ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 68
قَالُوا أدْعُ لَنَا رَبَّكَ يُبَيِّن لَّنَا مَا هِيَ قَالَ إنَّهُ يَقُوْلُ إنَّهَا بَقَرَةٌ لاَ فَارِضٌ وَلاَ بِكْرٌ عَوَانُ بَيْنَ ذَلِكَ فَأفْعَلُوا مَا تُؤْمَرُوْنَ
พวกเขากล่าวว่า โปรดวิงวอนขอต่อองค์อภิบาลของท่านให้แก่พวกเรา ให้พระองค์ทรงแจ้งแก่พวกเราด้วยว่า วัวนั้นเป็นอย่างไร มูซากล่าวว่า พระองค์แจ้งว่า มันคือวัวตัวเมีย ที่ไม่แก่และไม่อ่อน แต่อยู่กึ่งกลางระหว่างนั้น พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเจ้าถูกใช้เถิด
พระองค์อัลลอฮ์ทรงแฉพฤติกรรมดื้อด้าน และความเจ้าเล่ห์เพทุบายของเหล่ายะฮูด ด้วยการที่พวกเขาตั้งคำถามเพื่อหลบหลีกคำสั่งใช้ให้เชือดวัว
ความจริงแล้วคำว่า “บะกอเราะห์” ที่แปลว่า “วัว” นั้นเป็นคำที่กล่าวแล้วเข้าใจได้โดยไม่ต้องอาศัยการตีความ หากผู้ที่ศรัทธามั่นด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ เมื่อได้ยินคำสั่งให้เชือดวัว ก็สามารถปฏิบัติได้โดยไม่ลังเลใจและไม่มีข้อสงสัยใดๆ
การที่เหล่ายะฮูดตั้งคำถามนั้น หาใช่ว่าเพื่อน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ แต่พวกเขากลับตั้งคำถามเพื่อหลีกหนีการปฏิบัติต่างหาก เพราะพระองค์อัลลอฮ์สั่งใช้พวกเขากระทำโดยมิได้วางกฎเกณฑ์ใดๆว่า วัวที่ใช้ให้เชือดนั้นเป็นเช่นใด แต่แทนที่พวกเขาจะปฏิบัติตาม กลับใช้เล่ห์เหลี่ยมด้วยการตั้งข้อสงสัยโดยกล่าวแก่นบีมูซาว่า (โปรดวิงวอนขอต่อองค์อภิบาลของท่านให้แก่พวกเรา ให้พระองค์ทรงแจ้งแก่พวกเราด้วยว่า วัวนั้นเป็นอย่างไร) นี่คือการแสวงหากฎเกณฑ์เพื่อจำกัดวัวที่จะเชือดให้น้อยลง
ถ้อยคำที่ว่า (มันคือวัวตัวเมีย ที่ไม่แก่และไม่อ่อน แต่อยู่กึ่งกลางระหว่างนั้น) นี่คือกฎเกณฑ์ข้อแรกที่จำกัดเพศและวัยของวัว ตามที่พวกเขาแสวงหา
ท่านอิบนุ ญะรีร กล่าวว่า คำว่าلا فارض ในอายะห์นี้นั้น หมายถึง لا هرمة แปลว่า “ไม่อยู่ในสภาพหมดแรงเนื่องจากความแก่” และคำว่า لا بكر หมายถึง لا صغير แปลว่า “ไม่เล็ก” ส่วนคำว่า عوان بين ذلك หมายถึง نصف بين البكر والهرمة หมายถึง “กึ่งกลางระหว่างเล็กกับแก่หง่อม” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 338
เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงแจ้งกฎเกณฑ์ตามที่พวกเขาร้องขอ และพระองค์ก็สั่งกำชับกับพวกเขาว่า (พวกเจ้าจงปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเจ้าถูกใช้เถิด) ถ้อยความนี้เป็นคำกล่าวของพระองค์อัลลอฮ์ที่บัญชาให้ท่านนบีมูซาประกาศ มิใช่เป็นคำพูดของท่านนบีมูซาที่กล่าวแก่กลุ่มชนของท่านเอง ดังที่ อิบนุ ญะรีร ได้อธิบายไว้ (ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 344)