ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 8
وَمِنَ النَّاسِ مَنْ يَقُوْلُ آمَنَّا بِاللهِ وَبِالْيَوْمِ الآخِرِ وَمَا هُمْ بِمُؤْمِنِيْنَ
มนุษย์ส่วนหนึ่งกล่าวว่า เราศรัทธาต่ออัลลอฮ์และวันอวสาน แต่พวกเขามิได้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ศรัทธา
หลังจากที่ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ได้อพยพสู่นครยัษริบ (หรือนครมีดะห์ในปัจจุบัน) อาหรับเผ่าต่างๆได้เข้ารับอิสลาม รวมถึงชนเผ่ายะฮูดหลายตระกูลได้เข้ารับอิสลามกับท่านนบีด้วยเช่นกัน เช่น บนีกอยนุกออ์, บนีนะดีร, บนีกุรอยเซาะฮ์ เป็นต้น
แต่ยังมีชาวยะฮูดบางคนที่ไม่ศรัทธา และพยายามสกัดกั้นผู้คนไม่ให้เข้ารับอิสลาม โดยมีนายอับดุลลอฮ์ อิบนิ อุบัยด์ อิบนิ ซะลูล เป็นแกนนำ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถต้านทานพลังแห่งศรัทธาได้ พวกเขาจึงแฝงตัวเข้ารับอิสลามด้วย
ฮุซัยฟะห์ บิน อัลยะมาน รายงานว่า ท่านนบี ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
فِي أصْحَابِي اِثْنَاعَشَرَ مُنَافِقاً مِنْهُمْ ثَمَانِيَّةٌ لاَ يَدْخُلُوْنَ الْجَنَّةَ حَتَّى يَلِجَ الْجَمَلُ فِي سَمِّ الْخِيَاطِ
ในหมู่ศอฮาบะห์ของฉันมีผู้กลับกลอกแฝงตัวเข้ามาสิบสองคน ในหมู่พวกเขามีแปดคนที่จะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าอูฐจะลอดรูเข็ม มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด ฮะดีษเลขที่ 22229
พระองค์อัลลอฮ์ทรงแฉพฤติกรรมของการกลับกลอกทางด้านการศรัทธาของพวกเขา คือการยืนยันความเชื่อแต่เพียงปาก แต่พฤติกรรมกลับตรงกันข้าม ทั้งนี้เนื่องจากหัวใจของพวกเขาไม่ศรัทธา พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า
إِذَا جَاءَكَ المُنَافِقُوْنَ قَالُوا نَشْهَدُ إنَّكَ لَرَسُوْلُ اللهِ وَاللهُ يَعْلَمُ إنَّكَ لَرَسُوْلُهُ وَاللهُ يَشْهَدُ إنَّ المُنَافِقِيْنَ لَكَاذِبُوْنَ
เมื่อผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธามาหาเจ้า พวกเขากล่าวว่า เราขอปฏิญาณว่า ท่านนั้นคือคือศาสนทูตของอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์ทรงรู้ดีว่า เจ้าคือศาสนทูตของพระองค์ แต่อัลลอฮ์ยืนยันว่า แท้จริงบรรดาผู้กลับกลอกทางด้านการศรัทธานั้นเป็นผู้กล่าวเท็จจริงๆ ซูเราะห์อัลมุนาฟิกูน อายะห์ที่ 1
อายะห์นี้ชี้ให้เห็นว่า การกล่าวแต่เพียงปากนั้นยังไม่เพียงพอต่อการยืนยันความเป็นผู้ศรัทธา หากพฤติกรรมของเขาไม่สอดคล้องกับสิ่งที่กล่าว เช่น เหล่ามุนาฟิกีน ที่พวกเขายืนยันในการเป็นมุสลิมแต่เพียงปากแต่มีพฤติกรรมบ่อนทำลาย เช่นการปลุกระดมให้คนหนีทัพ, การใสร้ายท่านนบีว่าเอาลูกสะใภ้มาเป็นเมีย, กล่าวหาท่านหญิงอาอิชะห์ว่ามีชู้, และฯลฯ ซึ่งพระองค์อัลลลอฮ์ได้ทรงตีแผ่พฤติกรรมของพวกเขาไว้ในหลายซูเราะห์ เช่น ซูเราะห์ อัลมุนาฟิกูน, ซูเราะห์อันนูร, และซูเราะห์อัตเตาบะห์ เป็นต้น
บทเรียนที่เราได้รับจากอายะห์นี้อีกประการหนึ่งคือ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาพฤติกรรมของผู้กลับกอกลทางด้านการศรัทธา กล่าวได้ว่า หากคำพูดกับพฤติกรรมไม่ตรงกันก็ให้เอาพฤติกรรมเป็นสิ่งชี้สถานะ เช่น ถ้าปากของเขายืนยันในการเป็นมุสลิม แต่พฤติกรรมของเขาเป็นผู้ปฏิเสธการศรัทธา เขาก็คือผู้ปฏิเสธการศรัทธานั่นเอง