ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 57


وَظَلَّلْنَا عَلَيْكُمُ الْغَمَامَ وَأنْزَلْنَا عَلَيْكُمُ الْمَنَّ وَالسَّلْوَى كُلُوا مِنْ طَيِّبَاتِ مَا رَزَقْنَاكُمْ وَمَا ظَلَمُوْنَا وَلَكِنْ كَانُوا أنْفُسَهُمْ يَظْلِمُوْنَ


และเราได้ให้หมู่เมฆสีขาวแผ่ปกคลุมพวกเจ้า และเราได้ให้ “อัลมัน” และ “ซัลวา” ลงมายังพวกเจ้า พวกเจ้าจงกินจากสิ่งดีๆที่เราได้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และพวกเขาไม่ได้อธรรมต่อเรา แต่ทว่า พวกเขาอธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง



นับเป็นความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์ที่มีต่อบนีอิสรออีลเหลือคณานับ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเนรคุณต่อพระองค์เพียงใด แต่พระองค์ก็ทรงให้อภัยและปราณีต่อพวกเขา แม้กระทั่งพวกเขาเดินทางรอนแรมกลางทะเลทราย พระองค์ก็ยังให้ปุยเมฆขาวปกคลุมพวกเขา เพื่อบังแดดและกันความร้อน อีกทั้งยังทรงประทานอาหารและเครื่องดื่มจากฟ้าให้แก่พวกเขาเพื่อประทังชีวิต

อายะห์นี้สัมพันธ์กับอายะห์ก่อนหน้านี้โดยเป็นข้อความที่กล่าวในเรื่องเดียวกันอย่างต่อเนื่องคือ “เราได้ให้พวกเจ้าฟื้นหลังจากการตายของพวกเจ้า และเราได้ให้หมู่เมฆปกคลุมแก่พวกเจ้า”

คำว่า الغمام โดยทั่วไปแล้วหมายถึงสิ่งที่ปกคลุมทุกชนิด ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้าง แต่ในที่นี้หมายถึง ปุยเมฆสีขาว ซึ่งอยู่เหนือเมฆอุ้มฝนและเมฆทั่วไปที่ถูกเรียกว่า السحاب ที่ปิดกั้นแสงแดดและไอร้อน
อิบนุ ญะรีร อัตฏอบะรีย์ กล่าวว่า “อะห์หมัด บิน อิสฮาก อัลอะฮ์วาซีย์ ได้เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อบู อะห์หมัด เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ซุฟยาน เล่าให้เราฟังจาก อิบนุ อบีนะญิฮ์ จาก มุญาฮิด ในถ้อยคำที่ว่า (และเราได้ให้หมู่เมฆสีขาวแผ่ปกคลุมพวกเจ้า) เขากล่าวว่า ไม่ใช่หมู่เมฆทั่วไปที่เรียกว่า “ซิฮาบ”
อัลมุซันนา บิน อิบรอฮีม ได้เล่าให้ฉันฟังโดยกล่าวว่า อบูฮุซัยฟะห์ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า ซุบุล เล่าให้เราฟังจาก อิบนุ อบีนะญิฮ์ จาก มุญาฮิด ในถ้อยคำที่ว่า (และเราได้ให้หมู่เมฆสีขาวแผ่ปกคลุมพวกเจ้า) เขากล่าวว่า ไม่ใช่หมู่เมฆทั่วไปที่เรียกว่า “ซิฮาบ” แต่คือปุยเมฆสีขาวที่พระองค์อัลลอฮ์จะให้เกิดขึ้นในวันกิยามะห์ ซึ่งไม่มีผู้ใดเคยประสบมาก่อนหน้านี้(ในยุคนั้น) นอกจากพวกเขา” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 293

พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า (และเราได้ให้ “อัลมัน” และ “ซัลวา” ลงมายังพวกเจ้า) คำว่า المن “อัลมัน” ในอายะห์นี้ บรรดานักอรรถาธิบายอัลกุรอานได้อธิบายลักษณะไว้หลากหลาย บางท่านก็อธิบายว่ามันคืออาหาร และบางท่านก็อธิบายว่ามันคือเครื่องดื่มเช่น
อัรรอเบียะอ์ บิน อนัส กล่าวว่า มันคือเครื่องดื่มซึ่งถูกประทานลงมาให้แก่พวกเขาคล้ายกับน้ำผึ้ง โดยผสมกับน้ำแล้วพวกเขาก็ดื่มมัน
อิบนุ วะฮ์บิน รายงานว่า อิบนุ ซัยด์ กล่าวว่า “อัลมัน” คือ น้ำผึ้ง
อบู ญะฟัร อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า อะห์หมัด บิน อิสฮาก เล่าให้ฉันฟังว่า อบูอะห์หมัด เล่าให้เราฟังว่า อิสรออีล เล่าให้เราฟังจาก ญาบิร จาก อามิร เขาคือ อัสชะอ์บีย์ กล่าวว่า น้ำผึ่งของพวกท่านเป็นหนึ่งในเจ็บสิบส่วนของอัลมัน
อัลฮะซัน บิน ยะห์ยา เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อับดุรรอซาก เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า มะอ์มัร เล่าให้เราฟังจาก ก่อตาดะห์ กล่าวว่า “อัลมัน” ที่ประทานมาให้พวกคล้ายกับหิมะ สีของมันขาวกว่านม และรสของมันหวานกว่าน้ำผึ้ง
มูซา บิน ฮารูณ เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อัมร์ บิน ฮัมมาด เล่าให้เราฟังโดยกล่าวว่า อัสบาด เล่าให้เราฟังจาก อัสซุดดีย์ กล่าวว่า “อัลมัน” ได้ตกลงมาบนต้นขิง
อาลี อิบนิ อบี ฏอลฮะห์ กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า “อัลมัน” หล่นลงมาบนต้นไม้ พวกเขาเสาะหาแล้วกินตามใจชอบ
วะฮ์บ บิน มุนับบิฮ์ กล่าวว่า เขาถูกถามถึง “อัลมัน” เขาตอบว่า มันคือขนมปังแผ่นจากแป้งบดละเอียด
ในขณะที่นักอรรถาธิบายอัลกุรอานพยามให้ลักษณะของ “อัลมัน” ที่แตกต่างกันออกไป และเราก็ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่ามันคืออะไรกันแน่ แต่กล่าวได้ว่ามันเป็นทั้งอาหารและเครื่องดื่มในเวลาเดียวกัน
อิบนุ กะษีร กล่าวว่า “อัลมัน” เป็นที่รู้กันดีว่า ถ้ากินเพียงอย่างเดียวมันเป็นทั้งอาหารและขนมหวาน หากเอาไปผสมน้ำมันก็เป็นเครื่องดื่มอย่างดี และถ้าเอาไปผสมกับอย่างอื่นมันก็กลายเป็นอีกชนิดหนึ่ง” ตัฟซีร อิบนุ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 135
อิบนุ กะษีร ยังชี้แจงอีกว่า เราไม่ได้ดูที่อายะห์นี้เพียงอย่างเดียว หากแต่มีหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากอิหม่ามบุคอรีว่า อบู นุอัยม์ เล่าให้เราฟังว่า ซุฟยาน เล่าให้เราฟังจาก อัลดุลมาลิก จาก อัมร์ บิน ฮุรอยซ์ จาก สะอี๊ด บิน เซด รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

اَلْكَمْأَةُ مِنَ الْمَنِّ وَمَاؤُهَا شِفَاءٌ للْعَيْنِ

“เห็ดนั้นเป็นส่วนหนึ่งจากอัลมัน น้ำของมันรักษาโรคตา” ศอเฮียะห์ บุคอรี ฮะดีษเลขที่ 4118


ส่วนคำว่า السلوى “อัสซัลวา” นั้นบรรดานักวิชาการส่วนใหญ่ให้ความหมายว่า มันคือนก แต่จะเป็นนกชนิดใดนั้น มีการระบุรายละเอียดที่ต่างกัน บ้างก็ว่าคือ นกที่มีขนาดใหญ่กว่านกกระจอก, บ้างก็ว่า นกกระเต็น, บ้างก็ว่า นกกระทา และบ้างก็ว่า นกคุ่ม เป็นต้น
“อาลี อิบนิ อบี ฏอลฮะห์ กล่าวว่า จาก อิบนิ อับบาส กล่าวว่า “อัสซัลวา” คือนกมีลักษณะคล้ายกับนกกระเต็น ซึ่งพวกเขาใช้มันบริโภค
รายงานจาก อบีมาลิก จาก อบีศอและห์ จาก อิบนิ อับบาส, และจาก มุเราะห์ จาก อิบนิ มัสอู๊ด และศอฮาบะห์อีกกลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า “ อัสซัลวา” คือนกมีลักษณะคล้ายกับนกกระเต็น
มุญาฮิด, อัสซะอ์บีย์, อัตเฏาะฮาก, อัลฮะซัน, อิกริมะห์, และอัรรอเบียะอ์ บิน อนัส ก็กล่าวไว้ทำนองนี้เช่นเดียวกัน
อัสซุดดีย์ กล่าวว่า “อัสซัลวา” คือนกมีลักษณะคล้ายกับนกกระเต็นแต่มีขนาดใหญ่กว่า
และ อิกริมะห์ กล่าวว่า คือนกที่มีลักษณะใหญ่กว่านกกระจอก
ก่อตาดะห์ กล่าวว่า “ซัลวา” คือนกที่ลมตะวันตกพามันมารวมตัวกันที่พวกเขา
อับดุลศอมัด รายงานว่า ฉันเคยได้ยิน วะฮ์บ ถูกถามว่า “อัสซัลวา” คืออะไร เขาตอบว่า มันคือนกที่อ้วนคล้ายกับนกพิราบ”

อย่างไรก็ตามในตัฟซีร อัลกุรตุบีย์ ได้ให้ความหมายคำว่า “อัสซัลวา” โดยเน้นความหมายว่าคือ “น้ำผึ้ง” และ อัลกุรตุบีย์ ได้ชี้แจงคำของ อิบนุ อะฏียะห์ ที่กล่าวว่า “อัสซัลวาคือนก ตามมติเอกฉันท์ของบรรดานักอธิบายอัลกุรอาน และข้ออ้างของ อัลฮุซะลีย์ ที่ว่ามันคือน้ำผึ้งนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด
อัลกุรตุบีย์ กล่าวว่า : การอ้างมติเอกฉันท์นั้นไม่ถูกต้องเนื่องจาก อัลมุอัรริจญ์ ซึ่งเป็นทั้งนักภาษาและนักอธิบายอัลกุรอานกล่าวว่า มันคือ “น้ำผึ้ง” (ดูคำอธิบาย ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 57 ในตัฟซีร อัลกุรตุบีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 407 )

การแจงชนิดของ “อัลมัน” และ “อัสซัลวา” ที่ต่างกันนี้ไม่ได้ทำให้เสียความหมายและเป้าหมายของอายะห์นี้คือ อาหารและเครื่องดื่มที่อัลลอฮ์ทรงประทานให้พวกเขาใช้บริโภค วัลลอฮุอะอ์ลัม

พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า (พวกเจ้าจงกินจากสิ่งดีๆที่เราได้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และพวกเขาไม่ได้อธรรมต่อเรา แต่ทว่า พวกเขาอธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง) คำสั่งใช้ให้กินสิ่งที่ดีๆเป็นอาหาร จากปัจจัยที่พระองค์ได้ทรงประทานมาให้แก่พวกเขา เพื่อจะได้สักการต่อพระองค์ในฐานะที่พระองค์ทรงพระเจ้าผู้ทรงเมตตา เหมือนดังทีพระองค์ทรงกล่าวว่า

كُلُوا مِنْ رِزْقِ رَبِّكُمْ وَاشْكُرُوالَهُ

“และพวกเจ้าจงกินจากปัจจัยขององค์อภิบาลของพวกเจ้า และพวกเจ้าจงของคุณต่อพระองค์” ซูเราะห์ ซะบะอ์ อายะห์ที่ 15


และการที่พวกเขาไม่สำนึกในบุญคุณและไม่ขอบคุณต่อพระองค์ที่ให้ความช่วยเหลือและกรุณาต่อพวกเขาเหลือคณานับ ก็ใช่ว่าพวกเขาจะอธรรมต่อพระองค์ กล่าวคือ แม้ว่าพวกเขาจะไม่ขอบคุณก็มิได้ทำให้สถานะพระเจ้าของพระองค์ต้องบกพร่องไป แต่พฤติกรรมเยี่ยงนั้นคือการที่พวกเขาอธรรมต่อตัวเอง ดังที่พระองค์ทรงกล่าวว่า

إنَّ اللهَ لاَ يَظْلِمُ النَّاسَ شَيْئاً وَلَكِنَّ النَّاسَ أنْفُسَهُمْ يَظْلِمُوْنَ

“แท้จริงอัลลอฮ์นั้นจะไม่อธรรมต่อมนุษย์แต่อย่างใด แต่ทว่ามนุษย์เองต่างหาก พวกเขาได้อธรรมตัวของพวกเขาเอง” ซูเราะห์ ยูนุส อายะห์ที่ 44