ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 41


وَآمِنُوا بِمَا أنْزَلْتُ مُصَدِّقاً لِمَا مَعَكُمْ وَلاَ تَكُوْنُوا أوَّلَ كاَفِرٍ بِهِ وَلاَ تَشْتَرُوا بِآيَاتِي ثَمَناً قَلِيْلاً وَإيَّايَ فَاتَّقُوْنَ


และจงศรัทธาต่อสิ่งที่ข้าได้ให้ลงมาเป็นข้อยืนยันสิ่งที่มีอยู่กับพวกเจ้าแล้ว และพวกเจ้าอย่าได้เป็นผู้แรกที่ปฏิเสธต่อสิ่งนั้น และพวกเจ้าอย่าได้แลกเปลี่ยนโองการของข้าด้วยราคาเพียงเล็กน้อย และเฉพาะข้าเท่านั้นที่พวกเจ้าต้องยำเกรง


พระองค์อัลลอฮ์ยังคงสั่งกำชับวงศ์วานของอิสรออีล ให้ศรัทธาต่ออัลกุรอานที่ทรงประทานให้แก่ท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งอัลกุรอานนี้เป็นสิ่งที่มายืนยันเรื่องสิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์อัตเตารอตและคัมภีร์อินญีลที่มีอยู่กับพวกเขา

“อบู อัลอาลียะห์ กล่าวว่า (และจงศรัทธาต่อสิ่งที่ข้าได้ให้ลงมาเป็นข้อยืนยันสิ่งที่มีอยู่กับพวกเจ้าแล้ว) หมายถึง โอ้ชาวคัมภีร์ พวกเจ้าจงศรัทธาต่อสิ่งที่ข้าให้ลงมาเป็นข้อยืนยันสิ่งที่มีอยู่กับพวกเจ้า เพราะว่าพวกเขาได้พบว่าเรื่องราวของท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ถูกบันทึกไว้ ณ.ที่พวกเขาเองในคัมภีร์อัตเตารอตและอินญีล
และถูกรายงานมาจาก มุญาฮิด และ อัรรอเบียะอ์ บิน อนัส และ ก่อตาดะห์ ในทำนองนี้เช่นเดียวกัน” ตัฟซีร อิบนิกะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 119

พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

يَجِدُوْنَهُ مَكْتُوْباً عِنْدَهُمْ فِي التَّوْرَاةِ وَالإنْجِيْلِ

“พวกเขาได้พบว่าเรื่องของมูฮัมหมัดถูกบันทึกไว้ ณ.ที่พวกเขาในอัตเตารอตและอัลอินญีล” ซูเราะห์ อัลอะอ์รอฟ อายะห์ที่ 157


ดังนั้นพวกเขาจึงได้รู้จักท่านนบี มูฮัมหมัด ก่อนที่ท่านจะได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตเสียด้วยซ้ำไป จนกระทั่งพระองค์อัลลออ์ทรงกล่าวว่า

اَلَّذِيْنَ آتَيْنَاهُمُ الْكِتَابَ يَعْرِفُوْنَهُ كَمَا يَعْرِفُوْنَ أبْنَاءَهُمْ وَإنَّ فَرِيْقاً مِنْهُمْ لَيَكْتُمُوْنَ الْحَقَّ وَهُمْ يَعْلَمُوْنَ


“บรรดาผู้ซึ่งที่เราได้ให้คัมภีร์แก่พวกเขานั้น พวกเขารูจักมูฮัมหมัดประหนึ่งว่าผู้จักลูกๆของพวกเขาเอง แต่ว่ากลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเขาได้ปิดบังความจริงไว้ ทั้งๆที่พวกเขาก็รู้กันอยู่” ซูเราะห์ อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 146

แต่เมื่อท่านนบี มูฮัมหมัดได้ถูกแต่งตั้งมา แทนที่พวกเขาจะเป็นกลุ่มชนแรกที่ศรัทธาแต่พวกเขากลับปฏิเสธ ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์จึงได้กล่าวว่า (และพวกเจ้าอย่าได้เป็นผู้แรกที่ปฏิเสธต่อสิ่งนั้น) ซึ่งโดยข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏนั้น คนกลุ่มแรกที่ได้ปฏิเสธท่านนบีมูฮัมหมัดคือ ชาวกุเรชในนครมักกะห์ แต่ในข้อความนี้ พระองค์อัลลอฮ์กล่าวถึง บุคคลแรก ซึงหมายถึงบุคคลแรกในวงศ์วานของอิสรออีล
เพราะฉะนั้นเป้าหมายของอายะห์นี้คือ พวกเจ้าอย่าได้เป็นบุคคลแรกในวงศ์วานของอิสรออีลที่ปฏิเสธอัลกุรอานและปฏิเสธท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม

“อิบนิ อับบาส กล่าวว่า (และพวกเจ้าอย่าได้เป็นผู้แรกที่ปฏิเสธต่อสิ่งนั้น) หมายถึง พวกท่านมีข้อมูลในเรื่องนี้อยู่แล้ว หาใช่ว่าคนอื่นรู้แต่พวกท่านไม่รู้
อบู อัลอาลียะห์ กล่าวว่า และพวกท่านอย่าเป็นผู้แรกที่ปฏิเสธท่านนบี มูฮัมหมัด ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม
อัลฮะซัน, อัสซุดดีย์, และอัรรอเบียอ์ บิน อนัส ก็ได้กล่าวไว้ในทำนองนี้เช่นเดียวกัน
แต่ อิบนุ ญะรีร ได้พิจารณาว่า สรรพนามที่กล่าวถึงในอายะห์นี้หมายถึง อัลกุรอาน ซึ่งสอดคล้องกับข้อความหน้าประโยคที่ว่า “สิ่งที่ข้าให้ลงมา”
อิบนุ กะษีร ได้สรุปว่า ทั้งสองกรณีนี้ (คือการปฏิเสธท่านนบีและปฏิเสธอัลกุรอาน) นั้นไม่ค้านกัน เพราะว่าผู้ใดปฏิเสธต่ออัลกุรอานก็เท่ากับปฏิเสธท่านนบี และผู้ใดปฏิเสธท่านนบีก็เท่ากับปฏิเสธอัลกุรอานเช่นเดียวกัน” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 119

ส่วนข้อความที่ว่า (และพวกเจ้าอย่าได้แลกเปลี่ยนโองการของข้าด้วยราคาเพียงเล็กน้อย) โองการของอัลลอฮ์มีคุณค่าเกินกว่าที่จะประเมินราคา ดังนั้นการไปเอาผลประโยชน์ทางดุนยามาแลกเปลี่ยนจึงเป็นความผิดพลาดมหันต์ เพระไม่ใช่แค่เพียงผลประโยชน์ แต่แม้ดุนยาทั้งหมดก็ยังไม่สามารถเทียบค่าโองการของอัลลอฮ์ได้
“อัลฮะซัน อัลบัศรีย์ ถูกถามถึงข้อความที่ว่า (ราคาเพียงเล็กน้อย) เขากล่าวว่า ราคาเพียงเล็กน้อยนี้คือดุนยาและสรรพสิ่งที่มีอยู่ในดุนยานี้ทั้งหมด
อิบนุ ละฮีอะห์ กล่าวว่า อะฏออ์ บิน ดีนาร ได้เล่าให้เราฟัง จาก สะอี๊ด บิน ญุบัยร์ ในถ้อยคำของอัลลอฮ์ที่ว่า (และพวกเจ้าอย่าได้แลกเปลี่ยนโองการของข้าด้วยราคาเพียงเล็กน้อย) คำว่า โองการของพระองค์ คือคัมภีร์ที่พระองค์ได้ทรงประทานให้พวกเขา และคำว่า ราคาเพียงเล็กน้อย หมายถึง ดุนยาและความเพิรดแพร้วของมัน” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 119