และพวกเจ้าจงรักษาสัญญาของข้า ให้ครบถ้วน) คือการน้อมรับอิสลามที่ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้นำมาประกาศ, โดยเชื่อมั่นและปฏิบัติตาม ซึ่งเรื่องราวของท่านนบีมูฮัมหมัด ได้ประจักษ์ต่อพวกท่านแล้วดังที่ถูกระบุอยู่ในคัมภีร์อัตเตารอต
“อบู อัลอาลียะห์ กล่าวว่า (และพวกเจ้าจงรักษาสัญญาของข้า ให้ครบถ้วน) คือพันธสัญญาที่มีต่อบ่าวของพระอง หมายถึงศาสนาอิสลามของพระองค์ที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติตาม
ส่วนประโยคที่ว่า (ข้าก็จะรักษาสัญญาของพวกเจ้าให้ครบถ้วนเช่นกัน) อัตเฏาะฮ์ฮาก กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส ในข้อความที่ว่า (ข้าก็จะรักษาสัญญาของพวกเจ้าให้ครบถ้วนเช่นกัน) เขากล่าวว่า หมายถึง พอใจพวกเจ้าและให้พวกเจ้าได้เข้าสวรรค์
อัสซุดดีย์, อัตเฏาะฮ์ฮาก, อบูอัลอาลียะห์, อัรรอเบียะอ์ บิน อนัส ก็ได้กล่าวไว้ในทำนองนี้เช่นเดียวกัน” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 118