ซูเราะห์อัลบะกอเราะห์ อายะห์ที่ 96


وَلَتَجِدَنَّهُمْ أَحْرَصَ النَّاسِ عَلَى حَيَاةٍ وَمِنَ الَّذِيْنَ أشْرَكُوا يَوَدُّ أَحَدُهُمْ لَوْ بُعَمَّرُألْفَ سَنَةٍ وَمَا هُوَ بِمُزَحْزِحِهِ مِنَ الْعَذَابِ أن بُعَمَّرَ وَاللهُ بَصِيْرٌ بِمَا يَعْمَلُوْنَ


และเจ้าจะได้พบอย่างแน่นอนว่า พวกเขาหวงแหนต่อการมีชีวิตมากที่สุด และมากกว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีเสียอีก ไม่ว่าคนใดในหมู่พวกเขาต่างก็ชอบ หากพวกเขาจะถูกทำให้มีอายุถึงหนึ่งพันปี แต่การมีอายุยืนนานก็ไม่ได้ทำให้เขารอดพ้นจากการลงโทษ และอัลลอฮ์ทรงเห็นสิ่งที่พวกเขากระทำ



พระองค์อัลลอฮ์กล่าวขึ้นต้นข้อความโดยใช้อักษร “วาว” เชื่อมระหว่างอายะห์ก่อนหน้านี้ คือ การให้เหล่ายะฮูดวิงวอนขอให้ประสบกับความตายโดยเร็วหากคำอ้างของพวกเขาเป็นความจริง คือ จะไม่มีใครได้เข้าสวรรค์นอกจากพวกเขาเท่านั้น
และพระองค์ก็ทรงกล่าวย้ำด้วยอักษร “นูน” ซึ่งมีความหมายว่า “เจ้าจะได้พบอย่างแน่นอนว่าพวกเขา” คือเหล่ายะฮูดนั้น หวงแหนการมีชีวิตอยู่ในดุนยานี้ คือ ต้องการที่จะมีอายุยืนนาน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่กล้ารับคำท้าที่ให้พวกเขาวิงวอนขอให้ตายโดยเร็ว

ถ้อยคำที่ว่า (และมากกว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีเสียอีก) หมายถึงบรรดาผู้ที่ไม่ศรัทธาต่อพระองค์อัลลอฮ์ และไม่เชื่อถึงการตอบแทนความดี,ความชั่วในอาคิเราะห์

อิบนุ ญะรีร กล่าวว่า “คำว่า ผู้ตั้งภาคีนั้น นักวิชาการบางท่านเช่น อบู อัลอาลียะห์ และ อัรรอเบียอ์ บิน อนัส กล่าวว่า หมายถึง บรรดาพวกมะยูซี หรือพวกบูชาไฟ และบางท่านกล่าวว่า หมายถึง บรรดาผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีพ โดยอ้างคำรายงานที่สืบถึง อิบนิ อับบาส” ตัฟซีร อัตฏอบะรีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 429

ส่วน อิบนุ กะษีร ได้อ้างคำรายงานของ อิบนุ อบี ฮาติม ที่สืบถึง อิบนิ อับบาส ว่า “บรรดาผู้ตั้งภาคี” ในที่นี้คือ บุคคลทั่วไป” ตัฟซีร อิบนิ กะษีร เล่มที่ 1 หน้าที่ 184

บรรดาผู้ตั้งภาคีนั้น ไม่เชื่อในเรื่องการฟื้นคืนชีพ, ไมเชื่อในเรื่องการชำระบัญชี แต่เหล่ายะฮูดนั้นเชื่อและก็รู้ดีถึงชะตากรรมของพวกเขาที่จะต้องเผชิญในอาคิเราะห์ คือการลงโทษอันเจ็บปวดจากการที่พวกเขาปฏิเสธสัจธรรม

ถ้อยคำที่ว่า (ไม่ว่าคนใดในหมู่พวกเขาต่างก็ชอบ หากพวกเขาจะถูกทำให้มีอายุถึงหนึ่งพันปี) ความจริงแล้ว คนโดยทั่วไปต่างก็ชอบที่จะมีอายุยืน โดยเป้าหมายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป แต่ความต้องการของเหล่ายะฮูดตามที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกล่าวไว้ในที่นี้ คือ ความต้องการที่จะมีอายุอยู่ในดุนยาให้ยาวนานที่สุด เพื่อลากเวลาที่จะต้องเจอกับการลงโทษออกไปเรื่อยๆ ดังนั้นการท้าพิสูจน์ด้วยการวิงวอนขอให้ตายโดยเร็วจึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความปรารถนาของพวกเขา

ถ้อยคำที่ว่า (แต่การมีอายุยืนนานก็ไม่ได้ทำให้เขารอดพ้นจากการลงโทษ) คือเป็นเพียงความหวังลมๆแล้งๆของพวกเขาเท่านั้นที่ต้องการจะมีอายุยืน และถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีอายุยืนนานเท่าไหร่ก็ตามก็ไม่อาจหนี้พ้นการลงโทษของอัลลอฮ์ไปได้ และพระองค์เห็นการกระทำของบ่าว ไม่ว่าจะเป็นความดีหรือความชั่ว และพระองค์จะแทนแก่ผู้ปฏิบัติอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
พระองค์อัลลอฮ์ ทรงกล่าวว่า

قُلْ إنَّ الْمَوْتَ الَّذِي تَفِرُّوْنَ مِنْهُ فَإنَّهُ مُلاَقِيْكُمْ ثُمَّ تُرَدُّوْنَ إلَى عَالِمِ الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ فَيُنَبِّئُكُمْ بِمَا كُنْتُمْ تَعْمَلُوْنَ


“จงกล่าวเถิดมูฮัมหมัด แท้จริงความตายที่พวกเจ้าหนีมัน จะมาประสบกับพวกเจ้าแน่นอน แล้วพวกเจ้าก็จะถูกนำกลับไปยังผู้ที่ทรงรอบรู้ถึงสิ่งที่พ้นญาณวิสัยและสิ่งที่เปิดเผย โดยพระองค์จะทรงแจ้งแก่พวกเจ้าถึงสิ่งที่พวกเจ้ากระทำไว้” ซูเราะห์ อัลญุมุอะห์ อายะห์ที่ 8