ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 53
وَإذْ آتَيْنَا مُوْسَى الْكِتَابَ وَالْفُرْقَانَ لَعَلَّكُمْ تَهْتَدُوْنَ
และจงทบทวนขณะที่เราได้ให้คัมภีร์แก่มูซาซึ่งเป็นสิ่งที่จำแนก เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับทางนำ
พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงเมตตาต่อบนีอิสรออีล และได้ให้พวกเขาเลอเลิศกว่าประชาชาติอื่นในยุคนั้นด้วยการแต่งตั้งศาสนทูตมูซา เพื่อประกาศสัจธรรมในหมู่พวกเขา และพระองค์ยังได้มอบคัมภีร์อัตเตารอตแก่มูซาเพื่อให้เป็นทางนำแก่พวกเขาอีกด้วย
อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (เราได้ให้คัมภีร์แก่มูซาซึ่งเป็นสิ่งที่จำแนก) คำว่า الكتاب คือคัมภีร์อัตเตารอต ส่วนคำว่า الفرقان หมายถึง สิ่งที่จำแนกระหว่าง จริงกับเท็จ หรือทางนำกับความหลงผิด ดังที่ อิบนิ กะษีร ได้อธิบายไว้ในตัฟซีรของท่าน เล่มที่ 1 หน้าที่ 130
ตามรูปสำนวนของประโยคนี้อาจทำให้มีผู้เข้าใจผิดได้ว่า الكتاب คืออย่างหนึ่งและ الفرقان ก็คืออีกอย่างหนึ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานให้แก่นบีมูซา เนื่องจากอักษร “วาว” เป็นคำสันธานที่เชื่อมข้อความทั้งสองเข้าด้วยกัน คือทรงประทานมาทั้ง “กิตาบ” และ “อัลฟุรกอน”
แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว คำว่า “อัลฟุรกอน” ซึ่งหมายถึงสิ่งที่จำแนกระหว่างจริงกับเท็จนั้นเป็นคำขยายความให้กับคำว่า “กิตาบ” ดังนั้นข้อความของประโยคนี้จึงหมายถึง “พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงประทานคัมภีร์อัตเตารอตให้แก่นบีมูซา ซึ่งคัมภีร์อัตเตารอตนั้นคือ “อัลฟุรกอน” หมายถึงสิ่งที่จำแนกระหว่างจริงกับเท็จแก่กลุ่มชนชาวยะฮูดในยุคนั้น
อิบนุ ญะรีร อัตฏอบะรีย์ กล่าวว่า “อัลฟุรกอนที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวถึงว่าได้ทรงประทานให้แก่มูซา ในอายะห์นี้คือ คัมภีร์อัตเตารอต ซึ่งเป็นสิ่งที่จำแนกระหว่างจริงกับเท็จ เป็นคำขยายความและแสดงลักษณะของคัมภีร์” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 285
พระองค์ทรงกล่าวว่า (เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับทางนำ) คือหลังจากที่จำแนกระหว่างจริงกับเท็จแล้ว พวกเจ้าจะได้ยึดถือและดำเนินตามความจริงที่เป็นสัจธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า
وَلَقَدْ آتَيْنَا مُوْسَى الْكِتَابَ مِنْ بَعْدِ مَآ أهْلَكْنَا الْقُرُوْنَ الأُولَى بَصَائِرَ للنَّاسِ وَهُدَى وَرَحْمَةً لَّعَلَّهُمْ يَتَذَكَّرُوْنَ
“และแน่นอนว่าเราได้ประทานคัมภีร์ให้แก่มูซา หลังจากที่เราได้ทำลายประชาชาติในยุคก่อน เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่มวลมนุษย์ และเป็นทางนำและความเมตตา เพื่อว่าพวกเขาจะได้ใคร่ครวญ” ซูเราะห์ อัลก่อศ็อศ อายะห์ที่ 43